Skip to main content
sharethis

'อี๊ด-สุประวัติ' นักแสดงอาวุโสและศิลปินแห่งชาติ เปิดประสบการณ์ในฐานะผู้ป่วย รอดมาได้เพราะหมอ-พยาบาล และสิทธิบัตรทอง จึงอยากให้คนไข้ระลึกถึง ปลื้ม “สิทธิบัตรทอง” ช่วยจ่ายค่าผ่าตัดหลักแสน อวยพรขอให้คนร่วมคิดร่วมพัฒนาระบบพบเจอแต่ความเจริญ

19 ธ.ค.2561 สุประวัติ ปัทมสูต หรือ อี๊ด ผู้กำกับ นักแสดงอาวุโสชื่อดัง และศิลปินแห่งชาติ ได้บอกเล่าประสบการณ์การเจ็บป่วยครั้งใหญ่ผ่านหัวข้อ “Once in a lifetime : วันที่ฉันไปใช้บริการ” ภายในงานสัมมนาเครือข่ายคุ้มครองสิทธิ ประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะกลายเป็นคนไข้และพร้อมจะจากโลกนี้ไปได้ทุกขณะ ส่วนตัวรอดมาได้เพราะบุญคุณของแพทย์และพยาบาลที่ให้ความช่วยเหลือ ฉะนั้นแพทย์และพยาบาลมีความสำคัญที่คนไข้ควรจะระลึกถึงไว้เสมอ

สุประวัติ กล่าวว่า ส่วนตัวมีประสบการณ์ต้องผ่าตัดทำบัลลูนอย่างเร่งด่วน โดยเหตุการณ์ในวันนั้นคือกำลังยกของใส่รถเพื่อเตรียมเดินทาง ปรากฏว่ารู้สึกเจ็บที่หน้าอกมาก แต่คิดเอาเองว่าเป็นอาการมาจากท้องอืดจึงโทรหาแพทย์ประจำตัวเพื่อขอทราบชื่อยา เมื่อเวลาผ่านไปอีกสักครู่อาการไม่ดี รู้สึกหายใจไม่ออก โชคดีที่แพทย์โทรกลับมาอีกครั้งเพื่อเรียกเข้ารับการตรวจด่วนเนื่องจากอาการผิดปกติ เมื่อไปถึงโรงพยาบาลก็ล้มลงหมดสติไป แพทย์แจ้งกับภรรยาว่าต้องผ่าตัดด่วนแต่ห้องเต็มหมด สุดท้ายมีผู้อนุเคราะห์ยอมสละห้องให้จึงรอดมาได้ ตรงนี้เป็นความโชคดีมากๆ ที่แพทย์ไม่ทิ้งคนไข้ มีการโทรกลับมาเรียก ไม่เช่นนั้นตนเองคงเสียชีวิตไปแล้ว ดังนั้นทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นคนไข้หรือเป็นบุคลากรด้านสุขภาพ หากมีสติและมีความรับผิดชอบย่อมส่งผลต่อชีวิตของคนอีกมาก

“คนในรุ่นผมส่วนใหญ่เสียชีวิตเพราะไปโรงพยาบาลไม่ทัน และที่ผมรอดมาจนถึงขณะนี้ได้ก็เพราะได้รับการดูแลจากแพทย์ที่ดีมากๆ ผมจึงคิดว่าการที่แพทย์จะดูแลคนไข้ดีหรือไม่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องยาก อย่างในสมัยก่อนผมเอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง ไปโรงพยาบาลก็คิดเพียงแค่ว่าอยากจะได้ ทำไมรอนาน ทำไมพยาบาลหน้าตาไม่รับแขก แต่พอย้อนกลับไปคิดว่าทุกวันนี้คนไข้มากกว่าจำนวนแพทย์พยาบาลขนาดไหนก็เข้าใจ แพทย์และพยาบาลถือเป็นผู้มีธรรมะสูงมาก ต้องเจอคนไข้หลากหลายรูปแบบ ต้องมีความอดทน ในฐานะคนไข้จึงอยากกล่าวขอบคุณทั้งแพทย์และพยาบาลที่ช่วยดูแลเรา” สุประวัติ กล่าว

สุประวัติ กล่าวว่า ในชีวิตคนไข้ 100% นั้น บางคนบอกว่าการดูแลตัวเอง 50% แพทย์มาช่วยดูแลอีก 50% ซึ่งผมคิดว่ามันยังเป็นการเอาเปรียบแพทย์ จริงๆ แล้วคนไข้ควรดูแลตัวเองสัก 70% ส่วนอีก 30%% ก็อาจพึ่งพิงความช่วยเหลือจากแพทย์ ฉะนั้นคนไข้จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา สิ่งสำคัญคือการเปิดใจกับแพทย์ รับฟังข้อแนะนำเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ควรรับประทานยาอย่างไร ควรรับประทานอาหารอย่างไร ควรลดอะไร ควรออกกำลังกายอย่างไร แน่นอนว่าถ้าเราทำได้เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดภาระของแพทย์ พยาบาล โรงพยาบาล นำไปสู่การให้บริการที่สะดวก ลดความแออัด ลดการให้บริการที่เกินศักยภาพของกำลังบุคลากรทางการแพทย์

“ปัญหาสำคัญของผู้ป่วยคือเราไม่รู้จักประมาณตัว กล่าวคือแม้ว่าเราจะปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องการรักษา กินยาครบถ้วน แต่เราก็ยังนอนดึก ยังกินกาแฟ สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งเหล่านี้ก็ย้อนกลับมาบั่นทอนร่างกาย” สุประวัติ กล่าว และว่า ทุกวันนี้กินยาติดต่อกันมานานกว่า 15 ปีแล้ว แต่สุขภาพก็ยังแข็งแรงดีอยู่ นั่นเพราะทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ลดปัจจัยเสี่ยง เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันตรายทั้งหมด โดยสิ่งสำคัญคือ “อย่าปล่อยตัว”

สุประวัติ กล่าวว่า ในสมัยที่เข้ารับการผ่าตัดหัวใจนั้น ตัวเองยังไม่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ จึงใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยทราบมาว่ารายการค่าผ่าตัดในขณะนั้นต้องสูงเป็นหลักแสนบาท แต่พอบิลออกมาตัวเลขกลับอยู่ที่ 1,900 บาทเท่านั้น ส่วนตัวคิดว่าบัตรทองช่วยเหลือคนเป็นอย่างมาก จึงขอให้ผู้ที่ร่วมคิดร่วมสร้างขึ้นมาพบแต่ความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net