Skip to main content
sharethis

ครม. ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เตรียมส่งให้ สนช.พิจารณา ให้กลุ่มคู่รักหลากหลายทางเพศจดทะเบียนคู่ชีวิต สามารถทำธุรกรรมทางการเงินร่วมกัน รวมถึง สามารถให้สิทธิยินยอมทางการแพทย์ และการดำเนินคดีอาญาแทนคู่ชีวิตได้

25 ธ.ค.2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า วันนี้ (25 ธ.ค.) ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ตามที่กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเสนอ  หลังจากที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการพิจารณาร่วมกับภาคส่วนต่างๆ รวมทั้ง ทำการศึกษาค้นคว้า และเปรียบเทียบกฎหมายของประเทศต่างๆ กับบริบทสภาพสังคมของประเทศไทย ในการพิจารณาจัดทำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และจะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป

“เงื่อนไขในการจดทะเบียนคู่ชีวิต  สามารถทำได้ในกรณีที่บุคคลทั้ง 2 ฝ่ายเป็นเพศเดียวกัน สมรสกัน  ไม่มีความสัมพันธ์เป็นญาติ สืบสายโลหิตระหว่างกัน และการจดทะเบียนคู่ชีวิต ให้ทำที่สำนักทะเบียน ตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด” ณัฐพร กล่าว

ณัฐพร กล่าวว่า  สำหรับสิทธิและหน้าที่ของคู่ชีวิต กำหนดให้มีสิทธิและหน้าที่ช่วยเหลือ อุปการละ เลี้ยงดูกัน รวมทั้ง ให้มีสิทธิในฐานะคู่ชีวิต อาทิ สิทธิในการยินยอมรักษาพยาบาล  อำนาจจัดการศพ  การดำเนินคดีอาญาแทนคู่ชีวิต  การเรียกร้องสินไหมทดแทนจากการขาดไร้อุปการะ  การจัดการทรัพย์สิน  การรับมรดก 

“แต่ไม่รวมถึงการรับบุตรบุญธรรม  การเปลี่ยนคำนำหน้านาม  การเปลี่ยนชื่อสกุล รวมทั้ง สวัสดิการของรัฐ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กับกฎหมายหลายฉบับ รวมถึง งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งต้องใช้เวลาในการเตรียมการ ตลอดจนปรับแก้กฎหมาย และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง” ณัฐพร กล่าว 

ณัฐพร กล่าวว่า  ส่วนการยุติความสัมพันธ์ในฐานะคู่ชีวิต  สามารถสิ้นสุดลงได้ด้วยความตาย   การแต่งงานหรือจดทะเบียนคู่ชีวิตกับบุคคลอื่น  และกระบวนการฟ้องร้องทางศาล  และว่า  กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ  ดำเนินการลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มต้นจากการรับรองสถานะ และจดทะเบียนคู่ชีวิต เพื่อเป็นการรับรองสิทธิเบื้องต้น ก่อนจะพัฒนาไปสู่การสมรสที่เท่าเทียมกันต่อไป

เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.นี้ ประกอบด้วย 6 หมวด 44 มาตรา ดังนี้

1. อารัมภบท (มาตรา 1 – 4 ) กำหนดเงื่อนเวลาในการบังคับใช้กฎหมาย คำนิยามสำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะ คำว่า “คู่ชีวิต” รวมทั้งกำหนดรัฐมนตรีผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้

2. หมวด 1 การจดทะเบียนคู่ชีวิต (มาตรา 5 – 20) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ในการจดทะเบียนคู่ชีวิต ตลอดจนความเป็นโมฆะของการจดทะเบียนคู่ชีวิต

3. หมวด 2 ความสัมพันธ์ระหว่างคู่ชีวิต (มาตรา 21 – 24) กำหนดสิทธิและหน้าที่ในความสัมพันธ์ระหว่างคู่ชีวิต

4. หมวด 3 ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต (มาตรา 25) กำหนดสิทธิและหน้าที่ในการจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต

5. หมวด 4 การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต (มาตรา 26 – 41) กำหนดเหตุที่ทำให้การเป็นคู่ชีวิตสิ้นสุดลง หลักเกณฑ์การสมัครใจเลิกกันจากการเป็นคู่ชีวิต การขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนคู่ชีวิต และเหตุแห่งการฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิต ตลอดจนผลสืบเนื่องจากการสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต

6. หมวด 5 มรดก (มาตรา 42- 43) กำหนดสิทธิและหน้าที่ในการรับมรดกของคู่ชีวิต

7. หมวด 6 อายุความ (มาตรา 44) กำหนดอายุความสิทธิเรียกร้องระหว่างคู่ชีวิตภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net