Skip to main content
sharethis

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ชี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้นหักล้างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา แนะในช่วง 6 เดือนข้างหน้ายังไม่ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก ควรรอดูความชัดเจนของทิศทางเศรษฐกิจและผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองก่อน 


ที่มาภาพประกอบ: Karn Bulsuk (CC BY-NC 2.0)

23 ธ.ค. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ประเมินว่าจะเกิดภาวะเงินตึงตัวและสภาพคล่องลดลงในระบบการเงินโลก ภาวะเงินตึงตัวจะส่งผลกระทบต่อหุ้นกู้ไทยกลุ่ม non-investment grade ตลาดหุ้นกู้ไทยที่มีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอาจจะได้รับผลกระทบจากภาวะเงินตึงตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในต่างประเทศ หุ้นกู้ระยะยาวส่วนใหญ่ของไทยเป็นกลุ่ม Investment grade แต่กลุ่ม non-investment grade หรือ กลุ่มหุ้นกู้ด้อยคุณภาพต่ำเติบโตในระดับที่สูงกว่า ภาวะดังกล่าวสะท้อนถึงความเปราะบางหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ผู้ประกอบการไทยที่ออกหุ้นกู้ส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการต่ออายุหุ้นกู้เพิ่มขึ้น โครงสร้างตลาดตราสารหนี้ไทยที่หุ้นกู้ส่วนใหญ่จ่ายอัตราดอกเบี้ยในรูปแบบคงที่ (Fixed Rate) จึงทำให้ระยะสั้นนี้ อัตราดอกเบี้ยอาจยังไม่ปรับสูงขึ้นทันที 

ส่วนหุ้นกู้หรือตราสารหนี้ที่จ่ายอัตราดอกเบี้ยในรูปแบบดอกเบี้ยลอยตัวจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ภาคธุรกิจหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการต่ออายุหุ้นกู้ (Roll-over risk) ส่วนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ยังมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ต่ำ มีความเข้มแข็งทางการเงินสูง รายได้ของบริษัทยังครอบคลุมภาระรายจ่ายด้านดอกเบี้ย ส่วนบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์โดยเฉพาะกิจการขนาดเล็กและขนาดกลางนั้นมีความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น รวมทั้งบริษัทที่มีอัตราส่วน Interest Coverage Ratio (ICR) ต่ำกว่า 1.5 จะมีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น หุ้นกู้เสี่ยงส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในธุรกิจพลังงาน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่สัดส่วนการออกหุ้นกู้เสี่ยงของสองอุตสาหกรรมยังไม่สูงนัก ส่วนบริษัทที่ออกหุ้นกู้ในกลุ่มธุรกิจเหล็ก ธุรกิจกลุ่มกาเกษตร ธุรกิจอุปกรณ์และเครื่องจักร ธุรกิจอิเลคทรอนิกส์ ใน 1-2 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นบริษัที่มีความเสี่ยงสูง การผิดนัดชำระหนี้ของบางธุรกิจอาจส่งผลให้การระดมทุนหรือการต่ออายุหุ้นกู้ (roll-over) ของธุรกิจอุตสาหกรรมอื่นๆทำได้ยากขึ้น ทำให้ Risk premium และ ต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น 
  
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ในฐานะอดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีความจำเป็นต้องรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากการเติบโตยังต่ำกว่าศักยภาพและอัตราเงินเฟ้อต่ำ และในช่วง 6 เดือนข้างหน้ายังไม่ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก ควรรอดูความชัดเจนของทิศทางเศรษฐกิจและผลกระทบจากความเสี่ยงของปัจจัยทางการเมืองก่อน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้นหักล้างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา การแจกเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการช้อปช่วยชาติ จะไม่มีผลต่อการการกระตุ้นภาคการบริโภคมากนัก รายได้ครัวเรือนเกษตรยังมีแนวโน้มลดลงจากราคาตกต่ำขณะที่หนี้สินครัวเรือนยังคงทรงตัวในระดับสูง ไม่ควรนำแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐหรือธนาคารกลางในต่างประเทศมาเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณานโยบายการเงินของ กนง. เนื่องจากไทยมีสถานะทุนสำรองระหว่างประเทศแข็งแกร่งสามารถรองรับความผันผวนจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้น ความเสี่ยงสำคัญจะอยู่ที่ปัจจัยทางการเมืองมากกว่า 

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้คุณภาพสินเชื่อเพื่อการบริโภคและสินเชื่อ SMEs แย่ลง เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นและกระทบกับภาคส่งออกซึ่งตัวเลขล่าสุดเดือน พ.ย. 2561 ได้กลับมาติดลบอีก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นจะสามารถอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ต่อไปหากเงินบาทไม่แข็งค่ามากเกินไป การปรับอัตราดอกเบี้ยยังเพิ่มภาระทางการคลังอีกด้วยจากช่วงที่ผ่านมาที่รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำนวนมาก       
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net