การเมืองศรีลังกาคลี่คลาย 'วิกรมสิงเห' กลับมาเป็นนายกฯ หลัง 'ราชปักษา' ลาออก

หลังเกิดวิกฤตทางการเมืองศรีลังกาที่ประธานาธิบดีใช้อำนาจถอดถอนนายกรัฐมนตรี รานิล วิกรมสิงเห รวมถึงแต่งตั้งอดีตผู้นำที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาอย่างมหินทรา ราชปักษา ขึ้นมาแทนนั้น ล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ราชปักษาก็ประกาศลงจากตำแหน่ง และในวันที่ 16 ธ.ค. วิกรมสิงเหก็ได้กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง สิ้นสุดวิกฤตการเมืองรอบล่าสุดของศรีลังกาซึ่งเกิดขึ้นตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

มหินทรา ราชปักษา (ซ้าย) และรานิล วิกรมสิงเห (ขวา) (ที่มา: แฟ้มภาพ/Wikipedia [1], [2])

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา มหินทรา ราชปักษา ลงนามในจดหมายขอลาออกจากตำแหน่งต่อหน้ากลุ่มผู้สนับสนุนและนักข่าวที่บ้านพักส่วนตัวของเขาเองในกรุงโคลอมโบ นอกจากนี้เขายังแถลงหลังจากนั้นว่าจะเปิดทางให้ประธานาธิบดีไมตรีพละ ศิริเสนา "จัดตั้งรัฐบาลใหม่"

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนที่ ต.ค. ประธานาธิบดี ไมตรีพละ ศิริเสนา ใช้อำนาจสั่งปลดรานิล วิกรมสิงเห แล้วแต่งตั้งราชปักษาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนท่ามกลางเสียงคัดค้านและมีคำสั่งระงับการแต่งตั้งดังกล่าวจากศาลสูงสุดของศรีลังกาเพราะมองว่าไม่เป็นไปตามหลักการรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ราชปักษา ยังเคยมีประวัติเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชันและกระทำการโหดร้ายในช่วงสงคราม นอกจากนี้หลายประเทศก็ไม่ให้การยอมรับการที่ราชปักษาเป็นนายกฯ

วิกฤตการเมืองที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ส่งผลให้รัฐบาลเสี่ยงที่จะ "ชัทดาวน์" หรือหยุดทำการชั่วคราว ไม่มีการพิจารณาผ่านร่างงบประมาณปี 2562 นอกจากนี้ยังมีการทะเลาะขว้างปาสิ่งของใส่กันในสภาจากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสนับสนุนราชปักษากับฝ่ายสนับสนุนวิกรมสิงเห

หลังจากการลาออกดังกล่าวในวันที่ 16 ธ.ค. ประธานาธิบดีศิริเสนาก็แต่งตั้งวิกรมสิงเหจากพรรคยูเอ็นพีกลับเข้าดำรงตำแหน่งใหม่อีกครั้ง อัลจาซีราระบุว่าการให้วิกรมสิงเหกลับเข้าดำรงตำแหน่งได้อีกครั้งถือเป็นสร้างความอับอายให้กับศิริเสนาผู้ที่เคยหนุนให้ราชปักษาขึ้นดำรงตำแหน่งแทน อย่างไรก็ตามราชปักษาไม่ได้รับเสียงข้างมากในสภา จากการที่สมาชิกพรรคยูเอ็นพีของวิกรมสิงเหซึ่งเป็นเสียงข้างมากในสภาโหวตไม่ไว้วางใจนายกฯ ราชปักษา 2 ครั้ง หลังจากนั้นราชปักษาก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง

สาจิต เปรมาดาซา รองหัวหน้าพรรคยูเอ็นพีกล่าวว่าหลังจากการลาออกดังกล่าวพวกเขาก็พร้อมจะทำงานร่วมกับศิริเสนาอีกครั้ง เปรมาดาซาบอกว่ามีคนบางกลุ่มสร้างความเข้าใจผิดทำให้ศิริเสนาดำเนินการต่อต้านรัฐบาลของพวกเขาการถอดถอนวิกรมสิงเหเป็นเพราะการกระทำของคนกลุ่มนั้น

ทางฝ่ายราชปักษาแถลงอีกว่าพรรคแนวร่วมของเขาจะมีบทบาทเป็นพรรคฝ่ายค้านต่อยูเอ็นพีและจะพยายามล็อบบีรัฐบาลให้จัดการเลือกตั้งระดับจังหวัดซึ่งในบางพื้นที่มีการเลื่อนเลือกตั้งท้องถิ่นมามากกว่า 2 ปีแล้ว เขาบอกอีกว่าสาเหตุที่เข้ามาดำรงตำแหน่งนายหรัฐมนตรีก่อนหน้านี้เพราะต้องการจัดตั้งรัฐบาลรักษาการที่จะคอยกำกับดูแลการเลือกตั้งที่ถูกเลื่อนมาเป็นเวลานานรวมถึงจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่อีกครั้งและมีแผนการจะลงจากตำแหน่งหลังจากมีการเลือกตั้งใหม่แล้ว

ราชปักษากล่าวอีกว่าฝ่ายค้านของเขาจะพยายามสกัดกั้นการผ่านร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่รัฐบาลพยายามจะออกมานั้นเป็นการถอดถอนอำนาจบริหารจากตำแหน่งประธานาธิบดีและเสนอให้มีการถ่ายโอนอำนาจให้กับ 9 จังหวัด

หลังจากวิกฤตทางการเมืองในครั้งนี้คลี่คลาย ชรีน ซารูร์ นักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนก็กล่าวว่ารัฐสภาควรจะต้องกลับมาผ่านร่างงบประมาณปีต่อไปทันทีเพื่อไม่ให้เกิดภาวะรัฐบาลชัทดาวน์ วิกฤตในครั้งนี้ยังส่งผลให้บริการสาธารณะสำคัญชะงักงันเช่นโรงพยาบาลขาดพัสดุเครื่องมือทางการแพทย์ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจศรีลังกาอย่างหนักไม่ว่าจะเป็นค่าเงินลงต่ำเป็นประวัติการณ์หรือภาคส่วนารท่องเที่ยวที่เป็นรายได้ร้อยละ 5 ของประเทศก็กระทบจากการที่มีคนขอยกเลิกเดินทางเข้าศรีลังกาหลังเกิดวิกฤต

เรียบเรียงจาก

Wickremesinghe reinstated as Sri Lanka prime minister, Aljazeera, 16-12-2018

Sri Lanka's disputed Prime Minister Mahinda Rajapaksa resigns, Aljazeera, 15-12-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท