Skip to main content
sharethis

รายงานของเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum - WEF) ระบุว่าต้องใช้เวลาอีก 202 ปี จึงจะไม่มีช่องว่างในที่ทำงานระหว่างชายและหญิงทั่วโลก ‘ไอซ์แลนด์’ มีความเท่าเทียมระหว่างเพศอันดับดีที่สุด ‘ไทย’ อันดับที่ 73 ของโลก จาก 149 ประเทศ ด้าน ‘Equileap’ สำรวจบริษัท 3,000 แห่งในหลายภาคธุรกิจ จัดอันดับ 200 บริษัทส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ พบบริษัทที่ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศน้อยที่สุดคือ บริษัทด้านพลังงาน-บริษัทด้านอุตสาหกรรม-บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์

28 ธ.ค. 2561 รายงาน The Global Gender Gap Report 2018 ของเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum - WEF) ที่ออกเมื่อเดือน ธ.ค. 2561 ทำการสำรวจประเด็นความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ 149 ประเทศ ใน 4 ด้าน ประกอบด้วยการศึกษา สาธารณสุข การมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ และการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง

ข้อค้นพบที่สำคัญในรายงานฉบับนี้คือ แม้เรื่องความต่างระหว่าค่าจ้างชายหญิงปี 2561 จะดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560 แต่ช่องว่างระหว่างเพศในมิติอื่นๆ กลับห่างขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ เพราะสัดส่วนสตรีในแวดวงการเมืองและการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและการศึกษาลดลงมาก โดยเฉลี่ยแล้วต้องใช้เวลาอีก 108 ปี จึงจะไม่มีความไม่เท่าเทียมทางเพศในทุกด้าน แต่หากเป็นเรื่องความไม่เท่าเทียมในที่ทำงานต้องใช้เวลาอีก 202 ปี

และหากแยกเป็นรายภูมิภาคพบว่าทวีปยุโรปตะวันตกจะลดช่องว่างระหว่างเพศในภาพรวมทั้งหมดได้ภายใน 61 ปี เอเชียใต้ 70 ปี ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน 74 ปี ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง 124 ปี แอฟริกาที่อยู่ใต้ทะเลทรายซาฮารา 135 ปี ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ 153 ปี อเมริกาเหนือ 165 ปี เอเชียและแปซิฟิก 171 ปี

โดยประเทศที่มีความเท่าเทียมระหว่างเพศมากที่สุด 10 อันดับแรกได้แก่ 1.ไอซ์แลนด์ 2.นอร์เวย์ 3.สวีเดน 4.ฟินแลนด์ 5.นิคารากัว 6.รวันด้า 7.นิวซีแลนด์ 8.ฟิลิปปินส์ 9.ไอร์แลนด์ และ 10.นามิเบีย ส่วน 10 ประเทศรั้งท้ายได้แก่ 140.เลบานอน 141.ซาอุดิอาระเบีย 142.อิหร่าน 143.มาลี 144.สาธาณรัฐประชาธิปไตยคองโก 145.ชาด 146.ซีเรีย 147.อิรัก 148.ปากีสถาน 149.เยเมน

ในปีนี้นามิเบียสามารถไต่อันดับขึ้นมาถึงอันดับ 10 เพราะมีจำนวนผู้หญิงในรัฐสภาเพิ่มขึ้น ส่วนแอฟริกาใต้ซึ่งจัดอยู่ในอันดับที่ 19 มีความก้าวหน้ามากขึ้นด้านการสร้างความเท่าเทียมทางการเมืองแก่ผู้หญิง แต่พบว่าระดับความเท่าเทียมทางค่าจ้างระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายเลวร้ายลงเล็กน้อย ส่วนประเทศที่น่าสนในอื่นๆ ได้แก่อันดับ 51.สหรัฐอเมริกา 75.รัสเซีย 95.บราซิล 103.จีน 110.ญี่ปุ่น และ 115.เกาหลีใต้ เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยอยู่อันดับที่ 73 ลดลงจากอันดับที่ 40 ในรายงานที่จัดทำครั้งแรกเมื่อปี 2549 โดยในผู้มิภาคเอเชียและแปซิฟิกพบว่า 10 อันดับดีที่สุด ได้แก่ 7.นิวซีแลนด์ 8.ฟิลิปปินส์ 26.ลาว 39.ออสเตรเลีย 58.มองโกเลีย 67.สิงคโปร์ 73.ไทย 77.เวียดนาม 85.อินโดนีเซีย และ 88.พม่า

นอกจากนี้ยังพบว่าสัดส่วนผู้หญิงที่กำลังทำงานมีน้อยกว่าชาย อาจเป็นเพราะการใช้ระบบอัตโนมัติ (AI) กระทบต่องานที่เดิมเป็นงานของผู้หญิง รวมทั้งมีผู้หญิงน้อยมากในภาคที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นซึ่งต้องใช้ทักษะทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศกรรม และคณิตศาสตร์ (Science, Technology, Engineering and Mathematics - STEM) โดยเฉพาะงานด้านปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่มีผู้หญิงเพียงร้อยละ 22 ช่องว่างนี้สูงกว่างานที่ต้องใช้ทักษะเทคโนโลยีอื่นๆ ถึงสามเท่า

สำนักข่าว VOA ได้สัมภาษณ์ชาเดีย ซาฮิดี หัวหน้าทีมผู้เขียนรายงานนี้กล่าวกับ VOA ว่าสหรัฐฯ ร่วงลงไปหลายอันดับเนื่องมาจากความเท่าเทียมทางโอกาสทางเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น และยังขาดความเสมอภาคทางการเมือง ส่วนในประเด็นการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ตัวบ่งชี้ที่แย่สำหรับสหรัฐฯ คือรายได้โดยประมาณ กล่าวคือยังมีช่องว่างค่อนข้างกว้างมากระหว่างรายได้ของผู้หญิงในสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับรายได้โดยเฉลี่ยของผู้ชาย และในประเด็นความเท่าเทียมทางการเมืองระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย สหรัฐฯ ติดอันดับที่ 98 ในโลก และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยอย่างมาก

ซาฮิดีระบุว่าสหรัฐฯ ทำคะแนนด้านการเพิ่มขึ้นของโอกาสทางการเมืองของผู้หญิงเพียงแค่ประมาณร้อยละ 12.5 เท่านั้น ถือว่าต่ำกว่าระดับเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 22.3 แต่รายงานฉบับนี้ไม่ได้รวมเอาผลการเลือกตั้งกลางเทอมที่มีนักการเมืองผู้หญิงได้รับการเลือกตั้งมากขึ้นเข้าไว้ด้วย

จัดอันดับ 200 บริษัทส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ พบบริษัทที่ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศน้อยที่สุดคือ บริษัทด้านพลังงาน-บริษัทด้านอุตสาหกรรม-บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์

 

10 อันดับแรกที่ติด 200 อันดับดัชนี Equileap Gender Equality Global Report and Ranking 2018 ของ Equileap

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ต.ค. 2561 ดัชนี Equileap Gender Equality Global Report and Ranking 2018 ของ Equileap ที่ได้จัดอันดับบริษัทชั้นนำ 200 แห่งในประเด็นของความเป็นผู้นำที่ใส่ใจเรื่องความเสมอภาคทางเพศ โดยเป็นดัชนีที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้นักลงทุนมีฐานการตัดสินใจจากเกณฑ์มาตรฐานที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นการเงิน

ในการจัดอันดับดังกล่าว Equileap ได้สำรวจบริษัท 3,000 แห่งในหลายภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดมากกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยใช้หลักการวิจัยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากข้อปฏิบัติในการส่งเสริมสตรีของสหประชาชาติ (United Nations' Women's Empowerment Principles) โดยพิจารณาจากเกณฑ์มาตรฐานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเงินใน 19 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบในเรื่องความเสมอภาคทางเพศ เช่น ความเสมอภาคในเรื่องของอัตราจ้าง โอกาสสำหรับความก้าวหน้าในวิชาชีพ ความเสมอภาคทางเพศในเรื่องของผู้รับเหมาช่วง นโยบายการลาเพื่อครอบครัว และโปรแกรมต่อต้านการละเมิดทางเพศ รวมถึงการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน

ข้อค้นพบของดัชนีนี้ที่น่าสนใจได้แก่

- บริษัท 200 แห่งที่ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ เฉลี่ยแล้วมีผู้บริหารระดับสูงร้อยละ 34 ซึ่งสูงกว่าการจัดอันดับเมื่อปี 2560 ที่ร้อยละ 30

- จากการสำรวจบริษัทใน 23 ประเทศ พบว่าบริษัทในออสเตรีย, ญี่ปุ่น และไอร์แลนด์ ไม่ติดอันดับบริษัท 200 แห่งที่ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศเลย

- ในภูมิภาคอาเซียนมีแค่บริษัทจากสิงคโปร์เท่านั้นที่ติดอันดับบริษัท 200 แห่งที่ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ

- 3 อุตสาหกรรมที่ติดอันดับบริษัท 200 แห่งที่ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศมากที่สุดคือ บริษัทด้านการสื่อสารคมนาคมร้อยละ 32 บริษัทด้านการเงิน ร้อยละ 27 และบริษัทด้านสาธารณูปโภค ร้อยละ 21

- 3 อุตสาหกรรมที่ติดอันดับบริษัท 200 แห่งที่ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศน้อยที่สุดคือ บริษัทด้านพลังงาน ร้อยละ 6 บริษัทด้านอุตสาหกรรม ร้อยละ 9 และบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ 11

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net