“จาก ประเทศกูมี สู่ประเทศของเธอ ของฉัน ของเรา และของใคร?”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นับตั้งแต่บทเพลง “ประเทศกูมี” ถูกอัพโหลดลง Social Network ด้วยเนื้อหาที่หนักหน่วงชวนจุกกับการผสานดนตรีแนว rap ที่กำลังเป็นที่นิยม ก็ทำให้เกิดเป็นกระแสฮือฮาในสื่อออนไลน์ต่างๆได้อย่างไม่ยากเย็นนัก โดยเฉพาะในสภาวะของการแช่แข็งทางการเมืองที่กำลังกดทับความคุกรุ่นรอวันปะทุเอาไว้ใต้พรม แม้ว่าเนื้อหาจะเต็มไปด้วยถ้อยคำอันรุนแรงและข่าวฉาวของรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่ก็นำมาซึ่งคำถามที่น่าสนใจว่า “ประเทศกูมี” นี้ เรามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของมากน้อยเพียงใด?

แนวคิดหนึ่งที่ทรงพลังอย่างมากในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 19 ก่อให้เกิดกระแสการปักแบ่งขีดเส้นเขตแดนกันทั่วโลกเพื่อแบ่งว่าอะไรเป็นของใคร “รัฐชาติ” ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อบอกว่ารัฐนั้นเป็นของชนชาติๆหนึ่งที่ระบุเฉพาะ เป็น “ความสัมพันธ์ร่วมกันเชิงระนาบ” ในความรู้สึกมีส่วนร่วมกับรัฐ คนๆหนึ่งอาจจะรู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนแทนเหตุการณ์ระเบิดก่อการร้ายที่เกิดกับคนอีกคนหนึ่ง ณ ชายขอบประเทศ ทั้งๆที่ไม่เคยแม้แต่รู้จักหน้าค่าตากันเสียด้วยซ้ำ เขาเพียงแค่ถูกนับรวมเป็นส่วนหนึ่งเดียวกันด้วยชุดอัตลักษณ์ร่วมบางอย่าง

แนวคิดรัฐชาติที่น่าสนใจนี้บ้างก็กล่าวว่ามีที่มามาจากการปฏิวัติฝรั่งเศสอันลือลั่น ที่ประชาชนรู้สึกได้ถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตามหลักการคำขวัญของการปฏิวัติที่ว่า “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” ("liberty, equality, fraternity) โดยที่เราคงจะสัมผัสได้ถึงแก่นแท้สารัตถะของแนวคิดชาตินิยมได้จากคำว่า “เสมอภาค” และ “ภราดรภาพ” อันหมายถึงความรู้สึกสัมพันธ์ (Linked) ที่มียึดโยงร่วมกัน และเป็นเจ้าของสิ่งใดสิ่งหนึ่งร่วมกัน แม้แต่คำว่า Nation State หรือ Nationalism ที่เกิดขึ้นมาเองนั้น ก็มีรากศัพท์ภาษาละตินของคำว่า Natio อันหมายถึง “สถานที่เกิด” หรือ place of birth ที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของ (Belonging to )อยู่ด้วย ซึ่งแตกต่างจากชุดการมอง “ชาติ” หรือ “รัฐชาติ” ไทยของเราอย่างมีนัยยะสำคัญ  

ประเทศไทยนั้น Commonsense ของความเป็นรัฐชาติ เรามักจะถูกเล่ากล่าวกันว่าได้มีการริเริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5และรัชกาลที่ 6 ในสมัยอาณาจักรสยามเอย หรือแม้แต่รัฐบาลไทยภายใต้จอมพล ป. พิบูลสงครามเอย และเราเชื่อแบบนั้นมาตลอดเพราะเป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังตามแบบเรียนพื้นฐาน

การมองบ้านหลังหนึ่งมันก็มีหลายด้าน หลายมุม ทั้งด้านหน้าที่เห็นสวนกับประตูสวยงาม เป็นมุมมองของเจ้าของบ้านที่มักถ่ายรูปไว้อวดโฉมกับเพื่อนบ้าน กับมุมมองจากภายในบ้านที่สมาชิกในบ้านเห็นเป็นประจำทุกวัน ตัวรัฐชาติเองก็เช่นกัน ในยุคสมัยรัตนโกสินทร์และสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้น รัฐชาติที่เราพูดถึงคือรัฐชาติของผู้นำ ที่มองลงมาว่าบ้านนี้ควรเป็นอย่างไร ขณะที่รัฐชาติของสามัญชนคนธรรมดาเฉกเช่นเราๆท่านๆนั้น อาจจะมองภาพประเทศนี้แตกต่างไปในอีกมุมมอง

เราอาจจะเห็นได้ถึงการมองความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ “ชาติ” ที่แตกต่างกันได้จาก “อัศวพาหุ” อันลือลั่นในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ที่มองประชาชนเป็นเพียงผู้มีหน้าที่พายเรือไปตามนายท้ายสั่งเท่านั้น หากไม่ทำตามที่นายท้ายสั่ง ก็ขอให้กระโดดลงจากเรือไปเสีย อันเป็นมายาคติที่ฝังอยู่ในจิตใจของผู้เผด็จการไทยเสมอมาดั่งสุภาษิตที่ว่า “มือไม่ผายเอาเท้าราน้ำ” ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของความไม่ได้เป็น “เจ้าของเรือ” ร่วม หรือกล่าวคือ ประชาชนไม่ได้ถูกมองเป็นผู้โดยสารที่จ่ายค่าตั๋วโดยสารเรือลำนี้มาด้วยกัน มีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติ การเอาใจใส่ ที่เท่าเทียมกันจากพนักงานบนเรือ แต่กลับถูกมองเป็นเพียงฝีผาย ผู้มีหน้าที่ผายเรือไปข้างหน้าเท่านั้นตามที่นายท้ายเรือเป็นคนสั่ง มิใช่การเป็นเจ้าของเรืออย่างแท้จริง 

ถึงแม้มุมมองในการมองภาพประเทศนี้มักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องปัจเจก ต่างคนต่างมีมุมมองต่อบ้านหลังนี้ไม่เหมือนกัน แต่เป็นที่น่าสนใจว่าความรู้สึกของการเป็นเจ้าเข้าเจ้าของนั้นกลับมีการตอบรับที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อการส่งเสียงบรรยายถึงปัญหาภายในบ้านถูกสมาชิกร่วมบ้านบางกลุ่มกดทับมันไว้โดยใช้ความสงบเป็นข้ออ้าง ทำให้รูปของบ้านมีเพียงมุมๆเดียวเท่านั้นที่มีสิทธิในการนำเสนอ 


ภาพจาก https://www.khaosod.co.th/politics/news_1750631

สุดท้ายแล้ว รัฐชาติของเราก็ไม่ใช่ความเป็นความสัมพันธ์ร่วมเชิงระนาบเป็นภราดรภาพแบบที่ประเทศที่เจริญแล้วเขานิยมกัน การมองบ้านนี้ให้รอบด้านกลับกลายเป็นเรื่องที่อันตราย สมาชิกในบ้านนั้นกลับมีสิทธิไม่เท่าเทียมกันในการมองภาพบ้านจากมุมต่างๆ จนนำมาสู่สิ่งสำคัญที่น่าสนใจว่า เรามีความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของมันเต็มที่จริงๆขนาดนั้นเลยหรือไม่ หรือมันชี้ชัดได้ตั้งแต่ระดับการเข้าถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองและพื้นที่ทางการเมืองที่เหลือให้เราแสดงออกแล้ว

คำถามสำคัญของการมาถึงของเพลง “ประเทศกูมี” ที่มีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงก่นด่าต่อต้านนั้น ไม่ใช่เป็นการไปสังเกตที่ว่า สิ่งเหล่านั้นควรพูดหรือไม่ แต่ควรเป็นการตั้งคำถามถึงประเด็นที่อยู่ลึกไปกว่านั้นมากว่า ความรู้สึกเป็นเจ้าของชาติร่วมกันนั้น เป็นของใคร หากเราเป็นเจ้าของชาตินี้ด้วยกันตามนิยามภราดรภาพของรัฐชาติสมัยใหม่ดั่งที่ประเทศที่เจริญแล้วเขาคิดกัน ก็คงเป็นเรื่องปกติที่จะมีการลุกขึ้นมาตักเตือน มองบ้านให้รอบด้าน พยายามปัดกวาดเช็ดถูบ้านให้น่าอยู่ แต่หากชุดความคิดว่า “นี่ไม่ใช่บ้านของเรา” หรือพูดให้ชัดเจนคือ ไม่ใช่ “ประเทศกู” ตามภาษาชาวบ้าน แล้วประเทศนี้เป็นของใคร

สรุปแล้วเพลง “ประเทศกูมี” ที่ได้นำเสนอมุมมองอันน่าสนใจของความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ที่ลักหลั่นย้อนแย้งในประเทศไทยนั้น ทำให้เราได้ตาสว่างมากขึ้นเพียงใดกับ “ความเป็นเจ้าของชาติ” ก็คงสุดแท้แต่ประชาชนจะเป็นผู้ตอบได้เพียงเท่านั้น
 

บรรณานุกรม
https://www.baanjomyut.com/library_2/extension-1/the_idea_that_the_state/02.html

http://hadesworld-boonsong.blogspot.com/2013/10/blog-post_6048.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท