Skip to main content
sharethis

เริ่มต้นปี 2019 แล้ว ปกติคนเรามักจะมองชีวิตตัวเองทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาอยู่เสมอ หนึ่งปีผ่านไปเราผ่านพบกับอะไรบ้าง เรื่องดี เรื่องร้าย ผสมปะปนกันไป ชีวิตแต่ละชีวิตคงมีเฉดสุขทุกข์แตกต่างกันไป แต่ถ้าเปลี่ยนหนึ่งชีวิตเป็นหนึ่งหน่วยที่มีหลายชีวิตอยู่รวมกัน เรื่องเล่าของการทบทวบ 1 ปีที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไร

กองบรรณาธิการประชาไทพยายามที่จะทำอย่างนั้นอยู่เหมือนกัน เรานั่งประชุมกันสั้นๆ มอบหมายให้เพื่อนนักข่าวของเราแต่ละคนลองเสนอข่าว รายงาน หรือบทสัมภาษณ์ ที่คิดว่าเรื่องเหล่านั้นน่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่สิ่งที่ตลกคือ เมื่อทำทุกอย่างตั้งแต่เสนอ และออกเสียงว่างานชิ้นไหนควรอยู่ใน 10 ชิ้นงานที่เราอยากเสนอให้คนอ่านได้เห็นมันอีกสักรอบ ผลลัพธ์ที่ออกมา ไม่มีแม้แต่ชิ้นเดียวที่เรากล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่ามันคือ ข่าวดี

การรวบรวมครั้งนี้อาจจะไม่มีธีมที่ชัดเจนหรือโยงใยกันได้ว่าแต่ละเรื่องราวที่หยิบยกมานี้มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร แต่อย่างน้อยการเลือกแบบนี้ก็คงพอสะท้อนได้อยู่บ้างว่า เราให้ความสำคัญกับอะไร และนัยหนึ่งของการให้ความสำคัญคือการจดจำ และเมื่อทั้ง 10 เรื่องไม่ใช่ข่าวดี ก็ยิ่งต้องจดจำ

00000

รวมความไม่ควรตายของทหารรอบ 11 ปี เมื่อทหารแก่ไม่เคยตาย

ข่าวคราวความตายในรั้วค่ายทหารของบรรดาเหล่าทหารเกณฑ์ มีให้เห็นเป็นข่าวแทบทุกปี รายงานชิ้นนี้ประชาไทรวบสถิติการเสียชีวิตของทหารเกณฑ์ นายทหาร และนักเรียนเตรียมทหาร เท่าที่ยังสามารถค้นหาเจอตามรายงานข่าว ตั้งแต่ปี 2550 – 23 ส.ค. 2561 พบว่า เสียชีวิตไปแล้ว 14 ศพ 8 ศพถูกซ้อมทรมานโดยมีพยานหลักฐานเด่นชัด ที่เหลือยังคลุมเครือ และญาติไม่ติดใจ

สำหรับปี 2561 นี้ มีผู้เสียชีวิตในค่ายทหารเท่าทีเป็นข่าวมีทั้งหมด 4 รายด้วยกันคือ

พลทหารมูฮัมหมัดอีรฟาน เจ๊ะมะ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2561 ครอบครัวได้รับแจ้งจากครูฝึกว่า มูฮัมหมัดอีรฟาน เกิดอาการฮีทสโตรก ทางศูนย์ฝึกได้นำตัวส่งโรงพยาบาลเข้าห้อง ICU จนอาการดีขึ้น ต่อมาได้รับแจ้งจากครูฝึกอีกครั้งวันที่ 13 ก.พ. 2561 ว่าลูกชายถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอีกครั้ง เรื่องจากอาการป่วยกำเริบ และต่อมาได้เสียชีวิตในคืนนั้น

พลทหารกิตติศักดิ์ บุญมณี  3 มิ.ย. 2561 ญาติได้รับแจ้งจากค่ายทหารว่า เสียชีวิตเพราะติดเชื้อในกระแสเลือด เนื่องจากมีอาการเท้าแพลง และละเลยไม่ดูแลรักษาอาการให้ดี ญาติไม่ติดใจสาเหตุการเสียชีวิต

พลหทาร คชา  ถูกทหารเกณฑ์รุ่นพี่ 3 คน เรียกตัวไปซ้อมทรมานกลางดึกของวันที่ 21 ส.ค. 2561 จนหัวใจหยุด และต้องนำตัวเข้ารักษาพยาบาลที่ โรงพยาบาลมอานันทมหิดล สังกัดกรมการแพทย์ทหารบก ได้รับการยืนยันว่า พลทหารคชาได้เสียชีวิตแล้ว วันที่ 14 ก.ย. 2561  เมื่อเวลา 05.45 น. 

พลทหารไม่ทราบชื่อ ผูกคอตายในค่ายทหาร กองทัพเผยเหตุเพราะซึ่มเศร้า พล.ร.ท.เดชดล ภู่สาระ โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยถึงกรณีพลทหารรายหนึ่ง ของกองทัพเรือผูกคอตายที่ค่ายทหารในพื้นที่ จ.จันทบุรี ว่าทางกองทัพเรือขอแสดงความเสียใจกับญาติของพลทหารคนดังกล่าว และจะดูแลในเรื่องสิทธิกำลังพลให้ดีที่สุด โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นผู้ที่เสียชีวิตชื่อพลทหารเรวัต เพชรเรือง สังกัดอยู่ที่กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่1 กองพลนาวิกโยธิน โดยประวัติได้รับการรักษาที่กองร้อยพยาบาล ซึ่งจากการตรวจอย่างละเอียดของทางแพทย์ก็พบว่ามีอาการทางจิตเวช หรือโรคซึมเศร้า

1 ปี การตาย ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ บทเรียน และความคิดถึงที่ไปไม่ถึงความยุติธรรม

ข่าวใหญ่ของปี 2560 เห็นหนีไม่พ้นเรื่องการวิสามัญฆาตกรรมนักกิจกรรมชาวลาหู่ ชัยภูมิ ป่าแส เวลานั้นข้อถกเถียงต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งมีเพียงสิ่งเดียวที่สามารถให้ความกระจ่างกับคำถามทั้งหมดได้ คือภาพที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิด แต่เชื่อหรือไม่ หลักฐานชิ้นสำคัญนี้ไม่เหลืออยู่แล้ว กองทัพแจ้งว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2560 ไม่มีอยู่ในข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ในกล้องวงจรปิด 

ประชาไท ชวนดูบทเรียนของสังคมไทยจากระบบสอบสวนที่ญาติเข้าไม่ถึงหลักฐาน เจ้าหน้าที่ปกป้องกันเอง ความกลัวเจ้าหน้าที่สะท้อนรอยร้าวในชุมชน และแผลใจที่ยังไม่ตกสะเก็ด ชัยภูมิตายกระทบครอบครัวและชุมชน เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี ที่ทหารยิงนักกิจกรรมลาหู่เสียชีวิต

ที่มาภาพ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

กลไกพิเศษของยูเอ็นรับการร้องเรียน กรณีควบคุมตัว 'สิรภพ' จำเลยคดี ม.112 ที่ยาวนานสุด

สำหรับกรณีของ สิรภพ หรือ “รุ่งศิลา” นักเขียนและกวีการเมือง ซึ่งถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการเขียนบทกวีและเผยแพร่ข้อความในเว็บไซต์จำนวน 3 ข้อความ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  ซึ่งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเขา อธิบายว่า นับตั้งแต่การฝากขังครั้งแรกจนถึงสิ้นปี 2561 สิรภพถูกคุมขังมาแล้วจำนวน 1,643 วัน หรือราว 4 ปี 5 เดือน โดยยื่นประกันตัวกว่า 7 ครั้ง แต่ศาลทหารไม่อนุญาต คดีของสิรภพยังเป็นพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารยาวนานเป็นอันดับ 2 คือถูกดำเนินคดีมาแล้วจำนวน 1,560 วัน ตั้งแต่คดีถูกสั่งฟ้องเข้าสู่ชั้นศาล มีการสืบพยานโจทก์ไปได้เพียง 3 ปากในเวลาสี่ปีครึ่ง โดยพยานโจทก์ซึ่งเป็นพลเรือน 2 ใน 3 ปากนั้น ไม่มาศาลด้วยเหตุผลส่วนตัวต่างๆ รวมไปถึงเหตุที่อัยการไม่สามารถติดตามพยานมาได้ จนทำให้เกิดการเลื่อนสืบพยานถึง 7 ครั้ง หากคำนวณออกมาเป็นวันเวลาที่เสียไปแล้ว ก็นับว่าสิรภพต้องรอคอยให้มีการสืบพยานอีกครั้ง รวมทั้งสิ้นกว่า 637 วัน โดยคิดเป็นความล่าช้ากว่า 41 เปอร์เซ็นต์ของระยะเวลาตั้งแต่ถูกฟ้องคดี การพิจารณาที่ล่าช้าในศาลทหารประกอบกับการไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิเบื้องต้นที่ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียม ส่งผลกระทบสำคัญต่อชีวิตของจำเลยที่ต้องการต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง

“ลูกโป่งที่ลอยไปแล้ว” จากแม่ถึงการ์ตูน NDM

ไม่ได้มีแค่เพียงไผ่ ดาวดิน หรือจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เพียงเท่านั้นที่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ BBC Thai คนหนุ่มสาว รุ่นราวคราวเดียวกันอย่าง ชนกนันท์ รวมทรัพย์ หรือการ์ตูน ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกออกหมายจับจากการแชร์บทความดังกล่าว ทำให้เธอจำเป็นต้องเดินทางออกจากประเทศไทย แม้จะไม่ได้จะได้ถูกจองจำเหมือนกับไผ่ ดาวดิน แต่สำหรับแม่ของการ์ตูน เธอเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับลูกสาวในช่วงเวลานั้นคือ ลูกโป่งที่ลอยหลุดออกจากมือไป ยากที่ได้มันกลับคืน

แก้แล้วแย่กว่าเดิม?: ร่างใหม่พรบ.อุ้มหาย-ซ้อมทรมาน ที่ไม่สอดคล้องหลักสากล

14 ปีที่แล้ว วันที่ 12 มี.ค. 2547 คือวันที่ สมชาย นีละไพจิตร ถูกตำรวจห้านายผลักตัวขึ้นรถบนถนนรามคำแหง ขณะที่ตอนนั้นเขาเป็นทนายความให้แก่ผู้ต้องหาห้าคนในคดีก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยผู้ต้องหาทั้งห้าคนอ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทรมาน

กรณีการถูก ‘อุ้มหาย’ ของทนายสมชาย ไม่ใช่เพียงกรณีเดียวที่เกิดขึ้น ในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา องค์กร Protection International ระบุว่าประเทศไทยมีการบังคับบุคคลให้สูญหาย 90 กรณี มี 81 กรณียังไม่ได้รับการแก้ไข รวมถึงกรณีการอุ้มหายล่าสุดอย่าง พอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” นักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยง ที่หายตัวไปตั้งแต่เดือนเมษายน 2557 และกรณี เด่น คำแหล้ ประฐานโฉนดชุมชนโคกยาวที่ต่อสู้ในประเด็นที่ทำกินและหายตัวไปเมื่อเดือนเมษายน 2559 ที่ผ่านมา

ประชาไทชวนดูไทม์ไลน์ของ ร่าง พ.ร.บ. อุ้มหาย หรือ ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ว่าเหตุใดผ่านการแก้ไขมาหลายรอบ แต่ก็ยังไม่ผ่านเป็นกฎหมายเสียที และข้อกังวลต่อร่างใหม่ที่แก้ไขแล้ว ที่ล่าสุดอยู่ในการพิจารณาวาระ 2 ของ สนช. 

ดูโครงการพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับ กอ.รมน. ซ่อนความมั่นคงในนามการพัฒนา

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เคยมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ในสมัยสงครามเย็น หนึ่งในกลไกที่ทำงานสอดรับยุทธศาสตร์การพัฒนาคือโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่กระจายตัวไปทั่วประเทศ ปัจจุบัน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายพันโครงการทั่วประเทศยังมีอยู่และเดินหน้าต่อไป และ กอ.รมน. ยังคงมีบทบาทในการสานต่อแนวทางของโครงการในพระราชดำริอยู่ตามจังหวัดต่างๆ แม้ประเทศไทยไม่มีสงครามแล้ว ประชาไทได้สืบค้นโครงการในพระราชดำริที่เกี่ยวพันกับยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงในสมัยสงครามเย็น ความสัมพันธ์ระหว่าง กอ.รมน. และกองทัพที่มีกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อแสดงให้เห็นถึงเส้นทางยาวไกลที่ตัวแสดงทั้งสามได้เดินทางมาบนยุทธศาสตร์เดียวกัน และความสัมพันธ์ดังกล่าวยังทอดยาวมาถึงวันนี้ที่ไม่ได้มีการสู้รบแล้ว

กอ.รมน.มาดนิ่ม กอ.รมน.วัยทีน

ชวนดูจุดเริ่มต้นและการก่อรูปของอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่เกื้อหนุนสร้างความมั่นคงให้กับระบอบเผด็จการของสฤษดิ์และระบอบเผด็จการอื่นๆ ในเวลาต่อมา และแขนขาสำคัญยิ่งคือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่เป็นกลไกของอุดมการณ์ชุดนี้ แม้วัตถุประสงค์เริ่มต้นของ กอ.รมน. คือการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งถูกจัดว่าเป็น “ภัยความมั่นคง” ต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่เมื่อหมดยุคคอมมิวนิสต์ กอ.รมน. ก็ปรับตัวกลายเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงที่มีอำนาจเหนือหน่วยงานพลเรือน พร้อมรุกคืบงานหล่อหลอมอุดมการณ์ฯ ด้วยเครื่องมือด้านวัฒนธรรม

ปู่คออี้' ผู้นำอาวุโสกะเหรี่ยงแก่งกระจานเสียชีวิต อายุ 107 ปี ก่อนได้รับสินไหม

โคอิ มีมิ หรือที่รู้จักกันในชื่อปู่คออี้ ผู้นำอาวุโสกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงปกาเกอะญอผืนป่าแก่งกระจาน บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เสียชีวิตอย่างสงบเมื่ออายุ 107 ปี ปู่คออี้และสมาชิกครอบครัวชาวกะเหรี่ยงเคยอาศัยอยู่ที่บ้านบางกลอยบนหรือ “ใจแผ่นดิน” ในผืนป่าแก่งกระจานก่อนการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในปี พ.ศ. 2524 ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 เจ้าหน้าที่อุทยานให้ชาวบ้านอพยพลงมาอยู่ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย แต่ปู่คออี้ไม่ชินกับสภาพแวดล้อมจึงขอกลับไปอยู่ "บ้านบางกลอยบน" กระทั่งในปี 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำโดยชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้นไล่รื้อ เผาบ้านและยุ้งฉางแล้วพาปู่คออี้ลงมาอยู่พื้นที่ด้านล่าง เมื่อ 12 มิ.ย. 2561 ศาลปกครองสูงสุดมีคําพิพากษาให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมให้แก่คออี้เป็นเงิน 51,407 บาท

กรณีปู่คออี้สะท้อนปัญหาความเข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับใช้กฎหมายต่อประเด็นสิทธิทางวัฒนธรรมและที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่มาก่อนจะมีกฎหมาย และยังเกี่ยวพันกับการหายตัวไปอย่างมีเงื่อนงำของพอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวเมื่อเดือน เม.ย. 2557

ชวนดูความร่วมมือ ‘แม่โขง-ล้านช้าง’ กับความพยายามคุมเกมบนแม่น้ำโขงของจีน 

กระแสการเมืองระหว่างประเทศในแม่น้ำโขงมีความเชี่ยวกรากไม่แพ้กระแสน้ำ เมื่อผู้เล่นนานาประเทศทั้งในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและมหาอำนาจอย่างจีนเข้ามาใช้แม่น้ำในวัตถุประสงค์ต่างๆ ตามมาด้วยความพยายามคุมเกมผ่านกติการะหว่างประเทศ ประชาไทชวนทำความรู้จักที่มาของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง และความเห็นของนักวิชาการทั้งไทยและต่างชาติบนหน้าสื่อต่างๆ ที่มีต่อท่าทีของจีนที่ปฏิเสธกรอบความร่วมมือที่มีอยู่เดิมและสร้างกรอบความร่วมมือใหม่ขึ้นมาเองที่สะท้อนถึงความมุ่งหมายในการเป็นผู้คุมเกมบนแม่น้ำนานาชาติความยาวกว่า 4,800 กม.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net