Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มาภาพ https://www.tlhr2014.com/?p=8953

ประเด็นการศึกษาและการวิพากษ์วิจารณ์ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สังคม และการเมือง ทั้งในอดีตและปัจจุบันในบ้านเรา ยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่อง “พุทธศาสนา” หรือไม่อาจตัดประเด็นพุทธศาสนาออกไปจากการทำความเข้าใจความคิดทางการเมืองและศีลธรรมในสังคมไทยได้อย่างสิ้นเชิง

ไม่ว่างานประวัติศาสตร์กระแสหลักหรือประวัติศาสตร์เชิงวิพากษ์ต่างอธิบายว่า ชนชั้นปกครองสยาม-ไทยผลิตและผลิตซ้ำความคิดทางการเมืองแบบพุทธอย่างไร ตั้งแต่การนำเสนอจักรวาลวิทยาแบบพุทธเป็นรากฐานทางอภิปรัชญา (metaphysics) รองรับการกำหนดสถานะชนชั้นทางสังคม โดยสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องการบำเพ็ญบารมี คุณธรรมของผู้ปกครอง จนถึงการจัดวางระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ และการกำหนดหน้าที่ของพุทธศาสนาในทางการเมืองและสังคม 

เช่น เมื่อรัชกาลที่ 1 ตั้งปณิธานจะบรรลุพระโพธิญาณในอนาคตกาลนั้น มิได้เป็นเพียง “เรื่องส่วนตัว” เพราะการปกครองบ้านเมืองให้สงบสุขร่มเย็นและการอุปถัมภ์พุทธศาสนา ก็คือ “การบำเพ็ญบารมี” ตามปณิธานดังกล่าว ขณะที่พสกนิกรผู้ใต้ปกครอง ก็คือผู้ที่ต้องพึ่ง “พระบรมโพธิสมภาร” ซึ่งหมายถึง ผู้อาศัยความคุ้มครองจากพระบารมีของกษัตริย์ เพื่อการมีชีวิตที่ดีในโลกนี้และการบรรลุนิพพานในภพชาติต่อๆ ไป ดังนั้น “เวสสันดรชาดก” จึงเป็นวรรณกรรมสำคัญที่ต้องให้วัดต่างๆ ในราชอาณาจักรเทศนาสอนพสกนิกร เพราะพระเวสสันดรคือแบบอย่างของกษัตริย์ผู้บำเพ็ญบารมีผ่านการปกครองในฐานะ “ผู้ให้” และผลแห่งการบำเพ็ญบารมีนั้น ก็คือการได้บรรลุพระโพธิญาณในภพชาติต่อมา และได้ช่วยให้ผู้มีส่วนในการบำเพ็ญบารมีมาด้วยกันได้บรรลุนิพพานด้วย

ในการเมืองสมัยใหม่ ปัญญาชนสยาม-ไทยทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายก้าวหน้า ก็ยังช่วงชิงการตีความพุทธศาสนาในทางการเมืองอยู่นั่นเอง แม้แต่ปัญญาชน “มาร์กซิสต์” ก็มีทั้งตั้งคำถาม วิพากษ์ โต้แย้งความคิดทางการเมืองแบบพุทธ มีทั้งตีความว่าพุทธศาสนาสนับสนุนสังคมเสมอภาค

หากแบ่งกว้างๆ การตีความพุทธศาสนาของปัญญาชนสยาม-ไทย มี 2 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มที่ใช้กรอบคิดพุทธศาสนาอธิบายปัญหาชีวิตและสังคม และเสนอหลักการพุทธศาสนาเป็นทางออกของปัญหา กับกลุ่มที่มองพุทธศาสนาจากสายตาของ “คนนอก” หรือใช้กรอบคิดอื่นๆ มาทำความเข้าใจ วิพากษ์ความสัมพันธ์ระว่างพุทธศาสนากับรัฐ บทบาทของพุทธศาสนาต่อปัจเจกบุคคลและสังคม

กลุ่มแรก ก็เช่นพุทธทาสภิกขุ, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) และคนอื่นๆ ที่แชร์ไอเดียหรือรับอิทธิพลความคิดของทั้งสองท่าน เช่น ส. ศิวรักษ์, ประเวศ วะสี เป็นต้น 

งานของพุทธทาสในช่วงแรกๆ พยายามตีความพุทธศาสนาสนับสนุน “หลักการพื้นฐาน” ของประชาธิปไตย เช่นตีความคำสอนพุทธสนับสนุนหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ การยอมรับมติเสียงข้างมาก แต่ในช่วงรอยต่อประวัติศาสตร์ 14 ตุลากับ 6 ตุลา พุทธทาสเสนอแนวคิด “ธรรมิกสังคมนิยมเผด็จการโดยธรรม” ที่เน้น “คนดี” เป็นผู้ปกครองโดยใช้วิธีเผด็จการเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ ความคิดนี้ถูกนำมาอ้างอย่างมากในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ พธม.-กปปส.

ส่วน ส. ศิวรักษ์นั้นรับอิทธิพลจากความคิดพุทธทาสทั้งในช่วงแรกและช่วงหลัง และดูเหมือนว่าเขาจะนิยามตัวเองในฐานะเป็นชาวพุทธที่มีจุดยืนอยู่ที่ “หลักศีลธรรมพุทธ” คล้ายกับพุทธทาสที่แม้จะตีความพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตยและสังคมนิยม แต่ก็ถือว่า “พุทธธรรม” สำคัญสูงสุด บนจุดยืนที่คล้ายกันดังกล่าวทำให้ ส. ศิวรักษ์บางครั้งก็อ้างพุทธศาสนาสนับสนุนเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ และประชาธิปไตย บางครั้งก็ยืนยัน “เผด็จการโดยธรรม” ว่าเป็นเผด็จการที่ดีและจำเป็นสำหรับสังคมไทยในบางสถานการณ์

เช่นเดียวกับประเวศ วะสี ที่ใช้กรอบคิดพุทธศาสนาบวกกับกรอบคิดสังคมอินทรียภาพ (organism) เป็นข้อเสนอแก้ปัญหาสังคมการเมืองไทยว่า สังคมก็เหมือนกับระบบประสาทและอวัยวะต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ที่ทำงานประสานกลมกลืนกัน ดังนั้นจึงต้องส่งเสริมให้มี “สัมมาปัญญา” และ “สัมมาปฏิบัติ” เพื่อให้ทุกภาคส่วนรวมมือกันให้เกิด “สุขภาวะ” ด้านต่างๆ รวมทั้ง “สุขภาวะทางจิตวิญญาณ” ด้วย เขาพูดถึงความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม การกระจายอำนาจทุกระดับ แต่ไม่แตะสถาบันกษัตริย์ และดูเหมือนว่าการขับเคลื่อนสังคมให้มีสุขภาวะด้านต่างๆ เป็นไปได้ทั้งในรัฐบาลประชาธิปไตยและเผด็จการทหาร ขึ้นอยู่กับ “การพูดคุยต่อรอง” กันได้เป็นสำคัญ ส่วน “ความชอบธรรม” ตามระบอบประชาธิปไตยดูเหมือนจะไม่ใช่ประเด็นหลักที่จำเป็นต้องปกป้องเสมอไป

ส่วนงานของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต นอกจากจะใช้กรอบคิดพุทธศาสนาวิพากษ์ตะวันตกเหมือนปัญญาชนพุทธอื่นๆ แล้ว ยังเป็นงานที่อธิบายอย่าง “เป็นระบบ” มากที่สุดเกี่ยวกับการยืนยันความสำคัญของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมความเป็นไทยที่สร้างขึ้นจากความสัมพันธ์ที่มีดุลยภาพระหว่างรัฐกับพุทธศาสนา ในความหมายที่รัฐกับพุทธศาสนา “สมประโยชน์กัน” โดยที่ความสมประโยชน์กันนั้นเป็นประโยชน์แก่สังคมไทยโดยรวม

นอกจากท่าน ป.อ.จะเสนอว่า “พุทธศาสนาคือรากฐานของวัฒนธรรมไทย” และจำเป็นต้องบังคับเรียนพุทธศาสนาในโรงเรียนของรัฐแล้ว ท่านยังโต้แย้งการนำแนวคิดเรื่อง “แยกศาสนาจากรัฐ” แบบตะวันตกมาใช้กับไทย เพราะเรามีประวัติศาสตร์ต่างจากเขา เราจึงไม่ควรเป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) แบบเขา ถ้ารัฐไทยยกพุทธศาสนาขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติจะเป็นการสนับสนุนเสรีภาพทางศาสนามากกว่า เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ใจกว้าง อีกอย่างศีลธรรมสากลแบบตะวันตกไม่ครอบคลุมการพัฒนาชีวิตทั้งมิติกาย สังคม และจิตปัญญาเท่ากับศีลธรรมพุทธศาสนา ดังนั้นรัฐควรสนับสนุนการศึกษาพุทธศาสนาทั้งในวัดและนอกวัด เพื่อพัฒนาคุณภาพของพระสงฆ์และสร้างสังคมที่มีศีลธรรม

จะเห็นว่างานของปัญญาชนพุทธทั้งพระสงฆ์และฆราวาส ที่ใช้กรอบคิดพุทธวิพากษ์และเสนอทางออกให้กับปัญหาสังคมและการเมือง ได้ให้ภาพความทรงจำในอดีตว่า รัฐและสังคมยุคเก่าเป็นเนื้อเดียวกับพุทธศาสนา ส่วนปัจจุบันและอนาคตพุทธศาสนากับรัฐก็ควรอยู่ด้วยกันตลอดไป ไม่ควรแยกจากกัน ศีลธรรมแบบพุทธยังจำเป็นสำหรับการปลูกฝังผ่านสถาบันศาสนาและระบบการศึกษาของรัฐ 

แต่ถึงที่สุดแล้วงานเหล่านั้นได้สร้าง “จุดยืนทางศีลธรรมแบบพุทธ” ให้เป็นจุดยืนแบบ “อยู่กับเผด็จการก็ได้อยู่กับประชาธิปไตยก็ดี” ภายใต้เงื่อนไขของการมี “เจตนาดี” ที่มุ่งประโยชน์สุขของบ้านเมือง และการเป็น “คนดี” ที่ทำเพื่อประโยชน์สุขของบ้านเมือง จุดยืนดังกล่าวนี้ไม่จำเป็นต้องยึดโยงอยู่กับ “ความชอบธรรม” ตามระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด อิทธิพลของความคิดเช่นนี้เห็นได้ในปรากฏการณ์ของการเรียกร้องให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็น “ศาสนาประจำชาติ” ในรัฐธรรมนูญ และการอ้างศีลธรรมทางการเมืองกว่าสิบปีมานี้ 

ผมคิดว่านิธิเป็นปัญญาชนที่มองพุทธศาสนาจากจุดยืนของ “คนนอก” ไม่ใช่เป็นคนนอกพุทธศาสนา แต่หมายถึงเขาไม่ได้เสนอ “สัจธรรมสมบูรณ์” แบบพุทธเป็นคำตอบให้กับสังคมและการเมืองไทย แม้ใน “ปากไก่และใบเรือ” เขาจะตีความว่าขบวนการปฏิรูปธรรมยุติกนิกาย ในสมัย ร.4 สะท้อนให้เห็นการเกิดขึ้นของพุทธศาสนาแบบมนุษยนิยมและเหตุผลนิยม (ในความหมายหลวมๆ) แต่นั่นก็เป็นการวิเคราะห์เพื่อให้เกิดการอภิปรายถกเถียงมากกว่าที่จะเสนอว่า พุทธศาสนาในความหมายเช่นนั้นเหมาะกับสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม นิธิไม่ได้ปฏิเสธคุณค่าของพุทธศาสนาต่อชีวิตและสังคม แต่เนื่องจากเขาไม่ใช่ “หมอสอนศาสนา” จึงไม่ได้นำเสนอว่าคำสอนอะไร หนึ่ง สอง สาม...เป็นคำสอนที่มีคุณค่าต่อชีวิตและสังคม เพราะเป็นเรื่องที่ปัจเจกบุคคลหรือชุมชนพุทธนั้นๆ ควรจะบอกกับตัวเองมากกว่า

การศึกษาสงฆ์เป็นการศึกษาเพื่อสืบทอด “พุทธศาสนาแบบรัฐ” เป็นด้านหลัก โดยรับอิทธิพลการตีความพุทธศาสนาแบบสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เรื่อยมาจนถึงพุทธทาส และท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ต่อให้มีการศึกษาพุทธศาสนาถึงปริญญาเอก ก็เป็นการศึกษาที่เน้นไปที่การค้นหา “สัจธรรมสมบูรณ์” ในคำสอนพุทธศาสนา และเสนอสัจธรรมนั้นเป็นคำตอบให้กับชีวิตและสังคม แม้จะศึกษาเปรียบเทียบกับความรู้สมัยใหม่ทั้งปรัชญา วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ แต่ก็อยู่บนสมมติฐานที่ว่าสัจธรรมพุทธสูงส่งกว่า เพราะขณะที่วิพากษ์ “จุดอ่อน” ของแนวคิดอื่นๆ แต่กลับไม่เคยวิพากษ์จุดอ่อนของแนวคิดคำสอนของพุทธศาสนาเอง

ยิ่งกว่านั้น ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐในระบบการศึกษาพุทธศาสนาแบบทางการคือ “ประวัติศาสตร์กระแสหลัก” ที่ปราศจากการตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ชาวพุทธ “คนใน” ยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นในความเชื่อตามๆ กันมาว่า ระบบความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวระหว่างพุทธศาสนากับรัฐไม่ใช่ปัญหาในตัวมันเอง ปัญหาไม่ได้เกิดจาก “ตัวความคิด” ของพุทธศาสนาเอง และ “ระบบ” แต่เกิดจาก “คน” (ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง หรือพระสงฆ์บางคน บางรูป) ที่ใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือแสวงหาอำนาจ ยศศักดิ์กันเอง ดังนั้นแทนที่จะตั้งคำถามต่อตัวความคิดพุทธศาสนาและแก้ปัญหาที่ตัวระบบ โดย “แยกศาสนาจากรัฐ” ก็ควรที่จะแก้ที่ตัวบุคคลมากกว่า

แต่งานของนิธิชี้ให้เราเห็นว่า ปัญหาเกิดจาก “ระบบ” มากกว่า ดังเขาวิเคราะห์ในบทความ “พระร้องไห้ในระบบราชการ” (มติชนสุดสัปดาห์, 21-27 ธ.ค.2561) ว่า 

“ ส่วนหนึ่งของความเฉื่อยล้าของวงการพุทธศาสนาไทยน่าจะมาจากการที่ไม่ได้แยกศาสนาออกจากรัฐ และฐานะที่องค์กรศาสนากลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ ในขณะที่ศาสนาต้องตอบปัญหาของบุคคลซึ่งเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ระบบราชการตอบสนองต่อปัญหาของรัฐ ซึ่งเป็นธรรมดาที่ต้องรักษาจังหวะก้าวของความเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปอย่างช้าๆ เพื่อไม่ให้ช่วงชั้นทางอำนาจพังทลายลง ศาสนาจึงไม่อาจปรับตัวได้อย่างรวดเร็วเกินหน้ารัฐไปได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ ศาสนาย่อมสำนึกในความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อตอบสนองต่อบุคคล โดยไม่ต้องเกรงว่าจะกระทบต่อรัฐ ” 

ในทัศนะของฝ่ายที่รับอิทธิพลจากการศึกษาพุทธศาสนาแบบทางการ การแยกศาสนาจากรัฐอาจนำมาซึ่งความวิตกกังวลว่า พุทธศาสนาจะแตกออกไปหลากหลายนิกาย เพราะไม่มีอำนาจทางกฎหมายของคณะสงฆ์ส่วนกลางควบคุมการสอนและวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ และนั่นคืออันตรายหรือความเสื่อมของพุทธศาสนาจะมาถึงเร็วขึ้น

แต่ตามมุมมองแบบนิธิการแยกศาสนาจากรัฐ และความเป็นไปได้ที่พุทธศาสนาจะแยกหลายนิกายไม่ใช่ปัญหาในตัวมันเอง หากเป็นโอกาสที่พุทธศาสนาจะได้ปรับตัวตอบสนองต่อทุกข์ของปัจเจกบุคคลในบริบทโลกสมัยใหม่ได้ดีขึ้น 

ขณะที่ตามทัศนะแบบโลกวิสัย การมีหลายนิกายคานอำนาจกัน ย่อมดีกว่ามีนิกายเดียวผูกขาดอำนาจ ยิ่งมีหลายศาสนา หลายนิกายคานอำนาจกัน โอกาสที่ศาสนาใดศาสนาหนึ่งจะมีอิทธิพลกดดันให้รัฐยกขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติ หรือเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมืองยิ่งเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net