18 ธ.ค.นี้เครือข่ายประชากรข้ามชาติ ชวนหาคำตอบแรงงานผีน้อยเกาหลี สู่คนขายโรตีที่ไทย 

เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ เตรียมจัดกิจกรรมเนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากล ชวนหาคำตอบเสื้อยืดหนึ่งตัวมาจากไหน มือถือหนึ่งเครื่องที่เราอยากได้เกี่ยวโยงกับแรงงานอย่างไรบ้าง เขาได้รับค่าจ้างในการผลิตมือถือให้เราใช้อย่างไร การค้ามนุษย์คืออะไรเราอยู่ตรงส่วนไหนของวงจรนี้กันบ้าง ผีน้อยไทยคือใครและบินไปเกาหลีทำไม เขาต้องเจอกับอะไรบ้าง และคนขายโรตีในบ้านเราเขาคือใคร  18 ธ.ค.นี้ ที่ห้องเอนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลป กทม.

17 ธ.ค.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันพรุ่งนี้ (18 ธ.ค. 61) เวลา 13.00 น. -16.30 น. ณ ห้องเอนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ(Migrant Working Group-MWG) จะจัดกิจกรรมเนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากลปี 2561 (International Migrants Day 2018) และการเสวนาในหัวข้อ “MIGRANT IS AROUND” แกะรอยแรงงานผีน้อยเกาหลี สู่คนขายโรตีที่ไทย เราจะอยู่ในบทบาทไหนเมื่อแรงงานหมุนรอบตัวคุณ” และการนำเสนอรายงานสถานการณ์การเคลื่อนย้ายถิ่นสากลปี พ.ศ. 2561

ผู้จัดแจ้งว่า กิจกรรมดังกล่าวจะเป็นการแสวงหาคำตอบว่า เสื้อยืดหนึ่งตัวมาจากไหนใครกันผลิตให้เราใส่ มือถือหนึ่งเครื่องที่เราอยากได้เกี่ยวโยงกับแรงงานอย่างไรบ้าง เขาได้รับค่าจ้างในการผลิตมือถือให้เราใช้อย่างไรบ้าง การค้ามนุษย์คืออะไรเราอยู่ตรงส่วนไหนของวงจรนี้กันบ้าง  ผีน้อยไทยคือใครและบินไปเกาหลีทำไม เขาต้องเจอกับอะไรบ้าง และคนขายโรตีในบ้านเราเขาคือใคร

ทั้งนี้สืบเนื่องจากวันที่ 18 ธันวาคมของทุกปีได้ถูกกำหนดให้เป็นวันผู้ย้ายถิ่นสากลเนื่องจากเป็นวันที่สมาชิกองค์การสหประชาชาติได้มีการรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว 1991 เพื่อเป็นการรณรงค์ถึงความสำคัญของแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามที่เป็นบุคคลในครอบครัวที่ทำงานและย้ายถิ่นทั่วโลกให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิการเป็นแรงงาน  โดยตลอดปีที่ผ่านมาเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติพบข้อมูลถึงการเคลื่อนย้ายถิ่นที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็นการย้ายถิ่นฐานเพื่อแสวงหาอนาคตที่ดีกว่าของแรงงานไทยไปยังต่างประเทศอาทิกรณีผีน้อยเกาหลี หรือการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยในหลากหลายอาชีพ เราพบอุปสรรคมากมายที่แรงงานทั้งไทยและแรงงานข้ามชาติรวมถึงผู้ติดตามแรงงานต้องพบเจอในการที่จะเข้าถึงหลักของสิทธิมนุษยชนและสิทธิการเป็นแรงงาน เมื่อต้องกลายเป็นแรงงานเคลื่อนย้าย ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนในการเข้าทำงานที่แรงงานจำนวนมากยังเสี่ยงต่อการเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ การไม่ได้รับการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม หรือการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมของประเทศต้นทางที่จ้างงาน

อย่างไรก็ตามประเทศไทยเองได้เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติที่จะมีการรับรองเอกสารว่าด้วยการบริหารจัดการ ด้านการย้ายถิ่นฐานที่มีความปลอดภัยเป็นระเบียบและเป็นปกติ  รวมทั้งได้รับหลักการชี้แนะว่าด้วยการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นแนวทางให้รัฐและองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติบนฐานความสมัครใจและจัดทำร่างแผนระดับชาติว่าด้วยการสิทธิมนุษยชนในการดำเนินธุรกิจ เพื่อรองรับหลักการชี้แนะดังกล่าวด้วย  และเพื่อเป็นการทบทวนและนำเสนอประเด็นความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบในการบริหารจัดการแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในปี พ.ศ. 2561 และสะท้อนสถานการณ์การย้ายถิ่นของประชากรข้ามชาติ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติจึงได้จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น

รายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมประกอบด้วย ฉายภาพยนตร์สั้น 5 เรื่อง 5รส อาทิภาพยนตร์สั้นเรื่อง การค้ามนุษย์คืออะไร เสื้อยืดผลิตมาได้อย่างไร ที่ผลิตโดย IOM X และหนังสั้นไม่อยากมีพ่อแบบนี้ และการจัดฉายสารคดีเรื่อง Home ที่สะท้อนภาพเกี่ยวกับชีวิตเด็กผู้ย้ายถิ่นชาวพม่าที่พ่อเป็นแรงงานประมง แต่เด็กๆต้องหาเลี้ยงชีพโดยทำงานเก็บขยะเพื่อนำไปขายในพื้นที่จังหวัดระนอง

การการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากแรงงานข้ามชาติกลุ่มปะโอ ร่วมรับฟังเวทีเสวนาหัวข้อ “Migrant is Around” แกะรอยแรงงานผีน้อยเกาหลี สู่คนขายโรตีที่ไทย เราจะอยู่ในบทบาทไหนเมื่อแรงงานหมุนรอบตัวคุณ  วิทยากรโดย อดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติที่จะมากล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้พร้อมทั้งฉายภาพรวมประเด็นเด่นสถานการณ์ สภาพปัญหา และข้อท้าทายสำคัญของการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติของรัฐไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในปี พ.ศ. 2561

เปิดงานวิจัยกรณีศึกษาแกะรอยแรงงานผีน้อยไทยในเกาหลี โดย ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ นักวิจัย เปิดประเด็นถึงสถานการณ์การเข้าถึงความยุติธรรม และการจ้างงานที่เป็นธรรม โดยผู้แทนผู้ประกอบการรายย่อยที่เคยได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานจากนโยบายของรัฐเกี่ยวกับการจ้างงานด้วยแรงงานข้ามชาติ  โดย ดวงใจ เหมฮีม ร้านโรตีฟาติมะห์ ร่วมรับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์การอพยพและเส้นทางการพัฒนาสถานะบุคคลในประเทศไทยจนกลายเป็นศิลปินชื่อดัง Young artist โดย ศรชัย พงษ์ศา ศิลปินจัดวางชื่อดัง

รับฟังมุมมองของผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานข้ามชาติและนโยบายในการเคารพหลักการสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานแรงงานสากล โดย ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร รองกรรมการ ผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) รับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการประเด็นการศึกษา สถานะบุคคล การประกอบอาชีพที่เหมาะสมต่อแรงงานข้ามชาติ และเป็นประโยชน์กับประเทศไทยโดยคุณดวงตา หม่องภา ล่ามไทย-พม่า ครูสอนภาษาไทยในย่างกุ้ง

รวมทั้งร่วมรับฟังการบรรยายประเด็นเรื่องความสำคัญของแรงงานในการขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการจัดการที่เหมาะสมต่อสถานการณ์การเคลื่อนย้ายของแรงงงานโดย ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมรับฟังการอ่านข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดการแรงงานข้ามชาติด้วยนโยบายที่เป็นธรรมประจำปีพ.ศ. 2561 โดยเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท