ครม.ไฟเขียว ร่าง กม.ความปลอดภัยไซเบอร์ - กม.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ครม.มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ กำหนดภัยคุกคามเป็น 3 ระดับ คือ ระดับเฝ้าระวังในภาวะความเสียหายที่ไม่มาก ระดับความร้ายแรง และระดับวิกฤตทั่วประเทศ รวมทั้งเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดูแล 3 รูปแบบ คือ เจ้าของข้อมูล ผู้ควบคุมข้อมูล และผู้ประมวลผลข้อมูล ตั้ง สนง.กก.ข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงให้มีการตั้งเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลฯ

แฟ้มภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

18 ธ.ค.2561 การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายด้านดิจิทัลสำคัญ 2 ฉบับ ซึ่ง พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ประกอบด้วย ร่าง พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ และร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่ง ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มีสาระสำคัญเพื่อให้ประเทศสามารถป้องกันและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที มีหน้าที่ป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การเฝ้าระวังภัยคุกคาม รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ ระบุว่า มีทั้งระบบสาขาและระบบความมั่นคงของรัฐ มีกำหนดภัยคุกคามเป็น 3 ระดับ คือ ระดับเฝ้าระวังในภาวะความเสียหายที่ไม่มาก ระดับความร้ายแรง และระดับวิกฤตทั่วประเทศ โดยมีแนวปฏิบัติและมาตรการป้องกันที่ชัดเจน รวมถึงจะจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อีกทั้งในปี 2562 จะมีการซ้อมแผนรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ระดับอาเซียนด้วย เพื่อสร้างความร่วมมือและการเข้าถึงข้อมูลที่รวดเร็ว

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั้น เน้นดูแล 3 รูปแบบ คือ เจ้าของข้อมูล ผู้ควบคุมข้อมูล และผู้ประมวลผลข้อมูล ซึ่งความสำคัญของการจัดระบบนี้คือป้องกันการนำข้อมูลไปใช้โดยไม่ยินยอม โดยกำหนดว่าระบบออนไลน์ต่างๆ ต้องขอความยินยอมในการเข้าถึงข้อมูลก่อนเสมอ และต้องระบุวัตถุประสงค์การใช้ข้อมูลอย่างชัดเจน เพื่อช่วยในการจัดระบบสังคมและไม่ให้นำข้อมูลส่วนบุคคลไปหาประโยชน์โดยเจ้าของไม่ยินยอมและที่สำคัญเจ้าของข้อมูลสามารถถอนความยินยอมได้ด้วย

นอกจากนี้ กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงให้มีการตั้งเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อบันทึกข้อมูลที่ถูกนำไปใช้ โดยระหว่างนี้ให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมปฏิบัติหน้าที่แทนไปก่อน

สำหรับกฎหมาย 4 ฉบับที่ผ่าน ครม. ไปแล้วก่อนหน้านี้ประกอบไปด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ร่างพ.ร.บ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ร่างพ.ร.บ.การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล และร่าง พ.ร.บ.สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมประเทศไทย

 

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ และข่าวสดออนไลน์ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท