Skip to main content
sharethis

2 ม.ค. 2562 กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออก ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา"พายุ “ปาบึก” (PABUK)" ฉบับที่ 9 ลงวันที่ 02 ม.ค. 2562 โดยระบุว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันนี้ (2 ม.ค. 62) พายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 6.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 108.0 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวน และเคลื่อนลงอ่าวไทยในช่วงวันที่ 2-3 ม.ค. 2562

และจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี ในช่วงค่ำของวันที่ 4 ม.ค. 2562 โดยจะมีผลกระทบต่อภาคใต้ในช่วงวันที่ 3-5 ม.ค. 2562 ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำทวมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ โดยมีผลกระทบดังนี้

ในช่วงวันที่ 3-4 ม.ค. 2562 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งกับมีลมแรงบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และสตูล

ในช่วงวันที่ 4-5 ม.ค. 2562 บริเวณภาคใต้จะมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กับมีลมแรงบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 3-5 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากลมแรง และคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งตั้งแต่วันที่ 2-5 ม.ค. 2562

ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวพยากรณ์อากาศ และประกาศเตือนภัยได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา https://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ประกาศ ณ วันที่ 2 มกราคม 2562 เวลา 17.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 2 มกราคม 2562 เวลา 23.00 น.

ด้านประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า แบบจำลองสภาพอากาศ (วาฟ-รอม) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) แจ้งสถานการณ์ล่าสุดของพายุปาบึก ว่า ขณะนี้พายุปาบึกยังเป็นพายุโซนร้อน ที่มีความเร็วลมอยู่ที่ 35 น็อตต่อชั่วโมง หรือประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่คาดว่าเมื่อพายุหันหน้าเข้าสู่บริเวณอ่าวไทยความเร็วลมจะเพิ่มขึ้น ซึ่งศูนย์อุตุนิยมวิทยาของประเทศญี่ปุ่นคำนวณไว้อยู่ที่ 55 น็อต หรือราว 90-95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งความเร็วลมดังกล่าวยังอยู่ในช่วงของพายุโซนร้อนอยู่ แต่เมื่อเปรียบเทียบความเร็วลมแล้วพบว่ามีความใกล้เคียงกับพายุโซนร้อนแฮเรียสที่เกิดขึ้นที่บริเวณแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ.2505 ซึ่งความเร็วลมของพายุแฮเรียสในขณะนั้นอยู่ที่ 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วลมขนาดดังกล่าว สามารถอาจจะทำให้เสาไฟฟ้าโค่นหักลงได้ ซึ่งการทวีความรุนแรงขึ้นดังกล่าว เป็นเหตุให้กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเปลี่ยนความรุนแรงของคลื่นจากสูง 2-4 เมตร เป็น 3-5 เมตร

“กรณีของพายุโซนร้อนปาบึกนี้ จะมีพื้นที่ที่มีฝนตกหนัก และเฝ้าระวังสูงสุด 4 พื้นที่ คือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี โดยมีฝนตกในช่วง 200-300 มิลลิเมตรต่อวัน ในวันที่ 4-5 มกราคม และอาจจะทำให้บางพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนสะสมอยู่ที่ 400-500 มิลลิเมตรได้” วาฟระบุ

วาฟระบุด้วยว่า ในวันที่ 3 มกราคมนั้นพายุปาบึก จะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ตอนล่างก่อน คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา วันที่ 4 มกราคม จะมีฝนตกหนักมากที่ จ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร วันที่ 5 มกราคม จะตกหนักมาก ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ และวันที่ 6 มกราคม จะเคลื่อนตัวมาตกหนักมากที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และอาจจะเลยมาถึง จ.เพชรบุรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สสนก. ได้เสนอให้มีการตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเฝ้าระวังปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ภาคสนามจาก สสนก.ได้ลงพื้นที่ เพื่อติดตั้งเครื่องมือทุกอย่างเตรียมปฏิบัติการแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net