Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ร้องทางการไทยต้องทำให้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ….. สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ และหลักสิทธิมนุษยชน ชี้ยังขาดบทบัญญัติที่จำเป็นในการต่อต้านการทรมานและป้องกันและปราบปรามการบังคับให้สาบสูญ ที่มีความจำเป็น

26 ธ.ค.2561 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์เรียกร้องทางการไทยต้องทำให้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ….. สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ และหลักสิทธิมนุษยชน โดยระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามฯ ยังขาดบทบัญญัติที่จำเป็นในการต่อต้านการทรมานและป้องกันและปราบปรามการบังคับให้สาบสูญ ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดต้องบัญญัติไว้ในร่าง พ.ร.บ.

โดยมีรายละเอียดของแถลงการณ์ดังนี้ : 

แถลงการณ์

ต้องทำให้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ….. สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ และหลักสิทธิมนุษยชน

ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรม ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ……..  ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อตราเป็นกฎหมายอนุวัตการ ที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (อนุสัญญาคุ้มครองบุคคลจากการสาบสูญฯ) ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามเพื่อแสดงเจตจำนงที่จะเข้าเป็นภาคีไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 โดยทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้พิจารณารับหลักการร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯจำนวน 15 คน เพื่อพิจารณา เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2561 แล้วนั้น

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้ติดตามและผลักดันให้ทางการไทย ออกกฎหมายอนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวตลอดมา ขอเสนอข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นดังต่อไปนี้

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอชื่นชมกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทุกชุด ที่ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา ได้พยายามผลักดันให้รัฐบาลชุดต่างๆของประเทศไทยออกกฎหมายอนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาดังกล่าว โดยได้มีกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ถูกทรมานและครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย และองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ โดยพยายามที่จะให้มีการจัดทำร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาสาระและกระบวนการที่สอดคล้องกับอนุสัญญาทั้งสองฉบับ แม้จะต้องประสบกับปัญหาอุปสรรคและการขัดขวางหน่วงเหนี่ยว จากคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะเจ้าหน้าทีรัฐบางคนในบางหน่วยงาน

ปัญหา อุปสรรค การขัดขวาง หน่วงเหนี่ยวดังกล่าวข้างต้น ทำให้การนำเอาพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาทั้งสองฉบับมาปฏิบัติ ทั้งในการป้องกันการทรมาน การป้องกันการบังคับบุคคลให้สาบสูญ การแก้ไขเยียวยาผู้เสียหาย และการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ที่สมคบกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทรมานและการบังคับให้สาบสูญต้องล่าช้าออกไปนานนับสิบปี ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ได้มีผู้ถูกทรมานหรือถูกบังคับให้สาบสูญเป็นจำนวนมาก ทั้งในจังหวัดชายแดนใต้ และในที่อื่นๆ ในขอบเขตทั่วประเทศ รวมทั้งการส่งผู้ลี้ภัยให้แก่ประเทศอื่น ให้ต้องไปเผชิญกับภัยทรมานหรือการบังคับให้สาบสูญ โดยที่ผู้ได้รับความเสียหายในกรณีต่างๆเหล่านั้น ยังไม่ได้รับการเยียวยาเท่าที่ควร และเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิด ยังไม่ได้ถูกลงโทษ

สาระสำคัญอันเป็นหลักการของร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามฯ ที่จะเป็นเครื่องมือให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลจากการสาบสูญฯ ต้องคงไว้ โดยไม่ตัดทอนออกไปจากร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว อาทิเช่น

(1) บทบัญญัติตามมาตรา 11 ที่เกี่ยวกับหลักการที่ห้ามการทรมานหรือการบังคับให้สาบสูญโดยเด็ดขาด เนื่องจากสิทธิเสรีภาพที่จะไม่ถูกทรมานหรือบังคับให้สาบสูญเป็นสิทธิอันสัมบูรณ์ (absolute rights) ที่รัฐหรือบุคคลใดๆ ไม่อาจละเมิดได้ ไม่ว่าจะในกรณี สถานการณ์ หรือเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น แม้ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือในภาวะสงคราม หรืออาจมีสงคราม

(2) บทบัญญัติตามมาตรา 12 ที่เกี่ยวกับหลักการห้ามส่งกลับหรือผลักดันบุคคลออกนอกประเทศ หากผู้นั้นอาจต้องเผชิญกับการทรมาน ถูกบังคับให้สาบสูญ หรือเผชิญกับภัยประหัตประหาร (non-refoulement) ไม่ว่าจะเป็นผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ผู้ต้องหา หรือบุคคลใดๆก็ตาม ซึ่งที่ผ่านมาทางการไทยได้ผลักดันบุคคลเหล่านั้นออกนอกประเทศ หรือส่งให้แก่ทางการประเทศอื่น เช่นกรณีผู้ลี้ภัยชาวอุยเกอร์ หรือผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวกัมพูชา ที่ทำให้บุคคลดังกล่าวเสี่ยงต่อการถูกทรมานและการถูกบังคับให้สูญหาย เป็นต้น

ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามฯ ยังขาดบทบัญญัติที่จำเป็นในการต่อต้านการทรมานและป้องกันและปราบปรามการบังคับให้สาบสูญ ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดต้องบัญญัติไว้ในร่าง พ.ร.บ. อาทิเช่น

(1) การห้ามศาลมิให้รับฟังพยานหลักฐานหรือถ้อยคำที่ได้จากการทรมาน ซึ่งในปัจจุบันมีบางคดี โดยเฉพาะคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ ที่ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้จากผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับความไม่สงบ ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้มา โดยการทำ “กรรมวิธี” ในชั้นการควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ เช่นกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  ทั้งในฐานะพยานหรือผู้ต้องหา

(2) สิทธิของญาติในการเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวและสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวที่จะพบและปรึกษากับทนายความ

(3) สิทธิของญาติ กลุ่มองค์กร สมาคมด้านสิทธิมนุษยชนหรือที่มีวัตถุประสงค์ในการต่อต้านการทรมานหรือการบังคับให้สาบสูญ ในการมีส่วนร่วมในการติดตามคดี การแสวงหาความจริงและความยุติธรรมให้แก่ผู้ถูกทรมานหรือถูกบังคับให้สาบสูญ ตลอดจนการมีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอเรียกร้องให้ทางการไทยดำเนินการเพื่อประกันว่า เนื้อหาสาระของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ จะนำมากำหนดไว้ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …….. โดยครบถ้วน เพื่อให้ประเทศไทยในฐานะภาคีของอนุสัญญาทั้งสองฉบับ สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาทั้งสองฉบับอย่างสมบูรณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net