Skip to main content
sharethis

'ชูชาติ ศรีแสง' อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โพสต์เฟสบุ๊คสงสัยปม 'นาฬิกาประวิตร' ผู้ที่จะล่ารายชื่อประชาชนเพื่อถอดถอนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกจากตำแหน่งจะดำเนินการตามกฎหมายฉบับใด แนะประชาชนที่จะลงชื่อไตร่ตรอง ถ้าข้อกล่าวหาตามคำร้องเป็นความเท็จและมีการนำไปยื่นต่อประธานรัฐสภา ผู้ลงชื่อในคำร้องอาจถูกดำเนินคดีในผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานได้

เมื่อวันที่ 30 ธ.ค 2561 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่านายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว Chuchart Srisaeng โดยระบุว่ามีข่าวว่านักเคลื่อนไหวที่มีการร้องเรียนกล่าวหาบุคคลอื่นบ่อยๆ จะล่ารายชื่อประชาชนจำนวน 20,000 คน เพื่อถอดถอนคณะกรรมการ ป.ป.ช. 5 ท่านออกจากตำแหน่ง กรณีที่มีมติว่าพยานหลักฐานจากการไต่สวนยังฟังไม่ได้ว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ มีความผิดฐานแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ จึงให้ยุติเรื่อง

อ่านรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 อย่างละเอียดแล้วไม่พบว่ามีบทบัญญัติที่กำหนดให้มีการถอดถอนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกจากตำแหน่งได้

การถอดถอนจากตำแหน่งมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 แต่ก็ไม่ได้ให้ใช้บังคับแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับได้อีก

จึงสงสัยว่าผู้ที่จะล่ารายชื่อประชาชนเพื่อถอดถอนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกจากตำแหน่งจะดำเนินการตามกฎหมายฉบับใด หรือเป็นเพียงข้ออ้างให้ประชาชนที่ไม่รู้กฎหมายหลงเชื่อเท่านั้น

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา 234 (1) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 45 บัญญัติไว้ทำนองเดียวกันว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อกล่าวหาว่ากรรมการ ป.ป.ช.ผู้ใดมีพฤติการณ์ ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยยื่นต่อประธานรัฐสภา พร้อมด้วยหลักฐานตามสมควร หากประธานรัฐสภาเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทําตามที่ถูกกล่าวหา ให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 50 บัญญัติว่า ให้ประธานศาลฎีกา แต่งตั้งคณะไต่สวนอิสระมีจำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน เพื่อทำการไต่สวน

มาตรา 56 เมื่อดําเนินการไต่สวนแล้วเสร็จ ให้คณะผู้ไต่สวนอิสระดําเนินการดังต่อไปนี้ 
(1) ถ้าเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้สั่งยุติเรื่อง และให้คําสั่งดังกล่าวเป็นที่สุด
(2) ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย
(3) ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา และมิใช่เป็นกรณีตาม (2) ให้ส่งสํานวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดําเนินการฟ้องคดีต่อศาลศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางเมือง

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าวสรุปได้คือ

1. ถ้ากรรมการ ป.ป.ช. ท่านใดมีพฤติการณ์ดังต่อไปนี้
1.1 ร่ำรวยผิดปกติ
1.2 ทุจริตต่อหน้าที่
1.3 จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
1.4 ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง 

2. ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20,000 คน สามารถเข้าชื่อกันพร้อมหลักฐานที่อ้างว่า กรรมการ ป.ป.ช. ท่านใดมีพฤติการณ์ข้อใดข้อหนึ่งในข้อ 1.1 ถึง 1.4 ยื่นต่อประธานรัฐสภาได้

3. ถ้าประธานรัฐสภาเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทําตามที่ถูกกล่าวหา ให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกา

4. เมื่อประธานศาลฎีกาได้รับเรื่องจากประธานรัฐสภาแล้วให้ประธานศาลฎีกาแต่งตั้งคณะไต่สวนอิสระขึ้นมามีจำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน เพื่อทำการไต่สวน

5. เมื่อดําเนินการไต่สวนแล้วเสร็จ ให้คณะผู้ไต่สวนอิสระดําเนินการดังต่อไปนี้ 
(1) ถ้าเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้สั่งยุติเรื่อง และให้คําสั่งดังกล่าวเป็นที่สุด
(2) ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย
(3) ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา และมิใช่เป็นกรณีตาม (2) ให้ส่งสํานวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดําเนินการฟ้องคดีต่อศาลศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางเมือง

นี่คือกระบวนการที่จะดำเนินการแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีพฤติการณ์ตามข้อใดข้อหนึ่งในข้อ 1 เท่านั้น ถ้าไม่มีพฤติการณ์ดังที่กล่าวมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากรรมการ ป.ป.ช. ท่านใดมีคำวินิจฉัยไม่เป็นไปตามที่คนบางกลุ่มคาดหวังเนื่องจากเชื่อตามที่สื่อมวลชนเสนอข่าวชี้นำตลอดมา ย่อมไม่อาจดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังที่กล่าวมาแล้วได้

หากมีการล่ารายชื่อประชาชนจริง ขอให้ประชาชนที่จะลงชื่อตรวจดูให้ดีว่า จะดำเนินการเรื่องอะไร ถ้าดำเนินการตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่กล่าวข้างต้น ก็ให้ตรวจดูคำร้องที่กล่าวหากรรมการ ป.ป.ช. ว่า เป็นการกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์อย่างไรและมีพยานหลักฐานตามสมควรที่มีเหตุอันควรสงสัยได้ว่า มีการกระทําตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ 

ถ้าไม่มีพยานหลักฐานดังกล่าว ก็คิดไตร่ตรองให้รอบคอบว่า ควรจะลงชื่อหรือไม่ เพราะถ้าข้อกล่าวหาตามคำร้องเป็นความเท็จและมีการนำไปยื่นต่อประธานรัฐสภา ผู้ลงชื่อในคำร้องอาจถูกดำเนินคดีในผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานได้

'ศรีสุวรรณ' โต้อดีตผู้พิพากษากรณีล่า 2 หมื่นชื่อเอาผิด 5 ป.ป.ช.

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์เฟสบุ๊ค ระบุว่าตามที่มีอดีตผู้พิพากษาได้ท้วงติงการตั้งโต๊ะให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาเข้าชื่อ 20,000 รายชื่อเพื่อเอาผิด 5 ป.ป.ช.ว่าอาจเข้าข่ายแจ้งความเท็จนั้น ไม่แน่ใจว่าท่านผู้นั้นอ่าน รธน.และกฎหมายฉบับใหม่ๆ ครบถ้วนแล้วหรือไม่ หรือเอาแต่เฉพาะที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจ แล้วยกมาเฉพาะบางมาตราเพื่อแก้ต่างให้ผู้มีอำนาจอย่างน่าฉงน ไม่สมกับการเป็นอดีตผู้พิพากษาที่สังคมเคารพนับถือ และทั้งๆที่เรื่องนี้นักกฎหมาย นักวิชาการ ประชาชนต่างวิพากษ์วิจารณ์และท้วงติงคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. กันทั้งประเทศ แถมท่านกลับมาขู่ ปชช.ว่าอาจเข้าข่ายแจ้งความเท็จ ทั้งๆ ที่ รธน.มาตรา 51, 63 และ 78 บัญญัติให้การคุ้มครอง ป.ช.ช.มีสิทธิตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐและสามารถฟ้องร้องเอาผิดข้าราชการ นักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐได้อยู่แล้ว โดยไม่มีความผิด

ส่วนข้อกล่าวหาของ ป.ช.ช.ที่เข้าชื่อกันก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ม.236 ประกอบ ม.234(1) บัญญัติไว้อยู่แล้วทุกประการ และถ้ากรรมการ ปปช.ทั้ง 5 คนมีความผิดจริงตามข้อกล่าวหาของประชาชนตาม ม.237(3) รัฐธรรมนูญ ม.235 วรรคสี่ ก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่าให้ผู้ถูกล่าวหาต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่และจะต้องพ้นจากตำแหน่งในที่สุด และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และอาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปีได้

ดังนั้นการที่ประชาชนจำนวนมากมาเข้าชื่อกันก็หวังจะให้ ป.ป.ช. มีบรรทัดฐานในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตามที่ประชาชนคาดหวังโดยการทำหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นที่น่าเชื่อถือศรัทธาและสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน และเรียกร้องให้ยึดมั่นต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเป็นที่ตั้ง โดยไม่เอนเอียงหรือตกเป็นทาสของผู้ถืออำนาจรัฐหรือมือที่มองไม่เห็นจึงเป็นประเด็นสำคัญมากกว่า ซึ่งท่านอดีตผู้พิพากษาซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของสังคมควรที่จะออกมาเป็นแกนนำในการสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายเสียมากกว่าการมาท้วงติงในสิ่งที่เด็กอมมือก็รู้ว่าคิดอะไรอยู่


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net