Skip to main content
sharethis

ผศ.สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ มธ. บรรยายพิเศษ ประมวลสถานการณ์คนจนในไทย ชวนดูมโนทัศน์ที่เลื่อนไหลและปัญหาเรื่องการนิยามคนจนที่ผ่านมา ภาพคนจนที่สะท้อนจาก "เกมโชว์" ภาวะปฏิเสธความเหลื่อมล้ำจากรัฐตั้งแต่รัชกาลที่ 6 รัฐประหารกับบาดแผลทางนโยบายต่อคนจน สู่ข้อเสนอแก้จนผ่านรัฐสวัสดิการที่เป็นธรรม ไกลกว่าวาทกรรมปลา-เบ็ด

ผศ.สามชาย ศรีสันต์

17 ธ.ค. 2561 ที่งานเวทีสาธารณะ “ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน” จัดโดยสมัชชาคนจนเมื่อ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา มีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “คนจน คนไทยหรือคนอื่น: ประมวลสถานการณ์คนจนในประเทศไทย” โดย ผศ.สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

(เนื้อความต่อไปนี้เป็นการเรียบเรียงใจความจากการบรรยาย มีการถอดความ ย่อความ เติมคำเชื่อม ไม่ใช่การถอดความโดยตรง)

มโนทัศน์การมองที่เลื่อนไหล ว่าด้วยใครคือคนจน

เราพูดถึงความยากจนในสังคมไทยมาเยอะ มีความคิดต่อคนยากจนที่คลาดเคลื่อนหลายประเด็น โดยเฉพาะการมองคนจนอย่างดูถูกดูแคลน ไม่มีศักยภาพและเป็นภาระสังคม จึงมุ่งนำเสนอว่าการมองคนยากจนในนานาอารยะประเทศนั้นเขามองกันอย่างไร มีวิธีกำหนดนิยามความยากจนอย่างไรบ้าง เพราะการกำหนดนิยาม นำไปสู่การมองคนกลุ่มหนึ่งเป็นคนจน และยังกำหนดวิธีที่จะใช้แก้ปัญหาความยากจนในแบบหนึ่งๆ ด้วย

ประเด็นแรก ความยากจนที่มองเป็นความขาดแคลน ในอดีตเรามีชนชั้นใหญ่ๆ สองชนชั้นได้แก่ชนชั้นปกครองกับชนชั้นที่ถูกปกครอง คนยากจนคือชนชั้นถูกปกครอง ซึ่งมีจำนวนมากในสังคม คนรวยเป็นชนชั้นปกครอง มีไม่มากนัก การแก้ปัญหาความยากจนจึงไม่ใช่ปัญหาหลักที่รัฐบาลหรือชนชั้นปกครอง จะต้องแก้ไข เว้นแต่ในภาวะภัยภิบัติตกต่ำ มีชีวิตที่ลำบากมากขึ้นจากฝนแล้ง น้ำท่วม และผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ หรือการช่วยเหลือเพียงเพื่อสะสมต้นทุนทางบารมี

สามชายได้ยกตัวอย่างวรรณกรรมในสมัยรัชกาลที่ 5 มีงานชิ้นที่ชื่อว่า ควมคับข้องของคนสิ้นคิด ตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2426 คนสิ้นคิดในที่นี้คือคนจน เนื้อหาคือ ราษฎรคนหนึ่งต้องการขายลูกสาวไปเป็นทาสเพราะไปทำเรือเศรษฐีคนหนึ่งหาย ซึ่งชายคนนี้ก็บ่นตอนท้ายว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะเวรกรรมแท้ๆ ประเด็นก็คือ ไม่มีคำว่ายากจนในเรื่องของเงินทอง แต่เป็นเรื่องเคราะห์กรรม เจ้าตัวโทษตัวเองที่ไปเล่นถั่วโป ในแง่นี้ความจนก็มีแนวโน้มว่าจะถูกประณามหยามหมิ่นว่าทำตัวชั่ว เล่นการพนัน นี่คือมุมมองคนจนในอดีต คำถามคือเราจะปฏิบัติกับคนยากจนเหล่านี้อย่างไร กับความหมายอย่างนี้อย่างไร ก็คือสงเคราะห์ ทำบุญ ให้ทานด้วยความสงสาร

ประเด็นที่สองคือ ความจนจากการไม่มีเงิน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อโลกเข้าสู่ระบบทุนนิยม การมองคนจนเปลี่ยนเป็นภาพของคนที่เข้าสู่ระบบทุนนิยมไม่ได้ หรือเท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนไม่ได้ เป็นคนจนที่ปรับตัวไม่ทัน ต้องแก้ไขด้วยการเร่งให้เขามีความรู้ ให้เขาทำงาน ให้มีรายได้ ส่งเสริมให้หารายได้เพื่อสนับสนุนระบบทุนนิยม การวัดรายได้ของประเทศกับความยากจนด้วยเงินกลายเป็นเรื่องเดียวกัน การวัดความจนก็อาจดูด้านรายได้ ก็คือคนในประเทศแต่ละคนหารายได้ได้เท่าไหร่ หรือจากรายจ่ายว่าใช้จ่ายกันเท่าไหร่ เราเรียกเส้นเหล่านี้ว่าเส้นความยากจน ไทยวัดจากรายได้ ปัจจุบันเส้นความจนอยู่ที่ 2,685 บาทต่อคนต่อเดือน (ตัวเลขปี 2560 อ้างอิงจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) หมายความว่า ถ้ามีเงินเดือนละ 2,685 บาทก็จะไม่ยากจน จะเห็นว่าเส้นความยากจนต่ำมากจากการใช้จ่าย ถ้าใช้จ่ายเกินจากนี้ไปก็จะไม่ใช่คนยากจน ทำให้ปี 2560 มีคนจนในไทยจำนวน 5.3 ล้านคน ถือเป็นร้อยละ 7.7 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งถือว่าไม่มาก แต่การลงทะเบียนคนยากจนที่กำหนดเกณฑ์ให้สูงกว่าเส้นความยากจนทำให้มีคนลงทะเบียนทั้งหมด 14 ล้านคน ผ่านการรับรองจากรัฐบาลว่าเป็นคนจน 11.4 ล้านคน จึงมีจำนวนคนจนมากกว่าที่เส้นความยากจนบอกว่ามี ในประเด็นนี้สะท้อนว่าเส้นความยากจนบอกอะไรไม่ได้เลย

ภาพการมองคนจนที่สะท้อนจาก "เกมโชว์" และความเหลื่อมล้ำที่รัฐปฏิเสธตลอด

การวัดความจนจากการให้คนมาลงทะเบียนแล้วให้สวัสดิการคนจน กระจายเงินลงไปแล้วบอกว่าช่วยค่าใช้จ่าย 200-300 บาทต่อเดือน ช่วยค่าเดินทางของ บขส. รถไฟ เป็นเรื่องที่ต่างประเทศก็ทำ เขาเรียกว่าการกระจายโดยตรง ทำได้สองแบบ แบบที่หนึ่ง กระจายลงไปให้คนจนแบบที่ไทยใช้แบบการแจกเงินคนละ 500 บาท แต่จำนวนที่ให้มันน้อยมาก เพราะว่าการกระจายแบบนี้ทำด้วยความหวังว่าคนจนจะเอาเงินที่แจกไปใช้แก้ปัญหาชีวิตตัวเอง ซึ่งย่อมมีมูลค่ามากกว่า 500 บาท แบบที่สองคือกระจายเพื่อการใช้จ่าย เช่นช่วยค่าน้ำ ค่าไฟ จะบอกว่าที่ต่างประเทศก็ทำกัน เป็นการแก้ปัญหาความยากจนแบบหนึ่ง แต่การแก้ปัญหาความยากจนแบบนี้เขาจัดให้เป็นสวัสดิการทั่วหน้าคือการให้อย่างเท่าเทียมกัน เช่นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ค่าเดินทาง บริการสาธารณสุข ในขณะที่เราส่งเงินไปโดยตรง 500 บาทมันไม่ช่วยอะไร กลับกลายเป็นการหาเสียงเลือกตั้ง ปัญหาต่อนโยบายนี้คือมันสร้างความถกเถียงกันในสังคมไทย มีคำถามจากชนชั้นกลางว่า จำเป็นแค่ไหนที่รัฐทำแบบนี้ คนจนจะเอาไปทำอะไร ชนชั้นกลางออกมาบ่นว่าพวกเขาคือคนที่น่าสงสารที่สุดในประเทศนี้ที่อยากได้อะไรก็ต้องหาเอง 

เราจะเห็นว่า ความขัดแย้งในสังคมไทยส่วนใหญ่เกิดจากการมองนโยบายรัฐที่ไม่กระจายตัว มีคนมองว่าตัวเองเสียภาษีเยอะแล้วไม่ได้ประโยชน์จากนโยบาย มันมีข้อถกเถียงอย่างนี้เยอะมาก วิธีการแก้ปัญหาด้วยบัตรคนจนนอกจากจะสร้างคำถามในสังคมไทยแล้ว ยังอาจจะย้อนไปสู่ความขัดแย้งที่เคยเป็นมาในสังคม ทางออกคือควรทำให้เป็นระบบสวัสดิการที่ทุกคนเข้าถึงได้ วิธีการนี้มีทำได้หลายเรื่อง และจะทำให้ชนชั้นกลางเป็นส่วนหนึ่งกับชนชั้นอื่นไม่ใช่ไปรวมกับชนชั้นสูงแล้วไล่คนจนออกไป

นโยบายบัตรคนจนไม่มีการติดตามประเมินว่าเมื่อคนที่ได้รับการช่วยเหลือไปแล้วมีฐานะดีขึ้น เขาจะทำอย่างไร และเขามีฐานะดีขึ้นได้หรือเปล่า การแก้ปัญหาคนยากจนก็ยังวนเวียนอยู่กับการสงเคราะห์ ให้ทาน ให้เงินลงไป ถ้าทำตัวไม่ดี ไม่ขยัน ไม่พอเพียง ไม่ได้เป็นฐานเสียงที่ดีในทางการเมืองคุณก็อาจไม่ได้นโยบายแบบนั้น ในสังคมไทยยึดมั่นในวิธีการและคำนิยามการแก้จนแบบนี้มาก เราจะเห็นว่าเกมโชว์เกี่ยวกับความยากจน อย่างเกมแก้จนที่ออกอากาศเมื่อ พ.ศ. 2541-2548 เล่นกันมานานถึงเจ็ดปีแสดงว่าต้องเป็นที่นิยม รายการเสนอภาพคนยากจนคือคนล้มแล้วไม่ลุก ไม่ขยัน ไม่สู้ รายการปลดหนี้ ออกอากาศ พ.ศ. 2544 ถึงปัจจุบัน ก็นำเสนอคนยากจนเป็นคนน่าสงสาร สู้ชีวิต เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะเคราะห์กรรม หน้าที่รับผิดชอบต่อครอบครัว เกมปลดหนี้ก็จะเชิญมาเล่นเกม แข่งขันเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ ถึงจะได้รับเงินไปปลดหนี้ ล่าสุด ปี 2560 เดือน ก.พ. มีรายการไมค์หมดหนี้ ที่เอาคนจนมาร้องเพลงประกวด ซึ่งไม่ค่อยได้สนใจการร้องเพลง แต่สนใจชีวิตแขกรับเชิญ ทั้งหมดทั้งมวลคือการผลิตซ้ำการมองคนจนว่าคุณต้องช่วยตัวเอง ดิ้นรน ต่อสู้ มันคือการช่วยเหลือแบบเมตตาสงสาร ถ้าไม่ดิ้นรนก่อนก็จะไม่มีใครหยิบยื่นให้คุณ คิดว่าประเด็นนี้มีความสำคัญ เพราะมันหลุดจากการมองว่าคนยากจนเพราะถูกกระทำจากนโยบายรัฐ

ความยากจนแบบนี้สะท้อนว่า การกระจายผลประโยชน์สู่คนข้างล่างนั้นถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม เป็นความบกพร่องของนโยบาย คือการสั่งสมมุมมองของโครงสร้างสังคมที่มีมายาวนาน ที่มองว่าความจนคือเวรคือกรรม กรณีที่บริษัทหลักทรัพย์เครดิตสวิสระบุว่าการกระจายรายได้และทรัพย์สินของไทยมีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับหนึ่งของโลก คนร้อยละ 1 ถือครองทรัพย์สินร้อยละ 66.9 ในขณะที่คนจนไม่มีทรัพย์สินเลย สะท้อนว่าการกระจายไปไม่ถึงคนกลุ่มล่างสุดของประเทศ การถือครองที่ดินก็เหมือนกัน ในปี 2556 มีอาจารย์เศรษฐศษสตร์ทำวิจัยว่า คนจนร้อยละ 20 ครองที่ดินเฉลี่ยคนละ 29 ตารางวา คนรวยที่สุดร้อยละ 20 ถือครองที่ดิน 29 ไร่ หรือ 9,000 กว่าตารางวา ห่างกัน 323 เท่า คนจนมีที่ดินน้อยทั้งๆ ที่จำเป็นต้องมีที่ดินทำกิน แต่คนรวยสะสมที่ดิน

ความยากจนในมิติของความเหลื่อมล้ำก็มักถูกปิดกั้นไว้ ไม่ให้พูดถึง บอกว่าไม่ควรพูดถึในสังคมไทย ข้อมูลไม่รอบด้าน สมัยรัชกาลที่ 6 มีตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกที่พูดถึงความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ชื่อว่าทรัพยศาสตร์ที่ระบุว่า ชาวนาที่ยากจนขัดสนด้วยทุน ต้องทำงานเหนื่อยเพียงใดย่อมจะเห็นปรากฏทั่วไป เวลาทำงานอยู่ อาหารหรือผ้านุ่งห่มไม่พอก็ต้องซื้อเชื่อ เสียราคาแพง ถ้ากู้ซื้อก็ต้องเสียดอกอย่างแพง  เมื่อเก็บเกี่ยว แล้วไม่มีที่เก็บข้าว ก่อนที่จะมีราคาดีก็จำใจต้องทำ แต่พอตีพิมพ์แล้วก็ถูกราชการสั่งไม่ให้เผยแพร่ ด้วยเหตุผลว่าเป็นการเอาความรู้ตะวันตกมาเผยแพร่ในสังคมไทย เมื่อมองจากมุมความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลและผู้ปกครองก็มักจะปฏิเสธ เราก็จะมักแก้ปัญหาความจนด้วยการกระจายเงินลงไป รายงานของเครดิตสวิสก็ได้รับการตอบโต้จากรัฐบาลชุดปัจจุบันในทำนองนั้นว่าเป็นข้อมูลเก่า สวนทางความเป็นจริง เป็นข้อมูลเก่ายุคทักษิณ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ บอกว่ามีข้อมูลอีกตั้งเยอะที่จะสะท้อนความเหลื่อมล้ำได้ ทั้งนี้ ถ้านำข้อมูลที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างเช่นทรัพย์สินสะสมของคนรวยอย่างพระเครื่อง หรือนาฬิกาที่ยืมเพื่อนมาพิจารณาด้วยแล้วไทยก็น่าจะเป็นอันดับหนึ่งอยู่

เมื่อมีการวัดความจนในด้านความเหลื่อมล้ำก็สะท้อนให้เห็นว่า จังหวัดต่างๆ ที่มีความเหลื่อมล้ำจากการแยกว่าจังหวัดไหนมีความเหลื่อมล้ำ ยากจนมาก มีรายได้ต่ำ มีหนี้สิ้นมากเป็นรายจังหวัด พบว่ามีจังหวัด 17 จังหวัดที่ความยากจนในเชิงนั้นสูงมาก ที่น่าสนใจมากคือ ในการออกเสียงประชามติรับและไม่รับร่าง รัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 มี 14 จังหวัดจาก 17 จังหวัดที่มีมติไม่รับร่างฯ แสดงว่าความเหลื่อมล้ำมีความสอดคล้องกับมุมมองทางการเมือง

รัฐประหารกับบาดแผลทางนโยบายต่อคนจน กับทางออกที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

การรัฐประหารกลับมาอีกครั้ง มีนโยบายที่กระทบกับความยากจนได้แก่ นโยบายทวงคืนผืนป่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ จัดการหาบเร่แผงลอย รถไฟรางคู่ที่จะมีการไล่รื้อชุมชน โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เหมืองโปแตซ เหมืองทอง โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าชีวมวล พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำที่จะเก็บค่าน้ำกับเกษตรกร พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชที่ไม่ให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ นโยบายเหล่านี้ส่งผลกระทบกับความยากจน

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดคือความยากจนที่เราไม่เคยพูดถึงมันมาก่อน คือความจนที่ถูกแยกตัวจากสังคม ทำให้มีผลกระทบในทางลบจากนโยบายของรัฐ การวัดความจนจากการแยกทางสังคมมีการใช้หลายประเทศ การรวมยุโรปเข้าเป็นสหภาพยุโรปก็เกิดขึ้นด้วยการบอกว่า เราจะไม่กันแยกใครจากแต่ละประเทศ นโยบายนี้นำไปสู่การแก้ปัญหาความจนด้วยการรวมตัวกัน ต่างจากเรา เราถามว่า เราจะได้ประโยชน์อย่างไรจากการรวมตัวกัน

รายงานสถานการณ์โลกของยูเอ็นระบุว่า ขอให้โลกหานโยบายวัดความยากจนใหม่นอกจากเส้นความยากจน เพราะว่าไม่เห็นและไม่มีวิธีแก้ปัญหาความจนที่เกิดขึ้นจากการกันแยก ที่สร้างความไม่เท่าเทียม  ความเหลื่อมล้ำในสังคม วัฒนธรรม การเมือง การแก้ปัญหาความจนในต่างประเทศนั้นวัดจากระดับความกันแยก โดยแบ่งคนออกเป็นคนที่เข้าไม่ถึงการคุ้มครองทางสังคม คนว่างงานที่ไม่มีระบบประกันสังคม เข้าไม่ถึงแหล่งทุน ไม่มีทรัพย์สิน ที่ดิน บ้าน คนที่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ การศึกษาที่มีคุณภาพ แยกจากทรัพยากรดิน น้ำ ป่า คนที่อยู่ในภาวะเสี่ยง ก็คือคนมีหนี้สิน เจ็บป่วยเรื้อรัง ผู้อพยพ ถูกกระทำจากนโยบายรัฐ ประสบผลกับปัญหาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ผู้เปราะบางอย่างหนักอย่างคนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ ถ้าไทยวัดความจนจากการถูกกันแยก เราจะมีคนยากจนเต็มไปหมดในสังคมไทย

แล้วการนับรวมทำอย่างไร ก็ทำได้จากการยอมรับอัตลักษณ์ของคนกลุ่มน้อย มองคนยากจนบนฐานความแตกต่างที่มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง เป็นคนมีความรู้ ความสามารถแต่เข้าไม่ถึงโอกาส ต้องนับรวมพวกเขาเข้ามา ลดจำนวนคนไร้บ้าน ให้เขากลับไปที่ภูมิลำเนาเดิมของเขาโดยหาต้นเหตุที่ทำให้เขาตัดสินใจจากบ้านมา ด้านกระบวนการเคลื่อนไหว เปิดช่องทางในการรับฟัง ให้เสนอนโยบาย พัฒนาบริการรัฐให้มีความเหมาะสม เข้าถึงได้โดยคนทุกกลุ่ม กระจายความรับผิดชอบไปสู่การปกครองส่วนท้องถิ่น บูรณาการฐานข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกัน รับฟังเสียงแล้วเอามาดำเนินการ ไม่ใช่ร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมแล้วหายเงียบ

กล่าวโดยสรุป เรามองคนยากจนแบบที่เราจะต้องสงเคราะห์ มองเป็นปัญหาส่วนตัวของคนจนที่ไม่สามารถพัฒนาตัวเองสู่ทุนนิยม มองว่าคนจนขาดศักยภาพ ไม่ขยัน ไม่อดทน แต่ขณะที่โลกกำลังเปลี่ยน  มีการนับรวมคนยากจนเข้ามาโดยมองว่าคนยากจนถูกทำให้ยากจนจากรัฐบาล จากนโยบายที่ไม่เอื้อคนจน สร้างภาระ ในอดีตเราบอกว่าคนจนต้องได้รับการสงเคระห์ ต่อมาก็บอกว่า เราจะต้องให้เบ็ดแล้วสอนให้ตกปลา แต่ถ้ามองว่าปัญหาคือคนจนถูกกันแยกไปจากสังคม เราก็ไม่จำเป็นต้องให้เบ็ดแล้วสอน เพราะคนยากจนทำเบ็ดเป็น ตกปลาเก่งกว่าคนรวยด้วยซ้ำ ดิ้นรนมาตลอดเวลา แต่ปัญหาคือเราไม่ให้โอกาสเขาไปจับปลาในที่ๆ เขามีปลา แต่เราเปิดให้คนรวยเข้าไปจับปลา แล้วเอาปลามาขายคนยากจนอีกที แล้วเราก็มองว่าคนยากจนเป็นคนต้องสงเคราะห์ นี่คือปัญหาทำให้เรามีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net