Skip to main content
sharethis

แอบมองเธออยู่นะจ๊ะ สนช. พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ข่าวกรองแห่งชาติวันนี้ ให้ตั้งศูนย์ติดตาม สอดแนม เฝ้าระวังตลอดเวลาถาวร ด้านกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัลผุดประกวดจ้างทำโครงการติดตาม วิเคราะห์ใบหน้าบนโลกโซเชียลทั้งสาธารณะและส่วนตัว ตามได้ทั้งคอมเมนท์ แชร์โพสท์เฟซบุ๊ก งบ 40 ล้านบาท

ที่มาภาพ: Pixabay

25 ธ.ค. 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ข่าวกรองแห่งชาติ ด้วยเหตุผลว่า เนื่องจาก พ.ร.บ. ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2528 ได้ใช้บังคับมานานแล้ว เนื้อหาและหลักเกณฑ์บางส่วนไม่สอดคล้องกับภัยคุกคามความมั่นคงและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงและซับซ้อนขึ้น โดยให้ยกเลิก พ.ร.บ. เก่าในปี 2528 เสีย

ในส่วนมาตราที่ 12-13 ให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติจัดให้มี ศูนย์ประสานข่าวกรองแห่งชาติ (ศป.ข.) เป็นหน่วยงานภายใน ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการประสานกิจการข่าวกรอง ต่อต้านข่าวกรอง และรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนร่วมกับหน่วยข่าวกรองอื่นภายในประเทศ

ศป.ข. มีอำนาจและหน้าที่

  • ติดตาม ประเมิน วิเคราะห์สถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศตลอด 24 ช่วโมง รายงานข่าวประจำวัน ข่าวเร่งด่วน แจ้งเตือนภัยล่วงหน้าที่เกี่ยวกับความมั่นคงต่อนายกรัฐมนตรี สภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • เฝ้าระวังภัยคุกคามความมั่นคงปลอดภัย ทั้งในภาวะปกติและช่วงที่มีสถานการณ์ ช่วงเทศกาลที่สำคัญ พระราชพิธี และการประชุมหรืองานพิธีการที่สำคัญของรัฐเพื่อสนับสนุนการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์ในกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินรุนแรงเกิดขึ้น และปฏิบัติต่อเนื่องจนสิ้นสุดสถานการณ์นั้น
  • ให้ความรู้และประสานความร่วมมือด้านการข่าวกับภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
  • รายงานสถานการณ์และแผลการปฏิบัติงานโดยรวม ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานของ ศป.ข. ต่อนายกฯ หรือรัฐมนตรีที่นายกฯ มอบหมาย และผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง รวมถึงปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามนายกฯ รัฐมนตรีที่นายกฯ มอบหมาย สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมอบหมาย

ในส่วนคำนิยามมีคำที่สำคัญดังนี้

“การข่าวกรอง” หมายความว่า การดำเนินการเพื่อให้ทราบถึงความมุ่งหมาย กำลังความสามารถ และการเคลื่อนไหว รวมทั้งวิถีทางของบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์การใดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ที่อาจกระทำการอันเป็นพฤติการณ์เป็นภัยคุกคาม ทั้งนี้ เพื่อรักษาความมั่นคงหรือประโยชน์แห่งรัฐและให้รัฐบาลนำมาประกอบการพิจารณาในการกำหนดนโยบายแห่งชาติ

“การข่าวกรองทางการสื่อสาร” หมายความว่า การใช้เทคนิคและการดำเนินกรรมวิธีทางเทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสาร เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในการข่าวกรองและการต่อต้านข่าวกรอง

“การต่อต้านข่าวกรอง” หมายความว่า การดำเนินการเพื่อต่อต้านการกระทำของต่างชาติ บุคคล กลุ่มบุคคลหรือองค์การใด ที่มุ่งหมายจะให้ได้ไปซึ่งความลับของชาติ หรือทำลายความมั่นคงแห่งชาติโดยการจารกรรม การบ่อนทำลาย การก่อวินาศกรรม และการก่อการร้ายหรือการอื่นใดอันเป็นภัยคุกคามเพื่อรักษาความมั่นคงหรือประโยชน์แห่งรัฐ

ในมาตราเก้า ให้มีผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ มีหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งราชการของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ รับผิดชอบขึ้นตรงต่อนายกฯ ให้มีรองผู้อำนวยการ และผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โดยทั้งสามเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ แต่ไม่มีหลักเกณฑ์การได้มาซึ่งบุคลากรดังกล่าวในร่างฯ

กระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัลผุดจ้างทำระบบติดตาม วิเคราะห์ใบหน้าบนโลกโซเชียลทั้งสาธารณะและส่วนตัว งบ 40 ล้านบาท

เมื่อวานนี้ (24 ธ.ค.) หน้าข่าวการจัดซื้อจัดจ้างของเว็บไซต์กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) มีประกาศประกวดราคาจ้างโครงการระบบตรวจสอบเปรียบเทียบใบหน้าบุคคลบนสื่อสังคมออนไลน์

ไกลก้อง ไวทยการ นายทะเบียนพรรคอนาคตใหม่ได้โพสท์ภาพที่เขาระบุว่าเป็นบางส่วนของ TOR โดยหลักการและเหตุผลระบุว่า จำเป็นต้องมีเครื่องมือเพื่อตรวจสอบกลุ่มคนที่ไม่หวังดีบนอินเทอร์เน็ต ช่วยตรวจสอบใบหน้าบุคคลในสื่อสังคมออนไลน์และระบุตัวตนได้จากการวิเคราะห์ข้อมูล และร่องรอยที่ปรากฎเชื่อมโยงกับรูปภาพใบหน้านั้นๆ โดยหน่วยงานที่จะใช้ระบบตรวจสอบนี้คือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)

ระบบดังกล่าวมีคุณสมบัติติดตาม ตรวจสอบ รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลใบหน้าบุคคลที่เกี่ยวข้องบนสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรมและยูทูป ครอบคลุมข้อมูลประเภทสาธารณะ ส่วนตัวและกลุ่มต่างๆ ได้เป็นอย่างน้อย และจะต้องทำงานในลักษณะเป็นอัตโนมัติได้เป็นอย่างน้อย

ระบบจะต้องสามารถกำหนด สร้างบัญชีผู้ใช้งานเสมือน (Avatar) ในสื่อสังคมออนไลน์ประเภทต่างๆ ข้างต้นตามระบุเพื่อใช้ติดตาม ตรวจสอบ รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลเป้าหมาย ในส่วนของเฟซบุ๊กนั้น จะต้องสามารถติดตามข้อมูลพื้นฐานอย่างไอดี ชื่อบัญชีผู้ใช้ ชื่อเว็บไซต์ รูปประจำตัว รูปหน้าปก ประเภทบัญชีผู้ใช้ สถานะของบัญชีผู้ใช้ วันที่เริ่มใช้งาน รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง หมายเลขโทรศัพท์ (ถ้ามี) อีเมล (ถ้ามี) จำนวนผู้ติดตามทั้งหมด แบ่งตามประเทศผู้ใช้งาน ค่าปฏิสัมพันธ์ของเป้าหมาย (Engagement) ข้อมูลเกี่ยวกับการโพสท์ การแสดงความคิดเห็นต่อโพสท์ทุกประเภทไปจนถึงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ส่งต่อโพสท์

ระบบยังต้องสามารถรองรับฐานข้อมูลรูปภาพพร้อมรายละเอียดที่เกี่ยวข้องได้ไม่น้อยกว่า 60 ล้านรายการเป็นอย่างน้อย และมีความสามารถในการจดจำ ระบุตัวตนได้แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงภาพใบหน้าทั้งทางสีหน้า มุมมอง การเปลี่ยนทรงผม การปิดบังหน้าตา และการเปลี่ยนแปลงตามอายุมากสุด 20 ปี

The MATTER รายงานว่า โครงการระบบตรวจสอบนี้ได้รับจัดสรรงบประมาณทั้งหด 39,897,200 บาท ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวประชาไทได้เข้าไปดูเอกสารที่เว็บไซต์กระทรวงดีอีเมื่อเวลา 17.30 น. ของวันนี้ เพื่อดูเอกสาร TOR เอกสารโครงการ และเอกสารประกวดราคา แต่เมื่อเปิดลิงค์เข้าไปแล้วพบว่าหน้าดังกล่าวถูกลบไปแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net