Skip to main content
sharethis

มิวสิก วิดีโอ ‘ประเทศกูมี’ เผยแพร่บนยูทูบวันที่ 22 ตุลาคม 2561 ถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2561 มียอดวิว 49,293,548 ครั้ง ในฐานะศิลปินแร็ปที่ไม่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในกระแสธุรกิจดนตรี อาจพูดได้ว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม ซึ่งต้องยกความดีความชอบอันเล็กน้อยส่วนหนึ่งให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่ช่วยส่งเสริม จนประชาชนอยากรู้ อยากฟัง และอยากดู เกิดกระแสการต่อเติมเนื้อหา เปลี่ยนเนื้อร้องเป็นเรื่องอื่น หรือกระทั่งใส่เนื้อหาที่ตรงกันข้ามกับ ‘ประเทศกูมี’

ศิลปินกลุ่มนี้เลือกใช้ชื่อที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่า RAP AGAINST DICTATORSHIP หรือ RAD เป็นกลุ่มศิลปินแร็ปที่ต่อต้านเผด็จการ ไม่ต้องการอำนาจนอกระบบ และผู้นำที่ไร้ความชอบธรรม เป็นหนึ่งในหลายๆ เหตุผลที่ ‘ประชาไท’ เลือก RAD เป็นบุคคลแห่งปี 2561

แค่นั้นหรือ? แน่นอนว่าไม่ใช่ กวาดตาดูผู้เล่นบนสนามการเมืองไทย ไม่ได้มีแต่ RAD ที่แสดงจุดยืนนี้ ยังมีตัวบุคคลและกลุ่มก้อนอีกมากที่ไม่เอาเผด็จการ แต่การแสดงออกถูกกดปราบไว้ด้วยกำปั้นเหล็กของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ การตรวจสอบรัฐ การชุมนุมทางการเมือง การเสวนาทางวิชาการต่างๆ กลายเป็นสิ่งต้องห้าม หากขัดขืน? คุณอาจถูกกฎหมายเล่นงาน ถูกเจ้าหน้าที่รัฐข่มขู่คุกคาม เหลือเพียงความเงียบอันน่าอึดอัดที่รั้งรอวันระเบิด

แต่ RAD เปิดแนวรบด้านวัฒนธรรมใหม่ด้วยงานศิลปะ ท่ามกลางความเงียบของบรรดา ‘ศิลปินที่วางท่าเป็นขบถ ประเทศที่ขบถเจออำนาจรัฐจนหัวหด ประเทศที่ขบถเดินตามรัฐเป็นฝูงมด’ เป็นการยืนยันสิ่งมีค่าสิ่งหนึ่งในฐานะมนุษย์ที่เรียกว่า ‘เสรีภาพในการแสดงออก’ ที่หนักแน่นและทรงพลัง เป็นรูระบายความอึดอัด โดนใจผู้คนจำนวนมาก และเป็นบทวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างตรงไปตรงมา

มันตรงไปตรงมาเสียจนหลายคนไม่พอใจ ถูกด่าทอว่าเป็นพวกชังชาติ ทำร้ายประเทศ ซึ่งพวกเขารับได้กับการถูกด่าทอ เพราะมิติหนึ่งมันคือการส่งต่อเนื้อเพลงและสร้างการถกเถียงต่อความเป็นไปของสังคม

‘ประชาไท’ สนทนากับตัวแทนของ RAD ประกอบด้วย ปรัชญา สุรกำจรโรจน์ (Jacoboi) เดชาธร บำรุงเมือง (HOCKHACKER) ณัฐพงศ์ ศรีม่วง (LIBERATE P) ถึงที่มาของเพลงและกลุ่ม แรงกดดันที่พวกเขาต้องเผชิญ การทำงานในฐานะศิลปิน และความแล้งไร้เสรีภาพที่จะพูดของประเทศนี้

วี ตัวละครจากภาพยนตร์เรื่อง V for Vendetta พูดไว้ทำนองว่า นักการเมืองใช้คำโกหกเพื่อปกปิดความจริง แต่ศิลปินใช้คำโกหกเพื่อบอกเล่าความจริง ปริศนาที่ชวนขบคิดคือในเนื้อเพลง ‘ประเทศกูมี’ ตรงไหนบ้างที่ไม่เป็นความจริง

โปรเจกต์ RAD เริ่มต้นได้อย่างไร?

ณัฐพงศ์-คือมีอินโทรเพลงประเทศกูมีอยู่แล้ว แต่มันยังไม่เสร็จ ผมคิดว่าควรทำให้เสร็จได้แล้ว เลยลองมารื้อทำใหม่ โดยรอบนี้เราไม่อยากพูดคนเดียวแล้ว เลยไปชวนเพื่อนมาร่วมทำ ตั้งกลุ่ม RAD ขึ้น ซึ่งเพลงแรกชื่อว่า ประเทศกูมี โดยเราพยายามหาคนอื่นมาร่วมพูดกับเราด้วย ช่วงที่เอากลับมาทำจริงๆ คือช่วงที่เรามาทำ RAD แล้วเริ่มทำ อันนั้นเป็นช่วงที่พัฒนา คือมีการพัฒนาตั้งแต่รีแอเรนจ์บีทใหม่ ยาวมาเรื่อยๆ ประมาณ 6 เดือนถึงได้อัดเดโมจริง แล้วได้อัดเพลงจริงช่วยประมาณเดือนที่ 7 ที่ 8 ถึงถ่ายเอ็มวี

แต่ละคนมาเจอกันได้อย่างไร หรือรู้จักกันอยู่แล้ว

ณัฐพงศ์-ใช่ครับ อย่างผมก็รู้จักพี่คนหนึ่ง รู้จักกับฮ็อก (เดชาธร บำรุงเมือง) ได้ประมาณ 3 ปี ส่วนพี่อาร์ต (ปรัชญา สุรกำจรโรจน์) รู้จักจากแวดวงการเมือง

แปลว่ารู้ความคิดแต่ละคนกันมาก่อนหน้านี้แล้ว

ปรัชญา-ความคิดทุกคนที่เราชวนมาก่อตั้งรวมถึงแขกที่เราชวนมาร่วมงาน ความคิดไม่ได้เหมือนกันเป๊ะๆ ทุกคนหรอก แต่เราก็ดูคนที่ความคิดไปด้วยกันได้ตั้งแต่แรก ไม่อย่างนั้นทำงานด้วยกันไม่ได้

แสดงว่ามีคนที่ถูกคัดออก?

เดชาธร-ไม่เชิงคัดออกครับ เราเล่าขอบเขตของเราและความเสี่ยงว่าจะเกิดกรณีอะไรขึ้นได้บ้าง คนที่ถอนตัวไปเพราะเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว ความไม่พร้อม ประมาณนี้

ณัฐพงศ์-ตัวกระบวนการที่คิดกันมี 4 คน แต่คนแร็ปในเอ็มวีมีประมาณ 7 คน คนที่เข้ามาแร็ปกับคนคิดโปรเจกต์นี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนคิดกับทีมแร็ป ทีมแร็ปจริงๆ มีมากกว่านั้น ประมาณ 17 คน เมื่อเราคุยกันแล้วว่าจะทำอะไร พูดถึงอะไร จุดประสงค์คืออะไร ตรงนี้ทุกคนโอเค แต่พอเราพูดถึงความเสี่ยงหลังจากเพลงถูกปล่อยออกไป มันมีคนไม่โอเคแล้ว เพราะบางคนมีหน้าที่การงาน เขากลัวเสียงาน มีครอบครัว ต้องใช้เงิน เขากลัวว่าถ้าเกิดกระแสโจมตีขึ้นมาแล้วจะเสียงานของเขา เขาก็เลยถอนตัว เลยเหลือเท่าที่เห็นในเอ็มวี ซึ่งมันก็มีทั้งสองส่วน ทั้งกลัวเรื่องการคุกคาม กลัวรายได้ที่กำลังมีอยู่ อีกอย่างคือติดสัญญากับทางนู่นนี่นั่นอยู่

ปรัชญา-ส่วนคนที่ร่วมงานคือมีคนที่ไม่คิดว่ามันเสี่ยงอะไรมากและพร้อมยอมรับความเสี่ยงนั้น อีกกลุ่มคือเลือกจะไม่เปิดเผยตัว ในเอ็มวีจะเห็นว่าบางคนพรางหน้า แต่อยากจะร่วมแสดงความเห็น ร่วมร้องในเพลงนี้ด้วย

ผลกระทบของเพลงเกินกว่าที่คาดคิดไว้หรือเปล่า?

ณัฐพงศ์-เกินไปเยอะมาก

ปรัชญา-ตอนแรกยังอยู่ในความคาดหมายนะ แต่หลังจากวันแรกประมาณสองสามวัน หลังจากที่รัฐบาลโปรโมทให้ฟรี

เดชาธร-ไม่ ต้องย้อนไปตอนเราปล่อยเพลงก่อน เราปล่อยเป็นออดิโอในยูทูบ ซึ่งก็ได้นิดๆ หน่อยๆ ในวงการ ซึ่งเป็นไปตามคาดของเราแหละว่าคนในวงการคงฟังกัน แต่มันไม่มีกระแสอะไรออกไปนอกวงการเลย เงียบ ก็มีติดชาร์ตไอจูนนิดๆ หน่อยๆ แต่พอเอ็มวีมันปล่อย มีข่าวประมาณวันที่ 3 มันถึงกระจายออกไป ซึ่งเกินกว่าที่เราคาดหมายไปเยอะ

แล้วมันต้องแลกกับอะไรบ้าง?

ณัฐพงศ์-ตอนแรกผมต้องอัดยาคลายเครียด เพื่อไม่ให้วิตกกังวลเกินไป ช่วงนั้นผมหาหมออยู่พอดีเรื่องวิตกกังวลและความเครียด พอดังขึ้นมาก็มีความวิตกกังวลสูง กินยานิดหนึ่งเพื่อช่วยให้นอนหลับสนิท แล้วไอ้ช่วง 3 วันหลังจากที่มีข่าวออกมาว่าจะออกหมายจับ ก็เป็นช่วงที่ค่อนข้างจะเครียด ทั้งเรื่องการหาทางออกของกลุ่มเราหรือการเช็คช่องทางต่างๆ ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ณ ตอนนั้น แม้กระทั่งการจัดการชีวิตตัวเอง อย่างผมต้องทำวิทยานิพนธ์ตัวจบอยู่ ก็ต้องทักไปหาอาจารย์ว่าช่วงนี้ขอเคลียร์ตรงนี้แป๊บหนึ่ง อาจารย์ก็เข้าใจ

เดชาธร-ผมทำงานประจำ ไปออฟฟิศก็ไม่ได้ทำงาน นั่งรับโทรศัพท์นักข่าวทั้งวัน 25 26 27 28 สี่วันที่ผมรับโทรศัพท์ไม่ต่ำกว่า 40 สาย น้ำหนักลงไปสามสี่โล คือเราไม่ได้รับทั้งหมด แต่โทรศัพท์มันสั่น มันเด้ง บางเจ้าก็ส่งเมสเสจมาก่อนบอกให้รับหน่อย เราก็พยายามรับ เพราะเราก็ไม่อยากปฏิเสธสื่อหรอก เราก็อยากพูด แต่ก็เลือกเอาเท่าที่ไหว บางที่ก็เชิญไปรายการสด ซึ่งเราก็คุยกันแล้วว่ารายการสดไม่เอา มันเสี่ยง ถ้าโดนยิงคำถามตรงๆ แล้วไปเหวอ ไม่เอา ไม่ไป เพราะไม่ได้อยู่ด้วยกันด้วย ไปก็ไปคนเดียว นัดคิวยาก

ปรัชญา-ฮ็อกเป็นคนรับหน้าเสื่อของสื่อ สำหรับผมพอฮ็อครับมาปุ๊บ พอเราต้องออกไปพบปะสื่อ แรกๆ ทุกวัน วันละหลายๆ เจ้า ของผมก็หนักเรื่องการนอน เพราะแทบจะไม่ได้นอน แล้วก็ต้องตื่นไปคุยประเด็น พูดเรื่องซ้ำๆ กับหลายที่ แล้วผมเป็นคนที่ติดมวยปล้ำมาก ผมต้องดูมวยปล้ำย้อนหลังประมาณ 4 สัปดาห์ ไม่มีเวลาเลย

หลังจากเพลงออกไป มีเรื่องราวมากมาย มีการแสดงสดตามร้านต่างๆ เชิญคนดูในร้านขึ้นไปร้องด้วย ตรงนี้เพราะต้องการเปิดพื้นที่ให้คนได้พูด?

ณัฐพงศ์-คือเรามีชาเลนจ์ปล่อยออกมาอยู่แล้ว เป็น 8 บาร์ชาเลนจ์ เรียกว่ามาจอยกัน แล้วทีนี้ในงานวันนั้นมีเด็กแร็ปมาเยอะ เราเลยถือโอกาสว่าใครมี 8 บาร์ก็ขึ้นมาจอยกัน

เดชาธร-มันเป็นวิธีการของวงการแร็ป ให้คนมาร่วมร้องกับเพลงดัง ทิ้งแบ็กบาร์ไว้ให้ อยากให้เขาพูด เราพูดของเราแล้ว บางคนอาจจแร็ปไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่เราอยากให้คนออกมาพูด

ปรัชญา-บางคนขึ้นมาก็มีเนื้ออยู่ในโทรศัพท์อยู่แล้ว จริงๆ มันเป็นวัตถุประสงค์ของเราอยู่แล้ว ไม่ได้ต้องการให้มันเป็นการสื่อสารทางเดียว เราอยากเป็นตัวสตาร์ท แล้วให้คนอื่นทำต่อๆๆๆ กันไป

ไม่กลัวเขาร้องไปทางตรงกันข้ามกับเนื้อหาของพวกคุณ?

เดชาธร-ไม่เป็นปัญหา

ณัฐพงศ์-มีตั้งแต่ตรงกันข้ามไปจนถึงนอกเรื่องเลยก็มี

ปรัชญา-มันไม่เป็นปัญหาเลยนะ เราสนุกกับการได้เห็นว่าแต่ละคนคิดยังไง ยิ่งคนที่เอาบีทเรามาแล้วไปร้องเป็นด้านตรงข้าม เรายิ่งรู้สึกอยากฟังกว่าคนที่พูดคล้ายๆ เราด้วยซ้ำ

ปรากฏการณ์นี้จะเป็นแค่การจุดพลุ สว่างวูบเดียว แล้วก็แผ่วหายไปหรือเปล่า?

เดชาธร-ไม่เหมือนครับ จุดพลุแล้วมันก็ดับไป แต่ว่าผมว่าเรายังไม่ดับ เพราะเราไม่ได้ทำลูกเดียว มันเป็นเรื่องปกติของแร็ปเปอร์นะครับ ที่เขาบอกว่าไรม์คือกระสุน เรามีคำ มีไรม์ มีแร็ป ก็ใช้มันไปตามปกติ

ณัฐพงศ์-ถ้าเป็นพลุเราก็เป็นโรงงานพลุ

ปรัชญา-มันคงต้องจุดเรื่อยๆ มันคงไม่มีใครเป็นพระอาทิตย์ได้ เราเป็นมนุษย์ก็ต้องผลิตงานต่อเนื่องมาเรื่อยๆ เราไม่ได้เลิกผลิตประทัดของเราที่จะจุดต่อไป เหมือนคนมันมีอาวุธต่างกัน ทหาร ตำรวจก็มีปืน นักกฎหมายก็มีกฎหมาย พวกเราก็มีแต่ปากก็พูดไป

แล้วกับเสียงต่อว่าต่อขานของนักวิจารณ์เพลง?

ณัฐพงศ์-ก็ดีครับ ผมว่ามันคล้ายๆ ตอนที่นิติราษฎร์ออกมาพูดแล้วเกิดขึ้นข้อวิพากษ์ในสังคมทั่วไปหมด มันเหมือนปลุกให้คนขึ้นมาพูด ก็โอเคในระดับหนึ่งแล้ว

ปรัชญา-ผมชอบนะ ใส่กันให้เต็มที่ อันไหนที่เราเห็นด้วยก็เห็นด้วย อันไหนที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่เห็นด้วย ไม่ใช่ปัญหาอะไร สิ่งที่เราต้องการทำคือต้องการให้คนพูดคุยเรื่องพวกนี้เยอะๆ ไม่ได้หมายถึงมาพูดคุยเรื่องเพลงเรานะ แต่คุยเรื่องสิ่งที่เราสื่อสารผ่านเพลง แล้วการที่ทำให้คนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ทั้งแง่บวกแง่ลบ มันก็ทำให้เนื้อหาในเพลงถูกพูดคุยไปด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี อย่างตอนที่มีผู้ประกาศข่าวมาวิจารณ์เนื้อเพลงของเราท่อนต่อท่อน ในด้านหนึ่งมันคือการย้ำประเด็นเนื้อหาที่อยู่ในเพลงออกไป ซึ่งผมคิดว่าเวิร์คมาก ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย

เดชาธร-อันหนึ่งที่มันชัดเจนน่าจะเป็นเรื่องที่คำว่า ประเทศกูมี ถูกใช้เป็นคำตอบต่อเหตุการณ์ต่างๆ เช่น พอมีข่าวแปลกๆ สักอย่างหนึ่งในไทย เขาก็จะไปเม้นต์ว่านี่ไงประเทศกูมี หรือตอนที่ฝรั่งเศสมีการประท้วงก็ไปเม้นต์ว่าประเทศคุณก็มีเหรอ คนจะนึกถึงคำนี้ตลอดว่าถ้ามีเหตุการณ์ทางการเมือง สังคมเกิดขึ้น กลายเป็นประเทศกูมี

พวกคุณถูกต่อว่าเป็นพวกชังชาติ?

ณัฐพงศ์-ก็เรื่องของเขาครับ เขาก็มีสิทธิ์คิดของเขาว่าเราชังชาติ ไม่รู้จะตอบอะไรเหมือนกัน ผมคิดว่าถ้าคนเข้าใจเนื้อหาในเพลงที่เราพูดออกไป เขาก็คงเข้าใจแหละ คนที่ชังชาติคือคนที่ชังเรามากกว่า ก็เลยบอกว่าชังชาติ

เดชาธร-เราใช้เวลากับการนั่งหาข้อมูล นั่งวิพากษ์หาจุดต่างๆ ของเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศ ผมไม่รู้ว่าจะเรียกว่าชังหรือเปล่ากับการที่เราใส่ใจมัน ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศเรามาทำเป็นเพลง

สื่อบางสำนักพูดไปว่ามีคนอยู่เบื้องหลังคอยสนับสนุนเงิน ช่วยสารภาพหน่อยว่ามีหรือเปล่า?

พูดพร้อมกัน-ไม่มีครับ

ปรัชญา-มีแต่แม่ผม

เดชาธร-ถ้าคนที่รู้จักวงการเพลงอินดี้หรือเพลงอันเดอร์กราวน์ การทำเพลงกันเองได้อยู่แล้ว ไม่ต้องมีงบประมาณอะไรเยอะ นอกจากทำเอ็มวีที่ต้องใช้คนช่วย

ณัฐพงศ์-มันมีอีกประเด็นหนึ่งที่คนพยายามโต้ พอเราบอกว่าไม่มีคนมาสนับสนุนเรื่องเงิน ก็มีประเด็นแตกออกมาว่ามีคนจ้างให้เราทำ

ปรัชญา-มีอยู่อันหนึ่งที่ผมชอบมาก บทความคุณเปลว สีเงิน ที่พูดว่าคนที่อยู่เบื้องหลัง คนที่ผลิตงานนี้เป็นพวก พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) เก่า ซึ่งผมเป็นหนึ่งในคนโปรดิวและนับถือ พคท. ผมว่าเจ๋งว่ะ อยู่ดีๆ ได้เป็น พคท. เฉยเลย

ไปดึงตัวคุณธีระวัฒน์ รุจินธรรม มาช่วยทำเอ็มวีได้ยังไง

ณัฐพงศ์-เขามาช่วยมากกว่า ผมรู้จักกับพี่เปี๊ยกนิดหนึ่ง เพราะจะเริ่มทำเอ็มวีเพลงที่จะให้เขาช่วย ปรากฏว่าเพลงนี้มาก่อน เลยถามพี่เขาว่าว่างหรือเปล่า พี่เปี๊ยกเลยเข้ามาช่วยจัดการตัวเอ็มวีให้ ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ก็เป็นทางพี่เปี๊ยกเป็นคนดำเนินการ

เดชาธร-เป็นการจอยโปรเจกต์กันด้วยไอเดีย เหมือนตอนเราไปชวนเพื่อนๆ แร็ปเปอร์ เราเอาไอเดียเพลงไปขายว่าอยากทำมั้ย ไม่มีเงินตอบแทน อยากเล่ามั้ย เหมือนกันกับพี่เปี๊ยก พอเราเอาเดโมไปให้เขาฟัง พี่เปี๊ยกอยากทำ

สิ่งที่ปรากฏในเอ็มวีมีการคุยกันจนตกผลึกแล้ว?

เดชาธร-ใช่ครับ มันผ่านกระบวนการมาแล้ว อาจจะไม่ได้ตรงกับความต้องการของเราซะทีเดียว แต่มันมีการถกเถียงกันเพื่อหาจุดลงตัวแล้ว แต่ก็มีคนไม่เห็นด้วย ผมเองก็ไม่เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์

ปรัชญา-โดยพื้นฐาน เราอยากได้ภาพแบ็กกราวน์ที่เป็นประวัติศาสตร์การเมืองอยู่แล้ว แต่ว่าจะได้แบบไหน แค่ไหน ก็ผ่านการถกเถียงจนมาจบที่ตัวที่ได้เห็น

ณัฐพงศ์-ผมก็ไม่ได้เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ มันจะสื่อสารได้แค่คนกลุ่มเดียว เรากลัวเรื่องนี้มากที่สุดว่าจะสื่อสารได้แค่พวกเดียวกัน

เดชาธร-ที่มีหลายคนออกมาพูดว่าทำไมในเอ็มวีต้องใช้เหตุการณ์นี้ มันก็คือสิ่งที่เราเคยคุยกันว่าอาจจะมีฟีดแบ็กแบบนี้ๆ แต่เราชั่งน้ำหนักแล้วว่าผลดี ผลเสีย มันสูสีและมันจะประมาณไหน เราก็เห็นด้วย

ณัฐพงศ์-จุดประสงค์เราค่อนข้างชัดอยู่แล้ว ภาพที่ออกมาเราสามารถตอบคำถามได้อย่างชัดเจนว่า ทำไมต้องเป็นเหตุการณ์นี้

เดชาธร-ทำทั้งทีก็ต้องทำให้สุดแหละ

ในฐานะศิลปินหลังกระแสประเทศกูมีแล้ว ได้กลับไปคิดทบทวนต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า?

ณัฐพงศ์-ส่วนตัวผม ผมคิดว่ามันยังมีอีกหลายเรื่อง อย่างเรื่องสื่อที่เราประมาท มันไม่เชิงประมาท แต่เราคิดไม่ถึง เช่นการพูดของท่านศรีวราห์ (พลตำรวจเอก ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล) เป็นสิ่งที่เราไม่คาดคิด ซึ่งพอมันเกิดขึ้นปุ๊บ ทุกอย่างก็เฮโลตามกันไปหมดเลย อันนี้ก็ไม่ได้พยายามดีเฟนซ์ให้ท่านศรีวราห์นะ แต่เราพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นเพราะอะไร

เดชาธร-ผมรู้สึกว่าท่านศรีวราห์เองอาจไม่ได้เป็นคนอยากพูดหรือสั่งก่อนด้วยซ้ำ อาจเป็นว่ามีใครให้เขาดู มีสื่อโทรไปถาม แล้วเขามีหน้าที่ตรวจสอบ เขาก็ปฏิเสธไม่ได้ ต้องพูด พอพูดแล้วมันเกิดอิมแพคหลายอย่างตามมา คือเราเห็นใจหลายคนนะที่โดนโจมตีจากฝั่งการเมือง เรียกว่าเป็นเหยื่อทางสื่อ เราถึงค่อยๆ เลือกสื่อที่จะออก สเต็ปแต่ละสเต็ปก็ค่อยๆ ไป เพราะมันถูกเอาไปใช้ฉาบฉวยกันเยอะเหมือนกัน

ณัฐพงศ์-เพราะไอ้ที่เราทำไม่ได้ต้องการตอกย้ำหรือเพิ่มความขัดแย้ง แต่เราต้องการทำเพื่อให้คนเข้าใจว่าเราต้องอยู่รวมกัน

ปรัชญา-ให้เห็นว่าความขัดแย้งนี้เรารวมกันได้ โดยปฏิเสธอำนาจที่อยู่นอกระบบ

คิดว่าสังคมนี้ยังรวมกันเหมือนที่ท้ายเอ็มวีบอกได้เหรอ?

ปรัชญา-ต้องถามว่ารวมแค่ไหน ถ้ารวมแบบว่าทุกคนคิดเหมือนกัน รวมกันเป็นหนึ่งเดียวแบบยูโทเปีย มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เช่น ผมชอบพรรคหนึ่ง คุณชอบพรรคหนึ่ง แต่เรามีจุดร่วมกันอย่างหนึ่งคือเราต้องการระบอบการปกครองที่เราปกครองตัวเอง มีตัวแทนของเรา มีผู้ปกครองที่ได้รับการอนุญาตจากประชาชนขึ้นไปบริหารประเทศ ตรงนี้ผมคิดว่าเราสามารถมีร่วมกันได้ ไม่ว่าเราจะต้องการผู้ปกครองลักษณะไหนก็ตามแต่

ณัฐพงศ์-แม้กระทั่งพรรคทหารเอง ถ้าเรากลับสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยเหมือนเดิมที่มีการเลือกตั้งจากการร่างรัฐธรรมนูญของฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งผมว่าการที่มีพรรคทหารเข้ามาลงเลือกตั้งก็เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่ควรมี แต่ไม่ใช่มาด้วยการเข็นรถถังมายึดอำนาจ ถ้าพรรคทหารอยากเข้ามาเล่นบทบาทตรงนี้ก็ควรตั้งพรรคทหารมาเลย ผมไม่ได้แบนว่าทหารไม่มีสิทธิ์เข้ามา แต่ช่วยมาตามกติกาหรือระเบียบ

ปรัชญา-แต่ช่วยลาออกก่อนด้วยนะฮะ เพราะอาวุธในคลังแสงนั่นภาษีของกูเลย

เดชาธร-อย่าเอาอำนาจนอกระบบมาใช้

ตอนนี้พรรคทหารก็มาแล้ว พวกคุณโอเคมั้ยกับการมาแบบนี้?

ณัฐพงศ์-ไม่โอเค ผมไม่โอเคกับการเลือกตั้งครั้งนี้ มีความรู้สึกว่ามันเป็นกติกาที่ตั้งโดยพรรคทหาร

ปรัชญา-คุณต้องแยกก่อน ผมโอเคกับการที่เขาตั้งพรรค แต่ผมไม่โอเคกับกระบวนการที่เขาทำ เราก็เห็นกันอยู่แล้ว แม่งใช้ทรัพยากรของเรามาโปรโมทพรรคตัวเองอย่างดุเดือดเลือดพล่าน

ประเทศนี้ ตอนนี้ ศิลปินมีเสรีภาพแค่ไหนที่จะผลิตงานของตน?

ณัฐพงศ์-ก็ดูกรณีของพวกเราเป็นตัวอย่าง ถ้าเราไม่มีคนฟังสนับสนุนเยอะ เราก็อาจโดนเรียกตัวก็ได้ มันเหมือนการโยนหินถามทาง

ปรัชญา-ในประเทศที่มีเสรีภาพในการแสดงออก มันไม่สมเหตุสมผลอยู่แล้วที่อยู่ดีๆ จะมีเจ้าหน้าที่รัฐออกมาพูดว่าต้องใช้กฎหมายมาตั้งคำถามต่อศิลปินที่ทำงานออกมา มันไม่ใช่เรื่องที่รัฐจะมาเป็นคู่กรณีกับคนที่ผลิตงานศิลปะ หรือการพูด การแสดงออกอะไรก็แล้วแต่ ไอ้คดีประเภทหมิ่นประมาท ผมว่าเป็นเรื่องบุคคลต่อบุคคลก็พอแล้ว

ในเนื้อเพลงมีการวิพากษ์วิจารณ์ศิลปินอยู่นิดหน่อย

ณัฐพงศ์-เราไม่สามารถไปตีตราใครได้ว่าเขาต้องออกมาพูดเรื่องสังคม การเมือง มันทางใครทางมันเลย แล้วแต่ทางของแต่ละคน

ปรัชญา-มันขึ้นอยู่กับความสนใจด้วย บางคนเข้าไม่ได้สนใจประเด็นนี้จะไปบังคับให้เขาพูดมันก็ไม่ใช่เรื่อง แต่ว่าด้านหนึ่งคนที่คนที่ถูกเรียกว่าเป็นศิลปิน คุณก็มีความเป็นอภิสิทธิ์ชนในระดับหนึ่ง มันเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ และถ้าไม่จริงคุณก็คงไม่เอาพวกผมมานั่งคุยตรงนี้ เราคงมานั่งตรงนี้ไม่ได้ ที่เรามาได้เพราะเราเป็นศิลปิน ซึ่งนี่คืออภิสิทธิ์ที่ได้รับ และก็ต้องตอบแทนคืนให้กับสังคมบางด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง อย่างพวกเราก็ใช้การพูดในประเด็นเชิงสังคมการเมืองที่เราสนใจ

ถ้าเพลงประเทศกูมี คือการพูดถึงหลายสิ่งที่ประเทศเรามีทั้งๆ ที่มันไม่ควรจะมี แล้วในความคิดแต่ละคนต้องการให้ประเทศเรามีอะไร?

ปรัชญา-ผมอยากได้สภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก่อนเลยครับ

ณัฐพงศ์-อย่างน้อยที่สุด ผมต้องการให้ประเทศเรามีสิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะถึงที่สุดรัฐธรรมนูญมันแก้ยาก เลือกตั้งยาก ผมขอแค่สิทธิขั้นพื้นฐานก่อน ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันได้แบบที่มันควรจะเป็น โดยไม่รู้สึกกลัว

เดชาธร-อยากให้ประเทศเรามีทางเท้าที่กว้าง สามารถจุได้ทั้งร้านส้มตำ และคนเดินได้ด้วย และต้องการรถเมล์ใหม่ รถไฟใหม่

ความต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อมองสถานการณ์ที่เป็นอยู่คิดว่าเป็นไปได้เหรอ?

ณัฐพงศ์-ผมคิดวาเป็นไปได้นะ แต่คนที่จะเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องชัดเจนว่า ไม่ใช่ขั้วการเมืองฝั่งใดฝั่งหนึ่ง มันต้องเป็นตัวแทนประชาชนจริงๆ ผมว่าสังคมนี้ต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ เพียงแต่คนยังกลัวว่าอำนาจเก่าจะกลับมาซึ่งเขาหมายถึงฝั่งเพื่อไทย ฝั่งทักษิณ มันยังมีคนกลัวอะไรแบบนี้อยู่ เพราะปี 49 มันมีการโหมPropaganda ว่า ทักษิณคือสิ่งเลวร้ายของชาติ ซึ่งมันทำให้ผมคิดว่าถ้ามีคนที่เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วชัดเจนว่าเขาไม่ได้อยู่ขั้วใดขั้วหนึ่ง คนก็พร้อมที่จะเปลี่ยน ผมว่าคนเราไม่โง่นะครับ เขาไม่ไหวกับรัฐธรรมนูญนี้กันหมดแหละ เพียงแค่เขายังลังเลว่าจะเอาไงดี

ปรัชญา-ถ้าเราเชื่อว่าอำนาจของประชาชนเป็นอำนาจสูงสุด ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเขียนเรื่องการแก้ไขให้มันยากแค่ไหน ถ้าประชาชนแม่งลงมติว่ากูจะแก้ ยังไงมันก็แก้ได้ สิ่งนี้มันอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ อำนาจประชาชนอยู่เหนือกฎหมาย มันขึ้นอยู่กับว่าคุณสามารถสร้างฉันทามตินี้ให้ปรากฎชัดเจนในสังคมได้หรือเปล่า

RAD จะเข้าไปส่งเสริมหรือสร้างกระแสเรื่องการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญบ้างมั้ย?

ปรัชญา-มันแล้วแต่สติปัญญาเราจะคิดออก

เดชาธร-ตอนนี้พยายามทำให้คนรู้สึกว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่พูดได้ เป็นเรื่องปกติ เพราะปัญหาหนึ่งของประเทศไทยคือคนไม่ค่อยมีส่วนร่วม งานต่อไปเราก็ต้องพูดในสิ่งที่มันชวนให้คนเอาไปคิดต่อได้ แล้วมันไม่ใช่แค่เพลงแร็ป งานศิลปะ ภาพยนตร์ นักกิจกรรมที่ทำงานด้านนี้ ถ้าทุกภาคส่วนทำงานเรื่องนี้ร่วมกันอย่างไร มันก็ส่งผลกับรัฐอยู่แล้ว

กับผลงานที่จะทำออกมาอีก รู้สึกกดดันมั้ยที่เพลงประเทศกูมี มียอดวิว 49 ล้านค้ำคออยู่

ณัฐพงศ์-ผมทำเพลงนอกกระแสพวกนี้มา 10 ปี ผมไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก มันเป็นผลพลอยได้มากกว่า ถ้าเพลงใหม่ปล่อยมาแล้วคนดูคนฟังน้อย มันก็แค่นั้น

ปรัชญา-สิ่งสำคัญคือเราได้สื่อสารประเด็นและเนื้อหาที่เราอยากจะพูดกับผู้คนได้ครบถ้วนตามที่เราต้องการหรือเปล่า ตรงนี้สำคัญกว่า ส่วนความป๊อปปูล่ามันเป็นผลพวงที่เหนือการควบคุม

เดชาธร-เวลาพูดถึงยอดวิวมันนับรวมการดูซ้ำด้วยนะ แต่ที่เราต้องการจริงๆ คือการเข้ามาดูที่เป็นรายคนว่ามันมีเท่าไหร่ ซึ่งมันหาดูได้ในระบบหลังบ้าน แล้วมันจะโชว์ให้เห็นว่าในเกือบ 50 ล้านวิว จำนวนคนที่ดูจริงๆ มีกี่คนที่ไม่ได้ดูซ้ำ ตัวเลขมันเป็นแค่สิ่งหนึ่งที่มันทำให้เราเห็นว่ายอดเข้าถึงเท่าไหร่ แต่ความจริงกระแสสังคมต่างหากที่มันทำให้แฮปปี้ เช่นมีคนพูดถึงเยอะ มีนักศึกษามาสัมภาษณ์เรื่องการขบถในเพลงแร็ป มีคนมาขอติดตามดูชีวิตแร็ปเปอร์การเมืองว่าใช้ชีวิตไง อันนี้ผมว่าดีกว่าการที่ยอดวิวพุ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ ล่าสุดนี้ก็มีคนเอาเนื้อเพลงเราไปเขียนตอบในข้อสอบที่อาจารย์ตั้งโจทย์ว่า ให้เขียนวิพากษ์สังคมการเมืองไทยอย่างถึงรากถึงโคน

แต่คนฟังก็คงความคาดหวังว่าเพลงต่อไปจะต้องโดนอีก

ณัฐพงศ์-ถ้าคาดหวังว่าโดน ผมว่ามันก็โดนเหมือนเดิม เพียงแค่เพลงมันอาจจะไม่ได้ไปจับเรื่องที่มันแมส ที่ไปเอาหลายๆ เรื่องที่เป็นประเด็นทางสังคมมาพูดเหมือนกับเพลงประเทศกูมี

ปรัชญา-มันรับประกันไม่ได้ ผมเคยทำเพลงวัยรุ่นทั่วไป มันก็ไม่ได้ดังทุกเพลง มันอยู่เหนือการควบคุมนะ แต่สิ่งที่เราควบคุมได้คือการสร้างงานของเราให้ดีที่สุด แล้วสื่อสารออกมาให้ดีที่สุด ชัดเจน ครบถ้วนที่สุดเท่าที่เรามีความสามารถ ส่วนชื่อเสียงหรืออิมแพ็ค คงต้องโยนให้เป็นหน้าที่ของสาธารณะ เพราะเราไม่มีปัญญาไปควบคุม

เดชาธร-ถ้าคนคาดหวังว่า อยากเห็นเราทำเพลงด่ารัฐบาลอีก เพื่อที่เขาจะได้เฮอีก ผมว่า เขาอาจจะไม่ใช่คนที่เราต้องการสื่อสารไปถึงจริงๆ ด้วยซ้ำ แต่ถ้าฟังแล้วคิด แล้วรู้สึกกับเนื้อเพลงที่เราพูดจริงๆ นั่นแหละคือกลุ่มที่เราต้องการสื่อสารไปถึง

ปรัชญา-มันก็กลับมาที่ชื่อกลุ่มเรา Rap Against Dictatorship เราต้องการให้มันเป็น Ideology Base คือเราทำเพลงเพื่อ Against Dictatorship ไม่ใช่การทำเพลงเพื่อ Against Government พอเราตั้งเป้าที่ Against Dictatorship มันพูดได้หลายเรื่อง แน่นอนเรื่องการเมือง เรื่องรัฐบาลก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่มันมีแง่มุมอื่นที่เราพูดได้อีกเยอะ

ณัฐพงศ์-เราก็แค่ต้องการให้คนตื่นตัวถึงอำนาจที่มีอยู่มากกว่า

ถามแบบนักข่าวบันเทิง รู้สึกอย่างไรบ้างที่ได้รับเลือกเป็นบุคคลแห่งปีของประชาไท?

เดชาธร-ตอบแบบศิลปินบันเทิงเหมือนกันนะครับ ก็ขอบคุณทุกแรงผลักดัน และกำลังใจจากสื่อมวลชน และแฟนเพลง เราก็จะทำผลงานให้ดีขึ้นต่อไปขอบคุณมากครับ

ปรัชญา-(หัวเราะ) ส่วนตัวผม ผมว่าคำถามแบบนี้มันตอบแทนกันไม่ได้นะครับ ข้อแรกผมเหมือนฮ็อคเลย อันนี้ไม่ได้ตอแหล ผมก็รู้สึกอย่างนั้นแหละ คนเราทำงานอย่างตั้งใจ แล้วมีคนเห็นคุณค่ามันก็รู้สึกดี มันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่ว่าจะมาพูดให้มันเข้าประเด็นลึกลงไปอีกนิด ด้านหนึ่งผมรู้สึกว่ามันสะท้อนว่า เหี้ย เราอยู่ในสังคมที่แม่งเพี้ยนชิบหาย เพราะสิ่งที่พวกเราพูดมันเป็นเรื่องธรรมดามาเลยนะ เนื้อหาที่อยู่ในเพลงมันเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก ต่อให้เราไม่เอามาทำเป็นเพลง มันก็อยู่นอินเทอร์เน็ต ในข่าว ในหนังสืออยู่แล้ว แต่เราแค่เอามารวมกันแล้วออกมาเป็นเพลง แปลว่าไอ้เหี้ย มึงอยู่ในประเทศที่เปราะบางขนาดไหนวะ ทำไมคนที่พูดเรื่องพวกนี้ถึงได้เป็นบุคคลแห่งปี

ณัฐพงศ์-เอาจริงๆ เลยนะผมรู้สึกเฉยๆ ผมรู้สึกว่าประชาไท ยังไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเราที่ทำให้รู้สึกว่าได้บุคคลแห่งปีแล้วมันรู้สึกโอเค แต่ถ้าเป็นสีสันอวอร์ดหรือได้ของสื่อที่มันเป็นแมส ที่ไม่ใช่การเมืองแบบนี้ ผมโอเค งั้นผมมองข้ามประชาไทครับ

ล่าสุดนี้เห็นมีตลกเอาประเทศประเทศกูมีไปร้องด้วย รู้สึกยังไง 

ปรัชญา- ตลกดีครับดูแล้วชอบ ของคณะพี่เหยิน สกอร์เปี้ยน ผมชอบตรงที่ตลกหยิบไปเล่นนี่แหละ เพราะอะไรที่ตลกหยิบไปเล่นได้ มันคือสัญญาณที่บอกว่า แม่งแมสพอ และเป็นสิ่งที่คนที่เข้าใจได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net