Skip to main content
sharethis

เวทีบทบาทสื่อกับสงครามข่าวสารช่วงเลือกตั้ง มองเลือกตั้งในยุคสื่อโซเชียล กังวลวิธีจัดการข้อมูลลวง กระจายความรู้ หาความร่วมมือ คาดเลือกตั้งเปลี่ยนไม่ผ่าน ไม่ฟรี-แฟร์ หวังสื่อไม่เซ็นเซอร์ตัวเอง ถอดบทเรียนต่างประเทศ พรรคฝ่ายค้านไทยยังมีพื้นที่สื่อน้อย ไม่มีดีเบท ตัวแทน กกต. แย้ม จัดพื้นที่สีขาว จ่อรับฟังความเห็นร่างกฎระเบียบ

บรรยากาศเวทีพูดคุย

18 ธ.ค. 2561 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และศูนย์การสานเสวนาเพื่อมนุษยธรรม (Centre for Humanitarian Dialogue) จัดเวที Media Forum ครั้งที่ 6: บทบาทสื่อและการรับมือสงครามข่าวสารช่วงเลือกตั้ง ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยได้เชิญตัวแทนทั้งจากภาควิชาการ สื่อมวลชน องค์กรสื่อและประชาสังคมมาร่วมเสวนา

มองเลือกตั้งในยุคสื่อโซเชียล กังวลวิธีจัดการข้อมูลลวง กระจายความรู้ หาความร่วมมือ

ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้คงเป็นการเลือกตั้งที่แต่ละคนมีฐานอยู่บนสื่อออนไลน์ เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้รับข่าวสารส่วนใหญ่รับข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน เมื่อพูดถึงสื่อโซเชียล (โซเชียลมีเดีย) ก็จำแนกได้เป็นโครงสร้างแบบเปิด เช่น ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค และแบบปิดเช่น ไลน์ ทั้งสองแบบจะมีบทบาทสูงในการส่งข้อมูลหากัน สมมติว่าตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไปถึงเลือกตั้งก็อาจประมาณสองเดือน ซึ่งถือว่าสั้นมาก คนมีระยะเวลารับรู้ข่าวสารที่จำกัด สิ่งที่กังวลมีสองเรื่อง หนึ่ง ความสมดุลของข้อมูลข่าวสาร โซเชียลมีเดียจะตอบโจทย์ความสมดุลได้ขนาดไหนภายใต้กลไกห้องเสียงสะท้อน (Echo Chamber) และอัลกอริธึมที่จัดแจงการมองเห็นเนื้อหาบางประเภทตามความชอบของคนๆ นั้น บางครั้งถ้าคนๆ หนึ่งไม่ได้ชอบนักการเมืองฝั่งตรงข้าม เรื่องของนักการเมืองฝั่งตรงข้ามก็อาจจะไม่ไปถึงเขาเลย

สอง เรื่องข้อมูลข่าวสารลวง ใส่สี ใส่ไข่ที่จะมาหนักในช่วงก่อนการเลือกตั้ง โซเชียลมีเดียเป็นที่ๆ ใครก็ได้สามารถโพสท์แล้วใส่สีใส่ไข่ได้ อย่างกรณีการเลือกตั้งที่สหรัฐฯ หรือญี่ปุ่นก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีการเอาข้อมูลที่เป็นข้อเสียฝั่งตรงข้ามมาโพสท์กัน กรณีญี่ปุ่นเกิดขึ้นช่วงสามสัปดาห์ก่อนโหวต จึงไม่แน่ใจว่า ในประเทศไทยที่มีเวลาสองเดือนนั้น หากมีเรื่องดังกล่าวเข้ามาแล้วจะดำเนินการแก้ข่าวได้มากน้อยเพียงใด

พิจิตราจำแนกประเภทของเนื้อหาที่เกิดขึ้นบนโลกโซเชียลเป็นสามประเภทได้แก่

  • เนื้อหาที่ผู้ใช้งานสร้างขึ้นเอง (User Generated Content) อย่างการโพสท์ทั่วไป
  • เนื้อหาที่ผลิตขึ้นจากมืออาชีพ ก็คือนักข่าวที่ใช้พื้นที่สังคมออนไลน์
  • ผู้มีอิทธิพลทางความคิด เป็นที่รู้จัก หรือ Influencer ที่อาจไม่ได้หาข่าวเอง แต่ทำหน้าที่รวบรวมเอาข่าวจากหลายๆ ที่มารวมไว้ที่เขา

อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวต่อไปว่า ช่วงการเลือกตั้ง เนื้อหาที่ผู้ใช้งานทำเองจะมีอารมณ์อยู่เยอะอยู่แล้ว ต่อให้มีการคืนความสุขมานานแล้ว แต่ก็ยังมีหลายคนที่ไม่มีความสุข ซึ่งเธอคาดหวังว่าเนื้อหาที่มาจากทางสื่อ นำเสนอข้อมูลอย่างเป็นกลางตามที่ได้รับการฝึกฝนมา และอาจจำเป็นที่จะต้องพึ่งพา Influencer เพื่อให้ข่าวนั้นไปถึงผู้บริโภค เนื่องจากเขาเหล่านั้นเป็นชุมทางที่คนติดตามเยอะ ซึ่งก็อาจเป็นคนนอกวงการการเมืองก็ได้

สติธร ธนานิติโชติ นักวิจัยจากสถาบันพระปกเกล้ากล่าวว่า แม้พรรคการเมืองจะมองโซเชียลเป็นสนามรบหลัก แต่สนามรบในพื้นที่จริงก็ยังอยู่ คนที่เชื่อมโยงสนามรบสองสนามได้ก็คือผู้ชนะ ภายใต้บริบทที่โซเชียลมีเดียมีความสำคัญ สื่อต้องวางตัวเป็นผู้สนทนากับผู้คน สร้างบทสนทนาร่วมกัน เป็นทั้งผู้ส่งสารและรับสารตามธรรมชาติของโซเชียลมีเดียที่สร้างชุมชนการสื่อสารย่อมๆ ขึ้นมา สังเกตว่าตอนนี้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมีเกลื่อนกลาด เข้าถึงง่ายและมีจำนวนมาก แต่สงสัยข้อมูลเชิงวิเคราะห์นั้นมีเพียงพอหรือไม่ เขาเข้าใจว่า ช่วงสี่ถึงห้าปีที่ผ่านมา แค่ลำพังติดตามประกาศ คำสั่ง แถลงการณ์ ระเบียบต่างๆ แล้วนำมาแปลงสารให้เข้าใจง่ายก็แย่แล้ว การอาศัยความช่วยเหลือจากนักวิชาการก็มีปัญหา เนื่องจากจำนวนคนมีจำกัด และเครื่องมือการวิเคราะห์ข้อมูลก็โบราณ คนที่มีข้อมูลอย่างนักวิเคราะห์ข้อมูล วิศวกรคอมพิวเตอร์ก็ไม่มีเนื้อหาด้านการเมือง เสนอให้มีการทำงานร่วมกันของคนที่มีเนื้อหาและคนที่มีเทคนิคเพื่อยกระดับสงครามข้อมูลข่าวสารจากแค่การสร้างการรับรู้สู่การสร้างความรู้ การเลือกตั้งครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายของไทย จึงไม่อยากให้สื่อทำงานเพื่อผ่านสนามนี้ไปเฉยๆ เพราะจะยังมีการเลือกตั้งสนามหน้าอีก และในครั้งหน้าจะหนักกว่านี้ เพราะตอนนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ถูกกดทับ

คาดเลือกตั้งใต้ คสช. เปลี่ยนไม่ผ่าน ไม่ฟรี-แฟร์ หวังสื่อไม่เซ็นเซอร์ตัวเอง

นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า คนทั่วไปมองการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าไม่สามารถเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยจากระบอบอำนาจนิยมสู่ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ เพราะโครงสร้างต่างๆ ถูกกำหนดให้เผด็จการมาควบคุมอำนาจทางการเมืองแล้ว ทว่า ภายใต้ระบอบ คสช. ความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองมีมากขึ้น อย่างน้อยผู้คนจึงอยากให้มีตัวแทนของพวกเขาในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่พวกเขาเจอบ้างในช่วงเปลี่ยนผ่าน ส่วนเรื่องบทบาทสื่อนั้น หากสื่อปัจจุบันสามารถหาข้อสรุปของสถานการณ์สื่อที่เกิดขึ้นเมื่อสองทศวรรษที่ผ่านมาที่สื่อเป็นจำเลยสังคม อย่างกรณีบทบาทของวิทยุชุมชนในช่วงสงครามสี ก็อาจทำให้สื่อได้รับการให้คุณค่ามากขึ้นในปัจจุบัน และสื่อต้องสร้างสมดุลระหว่างความมั่นคงของรัฐกับสิทธิและเสรีภาพ ต้องสร้างความรับรู้ เสนอเชิงนโยบายสาธารณะมากไปกว่าตัวบุคคล

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) อยากสร้างความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่าการเลือกตั้งนี้จะไม่เสรีและไม่เป็นธรรม เพราะ คสช. เป็นทั้งผู้เขียนกติกาจากประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. เป็นผู้แต่งตั้ง กกต. สนช. ให้บังคับใช้กติกาที่เขียนขึ้น และยังส่งรัฐมนตรีไปลงสมัครรับเลือกตั้งเอง ก็แทบจะรู้ผลอยู่แล้วว่าการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร หลังเลือกตั้งเสร็จก็มี ส.ว. 250 คนและ ส.ส. จำนวน 150 คนที่จะได้มาจากระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสท์) ที่มาจากระบบคำนวณของ คสช. รวมกันก็เกินครึ่งหนึ่งของสภาแล้ว แถมปัจจุบันสื่อยังอยู่ภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 97 103 ยังไม่สามารถรายงานทุกอย่างได้ พรรคที่วิพากษ์วิจารณ์ คสช. ก็ยังไม่สามารถพูดผ่านสื่อวิทยุโทรทัศน์ได้อย่างเต็มที่ จะวิจารณ์พรรคที่สนับสนุน คสช. ได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ แถมรายการเย็นวันศุกร์ก็ยังอยู่ต่อไป การมีคำสั่งปลดล็อก ยกเลิกคำสั่ง คสช. จำนวนหนึ่งเมื่อ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมานั้นต้องดูว่ายังเหลือคำสั่งใดบ้าง ถือว่าเป็นการจงใจว่าต้องการมีอำนาจบางอย่างจนถึงเลือกตั้ง อย่างอำนาจในการควบคุมสื่อ ส่วนคำสั่งที่ 3/2558 ก็เลิกไปแค่หนึ่งข้อคือการห้ามชุมนุม แต่ยังให้ทหารไปพบคนที่บ้าน ให้นำคนเข้าค่ายทหารได้ ซึ่งเป็นการจงใจเหลืออำนาจไว้ การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเกิดขึ้นบนเงื่อนไขที่ไม่ปกติ ส่วนกฎเกณฑ์โดย กกต. ก็ยังเป็นเรื่องที่รอเห็น ทั้งพรรคการเมืองทำอะไรบ้าง ออกสื่อเมื่อไหร่ อย่างไรได้บ้าง  และที่สำคัญคือมันจะถูกตีความและใช้ไปในทิศทางใด จะเป็นผลเสียต่อพรรคที่ไม่สนับสนุน คสช. หรือเปล่า

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ค่อยแคร์เรื่องความเป็นกลางของสื่อ เพราะมนุษย์ธรรมดาก็ดำรงซึ่งความเป็นกลางได้ยาก เว้นเสียแต่ในประเด็นเรื่องความเป็นกลางในทางจรรยาบรรณหรือวิชาชีพที่อาจต้องมี แต่กังวลว่าจะทำอย่างไรให้สังคมเสพข่าวสารแล้วไม่โอนอ่อนอย่างไม่มีวิจารณญาณ ซึ่งเขาเชื่อว่าสังคมมีไทยมีวุฒิภาวะแล้วพอสมควรในเรื่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

เอกพันธุ์กล่าวต่อไปว่า ช่วงสี่ถึงห้าปีที่ผ่านมา คสช. คงชินกับการใช้อำนาจควบคุมสื่อ สิ่งที่น่ากังวลคือ สื่อจะชินกับการเซ็นเซอร์ตัวเองหรือเปล่า แน่นอนว่าความกลัวก็มีกันในระดับหนึ่ง แต่องค์กรสื่อพร้อมมากน้อยขนาดไหนที่จะก้าวออกมาในฐานะองค์กรที่มีความร่วมมือในลักษณะเครือข่าย

ตัวแทน กกต. กลัวสื่อบิดเบือน จัดพื้นที่สีขาว เตรียมจัดรับฟังความเห็นร่างกฎระเบียบ

ร.ต.อ. ชนินทร์ น้อยเล็ก ผู้แทนจาก กกต. กล่าวว่า สื่อมีความสำคัญกับการเลือกตั้งมาก ทำให้เกิดได้ทั้งกระแสที่ดีและไม่ดี สื่อระดับมืออาชีพก็รู้อยู่แล้วว่าอะไรควรไม่ควร ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วก็รายงานหรือการวิเคราะห์บนพื้นฐานข้อเท็จจริง แต่บางครั้งสื่อที่ไม่ใช่มืออาชีพก็น่าเป็นห่วง เพราะมีที่ได้ข้อเท็จ หรือความจริงครึ่งเดียว แล้วนำไปวิเคราะห์ ใส่ไข่ต่ออีก จึงต้องดูว่าข้อเท็จจริงว่ามาจากที่ไหน มีความเป็นทางการแค่ไหน และก็มีข้อเท็จจริงบางอย่างที่นักข่าวไปแอบเซาะจาก “แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ” หรือ “แหล่งข่าวไม่ระบุนาม” แล้วไปวิเคราะห์ต่อซึ่งก็อาจเป็นผลทั้งดีและเสีย ทั้งนี้ จิตวิทยาของคนไทยนั้นมักสนใจข่าวแย่ๆ มากกว่าข่าวดี เป็นนิสัยการเสพข่าวที่ไม่ค่อยดีนัก ข่าวไม่ดีก็เลยถูกโหมเพราะว่าขายได้

ชนินทร์ยังกล่าวว่า เรื่องกฎระเบียบการเลือกตั้งก็ทำไปตามโรดแมปและรัฐธรรมนูญ ในวันพรุ่งนี้ (19 ธ.ค. 2561) จะจัดประชุมขอความคิดเห็นจากสื่อ หัวหน้าพรรคการเมือง องค์กรด้านไอซีทีที่โรงแรมเซนทารา โดยจะพยายามรับฟังความเห็นและทำร่างกฎระเบียบออกมาให้เป็นที่ยอมรับมากที่สุด ทั้งนี้ใน พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 70 ระบุให้หาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ถือว่ามีร่างเอาไว้พอสมควร นอกจากนั้นยังระบุว่า ในทางหลักการ กกต. จะให้มีพื้นที่สีขาว ที่ให้แต่ละพรรคเอาข้อมูลมาลงไว้ เช่น ช่องทางการติดตามข้อมูลข่าวสาร หากไปดูอันอื่นนอกจากนั้นก็จะไม่รับรองในความถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง ถ้าทำผิดก็ว่ากันไปตามกฎหมายที่มี

ตัวแทนจาก กกต. ยังกล่าวว่า มีการคุยกับบริษัทเฟซบุ๊คและไลน์อยู่หลายครั้ง ซึ่งเขาก็ยินดีให้ความร่วมมือ ในอดีตก็มีหนังสือบางตัวของสำนักงาน กกต. หลุดไปในไลน์ เมื่อประสานความร่วมมือไปเขาก็ลบให้

คนข่าวถอดบทเรียนต่างประเทศ พรรคฝ่ายค้านไทยยังมีพื้นที่สื่อน้อย ไม่มีดีเบท

นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร (บ.ก.บห.)กล่าวว่า ไม่ค่อยห่วงเรื่องสื่อหลักและกติกา กกต. เท่าไหร่ในเรื่องการโฆษณา แต่สิ่งที่เป็นห่วงที่สุดคือเรื่องปฏิบัติการสารสนเทศ (Information Operation-IO) หรือโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อครอบงำสื่อ สร้างสื่อปลอมขึ้นมา ทุกวันนี้คนไทยเกินร้อยละ 50 เสพข่าวสารจากผู้มีอิทธิพลบนโลกโซเชียลมีเดียที่สื่อสารผ่านอารมณ์และความเห็น นอกจากนั้น ระบบอัลกอริธึมของโซเชียลมีเดียจะขยายความข้อมูลที่ติดเทรนด์มากที่สุด คนก็จะเห็นข้อมูลนั้นมากที่สุด

บ.ก.บห. The Standard กล่าวต่อไปว่าข้อมูลจากสหรัฐฯ ก่อนการเลือกตั้ง 2559 พบว่าการแชร์ข่าว ข้อมูลลวง มีจำนวนมากกว่าการแชร์ข่าวจากสื่อกระแสหลักถึงสามเท่า ส่วนตัวมองสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นวิกฤติ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียผ่านการแทรกแซงการเลือกตั้งนั้นกำลังอยู่ระหว่างการสืบสวน แต่สิ่งที่เขาเห็นว่าสำคัญคือการแทรกแซงที่ว่านั้นทำกันได้อย่างไร อย่างกรณีรัสเซียก็มีสร้างโรงงานข่าวปลอมที่ประเทศมาซิโดเนีย ทำสำนักข่าวปลอม อย่างสื่อ ABCD ก็ทำเป็นชื่อ ABCC ส่งข้อมูลลวงจำนวนมากออกไปพร้อมๆ กัน สร้างแฮชแท็กพร้อมกัน สร้างบอทขึ้นมาเพื่อคอมเมนท์กันและกันให้ติดเทรนด์ คนที่เข้าเฟซบุ๊คก็รับข้อมูลชุดนั้นไปโดยที่ไม่รู้อะไร ส่วนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมาของฟิลิปปินส์ โรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีคนปัจจุบันก็ใช้วิธีว่าจ้างผู้มีอิทธิพลบนเฟซบุ๊ค ให้ส่งต่อโฆษณาว่าสนับสนุนดูเตอร์เต มีการปลุกปั่นข้อเท็จจริง คำถามที่ยังไม่มีคำตอบให้ตัวเองคือจะป้องกันสิ่งที่เหล่านี้อย่างไร กกต. มีบทบาทอย่างไรที่จะป้องกันการสร้าง จะสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างไรให้ผู้บริโภค และสื่อมืออาชีพจะเสนอข่าวเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและคนยังสนใจอย่างไร มีข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือและให้พื้นที่ฝั่งตรงข้ามได้มากแค่ไหน

สมศรี หาญอนันทสุข กรรมการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตยกล่าวว่า ในประเทศต่างๆ เมื่อมีการเลือกตั้งก็ต้องมีการพูดถึงสนามสื่อในช่วงเลือกตั้ง ในช่วงหาเสียงและเลือกตั้งจะเป็นช่วงที่สื่อออนไลน์จะมีบทบาทเข้มข้น ซึ่งสื่อต้องเช็คกันเองด้วยในเรื่องเนื้อหาที่อาจมีข่าวแบบโยนหินถามทาง หรือข่าวที่มีความจริงครึ่งเดียว และก่อนเลือกตั้งนั้นอาจมีการสาดโคลนที่รุนแรง มีการเอาเรื่องไม่ดีของพรรคคู่แข่งมาเปิด เชื่อว่าจะมีการขุดเรื่องวัดปทุมวนาราม หรือเรื่องเผาบ้านเผาเมืองขึ้นมาอีก คาดหวังว่าสื่อที่ดีไม่ควรไปเน้นย้ำเรื่องเหล่านั้นมาก ไม่อยากให้ความขัดแย้งกลับมาใหม่ช่วงหลังเลือกตั้ง เพราะตอนนี้เป็นการเลือกตั้งในสถานการณ์พิเศษ ก็อย่าไปช่วยโหมเรื่องราวอดีต แต่มองไปยังอนาคตในเชิงนโยบาย ทั้งนี้ สื่อต้องมีความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งในเชิงรายละเอียด ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ก็มีความได้เปรียบเสียเปรียบกันก่อนอยู่แล้ว ทั้งการรณรงค์ที่มีมาก่อนล่วงหน้า อย่างกรณีแจกเงิน 500 บาท ก็มองว่าเป็นการซื้อเสียง

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และอดีต กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) กล่าวว่าสื่อและภาคประชาสังคมควรทำแพลตฟอร์มการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างที่ประเทศอื่นๆ ทำกัน ล่าสุดเห็นไทยพีบีเอสร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อเกาะติดข่าวการเลือกตั้งแล้ว ถ้าโทรทัศน์วิชาชีพหรือองค์กรสื่อทำให้ยั่งยืนได้ในระยะยาวก็อาจใช้คานดุลกับโซเชียลมีเดียที่มีพลังมากขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม สื่อดิจิทัลทุกวันนี้ก็เกรงใจรัฐเพราะถูกตรวจสอบ มีข้อบังคับ ได้รับการช่วยเหลือจาก ม.44 เรื่องค่าสัญญาณ ทำให้มีผลกับการแข่งขันและเสรีภาพของสื่อ และยังไม่เห็นการดีเบททางการเมือง เสียงของพรรคที่เป็นฝ่ายค้านในฟรีทีวีค่อนข้างจะน้อย บางทีก็มีแค่ใส่รูป ใส่ฟุตเทจ และวาระของประชาชนเป็นที่พูดถึงน้อย มีพื้นที่น้อย คนกำหนดวาระเป็นพรรคการเมืองเสียส่วนใหญ่ เธอยังขอให้มีการตรวจสอบองค์กรโซเชียลมีเดียที่เป็นบริษัทข้ามชาติอย่างไลน์ เฟซบุ๊ค เหล่านี้เคยเป็นสัญลักษณ์เรื่องการสนับสนุนเสรีภาพ เช่นกรณีอาหรับสปริงในตะวันออกกลางหลายประเทศ แต่ล่าสุดก็ตกเป็นเหยื่อการวิจารณ์อยู่เรื่อยๆ ในหลายๆ ประเทศ

มงคล บางประภา เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความคิดที่ไม่เชื่อว่าสื่อต้องมีความเป็นกลางเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่วงการสื่อต้องทบทวนตัวเอง  ยุคหนึ่งเราเคยเชื่อกับการที่สื่ออยากสร้างกระแสเพราะอยากแปรสภาพตัวเองไปขับเคลื่อนทางการเมือง แล้วบอกว่าความเป็นกลางสื่อไม่จำเป็น ต้องเลือกข้าง เท่ากับว่าสื่อเปลี่ยนตัวเองไปเป็นศาลที่พิพากษาว่าสิ่งที่ตัวเองนำเสนอนั้นถูกต้อง สิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามนำเสนอนั้นผิด ทั้งที่พวกเรา (สื่อ) ถือว่าผู้ตัดสินคือสาธารณะ สื่อที่เป็นกลางเท่านั้นที่สามารถหาข้อมูลรอบด้านมาประกอบ ซึ่งก็วัดกันได้ที่จริยธรรม แต่ผลประโยชน์และวาระก็ใช้แยกแยะได้ สิ่งที่น่ากลัวกว่าสื่อที่โกหกก็คือการดราม่าขยายความจริงที่เลือกมาเพียงครึ่งเดียว ทำให้สังคมเข้าใจว่าความจริงทั้งหมดมีแค่นั้น มงคลจึงชวนสื่อที่ยึดหลักความเป็นกลางมาร่วมตั้งคำถามกับพรรคที่มาหาเสียงทุกพรรค ว่ามีความจริงจังในการผลักดันนโยบายหรือไม่ มุ่งผลักดันนโยบายสู่การการเกิดผลในทางปฏิบัติจริงๆ

มงคลยังฝากข้อคิดเห็นของฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ประกาศข่าวภาคสนามไทยทีวีสีช่อง 3 ที่มีข้อคิดเห็นว่า อยากให้สื่อทำข่าวการเลือกตั้งให้เป็นประโยชน์ ลดการเอาเรื่องจากสื่อโซเชียลมาเล่นต่อ

เลือกตั้งในบริบทท้องถิ่น-ชายแดนใต้ คนข่าวทำงานภายใต้เงื่อนไขจำกัด

ชัยวัฒน์ จันธิมา บ.ก. พะเยาทีวีชุมชน กล่าวถึงบริบทของสื่อท้องถิ่นว่าคนต่างจังหวัดยังดูโทรทัศน์เป็นหลักเพราะเครื่องรับสัญญาณยังมีเยอะกว่า ในขณะที่อินเทอร์เน็ตประชารัฐเข้าถึงค่อนข้างลำบาก อาจจะมีร้อยละ 50 ที่บริโภคสื่อออนไลน์ แต่ชนชั้นกลางต่างจังหวัดก็เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเหมือนในกรุงเทพฯ ส่วนวิทยุและหนังสือพิมพ์นั้นเหลือน้อยมาก โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ที่ตอนนี้แผงอำเภอก็เริ่มหมด แผงจังหวัดเริ่มตาย เขาตั้งข้อสังเกตว่า ถ้ามีการเลือกตั้งแล้ว สื่อจะโฟกัสเรื่องการเลือกตั้งเยอะ เหมือนกับว่าการเลือกตั้งจะเปลี่ยนประเทศไทยได้ จะเห็นนักวิชาการ ผู้นำกลุ่มต่างๆ และผู้กำกับอย่างรัฐบาล หรือ กกต. ที่ออกมา แต่มักไม่เห็นคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียจริงๆ อย่างประชาชนที่สื่อให้พื้นที่น้อยมาก แทบจะไม่มีตัวตน ไม่มีโอกาสสะท้อนเสียงที่เขาต้องการ

ชัยวัฒน์ยังกล่าวว่า สื่อปลอมก็จ้างนักข่าวมืออาชีพเหมือนกัน มีแนวทางการปล่อยข้อมูลผ่านหลายสื่อ แปรรูปข่าวสารเป็นหลายส่วน หลายตอน และปล่อยบ่อย สิ่งสำคัญสำหรับสื่อคือจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้เรียนรู้ทักษะประชาธิปไตย ให้เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งไหนก็ตามถือว่เป็นบทเรียนที่ได้เรียนในโรงเรียนประชาธิปไตย คนที่ทำสื่อก็ควรเป็นผู้ถ่ายทอดเสียงสะท้อนของประชาชนด้วย สื่อมีอุดมการณ์ที่แข็งแกร่งมากน้อยขนาดไหนในยุคสมัยนี้ ส่วนสื่อท้องถิ่นก็มีความเสี่ยงอย่างหนึ่งว่า การนำเสนอข่าวอะไรก็อาจไปกระทบกับหัวคะแนนในพื้นที่หรือนักเลงที่คุมพื้นที่ ซึ่งนักข่าวท้องถิ่นนั้นอย่างไรเสียก็ต้องอยู่ในพื้นที่ จึงมีความเสี่ยง

ผศ.วลักษณ์กมล จ่างกมล อาจารย์คณะวิทยาการสื่อสาร ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีกล่าวถึงบริบทเรื่องการสื่อสารในพื้นที่สาม จ.ชายแดนใต้ว่ามีสนามของการสื่อสารสามประเภท หนึ่ง สนามวิชาชีพของสื่อหลักและองค์กรต่างๆ สอง สื่อใหม่หรือกลุ่มอิสระ รวมถึงสื่อที่เป็นขององค์กรทางการเมืองด้วย สาม แพลตฟอร์มขององค์กรข้อมูลเชิงวิชาการที่เกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่ ความเห็นของประชาชน ซึ่งอาจไม่เกี่ยวโดยตรงกับการเมือง หรือเลือกตั้ง แต่ถ้านำมาวิเคราะห์ก็จะมีผลต่อนโยบายต่อพรรคการเมืองว่าเขาจะจัดการเรื่องต่างๆ อย่างไร รวมทั้งเปิดความเห็นบางประเด็น เช่น เรื่องสันติภาพชายแดนใต้ เป็นต้น โดยบทบาทที่ทำกันชัดเจนในพื้นที่คือเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารแบบตรงไปตรงมาอย่างข้อมูลพื้นฐาน เช่น เขตเลือกตั้ง พรรคการเมืองใดลงเลือกตั้งบ้าง หรือเป็นพื้นที่สาธารณะ เวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูล กลุ่มอิสระมักทำผ่านการแชร์ข้อมูล แชร์นโยบายพรรคการเมือง แต่บทบาทที่เห็นว่ายังขาดไปคือการวิเคราะห์ว่าสถานการณ์เหล่านี้จะมีนโยบายอย่างไร ไม่เห็นภาพในเชิงเปรียบเทียบระหว่างพรรคการเมือง มองว่าตรงนี้เป็นข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจของประชาชน และบทบาทสื่อในฐานะการเป็น Watchdog หรือหมาเฝ้าบ้านที่มีแต่ก็ไม่มากเท่าที่ควร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net