สุรพศ ทวีศักดิ์: ชนชั้นกลางกับเผด็จการ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ที่มาภาพ http://npcusa.info/2015/12/12/...

ปัญหาว่าใครคือชนชั้นกลาง หรือจะใช้อะไร เช่นการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิตทางสังคม ไลฟ์สไตล์ ค่านิยม ความคิด อุดมการณ์ทางการเมือง และอื่นๆ มาเป็น “เกณฑ์ตัดสิน” ว่าใครคือชนชั้นกลาง ย่อมเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและเถียงกันได้มาก

แต่เมื่อพูดกว้างๆ แล้ว นัยสำคัญของ “ชนชั้นกลาง” (middle class) น่าจะสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความรู้ ความคิด อุดมการณ์จากยุคศักดินาสู่ยุคสมัยใหม่ ในแง่ที่ว่าชนชั้นกลางเป็นตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนแปลง (แต่ไม่ใช่ว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเกิดจากชนชั้นกลาง หรือไม่มีพลังอำนาจของชนชั้นกลางที่เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพและความเสมอภาค) 

หากมองจากประวัติศาสตร์ยุโรป ชนชั้นกลางมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแนวคิดปรัชญาเสรีนิยม (liberalism) เนื่องจากพวกกระฎุมพีไม่พอใจอำนาจกดขี่เอาเปรียบของ “ชนชั้นสูง” ในระบบศักดินาสวามิภักดิ์ (feudalism) และอำนาจศาสนจักร พวกพ่อค้าคนเมืองหรือชนชั้นกลางที่ต้องการเป็นอิสระจากอำนาจครอบงำกดขี่ดังกล่าว จึงเป็นชนชั้นที่ “วางรากฐานให้กับวัฒนธรรมเสรีนิยม” ดังธเนศ วงศ์ยานนาวา วิเคราะห์ว่า

“...วัฒนธรรมการไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขและจัดการชีวิต เป็นวิถีชีวิตที่สำคัญของพ่อค้าคนเมืองที่วางรากฐานให้กับวัฒนธรรมเสรีนิยม ดังนั้นการดวลดาบหรือปืนอันเป็นวิถีชีวิตที่ทรงเกียรติของขุนนางนั้นจึงเป็นสิ่งที่พวกกระฎุมพียุโรปตะวันตกถือว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย” 
(ธเนศ วงศ์ยานนาวา, “การสร้างความสมเหตุสมผล [ของใคร?]” หน้า 102)

ธเนศขยายความด้วยมุมมองทางสังคมวิทยาว่า นอกจากการดวลแล้ว พวกกระฎุมพียังโจมตีพฤติกรรมอื่นๆ ของพวกขุนนางอีก เช่นการฆ่าตัวตาย การเล่นการพนัน การเป็นชู้อันนำไปสู่การดวลและความรุนแรง เนื่องด้วยว่าเป็นการหมิ่นศักดิ์ศรีของขุนนางอันเป็นปัญหาที่พบได้ตั้งแต่ยุคกลางของยุโรป สิ่งเหล่านี้ถือเป็นพฤติกรรมชั่วร้ายของพวกขุนนาง

นัยสำคัญของการที่กระฎุมพีหรือชนชั้นกลางยุโรปนิยามตัวเองเข้ากับแนวคิดเสรีนิยม นอกจากจะเป็นการปฏิเสธอำนาจครอบงำ วิถีชีวิต ค่านิยมแบบชนชั้นสูงที่พวกเขามองว่าเป็น “พฤติกรรมชั่วร้าย” ดังกล่าวแล้ว แนวคิดเสรีนิยมที่ยืนยันสิทธิในทรัพย์สินส่วนตัว เสรีภาพทางความคิดเห็นที่เรียกร้องการใช้เหตุผลพูดคุยถกเถียง ยังสอดคล้องหรือเข้ากันได้ดีกับวิถีชีวิตของพวกพ่อค้าคนเมืองที่ถนัดในเรื่องการเจรจาต่อรอง การทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ที่อธิบายได้ว่ามีเหตุผลและยุติธรรม มากกว่าที่จะเอาชนะกันด้วยการใช้กำลังอาวุธ การดวลดาบ และวิธีรุนแรงอื่นๆ อันเป็นวิถีของพวกขุนนาง นักรบ หรือพวกอัศวิน

อย่างไรก็ตาม ที่ว่าชนชั้นกลางวางรากฐานให้กับวัฒนธรรมเสรีนิยมนั้น ย่อมไม่ใช่การสร้างรากฐานแบบ “สำเร็จรูป” หรือเป็นการวางรากฐานที่สำเร็จสมบูรณ์โดยเวลาอันรวดเร็ว หากแต่เต็มไปด้วยความย้อนแย้ง การต่อสู้ ต่อรอง ผ่านการสูญเสียและวันเวลาที่ยาวนาน เพราะในช่วงแรกๆ แม้แต่นักปรัชญาเสรีนิยมคลาสสิกบางคนก็ไม่ได้มองว่า ผู้หญิงควรมีสิทธิเท่าเทียมกับเพศชาย คนด้อยการศึกษา คนจนก็ไม่ควรมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทนทางการเมืองเท่าเทียมกับคนรวยที่จ่ายภาษี 

แม้แต่สิ่งที่เรียกว่า “พื้นที่สาธารณะ” (public sphere) ในศตวรรษที่ 18 ที่ใน “ทางอุดมคติ” หมายถึงพื้นที่ที่ทุกคนมีเสรีภาพและความเสมอภาคในการใช้เหตุผลถกเถียงเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ส่วนรวม แต่ใน “ทางกายภาพ” พื้นที่สาธารณะ คือร้านกาแฟ สโมสรวรรณคดีเป็นต้น กลับเป็นพื้นที่สำหรับเพศชายที่เป็นคนรวย คนมีการศึกษาเท่านั้น ส่วนสตรีและคนจนถูกกีดกันออกไป ไม่ต้องพูดถึงบรรดาทาสที่วัฒนธรรมเสรีนิยมของพวกกระฎุมพีครอบคลุมไปไม่ถึง

แต่หากพิจารณาในทางปรัชญา ในเมื่อแก่นสาระของแนวคิดเสรีนิยมคือ การยืนยันสิทธิและเสรีภาพที่เท่าเทียมของ “มนุษย์ทุกคน” ฉะนั้นถ้ายืนยัน “ความสมเหตุสมผล” หรือความคงเส้นคงวา (consistency) ของแนวคิดดังกล่าว จึงเลี่ยงไม่ได้ที่แนวคิดดังกล่าวจะถูกนำมาอ้างอิงให้ “มีเหตุผลสนับสนุน” (justification) แก่การต่อสู้ของบรรดาสตรี คนจน และทาสในการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพที่เท่าเทียมในฐานะที่พวกเขาต่างเป็น “คนเท่ากัน” กับเพศชาย คนรวย และคนชั้นสูง 

แม้แต่คาร์ล มาร์กซ์ และบรรดามาร์กซิสต์ก็ได้อาศัยการมีสิทธิและเสรีภาพตามกรอบคิดเสรีนิยมในการเสนอความคิด อุดมการณ์สังคมนิยม และแนวทางการปฏิวัติของพวกเขาในยุคแรกเริ่ม หรืออย่างน้อยในยามวิกฤตพวกเขาก็ได้อาศัยลี้ภัยทางการเมืองในประเทศที่ยืนยันหลักการเสรีนิยม

เมื่อหันมามองสังคมไทยในศตวรรษที่ 21 ชนชั้นกลางคือใคร? หากดูกว้างๆ ตามแนวอธิบายแบบนิธิ เอียวศรีวงศ์ จะพบว่า มีการแบ่งชนชั้นกลางเป็น 3 ระดับ คือชนชั้นกลางระดับล่าง ชนชั้นกลางระดับกลาง และชนชั้นกลางระดับสูง โดยดูจากฐานะ วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจเป็นด้านหลัก และยังมีงานวิจัยระบุว่า “คนส่วนใหญ่ในกลุ่ม พธม.และ กปปส.คือชนชั้นกลางระดับกลางและระดับสูง” (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่มี “ชนชั้นกลางระดับล่าง” มี แต่เป็นส่วนน้อย) ขณะที่ “คนส่วนใหญ่ในกลุ่มคนเสื้อแดงหรือ นปช.คือชนชั้นกลางระดับล่าง” (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่มี “ชนชั้นกลางระดับกลาง,ระดับสูง” มี แต่เป็นส่วนน้อยหากเทียบกับฝ่ายแรก) 

ประเด็นการแบ่งชนชั้นกลางเป็น 3 ระดับ และชนชั้นกลางระดับไหนอยู่ฝ่ายไหนมากหรือน้อยกว่า เป็นปัญหาที่เถียงกันได้ แต่ปัญหาที่สำคัญกว่าคือ ชนชั้นกลางนิยามตัวเองเข้ากับวัฒนธรรมเสรีนิยมอย่างไร และพวกเขามองเผด็จการไทยๆ อย่างไร

หากดูจาก พธม.และ กปปส.พวกเขานิยามตัวเองเข้ากับวัฒนธรรมเสรีนิยมในแง่ “เสรีภาพของปัจเจกบุคคล” และ “ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่” มากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับ “สิทธิและเสรีภาพทางสังคมและการเมือง” ดังเห็นได้จากไลฟ์สไตล์ชนชั้นกลางระดับกลางและระดับสูงที่ยึดเสรีภาพในการใช้ชีวิตตามรสนิยมด้านต่างๆ ของแต่ละคนมากขึ้น (เช่นดาราที่สนับสนุน กปปส.โชว์ภาพแม่ในชุดบิกินี่กับลูกชายวัยหนุ่มในท่านอนสวมกอดออกแนวเซ็กซี่ๆ เป็นต้น) ขณะที่วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจของพวกเขาก็ไปกันได้ดีกับระบบเศรษฐกิจ การศึกษาแบบเสรีนิยมใหม่ กลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดก็ยิ่งได้โอกาสขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและ “กินรวบ” โดยมีผลประโยชน์ร่วมกันกับกลุ่มเผด็จการผูกขาดอำนาจรัฐ

ประชาธิปไตยในความคิดของชนชั้นกลางกลุ่มนี้ ไม่จำต้องเป็น “เสรีประชาธิปไตย” (liberal democracy) ที่ทุกอำนาจถูกวิจารณ์ตรวจสอบได้ หากแต่ควรเป็น “ประชาธิปไตยแบบไทย” ที่ยึดฐาน “ความชอบธรรม” บนอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์มากกว่าที่จะยึดหลักสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจของประชาชน

สำหรับเผด็จการในทัศนะของพวกเขา ดูเหมือนสิ่งที่เรียกกันว่า “เผด็จการรัฐสภา” จะเลวร้ายมากกว่า หรือเป็นสิ่งที่ต้องปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงมากกว่าเผด็จการทหาร ดังเมื่อเผด็จการทหารยึดอำนาจจากประชาชน ก็มีคำอธิบายทำนองว่า “เผด็จการก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย เผด็จการที่ดีก็มี ที่ชั่วก็มี ถ้าเป็นเผด็จการโดยธรรม ก็ถือเป็นเผด็จการที่ดี เพราะทำเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่” นี่เป็นความคิดจากการตีความพุทธศาสนาที่เข้ากันได้โดยปริยายกับข้ออ้างในการทำรัฐประหาร เพื่อ “คืนความสุข” ให้ประชาชน หรือเพื่อความสงบสุขและความมั่นคงของชาติ

แปลว่า ในทางศาสนาและการเมือง ชนชั้นกลางระดับกลางและระดับสูงที่มี “เสียงดังกว่า” หรือมีอำนาจต่อรองทางการเมืองและเศรษฐกิจเหนือกว่าเป็น “อนุรักษ์นิยม” มากกว่า อาจเป็นเพราะพวกเขาถูกหล่อหลอมผ่านระบบการศึกษาที่สร้างความทรงจำว่า “ประชาธิปไตยถูกประทานมาจากเบื้องบน” ส่วนการปฏิวัติของคณะราษฎรเป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม” และเป็นต้นเหตุของการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองในกลุ่มตัวเอง เมื่อหมดอำนาจของคณะราษฎร ฝ่ายอำนาจอนุรักษ์นิยมก็เป็นฝ่ายผูกขาดการนิยามความหมายของ “ปฏิวัติ, รัฐประหาร, ประชาธิปไตย, ศาสนา ศีลธรรม” ต่อเนื่องมายาวนาน โดยมีกองทัพ ระบบตุลาการ และพรรคการเมืองเก่าแก่อย่าง “ประชาธิปัตย์” เป็นกลไกหลัก 

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์การสร้างเสรีภาพและประชาธิปไตยของยุโรปและอเมริกา นอกจากจะผ่านการล้มอำนาจระบบกษัตริย์และศาสนจักร หรือไม่ก็จำกัดอำนาจของกษัตริย์และศาสนจักรภายใต้รัฐธรรมนูญและหลักการโลกวิสัย (secularism) แล้ว ก็ยังต้องผ่านการต่อสู้ที่ยาวนานของฝ่ายเสรีนิยมที่ยังเป็นอนุรักษ์นิยม (พวกกระฎุมพีที่ปฏิเสธอำนาจครอบงำของชนชั้นสูง ยืนยันเสรีภาพ แต่ยังยึดอคติทางเพศ รวย จน การศึกษา ศาสนา ชาติพันธุ์ สีผิว) กับฝ่ายเสรีนิยมก้าวหน้าที่ยืนยันสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจต่อรองที่เท่าเทียมของ “ทุกคน” ในฐานะคนเท่ากัน 

แม้ดูเหมือนว่าฝ่ายหลังจะมีชัยเหนือกว่ามาเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่ใช่ชัยชนะที่สมบูรณ์ เพราะการมีสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจต่อรองที่เท่าเทียมในฐานะคนเท่ากัน ยังคงเป็น “อุดมคติ” ที่ยากจะเป็นจริงได้อย่างสมบูรณ์ (?) ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่มีเพียงการต่อสู้ของชนชั้นกลางกับชนชั้นสูง หรือระหว่างชนชั้นกลางด้วยกันเองเท่านั้น หากแต่ชนชั้นล่าง หรือ “คนชายขอบ” กลุ่มอื่นๆ ก็ลุกขึ้นมาอ้างสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียมในการต่อสู้อย่างกว้างขวางและยาวนาน เช่นทาส กรรมกร คนจน สตรี คนหลากหลายทางเพศ คนไม่มีศาสนา เป็นต้น 

คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า สังคมไทยในศตวรรษที่ 21 จะเกิดปรากฏการณ์ที่ชนชั้นกลางระดับกลาง (บางส่วน) ระดับสูง (บางส่วน) และคนชั้นกลางระดับล่างส่วนใหญ่แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการยึดหลักสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจต่อรองที่เท่าเทียมของ “ทุกคน” ในฐานะคนเท่ากัน ในการต่อสู้เพื่อชัยชนะในการเลือกตั้ง ในต้นปี 2562 ในระดับที่มากพอจะเป็น “จุดเริ่มต้น” ของการเปลี่ยนแปลงสู่การหยั่งรากของเสรีประชาธิปไตยได้แค่ไหน

ทว่าเมื่อพูดอย่างถึงที่สุดแล้ว เราไม่ควรจะหลงผิดไปว่า ต้องเป็นชนชั้นกลางเท่านั้นที่จะเป็นชนชั้นที่สามารถมี “สำนึก” ทางการเมือง หรือสำนึกในการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ และความยุติธรรมได้ แท้จริงแล้วศพที่นอนเรียงรายปราศจากอาวุธข้างกายจำนวนไม่น้อยในเหตุการณ์นองเลือดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยทุกครั้งที่ผ่านมา อาจเป็นชนชั้นล่าง หรือคนจนนิรนามที่ไร้เสียงมาตลอดในรัฐวิปลาสนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท