สื่อไร้พรมแดนเผย ปีนี้คนข่าวถูกฆ่า 80 ต้องขัง-อุ้มหาย-เป็นตัวประกันหลายร้อย

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) ทำการเรียงเรียงสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิฯ ต่อผู้สื่อข่าวทั่วโลกที่เกิดขึ้นตลอดปี 2561 คนทำงานสื่อถูกสังหารทั้งหมดรวม 80 ราย เกินครึ่งโดนล็อกเป้าก่อนฆ่า ต้องขัง 348 ราย ตกเป็นตัวประกัน  60 ราย สะท้อนความมุ่งร้ายต่อคนทำงานสื่อมากในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

19 ธ.ค. 2561 จากการสรุปสถานการณ์ผู้สื่อข่าวทั่วโลกในรอบปี 2561 ขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) ที่ออกมาเมื่อ 14 ธ.ค. 2561 ระบุว่ามีการละเมิดสิทธิและใช้ความรุนแรงต่อผู้สื่อข่าวเพิ่มขึ้นในทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการฆาตกรรม ขังคุก จับเป็นตัวประกัน และการบังคับให้สาบสูญหรือที่เรียกกันติดปากว่าการอุ้มหาย

RSF ระบุว่ามีจำนวนคนทำงานสื่อที่ถูกสังหารเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละแปด โดยปีนี้มีจำนวน 80 ราย หลังจากที่จำนวนตัวเลขนี้ลดลงมาโดยตลอดสามปีที่แล้ว โดยในจำนวนนี้มีนักข่าวมืออาชีพ 63 ราย

กรณีที่เป็นข่าวดังที่สุดของปีนี้คือกรณีการสังหารคอลัมนิสต์ชาวซาอุดิอารเบีย จามาล คาชอกกี และกรณีสังหารนักข่าวเชิงฐานข้อมูลชาวสโลวาเกีย ยาน คูเชียก แสดงให้เห็นว่าศัตรูของเสรีภาพสื่อถลำตัวเองเข้าสู่วิธีการเช่นนี้มากเพียงใด ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ถูกสังหารทั้งหมดมีอยู่เกินครึ่งหนึ่งคือ 49 ราย ที่ถูกสังหารแบบเป็นเป้าหมายที่มีการไตร่ตรองไว้ก่อน

คริสโตฟ เดอลัวร์ เลขาธิการของ RSF กล่าวว่าในปีนี้ความรุนแรงต่อผู้สื่อข่าวเกิดขึ้นในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อนและสถานการณ์ก็ถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤต เดอลัวร์กล่าวอีกว่ามีการใช้โวหารสร้างความเกลียดชังต่อผู้สื่อข่าวที่มาจากนักการเมืองผู้ฉ้อฉลไร้หลักการ ผู้นำศาสนา และนักธุรกิจ ซึ่งบางครั้งก็มีการพูดประกาศออกมาอย่างเปิดเผย การกระทำนี้ส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าเศร้าสำหรับคนที่ทำงานสื่อโดยเฉพาะเกิดความรุนแรงและการละเมิดต่อผู้สื่อข่าวเพิ่มมากขึ้น

เดอลัวร์กล่าวอีกว่าโวหารปลุกปั่นความรุนแรงเหล่านี้ยังมีการเพิ่มเช้อไฟด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์กซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบรายสำคัญในเรื่องนี้ "การแสดงออกในเชิงสร้างความเกลียดชัง นำไปสู่ความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง ดังนั้นจึงถือเป็นการบ่อนทำลายสื่อ และบ่อนเซาะประชาธิปไตยไปที่ละน้อยทุกวันๆ" เดอลัวร์กล่าว

ก่อนหน้านี้ RSF เคยระบุถึงความน่าเป็นห่วงในสถานการณ์ความมุ่งร้ายต่อสื่อที่เพิ่มมากขึ้นในรายงานดัชนีเสรีภาพสื่อโลกที่นำเสนอเมื่อเดือน เม.ย. ของปีนี้ โดยเฉพาะความมุ่งร้ายที่มาจากรัฐบาลเผด็จการซึ่งพยายามส่งออกมุมมองต่อสื่อในแบบที่พวกเขาต้องการ

สำหรับประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับนักข่าวในปี 2561 คือประเทศอัฟกานิสถาน ที่มีนักข่าวถูกสังหารไป 15 ราย ตามมาด้วยซีเรีย ที่ถูกสังหารไป 11 ราย ถ้าไม่นับพื้นที่สงครามแล้ว เม็กซิโกจะถือว่าเป็นประเทศอันตรายที่สุดจากที่มีนักข่าวถูกสังหารไป 9 ราย นอกจากนี้แม้แต่ในสหรัฐฯ เองปีนี้ก็มีผู้ก่อเหตุเป็นพวกขวาจัดบุกยิงสื่อแคปปิตอลกาเซตต์จนมีผู้เสียชีวิต 5 ราย

ทั้งนี้รายงานของ RSF ยังระบุถึงเรื่องที่นักข่าวจำนวน 348 รายยังคงตกเป็นผู้ต้องขัง เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วคือ 326 ราย นักข่าวส่วนใหญ่ถูกคุมขังอยู่ใน 5 ประเทศคือจีน อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ และตุรกี โดยจีนมีตัวเลขคุมขังนักข่าวสูงสุดอยู่ที่ 60 ราย โดยสามในสี่ของจำนวนนี้ไม่ใช่นักข่าวอาชีพ

ในปีนี้ยังมีนักข่าวที่ถูกจับเป็นตัวประกันรวม 60 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มี 54 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 ซึ่งแทบทุกรายถูกจับเป็นตัวประกันที่ประเทศในแถบตะวันออกกลางสามประเทศได้แก่ซีเรีย อิรักและเยเมน ถึงแม้ว่าในอิรัก กลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลามหรือไอซิสจะถูกปราบปรามจนหนีไปอยู่ที่ซีเรีย แต่ก็มีข้อมูลออกมาน้อยมากเกี่ยวกับสถานภาพของผู้ถูกจับเป็นตัวประกัน มีเพียงกรณีนักข่าวชาวญี่ปุ่นที่ชื่อจุมเป ยาสุดะ เท่านั้นที่ได้รับการปล่อยตัวหลังจากที่ถูกควบคุมตัวยาวนานในซีเรีย

อีกประเด็นหนึ่งคือการหายตัวไปของนักข่าวในปี 2561 นี้เกิดขึ้นสามราย มีสองกรณีเกิดขึ้นในละตินอเมริกา อีกหนึ่งกรณีเกิดขึ้นในรัสเซีย

เรียบเรียงจาก

RSF’s 2018 round-up of deadly attacks and abuses against journalists – figures up in all categories, Reporters without Borders, 14 ธ.ค. 2561

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท