Skip to main content
sharethis

องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชน 40 องค์กร และบุคคลที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน 40 คน เสนอให้ ประธาน สนช. ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กสม. โดยเร็ว ตามหลักสากล

14 ธ.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (14 ธ.ค.61)เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Human Rights Lawyers Association' ของ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เผยแพร่ จดหมายเปิดผนึก ถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จาก องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชน 40 องค์กร และบุคคลที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน 40 คน โดยเสนอให้ ประธาน สนช. ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 (1) – (5) และ มาตรา 10 (1) – (25) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 เป็นเกณฑ์ เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานในการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับหลักการสากล และควรคัดเลือกบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติโดยเร็ว เพื่อให้ได้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดใหม่เข้าทำหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนต่อไป

โดยรายละเอียดจดหมายระบุว่า 

จดหมายเปิดผนึก
วันที่ 14 ธันวาคม 2561


เรื่อง การตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เรียน ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เคารพ

ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 โดยกำหนดระยะเวลาการตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน คือวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 ต่อมาคณะกรรมาธิการสามัญฯ ขอขยายเวลาการตรวจสอบประวัติฯ ครั้งที่ 1 ไปอีก 30 วันซึ่งสิ้นสุดในวันที่ 4 ธันวาคม 2561 และล่าสุดขอขยายเวลาการตรวจสอบประวัติฯ ครั้งที่ 2 อีก 30 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 4 มกราคม 2562 นั้น

องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชน และบุคคลที่มีรายนามท้ายจดหมายนี้ ขอเสนอความเห็นและข้อเสนอมายังท่าน เพื่อการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมและสมควรได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

1. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และมีอาณัติในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มีอำนาจหน้าที่หลักในการตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงการละเมิดสิทธิมนุษยชน เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดทั้งเสนอแนะการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบหรือคำสั่งใดๆ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน รวมถึงการเสริมสร้างทุกภาคส่วนของสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน

ดังนั้น บุคคลที่เหมาะสมจะได้รับการคัดเลือกจากการสรรหาให้เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงต้องเป็นผู้มีความรู้ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ ในด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริง การจัดทำรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเสนอแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนเชิงระบบทั้งการปรับปรุงนโยบาย หรือกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีในการปฏิบัติตามให้เป็นไปตามหลักการดังกล่าว

2. บุคคลที่จะได้รับการคัดเลือกจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้เป็นกรรมการวิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นอกจากมีคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แล้ว บุคคลดังกล่าว จะต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ด้วย กล่าวคือ พิจารณาลักษณะต้องห้ามทั้ง 25 อนุมาตรา ตาม มาตรา 10 เป็นเกณฑ์การพิจารณา ซึ่งประเด็นที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติควรพิจารณานั้น คือ ลักษณะต้องห้ามที่สำคัญที่อาจถือว่า บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อนั้น เป็นผู้มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือ เป็นผู้มีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแจ้งชัด เช่น เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ หรือเป็นผู้นิยมใช้ความรุนแรงในครอบครัว หรือกับผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งลักษณะต้องห้ามดังกล่าว ขัดแย้งต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามอาณัติที่ได้รับในการเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

ส่วนพฤติกรรมหรือลักษณะใดเป็นลักษณะต้องห้ามที่เป็นที่ถกเถียงกันในทางสื่อมวลชนนั้น เช่น ตาม (17) เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน นั้น ไม่อยู่ในลักษณะต้องห้ามที่ควรนำมาเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณามิให้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพราะเหตุว่า ลักษณะต้องห้ามนี้ หมายถึง บุคคลดังกล่าวต้องเป็นผู้ถูกศาลพิพากษาจำคุกและผู้นั้นต้องได้รับโทษจำคุกจริง ดังนั้นแม้ศาลพิพากษาให้จำคุกแต่โทษจำคุกให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษไว้ก่อน จึงมิใช่เป็นการต้องคําพิพากษาให้จําคุก เพราะผู้นั้นไม่ได้ถูกจำคุกจริง ตามนัยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 36/2542 จึงไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

นอกจากนี้พฤติกรรมอื่นๆ เช่น การมีประสบการณ์เป็นผู้คัดค้านโทษประหารชีวิตก็ดี การเสนอให้มีการปฏิรูปตำรวจก็ดี หรือการมีคู่ชีวิตเป็นสื่อมวลชนก็ดี ล้วนไม่ใช่ลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ที่จะนำมาเป็นเหตุมิได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วยเช่นกัน

ผู้ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาให้เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังพิจารณาอยู่นี้ เป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลอื่นในการพิจารณาคัดเลือกให้ได้เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมาจากภาคประชาชนหรือภาครัฐ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสหประชาชาติว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติ หรือหลักการปารีส ที่ว่า กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรมาจากบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพและความเชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนที่หลากหลายและต้องมีผู้แทนภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย

ด้วยหลักการและเหตุผลข้างต้น องค์กรภาคประชาสังคม และองค์กรสิทธิมนุษยชนจึงมีข้อเสนอแนะ ต่อท่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 (1) – (5) และ มาตรา 10 (1) – (25) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 เป็นเกณฑ์ เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานในการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับหลักการสากล และควรคัดเลือกบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติโดยเร็ว เพื่อให้ได้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดใหม่เข้าทำหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนต่อไป

องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชน และบุคคลที่มีรายนามท้ายจดหมายนี้มีความเชื่อมั่น ว่าการดำเนินการตามหลักการและข้อเสนอแนะดังกล่าวจะเป็นผลดีต่อประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้ประชาชนไทย และกลไกการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนระดับสากลในทุกภูมิภาคของโลก มีความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยมากขึ้นเท่านั้น แต่จะทำให้ประเทศไทยมีความสง่างามในการเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 และมีกลไกปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่มาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่พร้อมจะทำงานร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอีกด้วย

ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชน

รายนามองค์กร

1. ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove)
2. คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ๓๕ 
3. สถาบันสังคมประชาธิปไตย
4. สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา
5. มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.)
6. เครือข่ายนักสื่อสารแรงงาน
7. ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา (ผสพ.)
8. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.)
9. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
10. มูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศน์ จ.สุรินทร์
11. มูลนิธิกองทุนไทย
12. มูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต จ.สุราษฎร์ธานี
13. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
14. โครงการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาชนบท จ.พิจิตร
15. สมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์
16. สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ
17. ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
18. เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน
19. สมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น
20. กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน
21. สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
22. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)
23. สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม
24. ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย(YPD)
25. สมาคมป่าชุมชนอีสาน
26. มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว (มคค.)
27. มูลนิธิรณรงค์หยุดการพนัน (มรพ.)
28. สถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม (สสป.)
29. สถาบันพัฒนาพลังสังคม (สพส.)
30. มูลนิธิสระแก้ว
31. มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)
32. มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
33. มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.)
34. สหพันธ์เกษตรภาคเหนือ (สกน.)
35. ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา
36. เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติดินน้ำป่า ภาคเหนือล่าง
37. สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค
38. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกฉะเชิงเทรา
39. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
40. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
รายชื่อบุคคล 
1. นพพรรณ พรหมศรี
2. วาสนา ลำดี
3. ประกาศ เรืองดิษฐ์
4. เชษฐา มั่นคง
5. สุริยันต์ ทองหนูเอียด 
6. มานพ สนิท
7. วิเศษ คุณฤทธิพงศ์
8. จำรัส หวังมณีย์
9. นิกร วีสเพ็ญ
10. วัฒนา นาคประดิษฐ์
11. ประพจน์ ศรีเทศ
12. ปานจิตต์ แก้วสว่าง
13. จำนงค์ จิตรนิรัตน์
14. ปฏิวัติ เฉลิมชาติ
15. กรรณิการ์ แพแก้ว
16. อนุชา วินทะไชย
17. กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
18. สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง
19. โอฬาร อ่องละ
20. สมบูรณ์ คำแหง
21. อารัติ แสงอุบล
22. สุแก้ว ฟงฟู
23. ดร.ดำเกิง โถทอง
24. พิณทอง เล่ห์กันต์
25. สุรัสวดี หุ่นพยนต์
26. วัชรา สงมา
27. สุธีลา ลืนคำ
28. สุดท้าย ต่อโชติ
29. นิรันดร์ กุลฑานันท์
30. รศ.ดร.สุธี ประศาสน์เศรษฐ์
31. กรรณิกา ควรขจร
32. สาคร สงมา
33. สุทธาวัลย์ บัวพันธ์
34. จันทนา เอกเอื้อมณี
35. นันทวัน หาญดี
36. ศ.ระพีพรรณ คำหอม
37. รศ.เล็ก สมบัติ
38. ผศ.ดร.ภุชงค์ เสนานุช
39. ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล
40. ดร.น้ำผึ้ง มีศิล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net