Skip to main content
sharethis

ซีรีส์บทสัมภาษณ์ชุดนี้คือการทำงานร่วมกันระหว่างประชาไทและเว็บไซต์ New Mandala ซึ่งเป็นโครงการที่จัดโดยวิทยาลัยเอเชียและแปซิฟิก Coral Bell มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เพื่อวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมไทยหลังการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560

โดยตอนนี้เป็นการสัมภาษณ์ในประเด็นรัฐไทยกับพระพุทธศาสนา รวมทั้งประเด็นเรื่องศาสนาพุทธในรัฐธรรมนูญ 2560 พูดคุยกับสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา และเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์เป็นเครื่องมือรับใช้อุดมการณ์รัฐและชนชั้นมาตลอด โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต ภายหลังการเลือกตั้งเชื่อว่าสิ่งนี้จะถูกดึงกลับมาใช้อีกครั้ง

มาตรา 67 ในรัฐธรรมนูญปี 2560 และการแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ คือการกระชับอำนาจของรัฐในการควบคุมสงฆ์ ซึ่งกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก

ในระยะยาวภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 จะนำไปสู่ความขัดแย้ง ทั้งในหมู่ชาวพุทธด้วยกันและชาวพุทธกับชาวมุสลิม

นับตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา รัฐไทยกับพุทธศาสนาต่างพึ่งพากันมาอย่างต่อเนื่อง พุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากรัฐ ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือส่งต่ออุดมการณ์รัฐไปยังประชาชน เป็นเช่นนี้เรื่อยมา แม้ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รูปแบบการปกครองสงฆ์จะเลียนแบบการแบ่งแยกอำนาจเช่นการปกครองรัฐ แต่สภาพดังกล่าวก็อยู่ได้เพียงไม่นาน

ในรอบปีสองปีหลังนี้ เห็นได้ชัดเจนว่าสถาบันสงฆ์และรัฐยิ่งกระชับความสัมพันธ์มากขึ้น นับจากการแก้ พ.ร.บ.สงฆ์ คืนอำนาจให้แก่พระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตังสมเด็จพระสังฆราชและมหาเถรสมาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 67 ที่ระบุว่า

‘รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น'

‘ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน  รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทําลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดําเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย’

นับเป็นการประนีประนอมกับกลุ่มพลังที่ต้องการให้บัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่อีกด้านหนึ่งก็สุ่มเสี่ยงต่อความบาดหมางระหว่างศาสนาและต่อเสรีภาพในการแสดงออก เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นต่อมาตรา 67 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ว่า

“สมัยก่อนบอกว่าส่งเสริมการปฏิบัติธรรม การอยู่ร่วมกันของต่างศาสนา อยู่ดีๆ กลายเป็นมาตรการป้องกันการบ่อนทำลาย โทนเสียงมันรุนแรงขึ้น พุทธศาสนารู้สึกอยู่ใต้อันตรายบางอย่าง รู้สึกถูกคุกคาม ต้องการอำนาจรัฐเข้ามาช่วยปกป้องคุ้มครอง เมื่อเป็นเช่นนี้มันก็อนุมานได้ว่ามันต้องไปกระทบหรือจำกัดศาสนาอื่นๆ อย่างช่วยไม่ได้ และการที่ต้องให้ชาวพุทธเข้ามามีส่วนร่วม พอมาถึงยุคนี้ มันไม่รู้ว่าหมายถึงชาวพุทธทุกคนหรือชาวพุทธบางกลุ่มที่รัฐเลือกมาแล้วให้เข้ามาช่วยร่วมมือกับรัฐในการปกป้อง ถ้อยคำที่ไม่ชัดเจนตรงนี้ก็ไม่มีคำอธิบาย มันทำให้ภาพลักษณ์หรือนโยบายเกี่ยวกับพุทธศาสนาในไทยอาจดูรุนแรงขึ้น”

กรณีพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือของรัฐ สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา เสนอว่ามีเรื่องที่รัฐเข้ามาจัดการอยู่ 2 เรื่องหลักๆ อย่างแรกคือการควบคุมไม่ให้มีกลุ่มทางศาสนาหรือคนกลุ่มใดก็แล้วแต่ ใช้ศาสนาเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐหรือเป็นภัยต่อความมั่นคง ในส่วนที่ 2 คือใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาชวนเชื่ออุดมการณ์รัฐ โดยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายสงฆ์ที่แก้ไขใหม่มีลักษณะของการกระชับอำนาจในการควบคุม แปลว่าเน้นหนักไปในเรื่องการป้องกันไม่ให้มีการใช้ศาสนาหรือพลังทางศาสนาในลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐหรือสิ่งที่เขานิยามว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

"ผมคิดว่าในแง่นี้เขากระชับอำนาจมากขึ้น เวลาเราพูดถึงเรื่องการปฏิรูปศาสนาในเมืองไทย ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา มันมีลักษณะการรวมศูนย์ การปฏิรูปคือการรวมศูนย์อำนาจ คือการควบคุม ณ วันนี้มีการควบคุมมากขึ้น ทั้งกฎหมายสงฆ์ที่แก้ไขใหม่และคำสั่งของสมเด็จพระสังฆราชที่ห้ามจัดกิจกรรมทางการเมืองในวัด พูดง่ายๆ คือปิดปากพระ"

พุทธศาสนาเครื่องมือของรัฐและชนชั้นนำ

ขณะที่ประเด็นการแก้ พ.ร.บ.สงฆ์ ที่คืนอำนาจการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชและกรรมการมหาเถรสมาคมให้แก่พระมหากษัตริย์ เบื้องต้นทั้งเข็มทองและสุรพศเห็นตรงกันว่า พระสงฆ์และชาวพุทธส่วนใหญ่น่าจะเห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐเข้ามาจัดการและปฏิรูปพุทธศาสนาให้กลับมาเป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธาอีกครั้ง

“แนวคิดของการใช้อำนาจตรงนี้คืออำนาจในการควบคุม แต่ปัญหามันซับซ้อนกว่านั้นคือว่าชาวพุทธหรือปัญญาชนพุทธก็มีความเห็นว่า ถ้าเป็นพระราชอำนาจโดยตรงในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชและกรรมการมหาเถรสมาคม จะสงบ จะไม่เป็นเครื่องมือของนักการเมือง จะไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งในวงการสงฆ์ ซึ่งในแง่นี้ก็ดูเหมือนจะเป็นจริง ดูเป็นความสงบ ความเรียบร้อย เหมือนความสงบ ความเรียบร้อย ภายใต้อำนาจของ คสช. แต่ในประวัติศาสตร์มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น” สุรพศ กล่าว

เนื่องจากในประวัติศาสตร์มักมีกลุ่มชาวพุทธอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยลุกขึ้นมาต่อต้าน แม้ว่าจะไม่อาจสู้อำนาจรัฐได้ก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้ามีอำนาจเด็ดขาดในการควบคุมพระสงฆ์แล้ว จะทำให้พระสงฆ์อยู่ในธรรมวินัย มีคำสอนที่ถูกต้อง และทุกอย่างจะราบรื่นตลอด สุรพศเชื่อว่าจะยังคงมีคลื่นใต้น้ำ เพียงแต่แสดงออกไม่ได้

ขณะที่เข็มทอง มองว่า พุทธศาสนาถูกเรียกใช้ทุกครั้งที่ประเทศไทยเกิดวิกฤต ตั้งแต่สมัยล่าอาณานิคม รัชกาลที่ 4, 5 และ 6 จนถึงการเกิดขึ้นของคอมมิวนิสต์ในไทย และครั้งนี้ก็เช่นกัน

"พุทธศาสนาถูกเรียกใช้ทุกครั้งที่ประเทศไทยเกิดวิกฤต ตั้งแต่สมัยล่าอาณานิคม รัชกาลที่ 4 5 6 ก็มีการตั้งคณะสงฆ์ไทย มีการปลุกอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีวิกฤตคอมมิวนิสต์ก็มีการปลุกอุดมการณ์ว่าคอมมิวนิสต์มาศาสนาหมด มีโครงการพระธรรมทูต มีการขอให้พระสงฆ์เทศน์ต่อต้านคอมมิวนิสต์"

“เรายังไม่พ้นวิกฤต ต่อให้มีการเลือกตั้ง ชนชั้นนำกุมอำนาจได้ ก็ยังไม่พ้นวิกฤต ผมคิดว่าสถาบันสงฆ์และพุทธศาสนาก็คงเข้ามาในลักษณะเดียวกันกับทุกครั้งที่เกิดวิกฤตและชนชั้นนำต้องการเครื่องมือ ต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่อุดมการณ์ ช่วยสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชน”

รัฐกระชับอำนาจในการควบคุมสงฆ์

เวลากล่าวว่าพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือของรัฐหมายความว่าอะไร สุรพศ แยกแยะเป็น 2 ประการ ประการแรกคือการควบคุมไม่ให้มีกลุ่มทางศาสนาหรือคนกลุ่มใดใช้ศาสนาเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐหรือเป็นภัยต่อความมั่นคง ประการที่ 2 คือการใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาชวนเชื่ออุดมการณ์รัฐ

“ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและกฎหมายสงฆ์ที่แก้ไขใหม่ มันมีลักษณะของการกระชับอำนาจในการควบคุม แปลว่ามันเน้นหนักไปในเรื่องการป้องกันไม่ให้มีการใช้ศาสานาหรือพลังทางศาสนาในลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐหรือสิ่งที่เขานิยามว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ” สุรพศ อธิบาย

ขณะที่เข็มทอง เสนอว่า รัฐประหารปี 2557 ถือเป็นจุดตัด หลังจากนั้นจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาใกล้ชิดกันมากขึ้น ซึ่งชัดเจนว่าเป็นการกลับมาของฝั่งอนุรักษ์นิยม คุณค่า และความเชื่อเก่าๆ ที่ได้รับการรื้อฟื้นกลับมา

ที่เป็นเช่นนี้ เข็มทองวิเคราะห์ว่าเพราะคณะรัฐประหารต้องแสวงหาความชอบธรรมและการสนับสนุน ซึ่งก็คืออำนาจด้านศีลธรรมและศาสนา ทำให้รัฐให้ความสำคัญกับศาสนาและสถาบันสงฆ์เป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายที่เกี่ยวกับพระสงฆ์ เช่น การเทียบวุฒิของพระสงฆ์ เป็นการยกสถานะการศึกษาของสงฆ์ หรือการเพิ่มแรงจูงใจ เพิ่มรางวัลให้กับพระสงฆ์ หรือการพูดถึงการปฏิรูปพุทธศาสนา แต่ตัวที่สำคัญที่สุดคือรัฐธรรมนูญไทยปี 2560 ที่ขยับความใกล้ชิดนี้เข้าไปอีก เขากล่าวว่า

“ถ้าบอกว่าจุดตั้งต้นคือการเรียกร้องให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ตอนนี้รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ขยับเข้าใกล้สถานะที่พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมากขึ้นเรื่อยๆ"

“รัฐอยู่เหนือสังฆะมาตลอดเวลา เป็นเหตุผลว่าทำไมคณะสงฆ์ไทยทำไมตั้งมหาเถรสมาคม เพราะช่วงรัชกาลที่ 4 และ 5 รู้แล้วว่าศาสนาพุทธสามารถกระตุ้นหรือชี้นำมวลชนจำนวนมากได้ เพราะฉะนั้นรัฐต้องการให้ศาสนาพุทธ โดยเฉพาะมหาเถรสมาคมหรือคณะสงฆ์ไทยเป็นองค์กรที่มีการจัดตั้งในระดับหนึ่ง เข้มแข็งในระดับหนึ่งพอที่ทุกคนจะอยู่ใต้องค์กรนี้ แต่ไม่เข้มแข็งพอจะลุกขึ้นสู้กับรัฐ"

กติกาที่ไม่เอื้อต่อเสรีภาพและความขัดแย้งหลังการเลือกตั้ง

เมื่อต้องเรียกใช้ ระยะห่างระหว่างรัฐและสงฆ์ก็จำเป็นต้องหดแคบลง ยิ่งเข้าใกล้ยิ่งเป็นการกระชับอำนาจ เพราะการปฏิรูปศาสนาในไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาคือการรวมศูนย์อำนาจและมีการควบคุมมากขึ้น สมเด็จพระสังฆราชหรือมหาเถรสมาคมสามารถใช้ดุลพินิจได้ว่ากิจกรรมแบบใดเป็นการเมืองหรือไม่ กิจกรรมใดเป็นภัยต่อศาสนาหรือต่อความมั่นคงของรัฐ และสามารถออกคำสั่งห้ามได้ การแก้กฎหมายสงฆ์หรือที่อ้างว่าปฏิรูปพุทธศาสนาในสายตาของสุรพศ ไม่ต่างอะไรกับการสร้างกลไกเพื่อควบคุมพระสงฆ์และควบคุมการใช้พุทธศาสนา

“การควบคุมนี้ ผมคิดว่าถ้าเปลี่ยนแปลงก็ไม่เอื้อต่อเสรีภาพ พูดง่ายๆ ผมคิดว่ามันจะเป็นเงื่อนไขของการต่อสู้ระหว่าง 2 ฝ่าย คือรัฐธรรมนูญที่ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) สร้างขึ้นก็ดี กฎหมายสงฆ์ที่แก้ไขใหม่ มันคือการกระชับอำนาจในการควบคุมพระสงฆ์ ควบคุมพรรคการเมือง กองทัพมีอำนาจมากขึ้นอะไรทำนองนี้ ถ้าพูดในเชิงหลักการมันเป็นการสร้างกติกาที่ไม่เสรีและเป็นธรรมมากขึ้น"

“กติกาแบบนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยกับอีกฝ่ายที่ต่อสู้ทางการเมืองโดยอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์และศาสนา ภายใต้กติกาที่ไม่เสรีและเป็นธรรม ฝ่ายหลังก็สามารถแสดงออกอย่างเต็มที่ว่าตนเองปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถเสนอความคิดและเหตุผลโต้แย้งภายใต้กติกาที่เสรีและเท่าเทียมกันได้ สิ่งนี้เป็นการวางกลไกหรือระบบที่จะเป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น”

สุรพศแสดงทัศนะอีกว่าด้วยระบบที่วางไว้นี้ ภายหลังการเลือกตั้งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้น ทั้งชาวพุทธด้วยกันและชาวพุทธกับมุสลิม

“สมมติหลังเลือกตั้ง มีการเรียกร้องให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ผมคิดว่าก็จะมีขบวนการชาวพุทธ ทั้งพระสงฆ์และชาวพุทธให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดก็แล้วแต่ที่อ้างศาสนามาหาเสียง เช่น พรรคเราจะบัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติหรือส่งเสริมศาสนา คุณมีเสรีภาพจะพูดได้เต็มที่ แต่ถ้าพรรคการเมืองไหนก็แล้วแต่เสนอว่าจะแยกศาสนาออกจากรัฐ อันนี้จะลำบาก มันจะนำไปสู่ข้อกล่าวหาโจมตีว่าทำลายพุทธศาสนาตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ว่าเป็นการบ่อนทำลายพุทธศาสนา"

“กลายเป็นว่าเรื่องศาสนาและการเมือง เราไม่สามารถอยู่ภายใต้กติกาที่เสรีและเป็นธรรมได้ และเสรีภาพทางศาสนาเราก็มีไม่ได้จริง เพราะเราไม่มีเสรีภาพในการพูด เสรีภาพทางศาสนากับเสรีภาพในการพูดเป็นของคู่กัน คุณสามารถพูดได้ว่าศรัทธาหรือไม่ศรัทธาอะไร คุณต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างไร คุณสามารถพูดได้ แต่ปัจจุบันมันถูกล็อกอยู่ เสรีภาพทางศาสนาไม่มีจริง เสรีภาพทางการเมืองไม่มีจริง คือตัวระบบจะเป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้ง ต่อให้ไม่เกิดขึ้นทันทีหลังเลือกตั้ง แต่ในระยะยาวต่อไปก็ต้องมีประชาชนที่อึดอัด มีพระสงฆ์ที่อึดอัดต่อสภาพที่ถูกบังคับลุกขึ้นมาจนได้"

“ในที่สุดผมคิดว่าระบบจะเป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธด้วยกันเองและอาจจะระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมด้วยในบางเรื่อง”

Thailand Unsettled

Thailand Unsettled EP.1 | พวงทอง ภวัครพันธุ์: ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตย’ หลังเลือกตั้ง

Thailand Unsettled EP.2 | จตุพร-สุริยะใส : ต่างขั้ว ต่างคิด แต่การปรองดองยังเป็นไปได้

Thailand Unsettled EP.3 | จตุพร-สุริยะใส : ผีทักษิณหรือรัฐธรรมนูญ คสช. ที่ขวางปรองดอง?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net