Skip to main content
sharethis

ผุด ‘ระเบียงการเรียนรู้ตะวันออก’ คู่ขนานกับ ‘ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก’ กลุ่มทำงานด้านการศึกษาระดมความคิดจากหลายฝ่าย มองหาแนวทางการศึกษาสร้างความพร้อมคนรุ่นใหม่รับมือการพัฒนาอุตสาหกรรมจากส่วนกลาง มองหาการศึกษาที่มีความสุข มุ่งสู่ความเป็นมนุษย์ ผู้เข้าร่วมแนะ คุยกันให้บ่อย เข้าใจภาคราชการ ด้านภาครัฐรับเรื่อง เสนอใช้เวลาช่วง คสช. ปลอดล็อก ขับเคลื่อนประเด็นตามเจตจำนงท้องถิ่น

แกนนำกลุ่มรักษ์เขาชะเมาบรรยายข้อเสนอเรื่อง ELC ในเวทีระดมความคิด (ภาพโดย กชกร ความเจริญ)

11 ธ.ค. 2561 ได้มีการจัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระเบียงการเรียนรู้ตะวันออก (Eastern Learning Corridor: ELC) “การเรียนรู้อย่างมีความสุขสู่ความเป็นมนุษย์” เมื่อวันที่ 8 ถึง 10 ธ.ค. 2561 โดยความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มรักษ์เขาชะเมา, สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา สาธารณะศึกษา, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน และสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส เพื่อก่อให้เกิดการเสนอการเรียนรู้เพื่อความสุขสู่การรับรู้ของสังคมภายนอก และเพื่อระดมความคิดในการขับเคลื่อนแนวคิด ELC (Eastern Learning Corridor: ระเบียงการเรียนรู้ภาคตะวันออก) ต่อไป

สำหรับแนวคิด ELC เป็นแนวคิดที่ฝั่งประชาสังคมในระยองนำโดยกลุ่มรักษ์เขาชะเมาเสนอต่อภาครัฐ เพราะ ณ ตอนนี้ ภาครัฐกำลังดำเนินโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development: EEC) ซึ่งเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่อยอดจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ Eastern Seaboard โครงการนี้ยังส่งเสริมด้านการศึกษากระแสหลัก ที่มีหลักสูตรมุ่งเน้นผลิตบุคคลากรสู่ตลาดแรงงาน แต่ในความเป็นจริง การศึกษาไม่ได้มีแค่แบบกระแสหลัก ยังมีการศึกษาทางเลือกเช่น การศึกษานอกระบบ และการศึกษาบนฐานชุมชนที่เช่น Home School, Smart Framer, กิจกรรมเสริมทักษะชีวิต,ศูนย์เรียนรู้ชุมชน ฯลฯ ซึ่งในระยองเองก็ยังมีการเรียนรู้ทางเลือกแบบนี้ เพียงแต่ยังเป็นแค่กลุ่มเล็กๆ ฝั่งประชาสังคมจึงผลักดันการศึกษาทางเลือกเหล่านี้ภายใต้แนวคิด ELC เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการพัฒนายุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดระยองกับภาครัฐ

ระดมความคิด ELC เรียนใน-นอกระบบต้องเท่าเทียม-ท้องถิ่นมีส่วนร่วม

เวทีระดมความคิดเพื่อขับเคลื่อนแนวคิดระเบียงการเรียนรู้ภาคตะวันออกได้จัดขึ้นในวันที่ 10 ธ.ค. 2561 มีตัวแทนจากหลายฝ่ายเข้าร่วมการถกประเด็นการศึกษาครั้งนี้ได้แก่ บุปผาทิพย์ แช่มนิล จากกลุ่มรักษ์เขาชะเมา, ศาสตราจารย์สมพงษ์ จิตระดับ จากเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ธงชัย มั่นคง นงนุช อุทัยศรี จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2, สมเกียรติ อภิญญาชน จากมูลนิธิช่วยเหลือนักเรียนยากจนอําเภอแกลง, สมชาย จริยเจริญจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ), ศศรส โกวิทพานิชกุล จากกลุ่มการเรียนรู้อิสระ, พงษ์พจน์ จริยเจริญ จากกลุ่มบ้านเรียน, อุทัยทิพย์ เปรมอนันต์และสุรศักดิ์ ขุมทอง จากสวนอเนกอนันต์ และยุทธชัย เฉลิมชัย รักษาการนายกสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย

สุรศักดิ์ ขุมทองและอุทัยทิพย์ เปรมอนันต์เจ้าของสวนอเนกอนันต์บรรยายเรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร

บุปผาทิพย์เสนอปูมหลังปัญหาว่าด้วย “การพัฒนา” ด้านอุตสาหกรรมที่เข้ามาสู่ระยองและพื้นที่อื่นๆ ในภาคตะวันออก โดยยกข้อมูลจากนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ว่า การพัฒนาแบบ EEC (Eastern Economic Corridor: ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) มีจุดบกพร่องในแง่ที่ขาดการดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีความเปลี่ยนแปลงอีกหลายอย่างที่ต้องตระหนักเช่น การยกเลิกผังเมืองเดิมแล้วจัดผังเมืองให้เข้ากับส่วนกลาง การให้อำนาจด้านกฎหมายเป็นพิเศษแก่คณะกรรมการ EEC สิทธิการเช่าที่ 99 ปีซึ่งเป็นช่วงเวลายาวนานหลายชั่วอายุคน การลดภาษีเพื่อดึงดูดนักลงทุน รวมถึงการพิจารณาการสร้างโรงงานด้วยระยะเวลาเพียง 120 วัน

และเรื่องสำคัญที่นำมาสู่การขับเคลื่อนแนวคิดด้านการศึกษาคือ ภายใต้ยุทธศาสตร์ EEC การศึกษาจะมุ่งผลิตคนเพื่อเป็นแรงงานเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม กลุ่มรักษ์เขาชะเมาจึงตั้งคำถามต่อระบบการศึกษาแบบนี้ว่า “แล้วถ้าไม่อยากทำงานแรงงานอุตสาหกรรมล่ะ” จึงนำไปสู่การมองหาการเรียนรู้ทางเลือกในแง่มุมต่างๆ ซึ่งในการติดต่อของกลุ่มรักษ์เขาชะเมาพบว่า ทางเลือกด้านการเรียนรู้ที่มีอยู่ในพื้นที่ก็ยังคงมีปัญหาติดขัดเช่นกัน

ความเห็นจากทางกลุ่มการเรียนรู้อิสระนั้น เสนอว่าควรมีการยกระดับการเรียนรู้รูปแบบนี้ให้ทัดเทียมกับการศึกษาในระบบและนำมาร่วมมือกันเพื่อสร้างพัฒนาการที่ดีให้กับเด็ก เพราะปัญหาที่เจออยู่ตอนนี้คือ กลุ่มการเรียนรู้แบบนี้มักถูกตีตราว่าเป็นโรงเรียนเถื่อน “เราถูกมองว่าเป็นโรงเรียนเถื่อน ทั้งๆ ที่องค์ความรู้ของเราพัฒนากันเป็นสิบปี” ศศรสกล่าว

ส่วนฝ่ายบ้านเรียนเสนอว่า อยากให้ทางภาครัฐสนับสนุนในด้านข้อกำหนดต่างๆ เพราะปัจจุบันกลุ่มผู้ที่จัดตั้งบ้านเรียนให้ลูกของตนมักประสบปัญหาเรื่องข้อกำหนดต่างๆ ทำให้ยากแก่การดำเนินการซึ่งปัญหาหลักคือทัศนคติของทางเจ้าหน้าที่ที่ยังไม่เห็นด้วยหรือสนับสนุนการจัดตั้งบ้านเรียนในฐานะแหล่งเรียนรู้ที่เท่าเทียมกับสถานศึกษาในระบบ พงษ์พจน์ได้ยกตัวอย่างที่แม้ผู้ปกครองจะจดทะเบียนบ้านเรียนแล้วก็ตาม แต่ฝ่ายหน่วยงานรัฐก็ยังมีข้อกำหนดให้เด็กต้องมาเรียนในระบบซึ่งผู้ปกครองเองก็ต้องพบกับความไม่สะดวกในการเดินทางส่งลูกทั้งๆ “ทั้งๆ ที่จดทะเบียนบ้านเรียนแล้ว แต่ยังต้องลำบากเข้าสู่การเรียน ในระบบอีก” พงษ์พจน์กล่าว

ด้านกลุ่มการเกษตรยั่งยืนสวยอเนกอนันต์ได้เสนอว่า การศึกษาที่เกิดขึ้นควรจะสอนคนให้สามารถพึ่งตนเองรวมทั้งคุณค่าของธรรมชาติ สุรศักดิ์ยังได้สะท้อนปัญหาของโรงเรียนเล็กในชนบทว่าต้องประสบกับปัญหาเรื่องการประเมิน ด้านเด็กชนบทเมื่อประสบปัญหาเรื่องระบบการศึกษาก็ต้องออกไปเรียนในที่ไกลๆ ส่วนปัญหาเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรม สุรศักดิ์ก็ไม่ได้คัดค้านการพัฒนาดังกล่าว แต่เพียงต้องการให้มีการแบ่งพื้นที่การพัฒนาอย่างชัดเจน ระหว่างพื้นที่อุตสาหกรรมและพื้นที่เกษตรกรรม

สมพงษ์เสนอว่า ในความเป็นจริงคนส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องเข้าทำงานโรงงาน ซึ่งการจัดการการศึกษาเพื่อให้คนมีโอกาสเลือกไม่เข้าระบบอุตสาหกรรมตามยุทธศาสตร์รัฐ ต้องเริ่มในหน่วยจังหวัด โดยแบ่งสัดส่วนการออกแบบหลักสูตรที่ออกโดยส่วนกลางกับส่วนที่ออกโดยจังหวัด เพราะถ้าฝ่ายท้องถิ่นไม่มีการเสนออะไรในแผนพัฒนาที่มาจากส่วนกลาง หรือไม่ผลิตวาทกรรมที่แสดงจุดยืนของคนในพื้นที่ ส่วนกลางของระบบการศึกษาก็จะเข้าครอบงำทุกด้านของการศึกษาที่ควรจะเป็น ในแง่ของการขับเคลื่อนต้องมีส่วนร่วมกันในทุกภาคส่วน ต้องมีการดึงข้าราชการและสภาเด็กและเยาวชนเข้ามาเป็นพันธมิตร

ในแง่ของการตกลงกับภาครัฐ สมเกียรติได้เสนอเพิ่มเติมด้วยแนวคิด “ฟื้นความเป็นเจ้าของ” ของประชาชนในฐานะผู้เสียภาษี ในแง่ที่ว่าประชาชนเองที่เป็นผู้มีอำนาจในการขับเคลื่อน อย่างไรก็ตาม ประชาชนเองก็ควรเข้าใจและเห็นใจว่าภาคข้าราชการนั้นมีระบบที่เปลี่ยนแปลงได้ยากเช่นกัน ส่วนด้านการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาชนเอง สมเกียรติเสนอว่าควรมีการพูดคุยให้บ่อยมากขึ้น

ยุทธชัยเสนอว่าในแง่ของการปฏิรูปการศึกษาว่าควรจะมีการทบทวนปรัชญาการศึกษากันใหม่ การศึกษาควรจะทำให้คนมีความสุขและชุมชน สังคมมีความยั่งยืน ควรมีการค้นหาว่าในตัวของเด็กแต่ละคนมีดีอะไรอยู่  เพราะการคาดเดาอนาคตของสังคมแล้วสร้างความรู้ที่คิดว่าจำเป็นต่อเด็กเป็นวิธีที่มีปัญหา อนาคตของสังคมคาดการณ์กันยาก จึงควรแทนที่ด้วยการที่สอนให้เขาค้นพบทักษะในตัวเองแล้วเอามาพลิกแพลงในอนาคต

ด้านสมชายให้ความคิดเห็นในแง่ของสำนึกด้านการเคลื่อนไหวว่า กลุ่มที่เคลื่อนไหวผลักดันไม่ควรมองตัวเองอย่างต่ำต้อย แต่ต้องมีความภูมิใจในการกระทำของตัวเอง ต้องมีความ “เหิมเกริม” ถ้าทางหนึ่งไม่สำเร็จก็อย่าเพิ่งถอดใจเพราะจะต้องมีอีกทางเพื่อไปสู่เป้าหมาย ส่วนในแง่ของการเปลี่ยนแปลงการศึกษาการเรียนรู้ ELC ยังคงเป็นนามธรรม สมชายเสนอว่าควรมีการผลักดันแผนการที่เป็นรูปธรรมอย่าง “EFC” หรือระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก คือการผลักดันเรื่องการผลิตและการค้าผลไม้ควบคู่ไปกับการตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ

ทางฝ่ายเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดระยอง เขต 2 เสนอว่า จะรับข้อเสนอด้านการศึกษาที่พูดคุยกันในเวที พร้อมทั้งแนะว่าเมื่อมีการดำเนินยุทธศาสตร์ EEC ย่อมต้องมีการผ่อนคลายข้อกำหนดในหลายๆ เรื่อง ถือเป็นโอกาสเหมาะในการประสานงานองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกนโยบายแล้วเสนอแนวทางการพัฒนาการศึกษาทางเลือกอย่างที่กำลังพูดคุยกันอยู่ให้กับคณะกรรมการของแผน EEC ธงชัยเองได้เสนอต่อไปถึงแผนการปฏิรูปการศึกษาของระยองที่มีชื่อว่า Rayong Marco โดยเป็นแผนปฏิรูปการศึกษาที่เน้นการพัฒนาศักยภาพคน รู้จักรากเหง้าวัฒนธรรมของตน ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ รู้จักเมืองและเข้าใจความเป็นพลเมือง รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพด้านอาชีพ

การเรียนรู้ทางเลือก อิสระด้านการพัฒนาปัญญา มีสิทธิเลือกงานเกษตร อยู่กับลูกอย่างเต็มที่

สำหรับ “การเรียนรู้ทางเลือก” ในจังหวัดระยองซึ่งทางกลุ่มรักษ์เขาชะเมาและกลุ่มสาธารณะศึกษาได้เข้าไปเรียนรู้ในวันที่ 8 ธ.ค. 2561 และได้เข้ามาร่วมระดมความคิดในวันที่ 10 ธ.ค. 2561 มีทั้งรูปแบบจากกลุ่มการเรียนอิสระที่ใช้ศิลปะและเกมในการสร้างพัฒนาการให้กับเด็ก การเรียนรู้การเกษตรที่ยั่งยื่นด้วยรูปแบบเกษตรอินทรีย์ซึ่งมีการใช้ประโยชน์จากสารอินทรีย์ จุลินทรีย์ การบริหารแมลง และการจัดการทรัพยากรให้ไหลเวียนในระบบการผลิต และการเรียนรู้บ้านเรียนที่มีการจัดบ้านให้เป็นแหล่งการศึกษาสำหรับบุตรหลานในบ้านเอง

นวัตกรรมการสอนศิลปะจากโรงเรียนสอน ศิลปะ: I Love Art  มีทั้งการสอนศิลปะแก่เด็กปกติและเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา โดยการจัดการการสอนจะใช้การออกแบบเป็นรายบุคคล ส่วนระดับด้านทักษะก็จะมีการจัดแบ่งตามวัย เริ่มจากการใช้ดินสอไปจนถึงการจัดวางภาพเป็นเรื่องราว โดยการสอนวางอยู่บนฐานคิดที่ผู้สอนเห็นศักยภาพในด้านการใส่ใจรายละเอียดและจินตนาการของเด็ก ซึ่งผลลัพธ์จากการเรียนศิลปะกลับกลุ่มการเรียนอิสระไม่เพียงเป็นแค่เรื่องของผลงานหรือรางวัล แต่ยังรวมไปถึงทักษะของเด็กเองอย่างเรื่องสมาธิจดจ่อ

ส่วนนวัตกรรมการสอนการแสดงจากกลุ่มสอนละคร :Inn Play School  เป็นไปเพื่อพัฒนาความฉลาดด้านอารมณ์ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจรูปแบบอารมณ์ของตัวเอง ตระหนักถึงอารมณ์ของตัวเอง และจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้อย่างเหมาะสม โดยปรัชญาการเรียนแบบนี้ตั้งอยู่บนฐานของการลงมือปฏิบัติการก่อนแล้วจึงถอดบทเรียน เชื่อในความเป็นมนุษย์ของผู้เรียน ในการปฏิบัติการจะใช้ภาษากายและร่างกายเพื่อเรียนรู้และจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งผลที่เกิดขึ้นจากการเรียนแบบนี้คือเด็กที่แม้แต่เป็นออทิสติกก็มีพฤติกรรมสื่อสารกับสังคมที่ดีขึ้น

การเรียนรู้ผ่านเกมของร้านบอร์ดเกม: Menza Club เป็นการเรียนรู้ผ่านบอร์ดเกมและเกมจำพวกหมากล้อมหรือหมากรุก ซึ่งรูปแบบของบอร์ดเกมที่หลากหลายก็จะมอบทักษะแก่ผู้เล่นในรูปแบบที่แตกต่างกัน อย่างเช่น บอร์ดเกม Dixit ซึ่งเป็นเกมที่ให้ผู้เล่นคนหนึ่งบอกใบ้และให้ผู้เล่นที่เหลือเดาภาพว่าภาพใดเป็นภาพที่ผู้เล่นคนนั้นหมายถึง โดยเกมดังกล่าวเป็นไปเพื่อฝึกการทำความเข้าใจความคิดของผู้อื่น

ส่วนแหล่งการเรียนรู้ด้านเกษตรเพื่อความยั่งยืน สวนอเนกอนันต์คือแหล่งการเกษตรตัวอย่างที่ทางโครงการได้เข้าไปเรียนรู้ ทางสวนได้ให้ความรู้ในแง่ของการทำให้เกษตรกรรมอยู่รอดอย่างยั่งยืนได้ภายใต้บริบทที่อุตสาหกรรมเป็นรูปแบบเศรษฐกิจหลัก ซึ่งความยั่งยืนในความหมายของสวนอเนกอนันต์ไม่ได้อยู่ในแง่ของรายได้ แต่ต้องควบคู่ไปกับสุขภาพที่ดี โดยข้อเสนอของสวนอเนกอนันต์มีใจความว่า จะไม่ใช้เงินที่หาได้จนร่ำรวยมาสูญเสียกับการรักษาตัวเอง นอกจากนี้ความยั่งยืนที่สวนอเนกอนันต์ผลักดันยังเป็นเรื่องของการทำให้เกษตรกรในชุมชนพึ่งตนเองได้ การที่ผู้คนในชุมชนมีชีวิตที่ไม่ได้ผูกติดกับเงินเพียงอย่างเดียวแต่สามารถผูกโยงพึ่งพากันและกันจนเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง

ในแง่ของการบริหารการค้าผลิตภัณฑ์จากสวนอย่างมีประสิทธิภาพ สวนอเนกอนันต์ได้แสดงให้เห็นว่า ในการที่จะทำให้การเกษตรอยู่รอดได้ ผู้ผลิตต้องมีอำนาจในการกำหนดราคาซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ เกษตรกร ต้องสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าของตนเองให้ได้ ไม่ว่าจะขายในราคาที่สูงหรือราคาที่ต่ำก็ต้องแสดงเหตุผลให้ได้ ในแง่ขององค์ความรู้เมื่อไม่ใช้สารเคมีก็ต้องหาองค์ความรู้ด้านการเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาการผลิตอยู่ตลอด

สำหรับแหล่งเรียนรู้แบบบ้านเรียนซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้แบบที่ครอบครัวจัดให้บุตรหลานเอง บ้านหนุมานเป็นแหล่งตัวอย่างที่ผู้เข้าร่วมโครงการได้เข้าไป พงษ์พจน์และกัลยา จริยเจริญ ผู้เป็นพ่อและแม่จัที่ดการเรียนและการเล่นตามความสนใจของลูกๆ ตามข้อกำหนดขององค์กรที่ทางครอบครัวได้จดทะเบียน โดยจุดมุ่งหมายหลักของบ้านเรียนบ้านหนุมานนั้น พงษ์พจน์กล่าวว่าเพื่อให้ลูกได้มีเวลาอยู่กับพ่อแม่และพ่อแม่ได้อยู่ดูแลลูกอย่างเต็มที่ในวัยที่เหมาะสม

งานวัดอนุรักษ์วัฒนธรรม สร้างแหล่งรวมตัวทางวัฒนธรรมของชุมชน

การแห่กลองยาวรอบตลาดของขบวนวัฒนธรรม (ภาพโดย กฤษณ์มน แก้วจินดา)

ส่วนกิจกรรมอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นจัดขึ้นในวันที่ 9 ธ.ค. 2561 ที่วัดเนินเขาดิน โดยกลุ่มรักษ์เขาชะเมาร่วมกับกลุ่มการเรียนรู้และกลุ่มวัฒนธรรมในจังหวัดระยอง ลักษณะของกิจกรรมคล้ายกับงานวัดที่เป็นทั้งกิจกรรมให้เด็กและเยาวชนในชุมชนได้เข้ามาเรียนรู้ และให้ผู้ใหญ่ในชุมชนได้ร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรม กิจกรรมมีทั้ง ฐานการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเช่น การทำขนมจาก การทำผ้ามัดย้อม การปั้นภาชนะจากดินโคลน การแห่ขบวนกลองยาวบริเวณวัดเพื่อเชิญชวนชาวบ้านมาร่วมงาน พิธีบายศรีสู่ขวัญที่มีเด็กๆ เข้ามามีส่วนร่วม การแสดงดนตรีไทย การร้องเพลงพื้นบ้าน การบรรเลงอังกะลุงจากกลุ่มนักเรียน และการแสดงลิเกจากคณะอนัตตาการละคร

กาญจนพงศ์ รินสินธุ์ เป็นนักศึกษาหลักสูตรอาเซียนศึกษา จากสำนักศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปัจจุบันกำลังฝึกงานที่ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net