Skip to main content
sharethis

หลังจากนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ จากพรรคแอลดีพีประกาศว่าประเทศญี่ปุ่นต้องการให้มีคนต่างชาติเข้าไปทำงานมากขึ้นเพื่อชดเชยปัญหาการขาดแคลนแรงงานซึ่งจะยิ่งเป็นปัญหาหนักถ้าอัตราการเกิดของคนในประเทศลดลง แต่ผู้สนับสนุนพรรคสายอนุรักษ์นิยมจำนวนหนึ่งก็คัดค้าน ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ายังมีเรื่องสิทธิแรงงานที่ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น

ที่มาภาพ: Pixabay

28 ธ.ค. 2561 อัตราการว่างงานในญี่ปุ่นลดลงน้อยที่สุดในรอบ 25 ปี ขณะที่จำนวนงานสูงขึ้นมากที่สุดในรอบมากกว่า 44 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนได้ว่า ถ้ามีคนหางาน 100 คน จะมีจำนวนงานที่ต้องการรับเข้าทำงาน 160 ตำแหน่งงาน เรื่องนี้ทำให้รัฐบาลพรรคแอลดีพีภายใต้การนำของชินโซ อาเบะ ออกบัญญัติใหม่ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาเพื่ออุดช่องว่างความต้องการแรงงานโดยส่งเสริมให้มีคนจากต่างชาติเข้าไปทำงานมากขึ้น

อย่างไรก็ตามข้อเสนอของอาเบะก็มีการคัดค้านแม้แต่จากคนที่สนับสนุนพรรคแอลดีพีเอง หนึ่งในนั้นคือ เคน คาโตะ ผู้สนับสนุนพรรคแอลดีพีมาเป็นเวลายาวนาน เขาคัดค้านร่างบัญญัติที่จะอนุญาตให้คนต่างประเทศหลายแสนคนเข้าไปทำงานในญี่ปุ่นโดยบอกว่า "รัฐบาลฟังเสียงเรียกร้องจากการล็อบบี้ของกลุ่มธุรกิจมากเกินไปในช่วงที่เศรษฐกิจเข้มแข็ง แต่พวกเราต่างก็รู้ดีกว่าเศรษฐกิจจะไม่ได้ดีแบบนี้ไปโดยตลอดและพวกเราจะต้องเจอกับการที่มีคนงานต่างชาติหลายพันคนขณะที่ไม่มีงานมากพอให้ชาวญี่ปุ่นเอง"

จากการสำรวจของหนังสือพิมพ์ไมนิจิเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่ผ่านมาระบุว่ามีชาวญี่ปุ่นร้อยละ 55 ต่อต้านบัญญัติใหม่นี้ นอกจากนี้ การออกร่างบัญญัติตัวนี้ยังทำให้อาเบะมีคะแนนความนิยมลดลงร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 37 สื่อเซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์นำเสนอความคิดเห็นของผู้ขายของวัตถุมงคงแบบพุทธอย่างเคน คาโตะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขามีมุมมองต่อเรื่องแรงงานข้ามชาติในแบบที่ได้รับอิทธิพลจากผู้เสพสื่อเกี่ยวกับวิกฤตผู้ลี้ภัยยุโรป รวมถึงมีมุมมองในกลัวคนต่างวัฒนธรรม มองว่า "เป็นอันตราย" และใช้โวหารว่า "พวกเราควรจะต้องดูแลตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก"

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้มีการวางแผนและร่างบัญญัติมาเป็นเวลานานนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2561 แล้ว นักวิเคราะห์จึงมองว่าการเปลี่ยนแปลงข้อบัญญัติใหม่นี้คงเป็นไปได้ยาก

จุน โอคุมุระ นักวิเคราะห์การเมืองจากสถาบันเมจิเพื่อกิจการนานาชาติกล่าวว่ายังคงมีประชาชนชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งที่กลัวคนต่างชาติ คนที่พูดภาษาต่างจากพวดเขา ทำเสียงดังกว่าคนญี่ปุ่นทั่วไปและลืมวันที่จะต้องเอาขยะออกมาวางข้างนอกให้รถขยะมาเก็บ แต่พวกเขาควรจะเน้นการมองด้านบวกอย่างที่รัฐบาลพยายามทำ แต่การที่รัฐบาลอาเบะไม่ได้ทำให้ประเด็นนี้ดูมีผลบวกมากพอส่งผลให้เกิดความรู้สึกด้านลบในสื่อและในกลุ่มประชาชนทั่วไปที่กลัวคนต่างชาติอยู่แล้ว

โดยส่วนตัวโอคุมุระเองมองว่า ในหมู่ชาวต่างชาติคงมีคนที่ทำงานหนักและต้องการเข้าไปที่ญี่ปุ่นเพื่อหาเงินให้ครอบครัวหรือเพื่ออนาคตตัวเอง ไม่ใช่คนที่ดูเป็นคนร้ายแบบภาพจำต่อคนต่างชาติที่คนกลัว

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกปัญหาหนึ่งที่สื่อเซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์ระบุถึงเกี่ยวกับประเด็นการใช้แรงงานจากคนต่างชาติ ญี่ปุ่นเคยมีโครงการฝึกงานช่างเทคนิคซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2536 ซึ่งเป็นโครงการที่ระบุว่าต้องการช่วยเหลือให้คนจากประเทศกำลังพัฒนาได้เรียนรู้ทักษะหลังจากกลับจากญี่ปุ่นไปแล้ว แต่โครงการนี้ก็ถูกวิจารณ์ว่ามีช่องโหว่ทางกฎหมายให้บริษัทใช้ละเมิดสิทธิแรงงานได้เช่นการจ่ายค่าแรงต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ไม่จ่ายค่าล่วงเวลา และสภาพการทำงานและสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน นอกจากนี้ยังเคยมีกรณีที่คนฝึกงานจากต่างชาติเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการทำงานรวม 22 รายในช่วงปี 2557-2559 สภาพการทำงานย่ำแย่ถึงขนาดที่คนงานฝึกงานในหลายไซต์ก่อสร้างต้องหลบหนีออกมา

จากความคิดเห็นของประชาชนและความพยายามต่อคนงานข้ามชาติที่ผิดพลาดในอดีตทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามวางแนวทางหลายประการเพื่อทำให้คนข้ามชาติกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น เช่น สร้างศูนย์ให้คำปรึกษาใน 47 จังหวัดของญี่ปุ่นเพื่อให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติด้านต่างๆ ทั้งการสมัครธนาคาร จัดหาที่พักสิ่งอำนวยความสะดวก และจัดการเรื่องสัญญาของโทรศัพท์มือถือ

นอกจากนี้แนวทางของรัฐบาลญี่ปุ่นยังระบุอีกว่านายจ้างที่รับแรงงานข้ามชาติจะต้องมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าพวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแก๊งอาชญากรรม ไม่เคยมีประวัติบังคับลูกจ้างให้ลาออก และให้มีการจ่ายค่าแรงแบบเดียวกับคนงานญี่ปุ่นที่ทำงานหน้าที่เดียวกัน

มาตรการเหล่านี้อาจจะทำให้ลดความบาดหมางระหว่างคนต่างชาติกับคนญี่ปุ่นลงได้บ้างและทำให้คนงานต่างชาติมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่กรรมาธิการฝ่ายประเด็นแรงงานของสมาคมทนายความญี่ปุ่น โคสุเกะ โออิเอะ บอกว่าเขาอยากให้มีการดูแลคุ้มครองสิทธิของคนในที่ทำงานและในสังคมญี่ปุ่นมากกว่า เพราะเกรงว่าจะมีการกดขี่หาประโยชน์แบบเดิมอีกถ้าหากปล่อยให้การจัดการตกอยู่ที่ภาคส่วนเอกชนไปหมด รวมถึงต้องมีกฎหมายที่เป็นรูปธรรมและมีความโปร่งใส นอกจากนี้ยังวิจารณ์ว่าการจำกัดเวลาทำงานอยู่ในญี่ปุ่นได้ 5 ปี อาจจะทำให้แรงงานต้องถูกบีบให้กลับประเทศได้เมื่อเศรษฐกิจหดตัว

เรียบเรียงจาก

'We Need to Look After Our Own': Japan's Troubled Relationship with Immigration Faces Test With Guest Worker Programme, South China Morning Post, Dec. 27, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net