ล้มหลักสูตรครู 4 ปี ฉบับรัฐประหาร: สู่ความเป็นไปได้ของหลักสูตรครูคุณภาพ และสังคมการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ช่วงนี้ถือเป็นโค้งสุดท้ายของการเร่งรัดทำหลักสูตรครู 4 ปี ที่เป็นคำสั่งและเจตจำนงของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีเป้าหมายว่าหลักสูตรจะต้องผ่านกระบวนการทั้งหมดจนสามารถเปิดรับนักศึกษาได้ภายในปีการศึกษา 2562 นี้

ผู้เขียนเพิ่งมีโอกาสได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการวิพากษ์หลักสูตรครุศาสตร์ 4 ปี เมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา ช่วงเช้ามีการกล่าวต้อนรับโดยคนๆ หนึ่ง ทัศนคติของเขาไม่ต้องการรับฟังข้อโต้เถียง ถึงกับท้าทายอาจารย์ที่อาจไม่เห็นด้วยให้ไปออกรายการโทรทัศน์เพื่อให้สังคมตัดสิน ร้ายไปกว่านั้นก็คือ การเสนอให้คนที่คัดค้านไปลาออกกับอธิการบดีเป็นประชาชนทั่วไปแล้วมาวิจารณ์ 

การแปลงร่างหลักสูตรเป็น 4 ปีหรืออะไรก็แล้วแต่ ผู้เขียนไม่ได้ขวางความตั้งใจนั้นเลย เพราะต่างมองเห็นเป้าหมายเดียวกันนั่นคือ การผลิตให้ได้ครูที่มีคุณภาพ แต่สิ่งหนึ่งที่พบว่าเราแตกต่างกันมากเกินไปก็คือ การใช้วิธีการที่ผู้เขียนเห็นว่าไม่มีความชอบธรรม เนื่องจากฝ่ายพวกเขาเห็นว่ามีความพยายามมาอย่างยาวนานที่จะเปลี่ยนแปลงแต่ไม่สามารถทำได้ในระบอบการเมืองปกติ การรัฐประหารที่มอบให้อำนาจฝ่ายบริหารอย่างล้นเหลือจึงเป็นโอกาสที่เขาจะระดมทรัพยากรผ่านอำนาจที่เข้ามีผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เขาคาดหวังได้ นั่นคือ ที่มาของรีบเร่งที่จะผลักดันหลักสูตรครู 4 ปีให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลนี้ ในพื้นที่ที่เขามีอำนาจจะสั่งการ บังคับ และกะเกณฑ์ได้

นอกจากการดำเนินการที่ตรงข้ามกับวิถีประชาธิปไตยแล้ว กระบวนการอันรีบเร่ง หวังสร้างหลักสูตรมาตรฐานทั้งที่แต่ละแห่งมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปยังสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้หลักสูตรไม่ดีอย่างที่คิด ผู้เขียนมีข้อสังเกตเบื้องต้นจากการประชุมที่กล่าวถึงมาเบื้องต้น ดังนี้
    
1. การเข้าไปใช้ทรัพยากรโรงเรียน แต่โรงเรียนไม่ได้มีส่วนร่วมมาตั้งแต่ต้น  

โครงสร้างหลักสูตรแบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่ วิชาชีพครู วิชาทั่วไปและวิชาเอก ปกติแล้วส่วนวิชาชีพครูจะเน้นไปที่การฝึกสอนไปตามโรงเรียนในปีที่ 5 ในภาคเรียนที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่นักศึกษาได้รับการฝึกฝนให้มีความพร้อมต่อการเป็นครู ยังไม่นับว่าช่วงก่อนหน้านั้นชั้นปีที่ 3 และ 4 พวกเขาก็ได้เข้าไปโรงเรียนระยะสั้นๆ คือ การสังเกตการณ์สอนและการทดลองสอน ในหลักสูตรใหม่พวกเขาตัดเหลือ 4 ปี ทำให้ต้องบีบชั่วโมงให้น้อยลง เหลือฝึกสอนเพียง 1 ภาคเรียน โดยกระจายชั่วโมงเข้าไปโรงเรียนแบบใหม่ โดยใช้ระบบที่เรียกว่า School Integrated Learning (SIL) โดยนับตั้งแต่ SIL1 ตอนชั้นปีที่ 1 ไปจนถึง SIL4 ชั้นปีที่4 นั่นหมายถึงว่ากระบวนการนี้จะทำให้โรงเรียนได้รับผลกระทบโดยตรงจากการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรใหม่ ขณะที่พบว่าการร่างหลักสูตรนี้ โรงเรียนเองก็ไม่ได้มีส่วนในการวิพากษ์ในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง

ในช่วงเช้ามีวิทยากรผู้หนึ่งให้ความเห็นทำนองว่า ให้นึกถึงว่าโรงเรียนใกล้ตัวคือ โรงเรียนสาธิตของเรา การกล่าวเช่นนั้นได้ อาจตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่า คนผู้นั้นไม่ได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการฝึกสอนกับโรงเรียนที่รับนักศึกษาไปเลย การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน จำเป็นต้องใช้ศิลปะในการประสานงานสูง มิพักต้องกล่าวว่าทุกวันนี้โรงเรียนก็รับโครงการมหาศาลจากรัฐบาลไปแบกอย่างซ้ำซ้อน นโยบายเช่นนี้จึงเป็นการซ้ำเติมสร้างปัญหาใหม่ให้โรงเรียนเพิ่มขึ้น โดยที่โรงเรียนได้แต่รับคำสั่งไปปฏิบัติ ผู้เขียนทำนายว่า นโยบายนี้กระทรวงศึกษาธิการจะลอยตัว แต่ความขัดแย้งจะเกิดกับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่ส่งนักศึกษาไปฝึกสอนอย่างซึมลึก

2. การชดเชยให้กับนักศึกษาหลักสูตร 5 ปี และการเตรียมการรับมือกับภาวะนักศึกษาครูล้นตลาด

หากปีการศึกษา 2562 มีการใช้หลักสูตร 4 ปีจริง รัฐบาลจะชดเชยให้กับนักศึกษาที่เรียน 5 ปีมาอย่างไร ในฐานะที่พวกเขาเสียโอกาสจากการเรียนที่ยาวนานกว่า เรื่องนี้จัดการได้ แต่ต้องวางแผนและรักษาสิทธิ์ของนักศึกษาให้พวกเขาไม่เสียเปรียบ ยังไม่ต้องนับว่า ในปีการศึกษา 2566 ที่นักศึกษาหลักสูตร 4 ปีที่เข้าเรียนปี 2562 และหลักสูตร 5 ปีที่เข้าเรียนปี 2561 จะจบการศึกษาพร้อมกัน จำนวนบัณฑิตในปีดังกล่าวที่เข้าสู่สนามสอบครูผู้ช่วยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากถึงเท่าตัว กระทรวงศึกษาธิการได้คิดแผนแก้ไขปัญหานี้บ้างหรือไม่ 

3. ลักษณะสั่งการแบบบนลงล่าง โดยไร้การตรวจสอบถ่วงดุล

เรามิอาจปฏิเสธได้เลยว่าเราอยู่กับรัฐบาลเผด็จการที่มาจากรัฐประหารเป็นเวลามากกว่า 4 ปี การเปลี่ยนแปลงโดยการชี้นิ้วสั่งการ และอุบายการเมืองเช่นนี้อาจมีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย แต่อย่างน้อยในระบอบนั้น มันยังมีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจผ่านรัฐสภา และฝ่ายค้าน แม้จะยังไม่สมบูรณ์แต่ระบบดังกล่าวทำหน้าที่คานอำนาจของฝ่ายบริหารได้อยู่บ้าง ต่างกับ 4 ปีที่ผ่านมาที่เราจะเห็นการลุแก่อำนาจสั่งการนโยบายทางการศึกษา เราเห็นการใช้ มาตรา 44 เป็นเครื่องมืออาญาสิทธิ์ในการจัดการกับระบบการศึกษา แม้จะเป็นเจตนาดี แต่สุดท้ายแล้วกระบวนการที่ไร้การตรวจสอบมันได้สร้างผลไม้พิษให้กับระบบการศึกษาไทย ที่มีแนวโน้มจะมีลักษณะอำนาจนิยมมากขึ้นทุกที การผลักดันหลักสูตรครู 4 ปี ก็มีฐานความคิดไม่ต่างจากนี้ ด้วยเจตนาที่แสนดีของพวกเขา

4. อะไรคือปัญหาที่แท้จริงของการที่ครูไม่มีคุณภาพตามที่คาดหวัง?

เฉพาะจากที่ไปร่วมประชุม ไม่มีภาพของการถกเถียงเรื่อง "ความไม่มีคุณภาพ" ไม่มีการพูดถึงงานวิจัยที่เป็นหลักฐานในการรองรับ ไม่มีการกล่าวถึงสาเหตุที่เกิดจากการกลั่นกรองอย่างมีวิจารณญาณ มีแต่การย้ำตามสามัญสำนึกว่าการศึกษาไทยมีปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้ กำหนดมาว่าจะต้องทำอะไร อย่างไรมีตุ๊กตาอยู่ในใจมาแล้ว หลายท่านอาจยังไม่ทราบว่า ระหว่างนี้หลักสูตรต่างๆ ต้องทำร่างหลักสูตรรอไว้ทั้ง 2 แบบ นั่นคือ หลักสูตรครู 5 ปีตามเกณฑ์เดิม กับ หลักสูตรครู 4 ปี บางแห่งได้เข้าสภาวิชาการเพื่ออนุมัติหลักสูตร 5 ปีแล้ว แต่ก็ถูกเบรกไว้เพื่อหลีกทางให้กับหลักสูตรครู 4 ปี

ผู้เขียนไม่เถียงว่ามันมีปัญหาจริงในระบบการศึกษา แต่การไม่รู้จักจำแนกแยกแยะให้ชัดเจน ย่อมไม่นำไปสู่การแก้ไขได้ สุดท้ายมันก็จะเป็นเพียงหลักสูตรที่ทำไปตามยถากรรม ไม่ได้ตีไปที่แก่น ผู้ร่วมร่างหลักสูตร ไม่ได้เห็นปัญหาใหญ่ร่วมกัน จนเป็นพลังที่จะมุ่งมั่นร่วมกันได้

5. ข้อเสนอ ล้มหลักสูตร 4 ปี ฉบับรัฐประหาร และเริ่มนับหนึ่งหลักเลือกตั้ง

จนถึงบัดนี้ ยังไม่มีเหตุผลที่ฟังขึ้นได้เลยที่เราต้องเร่งรัดทำหลักสูตรที่ส่งความเปลี่ยนแปลงไม่น้อยต่อระบบการศึกษา หากนับตามรอบอายุของหลักสูตรแล้ว ยังมีเวลาอีก 4 ปีในการปรับปรุงหลักสูตร     เรื่องของหลักสูตรไม่ใช่เรื่องเชิงเทคนิคเนื้อหาแต่เป็นเรื่องกระบวนการร่วมกันของสังคม

ในมุมมองของผู้เขียนขอเสนอว่า เราควรยุติกระบวนการการจัดทำหลักสูตร 4 ปี ฉบับรัฐประหารนี้อย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ควรร่วมกันสร้างกลไกและพื้นที่สำหรับเปิดวงพูดคุยเรื่องปฏิรูปการศึกษา และให้หลักสูตรครูอยู่ในนั้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นเรื่องสำคัญมากในเรื่องนี้ 

การผลักดันเพื่อความเปลี่ยนแปลง ควรเกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสภาวะปกติ ที่อย่างน้อยต้องมี ตัวแทนโรงเรียน, ตัวแทนผู้ปกครองและตัวแทนเยาวชน อันเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรง นักการเมืองผู้ที่จะมีบทบาทผลักดันผ่านกลไกเชิงสถาบัน โอกาสที่เปิดกว้างนี้ต่างหากที่จะทำให้สังคมได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นตั้งแต่การระบุปัญหาการศึกษาร่วมกัน และช่วยกันตกผลึกถึงสาเหตุ และการนำไปสู่หนทางแก้ไข เรื่องหลักสูตรครูก็ควรเป็นหนึ่งในกระบวนการนั้น

เพราะครู และหลักสูตร มิได้เป็นผู้วิเศษที่ลอยอยู่เหนือสังคม และการเมือง การอยากได้ครูที่ดี หลักสูตรที่ดี ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ควรเป็นการร่วมกันสร้างกลไกและกระบวนการที่กว้างขวาง มิเช่นนั้นแล้วมันก็เป็นได้เพียงการหยิบเอาเปลือกโมเดลการศึกษามาสวมใส่อย่างรีบเร่ง จนสิ่งที่ได้มันไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่กลับเป็นการตอบโจทย์ความพึงพอใจของผู้ทำแค่เพียงเท่านั้น.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท