ผมกับ “แนนซี่ เปลอสซี่”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมเจอแนนซี่ เปลอสซี่ ที่ แคปปิตอล ฮิลล์ เมื่อหลายปีมาแล้ว ผมและเธอ เรามาจากแถวซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย เหมือนกัน ผมมาจากเซ้าท์ซานฟรานฯ คือ เมืองซานโฮเซ่ (ซิลิคอนวัลเลย์)

 ในวัย 69 ตอนนั้น เปลอสซี่ (Nancy Pelosi) ยังดูเข้มแข็งสำหรับการปฏิบัติงานในฐานะประธานสภาล่าง (Speaker of the House) ในตอนนั้น เธอก็คือประธานฝ่าย ส.ส.อเมริกัน House of representatives  ขณะที่อีกส่วนหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาอเมริกัน คือ สภาสูง หรือ Senate (วุฒิสมาชิก/สว.)

ส.ส.พรรคเดโมแครต เปลอสซี่ จากเขต 12 แคลิฟอร์เนีย ตอนนั้นกำลังแสดงบทบาทอันน่าสนใจจากทั้งสื่อ และประชาชนอเมริกันทั่วไป เกี่ยวกับข้อมูลที่เธอได้รับจากหน่วยข่าวกรอง หน่วยสืบราชการลับซีไอเอ เมื่อปี 2002 ขณะนั้นเธอนั่งอยู่ในกรรมาธิการด้านข่าวกรอง หรืองานราชการลับ (House Intelligence Committee)

เปลอสซี่ กล่าวหาหน่วยงานสืบราชการลับและข่าวกรองซีไอเอว่า ซีไอเอให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทรมานนักโทษที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายซึ่งเป็นภัยกับอเมริกา ไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งก็หมายถึง การโกหกสมาชิกคองเกรสในช่วงที่เธอกำลังดำรงตำแหน่ง

การทรมานนักโทษที่ว่า ได้แก่ Waterboarding หรือวิธีทรมานโดยการจับกรอกน้ำผ่านผ้าบาง เข้ารูจมูก เพื่อให้นักโทษคายความจริงข้อมูลต่างๆ หรือเพื่อให้สารภาพผิด

สมาชิกสภาคองเกรสหลายคน ออกมาสนับสนุน ข้อกล่าวหาของเปลอสซี่ โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่ซีไอเอ กระทำผิดกฎหมาย และกระทำตามอำเภอในเกินไป จะต้องสืบสวนว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร 

จวบจนรัฐบาล บารัก โอบามา สั่งยกเลิกวิธีการทรมานแบบนี้ไป แต่การทำงานของซีไอเอ กลับได้รับการจับตาจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลในสภาว่า มีการบิดเบือนหรือไม่อย่างไรบ้าง

ตอนนั้น สส.เปลอสซี่ โทรหา ลีออน แพนเน็ตต้า (Leon Panetta) ผู้อำนวยการซีไอเอ คนแคลิฟอร์เนีย บ้านเดียวกับเธอ ทั้งแผนเน็ตต้ายังเป็นอดีตคนของเดโมแครตเองด้วย เพื่อขอดูเอกสารที่ซีไอเอรายงานต่อคณะกรรมาธิการ ในปี 2002 ทั้งหมดอีกครั้ง จนแพนเน็ตต้า ต้องออกมาปฏิเสธ และปกป้องหน่วยงานของเขาหลังจากนั้นไม่นาน

ตอนนั้น สส.ของพรรครีพับลิกันหลายคนทยอยออกมาปกป้องการทำงานของซีไอเอว่า หน่วยงานสำคัญของทางการอเมริกันแห่งนี้จะทำงานแบบเถรตรงเสียทีเดียวไม่ได้ เพราะเป็นความลับของประเทศ จึงเปิดเผยเรื่องราวทั้งหมดไม่ได้ แม้แต่กับสมาชิกคองเกรสก็ตาม  

ส.ส.เดโมแครตหลายคนสวนกลับไปว่า การทำงานของเจ้าหน้าซีไอเอ ไม่ยืนอยู่บนพื้นฐานของการรายงานข้อเท็จจริง และถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ด้านลบขึ้นมาเป็นองค์กรอภิสิทธิ์ชน ทำให้การรายงานการทำงานของซีไอเอต่อสภาฯ ในอนาคตเป็นปัญหา ข้อมูลที่นำเสนอนั้น ไม่สามารถเชื่อถือได้ อีกอย่างการทำงานของซีไอเอนั้นใช้เงินงบประมาณจากภาษีของชาวอเมริกัน ต้องผ่านการอนุมัติจากคองเกรสตามขั้นตอน อาจทำให้หน่วยงานแห่งนี้เป็นอิสระเกินการควบคุมของประชาชน (คองเกรส)

การติดตามเอาเรื่องกับหน่วยงานสำคัญอย่างซีไอเอของ เปลอสซี ถูกหลายฝ่ายทางการเมืองของอเมริกันมองอย่างงงๆ โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลโอบามาในตอนนั้นที่ดูเหมือนมีท่าทีที่ไม่อยากยุ่งด้วย เช่น โรเบิร์ต กิบส์ โฆษกประจำทำเนียบขาวตอนนั้น ออกตัวตรงๆว่า ไม่ขอยุ่งด้วย เขาบอกว่า ประธานาธิบดีโอบามา ต้องการมองไปข้างหน้า ไม่อยากมองย้อนหลัง ซึ่งหมายถึงการไม่อยากหยิบยกประเด็นดังกล่าวที่ผ่านมาแล้ว มาตอบโต้กันให้สื่อเอาไปเม้าท์กันสนุกๆ

เปลอสซี่ กล่าวหาตอนนั้นด้วยว่า รัฐบาล บุช จูเนียร์ กระทำผิดผิดพลลาด และมีส่วนรู้เห็นต่อการปกปิดข้อมูลของซีไอเอ

ตอนนั้นคนของพรรคเดโมแครตในรัฐบาลโอบามา บอกว่า การที่เปลอสซี่หยิบยกเอาเรื่องซีไอเอมาพูด อาจทำให้เสียบรรยากาศอันชื่นมื่นของรัฐบาลโอบามาที่กำลังไปได้สวย โอบามาเองต้องการประสานการทำงานร่วมกับพรรครีพับลิกันในบางประเด็น เขาต้องการประนีประนอมเรื่องการผ่านงบประมาณของทั้ง 2 สภา

ถ้าดูจากการบริหารจัดการคณะรัฐบาลที่ผ่านๆ มาของโอบามา การแต่งตั้งรัฐมนตรี โดยไม่คำนึงถึงว่า มาจากพรรคไหน แต่คำนึงถึงความสามารถเป็นหลัก ดังมี นายโรเบิร์ต เกตส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นต้น หรืออีกกรณี คือ การแต่งตั้งนายโจน ฮันท์สแมน ผู้ว่าการรัฐยูท่าห์ (รีพับลิกัน) ให้ไปเป็นทูตอเมริกันประจำปักกิ่ง โดยที่นายฮันท์สแมนผู้นี้เป๋นฑูตที่มีความสามารถด้านภาษาจีนและรู้เรื่องจีนดีมากผู้หนึ่งของอเมริกัน

สรุปแล้ว เดโมแครตสมัยโอบามามีท่าทีว่า ไม่สมควรยุ่งกับหน่วยงานซีไอเอ ในช่วงการทำงานแรกๆ และต่อๆ มาก็คงรูปแบบการไม่เข้าไปยุ่งกับหน่วยงานสืบราชการลับของรัฐบาลกลางอเมริกันแห่งนี้เหมือนเดิม

ส่วนการทำงานของส.ส.หญิงจากซานฟรานซิสโก สส.เปลอสซี่ ภายหลังการนำเสนอข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของซีไอเอต่อกรรมาธิการด้าน ข่าวกรอง หรือราชการลับในปี  2002 แล้ว เธอได้เกาะติดการทำงานของหน่วยงานซีไอเอต่อมาเป็นระยะเวลายาวนาน

ในเวลาเดียวกันกับบทบาทของเธอในการใส่ใจงานด้านสิทธิมนุษยชนในตอนนั้น เปลอสซีอยู่ในฐานะประธานพรรคเสียงข้างน้อย (Minority leader) โดยนับเป็น สส.หญิงอเมริกันคนแรกที่ได้ทำหน้าที่นี้

หลังจากนั้น เมื่อพรรคเดโมแครตได้เสียงข้างมากในสภา เธอจึงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาล่าง

การต่อกรกับหน่วยงานซีไอเอที่ตกอยู่ภายใต้รีพับลิกันมานานของเปลอสซีครั้งนั้น ทำให้อเมริกันหลายคนคิดว่าเธอช่างกล้าหาญอย่างยิ่ง เพราะหน่วยงานแห่งนี้ ไม่มีใครอยากตอแยมากนัก ที่สำคัญคือ การดำเนินงานของหน่วยงานแห่งนี้อยู่ภายใต้การบัญชาการทำเนียบขาว ซึ่งในสมัย ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้มอบให้นายดิ๊ก เชนนี รองประธานาธิบดีดูแลงานหน่วยงานนี้โดยตรง

อย่างที่บอกไปแล้วว่า ซีไอเอซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองอาลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย เองก็อยู่ในอุ้งมือของคนทางฝั่งพรรครีพับลิกันมามาแทบตลอด

เปลอสซี ทำงานการเมืองมานาน เธอได้รับการเลือกตั้ง เป็นตัวแทน(สส.) จากเขตซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย ตั้งแต่ปี 1987 เป็นส.ส.หญิง ที่มีบทบาทโดดเด่นมาอย่างยาวนาน ไม่แม้แต่ในอเมริกาเอง หากแต่เป็นในเวทีโลกหลายประเทศ

เช่น เมื่อ 21 มีนาคมปี 2008 เปลอสซี่เดินทางไปพบ องค์ดาไล ลามะ ผู้นำทิเบตพลัดถิ่น ณ ธรรมศาลา หิมาจัลประเทศ ตอนเหนือของอินเดีย ซึ่งเป็นที่พำนักของผู้นำศาสนา(และการเมือง) ของทิเบต โดยได้มีการประกาศประณามการกระทำของรัฐบาลจีน พร้อมเรียกร้องให้ทางการจีน ปล่อยตัว นาย หู เจีย นักสิทธิมนุษยชนจีนออกจากคุกอีกด้วย

สมัยรัฐบาลโอบามา เปลอสซี นับได้ว่า เป็นตัวจักรสำคัญในการผ่านกฎหมายหลายฉบับออกประกาศใช้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเกี่ยวข้องกับงบประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุมัติเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจจำนวนหลายแสนล้านเหรียญ รวมกระทั่งกฎหมายทีเกี่ยวข้องกับปรับปรุงโครงสร้างของระบบและสถาบันการเงินของอเมริกา

นอกเหนือจากการผ่านร่างกฎหมายสำคัญสำหรับอเมริกัน อย่างกฎหมายด้านสุขภาพ เป็นต้น บทบาทและความคิดของเปลอสซี ที่ออกแนวเสรี (Liberal) ทำให้เธอได้รับคะแนนนิยมจากชนกลุ่มน้อยหรือต่างด้าว (รวมคนไทย)ในอเมริกา ที่ด้อยโอกาสและมีอยู่ทั่วประเทศมากว่า 11 ล้านคน พวกเขาหวังจะปักหลักอยู่ทำมาหากินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แม้เป็นที่น่าเสียดายว่า กฎหมายเกี่ยวกับแรงงานผิดกฎหมายนี้ ไม่ผ่านการอนุมัติจากสภาสมัยรัฐบาลบุชก็ตาม โดยที่กฎหมายฉบับนี้ได้รับการวิจารณ์จากสื่อและคนอเมริกันว่า ยังมีจุดโหว่ อยู่พอสมควร

ย้อนไปในปี 1999 ต่อ 2000 ช่วงปลายๆ ของรัฐบาล บิล คลินตัน เมื่อผมกับเพื่อนอเมริกันที่คุ้นเคยจากแมคคลีน (city of McLean) รัฐเวอร์จิเนีย เข้าพบเธอ ที่แคปปิตอล ฮิลล์ วอชิงตันดี.ซี. คองเกรสวูแมนเปลอสซี ได้ให้การปฏิสันถารเป็นอย่างดี ทั้งโดยที่รู้ว่า แขกที่มาเยี่ยมที่ออฟฟิศของเธอนั้นมาจากซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย

เวลาผ่านไปเร็ว ยิ่งกว่าติดปีกบิน 10 กว่าปี ในวัย 78 ของเธอ ผมเห็นเปลอสซี่ ยังทำงานอย่างมุ่งมั่น ไม่หวั่นไหว และเติบโตมากยิ่งขึ้น ในฐานะของสุภาพสตรีอเมริกันที่เข้มแข็งมากๆ คนหนึ่ง ในสมรภูมิการเมืองระดับชาติและท้องถิ่นของอเมริกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท