Skip to main content
sharethis

กลุ่มผู้ค้าแผงลอยโพธิ์สามต้น 82 ราย ยอมฝ่าฝืนจะตั้งแผงค้าบนทางเท้า ร้อง กทม.วางมาตรการเยียวยาตามคำสั่งมหาดไทย แม้ว่ากทม.จะมีคำสั่งยกเลิกจุดผ่อนผันแล้วตั้งแต่ปี 60 ขณะที่ทางสำนักงานเขตบางกอกใหญ่ ลงพื้นที่ทำความเข้าใจ

20 ธ.ค.2561 เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอส รายงานว่า กลุ่มผู้ค้าตลาดโพธิ์สามต้น ย่านถนนอิสระภาพ ซอย 23/2 จนถึงซอย 29/2 รวมตัวตั้งแผงค้าบนทางเท้า ในพื้นที่ยกเลิกจุดผ่อนผัน เพื่อเรียกร้องต่อกรุงเทพมหานคร ให้ร่วมหารือการเยียวยาผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบ 82 คน

"เราไม่มีที่ไปทางออกไม่มี กลุ่มจึงอารยะขัดขืน เพื่อขอประทังความอยู่รอดไปจนกว่ากระทรวงมหาดไทยจะประชุม และมีผลออกมาเป็นอย่างไร พวกเรายินดีที่จะปฏิบัติตาม” คำยืนยัน จากตัวแทนผู้ค้าแผงลอยโพธิ์สามต้นที่จะตั้งแผงค้าบนทางเท้า ที่มีการลงทะเบียนกับสำนักงานเขตบางกอกใหญ่ รวม 82 คน พร้อมบอกว่าจะตั้งแผงค้าบนทางเท้า จนกว่าภาครัฐจะมีความคืบหน้าผลการเยียวยา

กลุ่มผู้ค้าบอกว่า หลังจากที่กรุงเทพมหานคร มีคำสั่งยกเลิกจุดผ่อนผันบนทางเท้า เมื่อเดือนม.ค. 2560 กลุ่มผู้ค้าพยายามเข้าร้องเรียน เพื่อให้เกิดการหารือร่วมกันกับกรุงเทพมหานคร แต่ไม่เป็นผล จึงร้องเรียนต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ให้กระทรวงมหาดไทย ตั้งกรรมการเพื่อประชุมร่วมบรรเทาทุกข์ให้ผู้เดือดร้อน

ผู้ค้าคนหนึ่งบอกว่า ค้าขายของที่นี่มากว่า 10 ปี ก่อนหน้านี้ยอมออกจากทางเท้า เข้าไปขายในตลาด ภายในซอยอิสระภาพ 25 ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา รับภาระค่าเช่าวันละ 100 บาทไม่ไหว เพราะไม่มีลูกค้าเดินเข้าไปซื้อ

ไทยพีบีเอสยังรายงานด้วยว่า ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตบางกอกใหญ่ตรวจสอบเหตุการณ์ พร้อมให้ข้อมูลว่า เขตบางกอกใหญ่ มีจุดผ่อนผัน 2 จุด ซึ่งมีคำสั่งให้ยกเลิกการผ่อนผันทั้งหมด ตั้งแต่ม.ค.2560 ไม่พบผู้ค้าฝ่าฝืน กระทั่งวันนี้พบผู้ค้าฝ่าฝืนรวม 21 แผงค้า ยืนยันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งกรุงเทพมหานคร แต่วันนี้จะใช้มาตรการทำความเข้าใจก่อนผลักดัน ขณะที่การฝ่าฝืนมีโทษตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 เจ้าหน้าที่เทศกิจ มีอำนาจกล่าวตักเตือนไปจนถึงจับเปรียบเทียบ ปรับเป็นเงินสูงสุด 2,000 บาท

ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครมีการจัดระเบียบทางเท้า ทั้ง 50 เขต ทั่วกรุงเทพมหานคร อาทิ ย่านสยาม  ปทุมวัน หรือหน้าห้างสรรพสินค้า ย่านลาดพร้าว

สำหรับแถลงการณ์ ของ ชมรมผู้ค้าแผงลอยโพธิ์สามต้น เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพ มีดังนี้
 

18 ธันวาคม 2561

“จะอดตาย จึงต้องออกมา”

นโยบายการจัดระเบียบสังคมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) กำหนดนโยบายจัดระเบียบทางเท้า โดยมุ่งเน้นการขับไล่ผู้ค้าออกจากทางเท้าและยกเลิกจุดผ่อนผัน ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมาได้ยกเลิกจุดผ่อนผันทั่วกรุงเทพมหานครไปแล้ว 451 จุด ทำให้ผู้ค้ากว่าสองแสนคนและผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย อีกกว่าล้านคนได้รับผลกระทบอย่างมาก 

จุดผ่อนผันที่ถูกยกเลิกนี้รวมถึง จุดผ่อนผันบนทางเท้าขนาด 4.6 เมตร บริเวณตลาดโพธิ์สามต้น (บริเวณถนนอิสรภาพ ซอยอิสรภาพ 23/2 – 29/2) โดยเขตบางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นเขตชานเมือง และแผงลอยไม่เคยสร้างปัญหาเรื่องการจราจร ได้มีคำสั่งยกเลิก เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2560 โดยไร้ซึ่งมาตรการเยียวยา และไร้การปรึกษาหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน ผู้ค้าจำนวนกว่า 82 ราย ซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิงมีอายุตั้งแต่ 45-75 ปี และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ค้ากับทางสำนักงานเขตบางกอกใหญ่ เพื่อค้าขายบนจุดผ่อนผันนี้มาตั้งแต่ปี 2533 เป็นเวลากว่า 28 ปี ที่ผู้หญิงเหล่านี้ได้มีโอกาสประกอบอาชีพสุตจริต เพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เป็นภาระแก่รัฐบาลและสังคม แต่ทว่านโยบายกวาดล้างแผงลอยประหนึ่งว่าเป็นอาชญากรของกรุงเทพมหานคร ได้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ค้าอย่างหนัก ไม่สามารถทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตนเองได้เหมือนเช่นเคย

เมื่อไร้หนทาง ผู้ค้าจึงรวมตัวกันเพื่อไปเช่าที่ดินเอกชนขายของ แม้ว่าจะห่างจากจุดเดิมเข้าไปในซอยเพียง 20 เมตร แต่ลูกค้ากลับไม่ตามเข้าไป ผู้ค้าส่วนใหญ่ขายอาหาร ซึ่งเมื่อขายไม่ได้ก็ไม่มีทุนหมุนเวียนในวันต่อไป ต้องไปกู้หนี้นอกระบบมาหมุนเวียนเป็นวัฏจักรเลวร้ายได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก จึงรวมตัวไปร้องเรียนสำนักงานเขตบางกอกใหญ่แต่ก็ไม่ได้รับการเหลียวแลใด ๆ จนเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 ผู้ค้าได้รวมตัวกับผู้ค้าที่ได้รับความเดือดร้อนจากทั้ง 50 เขต กว่า 2,000 คน ขอเข้าพบผู้ว่าอัศวิน ซึ่งในวันนั้นท่านผู้ว่าฯรับปากฯในห้องประชุมว่า “พื้นที่ไหนที่ทางเท้ากว้างกว่า 3 เมตรให้มาคุยกันได้”  เราวางใจ เพราะเห็นท่านเป็นพ่อเมือง ซึ่งคงจะรักษาคำพูด แต่เราก็คิดผิด

เมื่อการเรียกร้องกับทางกรุงเทพมหานครไม่เป็นผล ต่อมาผู้ค้าจึงรวมตัวกันเป็นเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ไปร้องเรียนที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561 รวมทั้งเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 61 ได้เข้ารายงานความไม่เป็นธรรมของนโยบายจัดระเบียบต่อ สนช. ในงาน สนช.พบประชาชนเขตกรุงเทพใต้ และวันที่ 30 เมษายน  2561 ได้เข้าไปติดตามความคืบหน้าจากคำพูดของผู้ว่า กทม กับท่านรองฯ สกลธี แต่ท่านกลับปัดความรับผิดชอบให้ บชน. โดยอ้างว่า บชน เป็นผู้ขอให้มีการยกเลิกหาบเร่แผงลอย  น่าเศร้าใจที่ผู้บริหารบ้านเมืองเกี่ยงกันแก้ไขปัญหาและไม่หันมาสนใจปัญหาความเดือดร้อนของคนในระดับรากหญ้า เราไร้ที่พึ่ง เราไร้ซึ่งหนทาง จึงได้พากันเดินจากหน้าตึกสหประชาชาติไปยื่นหนังสือถึงท่านนายกรัฐมนตรีที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล อีกครั้งหนึ่งเมื่อ วันที่ 4 กันยายน 2561  ซึ่งท่านนายกฯได้แต่งตั้งคณะกรรมการบรรเทาผลกระทบจากการจัดระเบียบสังคมเมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมา แต่เวลาก็ล่วงเลยมากว่า 3 เดือนแล้ว คณะกรรมการชุดนี้ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานก็ยังไม่มีวี่แววที่จะจัดประชุม 

ฟางเส้นสุดท้ายของเราคือการที่ กทม. พูดสวนทางกับกระทรวงมหาดไทย โดยประกาศผ่านสื่อว่าจะไม่มีทางให้แผงลอยกลับมาและจะไม่รายงานต่อมหาดไทย ทั้งๆที่มหาดไทยมีจดหมายด่วนที่สุดถึง กทม. ให้บรรเทาความเดือดร้อนและให้จัดประชุมร่วมระหว่างผู้ค้าและสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตเพื่อหาทางออกร่วมกันไปก่อนที่คณะกรรมการชุดนี้จะได้ข้อสรุปออกมา ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 61 โดยมีข้อความรั้งท้ายจดหมายให้กรุงเทพมหานคร “คำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลและการอยู่ร่วมกันอย่างสงบเรียบร้อยของสังคม”

แม้ว่ากระทรวงมหาดไทยจะยอมรับการมีอยู่และการอยู่ร่วมกันได้ของหาบเร่แผงลอยบนพื้นที่สาธารณะและเข้าใจว่าทุกคนสามารถอยู่บนพื้นที่สาธารณะร่วมกันได้อย่างชัดเจนและไม่เลือกปฏิบัติ แต่ กทม กลับเพิกเฉยและไม่ยอมเข้าใจ  เราไม่ได้อยากก่อความไม่สงบ เราไม่ได้อยากสร้างปัญหา เราแค่ต้องการอาชีพ และการอยู่ร่วมกันได้บนกติกาที่กำหนดร่วมกัน ที่ผ่านมาผู้ค้าหลายชีวิตต้องตายไปเพราะความกดดันและความยากไร้

เราต้องขอออกมาวันนี้เพื่อไม่ให้ผู้ค้าอีกหลายสิบชีวิต ณ ที่นี้ต้องอดตาย !!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net