Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศส เป็นขบวนการที่ดูเหมือนระเบิดขึ้นอย่างกระทันหันจนสามารถท้าทายการปกครองของประธานาธิบดีมาครง

มีนักวิเคราะห์บางคน รวมถึงอดีตผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งจากยุค 1968 ที่มองว่าขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองเป็นขบวนการของชาวชนบทที่มี่นำโดยพรรคฟาสซิสม์ “รวมพลังชาติ” ของ เลอ แปน

แต่พวกที่มองแบบนี้เป็นคนที่มองอะไรแบบตื้นเขิน ไม่ติดดิน และไม่ทันกับสถานการณ์โลกจริง เพราะขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองซับซ้อนกว่านั้นมากและกลายเป็นขบวนการทางชนชั้นที่เอียงไปทางซ้าย

ในตะวันตกพอมาครงชนะการเลือกตั้งในปี2017 พวกเสรีนิยมทั้งหลายพากันตื่นเต้นและเชียร์เขาสุดขีด หลายคนมองว่าเขาคือความหวังใหม่และจะปฏิรูปฝรั่งเศสและยุโรปให้ทันสมัย


 

ในไทยตอนที่มาครงเข้ามาใหม่ๆ นสพใไทยรัฐ เขียนชมไว้ว่า “หลายคนเห็นหน้าประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนใหม่แล้ว กรี๊ดกร๊าดในความหล่อ ทั้งยังฉลาด รู้สึกหลงรักอย่างบอกไม่ถูก” ส่วน MThaiNews ก็มีบทความ “เปิดประวัติ ‘มาครง’ ผู้นำหล่อคนใหม่แห่งเมืองน้ำหอม”

ยิ่งกว่านั้น ความ “หน้าใหม่หน้าหล่อ” ของมาครงทำให้สำนักข่าวรอยเตอร์สเสนอว่าบางคนเปรียบเทียบเขากับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สื่อไทยชื่อ The Momentum ก็พูดทำนองนี้เหมือนกัน [ดู https://bit.ly/2G3SQIP และ https://bit.ly/2S3MSto ] แต่ที่สำคัญคือธนาธรเองไม่เคยเปรียบเทียบตัวเองกับมาครง

อย่างไรก็ตามตั้งแต่มาครงขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคม 2017 ก็มีการประท้วงอย่างต่อเนื่องที่ต่อต้านนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วของเขา โดยแนวร่วมสหภาพแรงงานเป็นแกนหลัก สาเหตุคือความพยายามของมาครงที่จะทำลายสิทธิแรงงานเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน อีกสาเหตุหนึ่งคือการพยายามนำรัฐวิสาหกิจในภาคขนส่งออกขายให้เอกชน

นอกจากนี้ในไม่นานมาครงได้ชื่อว่าเป็น “ประธานาธิบดีของคนรวย” เพราะลดภาษีให้คนรวยทันที และใช้เงินรัฐเพื่อการเสพสุขของตนเอง เช่นซื้อของใช้ราคาแพงสำหรับบ้านพักประธานาธิบดี และเขายังผลักดันนโยบายรัดเข็มขัดที่ทุกรัฐบาลในอียูทำกัน ซึ่งมีผลกระทบต่อคนจนมาก

ขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองเกิดขึ้นจากการประท้วงนโยบายของมาครงที่ประกาศขึ้นภาษีน้ำมัน โดยที่มาครงใช้ข้ออ้างเท็จว่าจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน ในความจริงมันมีผลกระทบกับคนจนและคนชั้นกลางมากกว่า ในช่วงแรกพรรคฟาสซิสม์ “รวมพลังชาติ” ของ เลอ แปน พยายามจะฉวยโอกาสด้วยการสนับสนุน แต่เมื่อขบวนการเริ่มชูประเด็นของชนชั้นกรรมาชีพ เช่นข้อเรียกร้องให้เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และให้เก็บภาษีเพิ่มจากคนรวย เลอ แปน ก็ถอยออกไป ในไม่ช้าขบวนการนักศึกษาก็มาร่วมโดยนำข้อเรียกร้องของตนเองเกี่ยวกับการเก็บค่าเล่าเรียนและการกีดกันนักศึกษาจำนวนมากออกจากระบบมหาวิทยาลัย สหภาพแรงงานก็มาสนับสนุนและประกาศนัดหยุดงานด้วย แต่แกนนำสหภาพระดับชาติยังสองจิตสองใจอยู่ท่ามกลางการต่อสู้ที่ดุเดือดมากขึ้น ประเด็นเรื่องสิทธิทางเพศและเรื่องสิทธิของผู้ลี้ภัยและคนผิวดำก็ถูกชูขึ้นอีกด้วย และเวลาเกิดการทำลายทรัพย์สิน มักจะเป็นร้านค้าและรถยนต์ของเศรษฐีคนรวยที่ถูกเผา แต่ความรุนแรงส่วนใหญ่มากจากตำรวจของรัฐที่พยายามปราบผู้ประท้วงที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง

กลุ่มล่าสุดที่เข้ามามีส่วนร่วมคือกลุ่มคนพิการที่ไม่พอใจกับกฏหมายของรัฐบาลที่ลดมาตรฐานในการสร้างบ้านใหม่ นอกจากนี้มีนักเคลื่อนไหวในสหภาพแรงงานที่ร่วมกันเขียนจดหมายเปิดผนึกลงในหนังสือพิมพ์เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำแรงงานออกมาประสานการนัดหยุดงาน

นักมาร์คซิสต์จะมองว่าขบวนการมวลชนที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นขบวนการที่เต็มไปด้วยการถกเถียงเสมอ และเป็นพื้นที่สำหรับการช่วงชิงการนำโดยพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งฝ่ายซ้ายปฏิวัติ ฝ่ายซ้ายปฏิรูป และฝ่ายขวารวมถึงฟาสซิสต์ด้วย ตอนนี้ดูเหมือนฝ่ายซ้ายสามารถชิงการนำได้ [ดูhttps://bit.ly/2cvlmCk]

นอกจากนี้นักมาร์คซิสต์จะมองว่าถ้าจะเข้าใจขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในยุคใดยุคหนึ่ง ต้องดูบริบททางประวัติศาสตร์ คือดูว่าการต่อสู้ก่อนหน้านั้นมีหน้าตาอย่างไร มันไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ การต่อต้านมาครงระเบิดขึ้นโดยไม่มีที่มาที่ไป


 มาครง กับ นางเทเรสซา เมย์ นายกฯ อังกฤษ

วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปี 2008 นำไปสู่นโยบายรัดเข็มขัดอย่างรุนแรงในทุกประเทศของยุโรปและหลายประเทศของลาตินอเมริกา มันทำให้คนจนเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก และความเดือดร้อนดังกล่าวนำไปสู่ความโกรธแค้นที่สะสมในหัวใจคนจำนวนมาก มันแค่รอวันที่จะแสดงตัวเท่านั้น มันอธิบายได้ว่าทำไปประชาชนอังกฤษจึงลงคะแนนเสียงเพื่อออกจากอียูซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตรุนแรงสำหรับชนชั้นปกครอง มันอธิบายได้ว่าทำไมประชาชนใน บราซิล เยอรมัน อิตาลี่ ฯลฯ เบื่อหน่ายกับพรรคกระแสหลัก และมันอธิบายความโกรธแค้นอย่างรุนแรงของ “ผู้ที่ถูกลืม” ในฝรั่งเศส


นักสหภาพแรงงานร่วมประท้วงกับเสื้อกั๊กเหลือง

ทุกวันนี้ชนชั้นปกครองในประเทศต่างๆ ของยุโรป เกรงกลัวว่าเสื้อกั๊กเหลืองจะลามจากฝรั่งเศสไปสู่ประเทศของตนเอง เหมือนกับคลื่นประท้วงอาหรับสปริงเมื่อไม่นานมานี้

ชัยชนะของขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศส ที่จะล้มมาครงและเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาล จะขึ้นอยู่กับการเชื่อมโยงมวลชนกับพลังของชนชั้นกรรมาชีพและนักศึกษา แต่ถ้าผู้นำแรงงานหมูอ้วนระดับชาติพยายามจะประนีประนอมมันก็จะไม่ไปถึงจุดนั้น อย่างไรก็ตามกรณีเสื้อกั๊กเหลืองแสดงให้เห็นว่าการต่อสู้ทางชนชั้นของกรรมาชีพและคนจนมีผลสำคัญในการผลักพวกฟาสซิสม์ออกจากเวทีการเมืองของมวลชน และมันมีผลทำให้รัฐบาลมาครงหมดความชอบธรรม

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Turnleft-Thailand turnleftthai.wordpress.com/2018/12/23

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net