Skip to main content
sharethis

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และ 57 องค์กรภาคประชาสังคมสังคม ออกแถลงการณ์แนะกรมคุ้มครองสิทธิฯ จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยให้เสนอยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น เพิ่มโทษหาก EIA/EHIA ใช้ข้อมูลเท็จ จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูและเยียวยาความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

20 ธ.ค. 2561 วานนี้ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนร่วมองค์กรเครือข่าย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามกระบวนการจัดทำ “แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน”  โดยมีตัวแทนชุมชนและภาคประชาสังคมเข้าร่วมประมาณ 40 คน ณ โรงแรมกานต์มณี ถนนประดิพัทธิ์ กรุงเทพฯ

ในการประชุมดังกล่าวได้มีการหารือเรื่องการติดตามการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน หลังจากที่มูลนิธิและเครือข่ายรวม 35 องค์กรได้ยื่นข้อเสนอต่อการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ไปยังกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมแล้ว เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2561

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 สมณ์  พรหมรส อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้กล่าวในเวทีสหประชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนว่า แผนปฏิบัติการฯ ที่กำลังร่างนั้นกำลังจะแล้วเสร็จและคาดว่าจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในสิ้นเดือน ธ.ค. 2561 มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนและเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ติดตามกระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ มาอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดประชุมเพื่อติดตามเรื่องดังกล่าวขึ้น โดยประสานไปยังกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อให้นำร่างแผนปฏิบัติการฯ มาเผยแพร่

โดยในการประชุมกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้มอบหมายให้ นรีลักษณ์  แพชัยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เข้าร่วมประชุมกับภาคประชาสังคมเพื่อนำเสนอความคืบหน้าของการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ  โดยระบุว่า ที่ผ่านมา กรมฯ ได้นำร่างแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากส่วนราชการและภาคธุรกิจแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขร่าง และคาดว่าจะจัดทำร่างให้แล้วเสร็จภายเดือนธ.ค. 2561 นี้ ก่อนนำเผยแพร่ต่อสาธารณะทางเว็บไซต์ของกรมฯ เพื่อรับฟังความคิดเห็นอีกประมาณ 1 เดือน ก่อนนำมาปรับปรุงและเสนอต่อสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ในการประชุมครั้งนี้ ผู้แทนภาคประชาสังคมซึ่งเป็นตัวแทนของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาทั้งของภาคธุรกิจและภาครัฐและตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนได้ร่วมกันตรวจสอบร่างแผนปฏิบัติการฯ ที่กรมฯ ได้นำเสนอพบว่า ข้อเสนอแนะจากภาคประชาสังคมบางส่วนได้ถูกนำไปบรรจุไว้ในร่างแผนปฏิบัติการฯ แล้ว แต่ยังมีข้อเสนออีกหลายประเด็นสำคัญซึ่งไม่ถูกบรรจุไว้ในแผน  มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนและภาคีเครือข่ายจำนวน 58 องค์กร จึงตกลงร่วมกันว่าจะดำเนินการจัดทำข้อเสนอเพื่อเสนอแนะต่อกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพอีกครั้ง และได้ออกแถลงการณ์เพื่อแสดงความเห็นต่อร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้

ภาคประชาสังคม ขอรัฐบาลใจจริงต่อการร่างแผนฯ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

แถลงการณ์ตัวแทนชุมชนและองค์กรภาคประชาสังคมผู้ติดตามการจัดทำ“แผนปฏิบัติการระดับชาติ ว่าด้วย ธุรกิจและสิทธิมนุษยชน” ฉบับลงวันที่ 19 ธันวาคม 2561

ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จัดทำ “แผนปฏิบัติการระดับชาติ ว่าด้วย ธุรกิจและสิทธิมนุษยชน” ซึ่งชุมชนและองค์กรภาคประชาสังคม จำนวน 35 องค์กร ได้ส่งข้อเสนอแนะต่อแผนดังกล่าว ต่อกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ แล้วเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2561 โดยหลังจากนั้น ในฐานะที่เครือข่ายฯ ติดตามกระบวนการจำทำแผนดังกล่าวมาตลอด แต่ไม่เคยได้ทราบถึงเนื้อหาของร่างแผนปฏิบัติการดังกล่าว

ในวันที่ 19 ธันวาคม 2561 มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามกระบวนการจัดทำ “แผนปฏิบัติการระดับชาติ ว่าด้วย ธุรกิจและสิทธิมนุษยชน” โดยเชิญตัวแทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมาให้ข้อมูลถึงกระบวนการจัดทำแผนฯ ซึ่งทางกรมฯ ได้นำเอาร่างฉบับล่าสุด ฉบับลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 มาเผยแพร่ในการประชุมด้วย ทางผู้เข้าประชุมได้พิจารณาร่างดังกล่าวเปรียบเทียบกับข้อเสนอของชุมชนและภาคประชาสังคมที่ได้เสนอไว้ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2561 พบว่า เป็นที่น่ายินดีที่ข้อเสนอแนะบางส่วน ได้ถูกบรรจุไว้ในร่างเนื้อหาแผนฉบับนี้  แต่ก็ยังมีข้อเสนอแนะที่เป็นสาระสำคัญบางประการ ยังไม่ได้รับการบรรจุไว้ โดยเฉพาะประเด็นสำคัญ ๆ เช่น

  1. ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ลิดรอนสิทธิชุมชน สิทธิในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิในการแสดงออก ทั้งหมด
  2. ต้องมีกฎหมายลงโทษทั้งทางทางแพ่งและอาญากับบริษัทที่จัดทำ EIA/EHIA ที่ใช้ข้อมูลเท็จ ไม่สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ และปัญหาข้อเท็จจริง
  3. การจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูและเยียวยาความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โดยต้องจัดตั้งกองทุนก่อนที่จะได้รับใบอนุญาตในการดำเนินงาน
  4. แก้ไขกฎระเบียบกองทุนยุติธรรมให้สามารถช่วยเหลือผู้ที่ถูกดำเนินคดีให้ดียิ่งขึ้น เช่น ให้มีความเป็นอิสระ มีมาตรฐานเดียวกัน รวดเร็ว มีทรัพยากรที่เพียงพอ และเพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชน เช่น ให้ตัวแทนจากภาคประชาสังคมเข้าร่วมในการทำงานของคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมระดับจังหวัด และให้การดูแลความปลอดภัยต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและให้ครอบคลุมถึงครอบครัวของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
  5. ให้อำนาจคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมากขึ้นในเรื่องการจัดการร้องเรียนที่มีผลบังคับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  6. ให้จัดตั้งกองทุนเงินเยียวยาแรงงานข้ามชาติในการทำงานให้ครอบคลุม ตลอดทั้งให้ BOIต้องมีกระบวนการคุ้มครองแรงงานกรณีที่ทุนย้ายฐาน ปิดงาน หรือปิดกิจการ
  7. ให้รับรองอนุสัญญา ILO ข้อ 87 ข้อ 98 ตลอดทั้งอนุสัญญาอื่นๆที่เดี่ยวข้องกับแรงงานทั้งหมด
  8. เร่งรัดให้มีการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ที่รับทราบข้อมูลที่รับทราบข้อเสนอและนโยบายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาสิทธิชุมชน ในทุกกรณีที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติไว้แล้ว ทั้งกรณีโรงงานน้ำตาลในกัมพูชา กรณีการการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ประเทศเมียนมาร์
  9. ภาคธุรกิจต้องมีหน่วยงานรับเรื่องราวร้องเรียนที่มีลักษณะข้ามพรมแดน ตลอดทั้งยอมรับว่า การดำเนินกิจการของบริษัทที่ลงทุนในต่างประเทศ แม้จะมีการจดทะเบียนเป็นคนละนิติบุคคล แต่ต้องถือเสมอว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันที่ได้กระทำการ หากเกิดการละเมิดสิทธิโดยบริษัทในต่างประเทศก็จะรับผิดชอบร่วมกัน

จากการประชุมในวันที่ 19 ธันวาคม 2561 ได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมจากชุมชนและเครือข่ายภาคประชาสังคม ซึ่งทางมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนจะรวบรวมทำข้อเสนอเพิ่มเติม เพื่อส่งให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพพิจารณาอีกครั้งภายในสิ้นเดือนนี้ เพื่อให้ทันต่อกระบวนการสรุปเนื้อหาของแผนฯ ตามขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ทางพวกเราตามรายชื่อข้างท้าย เห็นว่า ประเด็นที่สำคัญที่สุด นอกจากกรมฯ จะต้องนำข้อเสนอทั้งหมดของภาคประชาสังคมไปบรรจุไว้ในแผนแล้ว ทางกรมฯ จะต้องเผยแพร่เนื้อหาร่างแผนฯ เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการให้ความเห็นในฉบับสุดท้าย ก่อนที่กรมฯ จะสรุปนำส่งต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

นอกจากนี้  พวกเราฯยังเห็นว่า แผนปฏิบัติการระดับชาติ ว่าด้วย ธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินธุรกิจทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน และพวกเราจะทำหน้าที่ติดตามและผลักดันในนามภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดบังคับใช้แผนปฏิบัติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน และมีกลไกการตรวจสอบการปฏิบัติใช้ของภาครัฐและภาคเอกชนในอนาคตต่อไป

ลงชื่อ

  1. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย
  2. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
  3. กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลอำเภอหนองหาร จังหวัดอุดรธานี
  4. กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง
  5. กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำลำเซบาย
  6. กลุ่มรักษ์น้ำอูน จังหวัดสกลนคร
  7. กลุ่มฅนรักษ์เกิดบำเหน็จณรงค์
  8. กลุ่มรักษ์บ้านแหง
  9. กลุ่มรักษ์ผาปัง
  10. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอำเภอแม่สาย
  11. กลุ่มรักษ์ถิ่นเกิดตำบลคู
  12. กลุ่มลูกปูลม
  13. กลุ่มเด็กรักษ์หาดสวนกง
  14. เครือข่ายเยาวชนฅนต้นน้ำ
  15. เครือข่ายลุ่มน้ำสรอยจังหวัดแพร่
  16. เครือข่ายชุมชนรักอ่าวปากบารา
  17. เครือข่ายเทใจให้เทพาหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน
  18. เครือข่ายประชาชน 7 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
  19. เครือข่ายประชาชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดอุดรธานี
  20. เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่แห่งประเทศไทย
  21. เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน
  22. เครือข่ายพัฒนาชุมชนประมงท้องถิ่นระยอง
  23. เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
  24. เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน
  25. เครือข่ายพลเมืองนครนายก
  26. มหาวิทยาลัยชาวบ้านลานหอยเสียบ
  27. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ
  28. สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ
  29. สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา
  30. สมาคมพลเมืองนครนายก
  31. กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
  32. โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
  33. Mekong Butterfly
  34. เสมสิขาลัย
  35. เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้
  36. เครือข่ายประชากรข้ามชาติ
  37. เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ สาขาหาดใหญ่
  38. สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สาขาหาดใหญ่ (ภาคใต้ตอนล่าง)
  39. EarthRights International
  40. Extraterritorial Obligations Watch Coalition (ETOs Watch Coalitions)
  41. ศูนย์พิทักษ์สิทธิชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง
  42. ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
  43. ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา
  44. ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา
  45. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
  46. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
  47. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคใต้ (กป.อพช.)
  48. สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม
  49. สมาคมรักษ์ทะเลไทย
  50. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
  51. สมาคมผู้บริโภคสงขลา
  52. มูลนิธิภาคใต้สีเขียว
  53. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
  54. มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
  55. มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
  56. มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
  57. มูลนิธิแม่น้ำนานาชาติ
  58. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net