ร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตยภายใต้กฏหมายพิเศษชายแดนใต้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัดและผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

ในสื่อปัจจุบันมีการวิจารณ์การแบ่งเขตเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หลายพื้นที่เช่นสุโขทัย นครราชสีมา มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจเอื้อต่อบางพรรคการเมืองที่หนุนการสืบทอดอำนาจคสช. หรือ การแบ่งเขตดังกล่าว อาจจะผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ? ประการสำคัญที่สุดคือการแบ่งเขตใหม่ภายหลังมี คำสั่ง คสช. ที่ 16/2561 ประชาชนไม่มีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญในการให้ความเห็นต่อการแบ่งเขตตามรูปแบบที่ 4 ที่ คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 16/2561 ขยายเวลาการแบ่งเขตออกไป โดยรับฟังแต่เสียงผู้ร้องซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยเท่านั้น ส่วนเสียงส่วนใหญ่ซึ่งทำตามระเบียบ กกต. และ กฎหมายรัฐธรรมนูญกลับไม่ฟัง (ซ้ำยังนายกรัฐมนตรียังใช้คำไม่สุภาพระบายต่อเรื่องนี้แม้ท่านจะขอโทษประชาชนภายหลัง)

สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วการแบ่งเขตภาพรวมยังเหมือนเดิมยกเว้น เขตเลือกตั้งในจังหวัดยะลา กล่าวได้ว่า การเลือกตั้งรอบนี้มีทั้งสิ่งใหม่และสิ่งเก่าผสมกัน แม้จะมีที่นั่งของ ส.ส.เหมือนเดิมทั้ง 13 เขต แต่การลากเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ที่เพิ่งประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้พื้นที่ช่วงชิงในจังหวัดยะลาทั้ง 3 เขต มีการปรับใหม่ ประมาณการณ์ได้ว่าพื้นที่เหล่านี้น่าจะมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
ประกาศ กกต. เขตเลือกตั้ง 2562
ประกาศ กกต. เขตเลือกตั้ง 2554

ดังนั้นการแบ่งเขตใหม่น่าจะกระทบน้อยแต่ที่กระทบมากที่สุดไม่เหมือนคนทั้งประเทศสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้คือประชาชนและคนเลือกตั้งจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับ ก็ยังคงมีอยู่ ทำให้พื้นที่เหล่านี้ยังมีฐานะเป็น #พื้นที่ความขัดแย้ง อยู่ถึงปัจจุบัน

จากสถาบันข่าวอิศราที่ติดตามข่าวการเลือกตั้งชายแดนใต้อย่างเกาะติดมีทัศนะว่า(2/12/61) “แม้จะยังไม่มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการสำหรับว่าผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคการเมืองต่างๆ ที่จะลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส แต่ก็เป็นที่คาดหมายกันว่าสมรภูมิการเมืองที่ปลายด้ามขวานจะดุเดือดยิ่งกว่าพื้นที่อื่นๆ ในภาคใต้ทั้งหมดเช่น

พรรครวมพลังประชาชาติไทย แม้จะเป็นพรรคใหม่ แต่เมื่อ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" คือแม่ทัพ ย่อมประมาทไม่ได้ เพราะเขาคือหนึ่งในผู้วางยุทธศาสตร์ให้ประชาธิปัตย์เคยผงาดในดินแดนด้ามขวานมาแล้ว หนำซ้ำยังได้อดีต ส.ส.จากบ้านเก่ามาเพิ่มต้นทุนให้ พรรครวมพลังประชาชาติไทยอีกด้วย  

"พรรคประชาชาติ" ภายใต้การนำของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขวัญใจคนสามจังหวัด เลือกตั้งหนนี้หลอมรวมเอาอดีตแกนนำพรรคมาตุภูมิมาอยู่ร่วมกันในบ้านหลังใหม่ และยังได้อดีต ส.ส.ที่เคยสังกัดพรรคภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนามาร่วมทีมด้วย งานนี้จึงถือว่า "พรรคประชาชาติ" มีคะแนนตุนไว้ในกระเป๋าแล้วมากพอสมควร

พรรคภูมิใจไทย แม้ สมมุติ เบ็ญจลักษณ์ อดีต ส.ส.ปัตตานีหนึ่งเดียวของพรรค ตัดสินใจย้ายค่ายไปอยู่กับพรรคประชาชาติ แต่ว่ากันว่าแกนนำพรรคตัวจริงอย่าง เนวิน ชิดชอบ แห่งบุรีรัมย์ยูไนเต็ด ยังไม่ถอดใจ ล่าสุดมีข่าวทาบทาม "หมอเพชรดาว โต๊ะมีนา" ลูกสาวของอดีตแกนนำกลุ่มวาดะห์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยอย่าง "เด่น โต๊ะมีนา" ไปร่วมงานด้วย ทำให้เลือกตั้งหนนี้ พรรคภูมิใจไทยยังคงอยู่ในสปอตไลท์ "พลังประชารัฐ" ดูจะมีต้นทุนต่ำที่สุด เพราะอดีต ส.ส.ที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะคว้ามาเข้าพรรค หลุดมือไปเกือบทั้งหมด ทำให้ พปชร.คงเหลือจุดแข็งอย่างเดียว คือ การมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหน้าที่ผู้กุมกลไกอำนาจรัฐที่สามารถใช้พลังแฝงช่วยเหลือ และขณะเดียวกันก็ตัดกำลังคู่แข่งได้

แม้วันนี้ "ผู้นำทัพตัวจริง" ของ พปชร.ที่ชายแดนใต้จะยังไม่เปิดตัวต่อสาธารณะก็ตาม” แต่ล่าสุดเป็นที่ทราบกันดีว่าในเชิงลึกมีนายภาณุ อุทัยรัตน์ ครม.ส่วนหน้าและอดีตเลขาธิการศอ.บต. เป็นผู้ประสานงาน ซึ่งจังหวัดปัตตานี เขต 1 ได้แก่ นายอรุณ เบญจลักษณ์ รองนายก อบจ. และอดีตผู้สมัคร สส.พรรคมาตุภูมิ เขต 2 นายอัศมี หยีดาโอะ สจ. เขต 3 นายอับดุลรามัน มะยูโซะ อดีต สจ. 3 สมัย และอดีตผู้สมัคร สส. พรรคประชาธิปัตย์ สำหรับจังหวัดยะลา เขต 1 ได้แก่ นายอาดิสัน อาลีอีสเฮาะ ทนายความมุสลิมชื่อดัง เขต 2 นายธีรวัฒน์ วุนาพันธุ์ รองนายก อบจ. เขต 3 นายกันต์พงษ์ ลิ่มกาญจนา ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ส่วนจังหวัดนราธิวาส เขต 1 นายวัชระ ยาวอหะซัน อดีต สส. 2 สมัย เขต 2 นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ อดีต สท. 2 สมัย เขต 3 นายอาลาวี อาบะห์ สจ. และ เขต 4 นายอาหะมะรูซี เจ๊ะคอ (https://www.naewna.com/politic/367099)

การเลือกตั้งใน #พื้นที่พิเศษภายใต้กฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับคือ 1. พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กฎอัยการศึก พ.ศ.2547 ซึ่งประกาศในอำเภอและจังหวัดชายแดนอยู่แต่เดิมแล้ว 2. พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศตั้งแต่เดือน ก.ค.2548 ในพื้นที่ จังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี ปัจจุบันยกเว้น อ.แม่ลาน จังหวัดปัตตานี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อําเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และ อ.สุคิริน จังหวัดนราธิวาส 3. พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 บังคับใช้ในพื้นที่ อ.จะนะ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย และ อ.นาทวี ของ จังหวัดสงขลา รวมทั้งอ.แม่ลาน จ.ปัตตานี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อําเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และ อ.สุคิริน จังหวัดนราธิวาส

“กฎหมายพิเศษ” ที่ว่านี้หมายถึงกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ “เป็นพิเศษ” ในการตรวจค้น จับกุม คุมขัง สอบสวน และตรวจสอบหาหลักฐานนอกเหนือจากที่ให้ไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ทั้งนี้เพื่อแก้ไข ควบคุม หรือยุติปัญหาหรือการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ (ซึ่งโดยนัยยะที่ถูกต้องย่อมหมายถึงความมั่นคงของประชาชน)

ที่ผ่านมา “กฎหมายพิเศษ” ปฏิเสธไม่ได้ว่า “แนวปฏิบัติ” ของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย และละเมิดสิทธิของประชาชน จนเกิดปัญหาบานปลายประเภท “น้ำผึ้งหยดเดียว” หลายกรณี

ด้วยเหตุผลดังกล่าวในบรรยากาศการเลือกตั้งทำให้ประชาชน นักการเมืองและพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคที่เป็นคู่แข่งกับรัฐมีความกังวลอาจจะถูกฎหมายพิเศษต่างๆเล่นงาน ขนาดกฎหมายปกติยังสามารถเล่นงานคู่แข่งทางการเมืองกับผู้มีอำนาจรัฐที่ต้องการสืบทอดอำนาจทุกวิถีทางเช่น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีต ผบ.ตร. ตกเป็นจำเลยด้วย ในฐานะผู้จัดรายการ "เสียงเสรีโดย เสนาธิการฯ ฝ่ายกฎหมาย คสช.นำกำลังเข้าตรวจค้นสถานีวิทยุโทรทัศน์ ฟ้าให้ทีวี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. มาตรา 44 โดยให้เหตุผลว่า มีการออกอากาศรายการทีวี มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดสถานี(โปรดดู https://www.thaipost.net/main/detail/23215 )

นอกจากนี้ในเวทีเสวนา “บทบาทการเลือกตั้งกับการสังเกตการณ์ในไทยเพื่อประชาธิปไตย” พร้อมออกแถลงการณ์เครือข่าย We Watch เรื่อง การสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย วันที่ 15 ธันวาคม ห้อง 103 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ ได้ให้ทัศนะว่า

“ประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมาประชาชนมีบทเรียนราคาแพงว่า สังคมใดที่ไม่มีกติกาที่ยอมรับร่วมกัน ในไม่ช้าก็เร็ว การใช้ความรุนแรงก็จะกลายเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ การเปิดพื้นที่กลางสำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชน และการสร้างกระบวนการรองรับกับความคิดเห็นที่แตกต่างในสังคมจึงเป็นสิ่งที่มีสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

กระบวนการการเลือกตั้ง เป็นหนึ่งในกระบวนการที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับความคิดเห็นที่หลากหลาย และผลประโยชน์ที่แตกต่างกันของคนกลุ่มต่างๆในสังคม แต่ทว่าการเลือกตั้งต้องวางอยู่บนเงื่อนไขที่มีความความเป็นอิสระ (Free) ยุติธรรม (Fair) จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ (Regular) และมีความหมายต่อประชาชน (Meaningful) จึงจะเป็นการเลือกตั้งที่มีความชอบธรรม

ข่าวเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะมีการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562 ได้กลายเป็นประเด็นทางสังคมที่หลายฝ่ายต่างให้ความสนใจ เนื่องจาก หลังการเลือกตั้งปี 2554 สังคมไทยไม่ได้มีการเลือกตั้งมากว่า 7 ปีแล้ว (ทั้งนี้ไม่นับรวมการเลือกตั้งปี 2557 ที่ถูกประกาศให้เป็นโมฆะ) การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้แสดงให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่าการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไม่สามารถสร้างความชอบธรรมให้กับการบริหารประเทศได้

อย่างไรก็ดี สถานการณ์การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้กลับเต็มไปด้วยคำถามและข้อสงสัยต่อความเชื่อมั่นว่าจะมีความเป็นอิสระ ยุติธรรม และเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ เนื่องจากการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลทหารที่มีทั้ง “มาตรา 44” “ประกาศคณะคสช.” และ “คำสั่งของหัวหน้าคสช.” คอยกำกับ

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ได้เกิดข้อท้าทายกับประชาชนและองค์กรสังเกตการณ์ที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่งว่า จะทำอย่างไรการเลือกตั้งครั้งนี้จึงจะสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้อย่างแท้จริง และเป็นก้าวสำคัญสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาว”

ด้วยเหตุผลทั้งหมดในภาพรวมทั้งประเทศและชายแดนใต้ ในชายแดนใต้ยิ่งต้องมีภาคประชาชนทำงานร่วมกับ“We Watch” ซึ่งเป็นองค์กรสังเกตการณ์เลือกตั้ง โดยทำงานเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อทำให้การเลือกตั้งมีความเป็นอิสระและยุติธรรม เป็นพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชนได้โดยการเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบทางการเมืองด้านการสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างใกล้ชิดแต่จะต้อง มีความเป็นอิสระจากฝ่ายต่างๆ

หมายเหตุ: โปรดดูแถลงการณ์เครือข่าย We Watch เรื่อง การสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย https://wewatchthailand.org/data/2018/12/1147?fbclid=IwAR0KKWD4M-yCPrJZbUgQwr4HLq_GcgELS0ave6CJQevO7nM7X1acOZ0LLhM

ที่มาภาพ: Facebook Deepsouth Watch

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท