Skip to main content
sharethis

สนช. ผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ให้กัญชา-กระท่อมใช้ทางการแพทย์ ปลดล็อกหน่วยงานรัฐ-แพทย์-คนไข้-เกษตรกร-ผู้ได้รับอนุญาต กำหนดพื้นที่ทดลองปลูก ด้าน ‘ไบโอไทย’ ชี้ปลดล็อคกัญชาแต่ยังไม่ยกเลิกคำขอสิทธิบัตร ผู้ได้ประโยชน์คือบริษัทยาข้ามชาติ

สนช. ผ่านวาระ 3 พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ให้กัญชา-กระท่อมใช้ทางการแพทย์

 

25 ธ.ค. 2561 วันนี้ ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ วาระ 2-3 จำนวน 28 มาตรา โดยสาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว คือ การพิจารณาปลดล็อกกัญชาและกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติดประเภท 5 ให้สามารถนำไปศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสามารถนำไปใช้รักษาโรคภายใต้การควบคุมและดูแลทางการแพทย์ได้ โดยการจะผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง หรือจำหน่ายกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้นั้นต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎกระทรวงกำหนด และความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ทั้งนี้ หากมีปริมาณการครองครองเกิน 10 กิโลกรัม ให้สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อจำหน่าย

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า หลังจากที่สมาชิก สนช.พิจารณาสาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเสร็จครบทุกมาตราแล้ว ที่ประชุม สนช.ลงมติให้ควาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษด้วยคะแนน 166 ต่อ 0 งดออกเสียง 13 ให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป โดยประธานกรรมาธิการวิสามัญได้กล่าวขอบคุณสมาชิก สนช.ที่พิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่จาก สนช.และ ครม.มอบแก่ประชาชน เพื่อให้สามารถนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ หลังจากนี้จะเร่งพิจารณาออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมว่า เนื้อหาที่ สนช. เห็นชอบนั้น พบการปรับแก้ไขในหลายประเด็น อาทิ  คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ  จากเดิมในพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 กำหนดให้มี 17 คน ได้เพิ่มเติมอีก 8 คน  โดยเพิ่ม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, อธิบดีกรมการแทพย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเพิ่มอำนาจของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด  โดยเฉพาะให้ความเห็นชอบต่อผู้อนุญาตในการอนุญาตให้ผลิต นำเข้า หรือส่งออก รวมถึงเห็นชอบประกาศหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องที่หน่วยงานราชการเสนอ

ขณะที่รายละเอียดของการปลดล็อคยาเสพติดประเภทกัญชา และกระท่อม ตามร่างกฎหมายนั้น  ระบุว่า กรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ทางราชการ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนา รวมถึงเกษตรกรรม พาณิชยกรรม วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรม , ให้พกพาเพื่อใช้รักษาโรคในปริมาณที่จำเป็น โดยต้องมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม, ทันตกรรม, แพทย์แผนไทย, การแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือ หมอพื้นบ้าน โดยเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดและผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ

สำหรับปริมาณที่ควบคุมในการครองครอง ยังกำหนดว่า หากพบการครองครองปริมาณเกิน 10 กิโลกรัม  ให้สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อจำหน่าย ขณะที่การครอบครองเพื่อใช้เป็นยารักษาโรค , ใช้เพื่อปฐมพยาบาล หรือเหตุฉุกเฉิน ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยหากพบผู้ใดที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกและปรับ

ขณะที่การขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครอง กัญชาและกระท่อม ให้สิทธิ เฉพาะ 1.หน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือการเรียนการสอนวิชาด้านการแพทย์ , เกษตรศาสตร์, 2.หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ป้องกัน ปราบปรามและแก้ปัญหายาเสพติด หรือสภากาชาดไทย, 3.ผู้ประกอบวิชาชีพเครือข่ายแพทย์ ทั้งไทย และหมดพื้นบ้านตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด, 4.สถาบันอุดมศึกษาที่ศึกษาและวิจัย และเรียนด้านการแพทย์, 5.ผู้ประกอบอาชีพเกษตรที่รวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมาย, 6.ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ, 7.ผู้ป่วยที่เดินทางระหว่างประเทศที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาเสพติดติดตัว, 8.ผู้ขออนุญาตที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบ ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับอนุญาตสามารถส่งต่อให้กับทายาทหรือผู้ได้รับความยินยอมได้ กรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตเสียชีวิตก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ

นอกจากนั้นยังคลายล็อคให้ ทดลองเพาะปลูก, ผลิตและทดสอบ,เสพหรือครอบครองในปริมาณที่กำหนด ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเห็นสมควร แต่ต้องเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด หรือ ป้องกัน ปราบปราม และแก้ปัญหายาเสพติดให้โทษ

ขณะที่บทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายต้องถูกจำคุก และ ถูกลงโทษปรับด้วย อาทิ การครอบครองเพื่อจำหน่าย ไม่ถึง 10 กิโลกรับ จำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท, ครอบครองเกิน 10 กิโลกรัม จำคุก  1- 15 ปี ปรับ 1แสน-1ล้านบาท เป็นต้น ทั้งนี้ในร่างกฎหมายกำหนดให้เมื่อร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว 3 ปี ให้คณะกรมการควบคุมยาเสพติด ทบทวนการให้ใบอนุญาตทุกๆ 6 เดือน.

 

‘ไบโอไทย’ ชี้ปลดล็อคกัญชาแต่ยังไม่ยกเลิกคำขอสิทธิบัตร ผู้ได้ประโยชน์คือ บ.ยาข้ามชาติ

 

ด้านไบโอไทย ก่อนหน้านี้ได้ออกมาชี้แจงถึงปัญหาว่า การแก้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษเพื่อปลดล็อคกัญชาให้สามารถนำมาใช้รักษาโรคได้ จะไม่เกิดประโยชน์ด้วยเหตุผล 2 ประการ ประการแรก หากผู้ป่วยและหมอยาพื้นบ้านไม่สามารถเข้าถึงกัญชาและปรุงยาได้เองตามที่เคยเป็นมาในอดีต (ก่อนมีกฎหมายห้าม) และประการที่สอง หากไม่มีการเพิกถอนสิทธิบัตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไบโอไทยและเครือข่ายทางวิชาการพบว่ามีอีกอย่างน้อย 7 คำขอที่ยังไม่ถูกยกคำขอ ทั้งๆ ที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามีอำนาจยกคำขอดังกล่าวภายใต้มาตรา 30 ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร

ต่อมา วันนี้ ไบโอไทยได้ออกมาชี้แจงอีกครั้งเกี่ยวกับปัญหาเรื่องสิทธิบัตรกัญชา โดยกล่าวว่า แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะเคยแถลงว่าได้ใช้มาตรา 30 ให้อธิบดียกเลิกคำขอสิทธิบัตร 3 คำขอ แต่จากการตรวจสอบของไบโอไทยพบว่าสถานะคำขอสิทธิบัตรทั้ง 3 ยังไม่ได้ถูกยกเลิก ดังนี้

1) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงว่า "คำขอจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาที่เป็นที่สนใจของสังคมมีข้อยุติแล้ว" โดยได้ใช้มาตรา 30 ให้อธิบดียกเลิกคำขอที่ 1101003758 (การใช้ไฟโตแคนนาบินอยด์ หรือสารผสมของสารดังกล่าวในการรักษาโรคลมบ้าหมู) และต่อมาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ได้แถลงอีกครั้งว่า คำขอสิทธิบัตรกัญชาเลขที่ 0501005232 (วิธีการสำหรับการทำให้ทรานส์-(-)- เดลตา9 -เตตราไฮโดรแคนนาบินอล และทรานส์-(+)- เดลตา9 -เตตราไฮโดรแคนนาบินอล บริสุทธิ์) และคำขอเลขที่ 0601002456 (ส่วนผสมเชิงเภสัชกรรมที่ออกฤทธิ์ของแคนนาบินอยด์สำหรับรูปแบบขนาดยาที่ถูกปรับปรุง) เจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้แจ้งปฏิเสธการจดสิทธิบัตรแล้ว

2) แต่จากการตรวจสอบของไบโอไทยล่าสุดเช้าวันนี้ (25/12/2561) ซึ่ง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ..... จะเข้าพิจารณาเพื่อลงมติในวาระ 3 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กลับพบว่า สถานะของคำขอสิทธิบัตรทั้ง 3 ดังกล่าวยังอยู่ในชั้น "ประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตร" และ "ระหว่างการจัดทำเอกสารตอบรับและจัดส่งเอกสาร" โดยมิได้มีวี่แววว่า จะมีการยกเลิกคำขอและมิได้ชี้ให้เห็นว่า "สิทธิบัตรจากกัญชามีข้อยุติแล้ว" ดังคำแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แต่ประการใด

3) จากการสอบถามเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับแจ้งว่า คำขอ 1101003758 นั้น "กรมก็ยังไม่ได้ดำเนินการเพิกถอน" โดยข่าวสารที่ออกมาก่อนหน้านั้น "คงเป็นความเข้าใจผิดของสื่อมวลชน" เพราะกรมฯบอกว่าจะดำเนินการ "พิจารณาเพิกถอน" เท่านั้น ส่วนสถานะของสิทธิบัตรต่างๆในเว็บไซท์ทั้งหมด "อาจมีความคลาดเคลื่อนของข้อมูล"

ขณะนี้ประชาชนไม่สามารถทราบความคืบหน้าใดๆของการยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาเพราะไม่อาจเชื่อถือหน้าเว็บไซท์อย่างเป็นทางการของกรมฯได้เลย อีกทั้งผู้บริหารของกรมทรัพย์สินทางปัญญาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เองก็ไม่ได้แจ้งความคืบหน้าใดๆเลย นับตั้งแต่ได้แถลงเรื่องนี้เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา

4) จากคู่มือ "การตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตรฉบับปรับปรุงใหม่ ปี 2555" ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า เมื่อแจ้งยกเลิกคำขอแล้ว ผู้ขอรับสิทธิบัตรมีเวลา 90 วันในการชี้แจง และอาจขอเลื่อนคำชี้แจงไปมากกว่านั้นก็ได้ ดังนั้นสิ่งที่อ้างว่าการยกเลิกสิทธิบัตรที่บอกว่า "มีข้อยุติแล้ว" จึงไม่เป็นความจริงแต่ประการใด และเมื่อสภาผ่าน พ.ร.บ.ยาเสพติดฯเพื่อคลายล็อคกัญชาให้ใช้ทางการแพทย์ได้ ก็ไม่มีหลักประกันใดๆว่าสิทธิบัตรของต่างชาติจะถูกยกเลิก

จากแนวปฏิบัติของกรมทรัพย์สินทางปัญญาและท่าทีของผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง คาดว่าเรื่องการยกเลิกสิทธิบัตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของต่างชาติ ทั้ง 3 สิทธิบัตรที่รัฐมนตรีแถลงเองว่าจะปฏิเสธคำขอ และสิทธิบัตรที่เหลืออีกอย่างน้อย 7 สิทธิบัตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายคงไม่สามารถดำเนินการได้โดยรัฐบาลนี้ค่อนข้างแน่

5. และหากประชาชน สื่อมวลชน และผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ติดตามเรื่องสิทธิบัตรกัญชาอย่างใกล้ชิด "คำขอสิทธิบัตร" ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดหรือบางส่วน จะกลายเป็น "สิทธิบัตร" ในที่สุด

กฎหมายคลายล็อคกัญชา ซึ่งเป็นความหวังของผู้ป่วย ผู้ประกอบการในประเทศ และเกษตรกรที่หวังจะปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จะกลายเป็น "ปาหี่" ระดับชาติ โดยมีผู้ได้ประโยชน์เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่และบริษัทยาข้ามชาติที่ครอบครองสิทธิบัตรกัญชาในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net