"สิบคนยลตามช่อง":ส่องกระบวนการอ่านภูมิทัศน์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

Two men look out the same prison bars; one sees mud and the other stars.

-Frederick Langbridge-

 

สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม คนหนึ่งตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวพราย

 

-ฟ. ฮีแลร์-

 

 

“ภูมิทัศน์-Landscape” เป็นคำเก่าแก่ ปรากฏใช้ทั้งในโลกชีวิตประจำวันธรรมดาและโลกทางวิชาการ จึงมีทั้งความสำคัญ-ความน่าประทับใจและความกำกวม ดังได้กล่าวแล้ว

อ่านภูมิทัศน์อย่างไรดี: บทนำหนังสือ The intrepretation of ordinary landscape

แต่ก็น่าจะช่วยได้มากที่เราอาจสำรวจนิยามภูมิทัศน์กลุ่มนิยมแนวทางต่างๆ มาคลี่แผ่ใต้แสงไฟแห่งการพิจารณาและวิพากษ์วิเคราะห์ถึงสาเหตุฉากหลังที่อยู่เบื้องหลังการตีความการรับรู้ที่แตกต่างหลากหลายไม่เหมือนกันเลย ทั้งที่เกิดจากการอ่านการมองภูมิทัศน์ภาพเดียวกันที่มีรายการเหมือนกันมีสิ่งที่นับได้เท่าๆ กัน (ความหมายตรงไปตรงมา-denotation) ก็ตามที นั่นเป็นเพราะว่า “ภูมิทัศน์ไม่เพียงแต่อยู่ต่อหน้าเบื้องหน้า“ตา”เรา แต่อยู่เบื้องในฉากหลัง อยู่ใน“หัว”เราเองอีกด้วย” เมื่อเรามองภูมิทัศน์เฉพาะใดๆ ก็ตาม ผู้ดูจะผนวก“สัญญา”(บาลี.)-ความจำได้หมายรู้อุดมการณ์ประสบการณ์ของตัวเอง อาทิ ความเชื่อศรัทธา, คุณค่า, ความหวัง, ความกลัว และอื่นๆ ร่วมตีความภูมิทัศน์ของตนเสมอ ความหมายเชิงนัยยะ (connotation) ของภูมิทัศน์เดียวกัน (Same Scene) จึงอาจแตกต่างกันได้หลาย “version-เวอร์ชั่น” แต่ละเวอร์ชั่นเกิดตามมุมมองที่ผู้มองแต่ละคนสวมแว่นตาความคิดพื้นฐานหรือทิฐิต่างแบบต่างรุ่นกันไป Meinig ได้ทดลองสำรวจและนำเสนอแว่นตาแบบเฉพาะนี้ถึงสิบแบบที่ได้จากการสำรวจในบทความนี้ โดยท้ายสุดเมื่อตระหนักในธรรมชาติของมุมมองที่ต่างหลากหลายเพราะเหตุปัจจัยทางคติอุดมการณ์เขาก็ เตือนให้ระมัดระวังอคติประจำแว่นตาส่วนตัว และ เรียกร้องต่อความใจเปิดกว้างในเสรีภาพวิชาการสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนการเติมเต็มความหมายที่แตกต่างหลากหลายเหล่านี้

(ข้อสังเกตเบื้องต้น การวางลำดับภูมิทัศน์ของไมนิกน่าจะมีส่วนจากการวิวัฒนาการกระบวนทัศน์ (paradigm) ของคูนห์ ไม่มากก็น้อย-ดู-The Structure of Scientific Revolutions-Thomas Kuhn https://projektintegracija.pravo.hr/_download/repository/Kuhn_Structure_of_Scientific_Revolutions.pdf)

 

landscape as Nature.

นี่คือมุมมองที่เห็นว่างานของมนุษย์นั้นเมื่อเปรียบเทียบกับความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติซึ่งเป็นรากฐานมีความยั่งยืนถาวรกว่ามากนัก  นี่คือมุมมองดึกดำบรรพกาลเก่าแก่แกนอุดมการณ์แบบศาสนาที่ผ่านมาถึงยุคกลาง ผู้มองมีแนวโน้มที่จะหยิบเอามนุษย์ออกไปจากภูมิทัศน์ที่อยากให้คงความบริสุทธิ์ของธรรมชาติไว้ (พ.ร.บ.ป่าชุมชนฯไม่ผ่านสภาเพราะมุมแว่นเก่าแก่นี่เหมือนกัน) ครั้นล่วงเข้าศตวรรษที่ 18 อุดมการณ์โรแมนติคคิสม์ (Romanticism) แห่งศตวรรษสอดคล้องกับแว่นมุมธรรมชาติอันกว้างใหญ่ บริสุทธิ์ ความงามแห่งที่แท้จริงนี้  และมีส่วนสำคัญในการก่อกำเนิดของประดาวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาตินิยม (natural sciences) ในศตวรรษต่อมาที่ 19 – ภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา ธรณีสัณฐาน ปฐพีวิทยา ทรัพยากรธรณี ฯลฯ อย่างไรก็ตามข้อควรระวังสำหรับมุมมองนี้คือมีแนวโน้มที่เจือปนติดยึดอคติโหยหาอดีตโลกสวย (Romanticism/Nostalgia) ได้ง่าย  
แต่มรดกการอธิบายภาพแบบเอกภาพมากกว่าแบ่งแยกเป็นส่วนๆ ก็ยังใช้การได้ในปัจจุบัน

 

landscape as Habitat.

ในมุมมองนี้ “ทุกภูมิทัศน์บนโลกนี้คือบ้านของมวลมนุษยชาติ” ทุกสิ่งที่เห็นคือผลผลิตหรือลำดับต่อเนื่องของการดำรงอยู่ของมวลมนุษย์และความสัมพันธ์กับธรรมชาติที่ถูกปรับปรุงเพื่อสร้างผลิตภาพ โดยพื้นๆ แล้วภาพภูมิทัศน์ทั่วไปเช่น ผืนไร่นา ป่าไม้ หมู่บ้าน เมืองและ เขตชนบท ผ่านการปรุงแต่งคัดสรรจากมนุษย์ทั้งสิ้น เป็นแว่นตาที่เน้นภาพภูมิทัศน์ธรรมชาติและผู้คนในการปรับตัวเข้าด้วยกัน  และนี่ก็เป็นแว่นเก่าที่ขับเน้นเสน่ห์ความน่าประทับใจเช่นกัน มันคืออุดมการณ์ของความกลมกลืนระหว่างมนุษยชาติกับธรรมชาติ มนุษย์ผู้พิทักษ์ดูแลเพาะปลูกต้องจัดการธรรมชาติอย่างทะนุถนอมกล่อมเกลาก็จะได้รับผลผลิตอาหารความอบอุ่นของบ้านอันถาวร

ทุกภูมิทัศน์นั้นแน่นอนว่าเป็นส่วนผสมระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติกันทั้งสิ้น ทว่ามนุษย์ก็อาจทำลายทำผิดต่อธรรมชาติ แต่ในระยะยาว (หวังว่า?) มนุษย์ก็ค่อยเรียนรู้และธรรมชาติก็เยียวยาตัวเอง  แต่ภูมิทัศน์แบบนี้ก็ดูเหมือนเป็นการปรองดองที่ผิดปรกติบางอย่างต่อความสัมพันธ์แบบเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน (Symbiosis) ที่ก็ดำเนินมาล้านปีแล้ว

เช่นเดียวกันกับกรอบแว่น “ภูมิทัศน์ธรรมชาติ”ที่กรอบอุดมการณ์นี้ก็สร้างผลต่อเนื่องเป็นสาขาวิชาจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะช่วงแรกๆ ของศาสตร์เหล่านี้ อาทิ นิเวศวิทยามนุษย์, มานุษยวิทยาภูมิศาสตร์ (Human Ecology, Anthropogeography) รวมไปถึง วงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmentalism) ความสนใจชนบทศึกษาในยุโรปตำราภูมิชนบทฝรั่งเศสรวมถึง ภูมิโลกทัศน์ชาวนา หรือแม้แต่ประเด็นชาวนาสี่พันปีในจีนเร็วๆ นี้ที่ถูกอ้างถึงบ่อยในแง่แบบจำลองของการปรับตัวอย่างกลมกลืน หรือ แม้แต่ชาวนาเสรีชนก่อตั้งสหรัฐอเมริกายุคเจฟเฟอร์สัน (Jeffersonian yeoman) เหล่านี้เป็นตัวอย่างบางส่วนของความคิดแบบตะวันตกท่ามกลางหลายๆ ความคิดที่เกิดจากภาพผ่านแว่นกรอบนี้

รอบความคิดทั่วไปนี้ไม่ได้อยู่เฉยๆ เหมือนภาพชีวิต มันยังรวมถึงบางสิ่งที่มากกว่ารูปทรงที่ดึงดูดใจดังที่กล่าวแล้วถึงการทบทวนวรรณกรรมทางนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมศึกษา แต่กำลังของมนุษย์ที่กระทำต่อธรรมชาตินั้นมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นมากขึ้น, การสร้างธรรมชาติขึ้นใหม่ของมนุษย์อย่างน้อยก็มีผลให้ปรับมุมมองหรืออย่างมากก็เปลี่ยนมุมมองระดับพื้นฐานแว่นอีกกรอบที่ใครก็ใช้มองเห็นได้ นั้นคือ “ภูมิทัศน์ ในมุม ประดิษฐกรรม”- landscape as Artifact

 

landscape as Artifact.

มุมมองนี้คือมุมมองที่เห็นบทบาทมนุษย์นั้นอยู่ในทุกหนแห่งและธรรมชาติมีฐานะเป็นพื้นฐานฉากหลังเวทีประกอบ ดิน,ต้นไม้,สายน้ำไม่ไช่เรื่อง“ธรรมชาติ”ที่เหนือจากมนุษย์ ตัวอย่างมนุษย์ได้คัดสรรแล้วกระทำการต่อผืนดิน-สายน้ำ-ขุนเขาอันเป็นตัวอย่างธรรมชาตินั้นมีมากมาย ต่อแผ่นดิน-ไถพรวน,หยอดปลูก, เผาไร่,ใส่ปุ๋ย,กักน้ำ,คลุมฟาง ฯลฯ

- ต่อสายน้ำสปีชี่ส์ใหม่จากที่อื่น, ดักตกตะกอน, ขุดสันดอนร่องน้ำ, เขื่อน, ทำนบ,ฯลฯระบอบของมนุษย์สร้างผลกระทบมากมายมหาศาลต่อพื้นที่ชุ่มน้ำของพวกเขา (ตัวอย่างที่ดีมากของประเด็นย่อยนี้ให้ดู King (2011: 2-4) รีวิวประวัติศาสตร์การขุดคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยา-Waterscape)

- ต่อภูเขา มนุษย์ขุดค้นแร่ธาตุ เหมืองหิน, ตัดและเสริม (cut and fill), กำแพงกันสไลด์ 

- แม้แต่ภูมิอากาศที่ได้รับผลจากมนุษย์ทั้งทางอุณหภูมิ, ละอองฝุ่น, และ สารเคมีที่ปลดปล่อยสู่บรรยากาศซึ่งไม่สำคัญกับมนุษย์ที่อยู่ในห้องที่ปรับอุณหภูมิสภาพต่างๆ อย่างเหมาะสม

ในมุมมองเชิงอุดมการณ์นี่คือแว่นที่เห็นมนุษย์เป็นใหญ่ไม่เพียงปลดปล่อยแต่ยังอาจพิชิตธรรมชาติ แม้ว่าอุดมการณ์นี้มีรากเหง้าลึกในประวัติศาสตร์เช่นเดียวกันแต่ก็เพิ่งผลิดอกออกผลอย่างสำคัญในช่วงเวลาไม่นานมานี้เอง  วิทยาศาสตร์เห็นว่ามนุษย์คือปัจจัยสำคัญอันดับแรกที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (ecologically dominant) (ยุคมนุษย์-Anthropocene/ยุคทุน-Capitalocene) ศตวรรษที่ยี่สิบเป็นยุคแห่งวิศวกรรมปรับแต่งกายภาพโลกและยุคแห่งพันธุวิศวกรรมปรับแต่งพันธุกรรมสิ่งมีชีวิต ทว่าความบันดาลใจของวิทยาศาสตร์นั้นลึกเกินกว่าแค่ลัทธิมุ่งอรรถประโยชน์ (utilitarian)และการแสดงออกแบบครอบครองครอบงำ (manipulative expression) สำหรับนักวิทยาศาสตร์แล้วแรงขับเคลื่อนอันแท้จริงคือ “ความรู้ความเข้าใจ”ในตัวเองไม่ใช่อรรถประโยชน์  การเยี่ยมชมเข้าไปในพรมแดนแห่งการสำรวจอันไม่สิ้นสุดของโลกที่อาศัยอยู่ที่เหนือกว่ามุมมองและฉากนี้คือการเห็นเข้าใจถึงการไหลเวียนเชิงระบบ

 

landscape as System.

กรอบแว่นวิทยาศาสตร์ใหม่ (New Science-ทศวรรษ1970) อาจมองเห็นความยิ่งใหญ่และสลับซับซ้อนของระบบ ต้นไม้ แผ่นดิน ถนน อาคาร มนุษย์ ฯลฯ ว่าต่างไม่ได้เป็นวัตถุเฉพาะตัว ทว่าต่างมีบทบาทในการไหลเวียนของปรากฏการณ์ของอนุภาคธาตุและห่วงโซ่คล้องสัมพันธภาพ ซึ่งก็เห็นได้ยากจากการมองแบบปรกติ ต้องเป็นจิตใจที่มองแม่น้ำไม่เห็นแม่น้ำแต่เห็นเป็นการไหลส่วนหนึ่งของวงจรป้อนกลับของน้ำและสารประกอบ, เป็นตัวกลางในการขนส่งปริมาณสารในอัตราที่คำนวณหาปริมาณในช่วงเวลาได้, หรือ แรงที่กัดเซาะแผ่นดินที่ตรวจวัดคาดคำนวณได้ ต้องเป็นตาที่มองต้นไม้ไม่เห็นต้นไม้ในแง่จำแนกอนุกรมวิธาน ขนาด สี หรือโฉมหน้าทางชีววิทยา แต่เห็นเป็นโรงงานทางเคมีอันทรงประสิทธิภาพจากพลังงานแสงอาทิตย์ในการดำเนินวงจรส่วนหนึ่งของวัฏฏะจักรน้ำและการเปลี่ยนถ่ายพลังงานทางชีววิธีระหว่างปริมณฑลหิน (lithosphere) กับปริมณฑลบรรยากาศ (atmosphere)  นี่คือแว่นมองภูมิทัศน์สมดุลพลวัตในระบบที่ปัจจัยต่างไหลปะทะสังสรรค์ (พบ แลกเปลี่ยน เปลี่ยนแปลง และแยกจากกัน) ตลอดเวลา มนุษย์ยืนหยัดอยู่ในระบบนี้ด้วยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจมองเชิงโครงสร้างได้ง่ายในแง่มนุษย์ในฐานะหน้าที่ใช้สอย (function) และโครงสร้างนามธรรมของระบบสังคมเศรษฐกิจ

กรอบนี้เป็นผลผลิตของวิทยาศาสตร์ทั้งหมดการมองกรอบนี้ไม่ง่ายสำหรับผู้ที่ไม่ได้เรียนฝึกรู้มา แต่ก็เป็นกรอบที่ยิ่งทวีกำลังการอรรถาธิบาย การเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์แบ่งแยกแล้วกลับมารวมกันในแง่การสังเคราะห์เมื่อสิ่งต่างรวมกันใหม่ก็จะให้หนทางที่เราจะเข้าใจมันได้อย่างลึกซึ้งขึ้นในระดับชั้นใหม่ อนันตลักขณาปฏิสัมพันธ์ (interrelationships)  คล้ายกับวิทยาศาสตร์สังคมที่หยิบยืมวิธีวิทยาจากวิทยาศาสตร์กายภาพอย่างมุ่งให้ดีไปกว่าในการค้นหาความเป็นจริงไม่เพียงแค่ศิลปศาสตร์ที่ตอบสนองเฉพาะปัจเจกบุคคลแต่มุ่งถึงความเข้าใจความเป็นจริงมวลรวมของพฤติกรรมทางสังคม

ในขณะที่มุมมองอื่นทำได้แค่มองรูปด้าน (façade) ทว่าแว่นนี้ช่วยแทรกเข้าไปเห็นการไหลเวียน,โครงข่าย, ปฏิสังสรรค์, สิ่งป้อนเข้าและผลผลิตของศูนย์ประสานเนื้อเยื่อเซลล์ขนาดมหึมา (immense input-output matrix)  เพื่อเพิ่มเติมภาคขยายให้เกิดความเข้าใจง่ายขึ้น “ความจริง”จากมุมนี้ยังประกอบไปด้วย ไดอะแกรม สูตรคำนวณ แผนผังโครงสร้าง มันคืออุดมการณ์หนึ่งที่มีนัยชะตากรรมของมนุษย์ให้ได้ประจักษ์กับมุมมอง “สัพพัญญู” (omniscient) ที่ในที่สุดมนุษย์จะอาศัยพลังแห่งความรู้ขยายปลดปล่อยความเข้าใจจากภูมิทัศน์ที่วางอยู่ตรงหน้าที่ถึงที่สุดด้วยวิทยาการเราจะรู้จริงรู้แจ้ง

แต่ก็แน่นอนที่ว่าเรายังห่างไกลจากการรู้พอจนกระทั่งมองภูมิทัศน์เป็นห้องทดลองสังเกตการณ์หรือสถานีทดลอง  เพราะว่าวิทยาศาสตร์โดยธรรมชาติของศาสตร์ต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะตัว, และยังไม่มีใครมีพหุสัพพัญญูที่จะตั้งคำถามหรือเลือกสรรภูมิทัศน์ที่จะตอบต่อความเป็นห้องทดลองตามคำถามนั้นโดยความเชี่ยวชาญเฉพาะเต็มที่ได้ แต่ดวงตาที่เห็นการไหลเปลี่ยนแปลงของนักธรณีสัณฐานวิทยาหรือนักจิตวิทยาสังคมก็เหมือนจะมีอำนาจเลือกสรรแบบเดียวกัน, ที่อาจเห็นลักษณะทั่วไปท่ามกลางลักษณะเฉพาะ,เพื่อสร้างคุณภาพทางนามธรรมที่ตอบสนองวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกัน  เพราะว่าทุกการค้นคว้าเช่นนั้นต้องการการตรวจสอบทบทวนในแง่นี้ภูมิทัศน์จึงไม่ดีไปกว่าพื้นที่ทดลอง แต่นี่คือมุมของนักวิทยาศาสตร์ผู้วิจัยพื้นฐาน(basic research) มุมมองต่อไปใช้เครื่องมือมองที่คล้ายกันมากทว่าด้วยการมองต่างออกไปพวกเขามองเห็นมองหาซึ่ง
“ปัญหา”

landscape as Problem.

นี่ยังคงเป็นมุมมองแบบวิทยาศาสตร์ทว่าเป็นมุมที่ไปมากกว่าเพียงการพยายามทำความเข้าใจให้ดีขึ้น มันคือมุมของความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา

 

                  


มันเป็นมุมที่เห็น เช่น ภูเขาหน้าดินถูกกัดเซาะถล่ม น้ำป่าเอ่อท่วม ป่าหัวล้าน ไม้ยืนแห้งตาย ไร่นาพังพินาศ มลพิษอุตสาหกรรม เมืองแผ่กระจายไร้ทิศทาง ป้ายโฆษณาชวนเชื่อ ; ขยะและฝุ่นผง หมอกพิษและน้ำเน่า การจราจรติดขัดและยุ่งเหยิง และท่ามกลางภูมิทัศน์แบบนั้นคือประชาชนที่ต้องเอาตัวรอดหรือแค่เอาจิตวิญญาณให้รอด สำหรับบางคนแล้วภูมิทัศน์แบบที่กล่าวมาก่อนไม่พอเพียงแค่จะเห็นสนามทดลองของภววิสัยไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เพียงพอต่อความต้องการของมนุษยชาติ ทุกภูมิทัศน์คือเสียงประท้วงเกรี้ยวโกรธคือการเตือนภัย  ภูมิทัศน์คือกระจกเงาส่องความป่วยไข้ของสังคมและวิกฤติการณ์ที่เรียกร้องความเปลี่ยนแปลงถอนรากโคน  มันคือแว่นของนักกิจกรรมทางสังคม เช่น บทกวี “Silent Spring” ใบไม้ผลิอันเงียบงัน ของ ราเชล คาร์สัน (หรือนิทรรศการภาพถ่ายของ เซบาสเตียว ซาลกาโด)

ในขณะที่ผู้ที่กระตุกเตือนให้เรามองสัญญาณภัยน่าจะได้แก่ชุมชนรัฐศาสตร์การเมืองคือปีกที่เห็นภูมิทัศน์ของปัญหาและยังมีอีกกลุ่มซึ่งไม่ได้ตระหนักในปัญหาประชาสังคมมากเท่า นั่นคือกลุ่มวิชาชีพออกแบบที่มองหาปัญหาในทุกภูมิทัศน์เพื่อที่จะได้ลงมือออกแบบเสียใหม่-ปีกที่แก้ปัญหา ปัญหาทางประโยชน์ใช้สอยหรือปัญหาทางสุนทรียภาพหรือทั้งสองประการรวมกัน  แต่ในความเป็นจริง มันไม่ใช่ว่าทุกภูมิทัศน์ต้องมีวิกฤติการณ์ปัญหา อันที่จริง มุมมองนี้ใกล้เคียงมากกับมุมมองภูมิทัศน์เช่นประดิษฐกรรม (landscape as Artifact) ส่วนแตกต่างก็คือวาทกรรมการออกแบบการควบคุมและการจัดการแนวนโยบายผังแม่บทที่พัฒนาเพิ่มเติมขึ้น

ในขณะที่นักปฏิบัติการทางสังคมใช้การสื่อสารมวลชนเป็นเครื่องมือแสดงด้านที่เลวร้ายที่สุดที่เห็นจากภูมิทัศน์ ฝั่งนักออกแบบก็จะแสดงผังสเกตช์และวาดทัศนียภาพจินตภาพถึงภูมิทัศน์ที่ถูกแก้ไขด้วยทักษะทางศิลปะและเทคโนโลยี  ในมุมนักออกแบบเขาไม่ได้แค่แก้ไขปัญหาให้ภูมิทัศน์เท่านั้น อันที่จริงงานอีกส่วนหนึ่งของเขาคือการสร้างมูลค่าเพิ่มความมั่งคั่งให้กับภูมิทัศน์

 

landscape as Wealth.

ใครก็ตามที่ติดนิสัยที่เมื่อมองภูมิทัศน์แล้วมักประเมินราคาตีค่าเป็นตัวเงิน นี่คือมุมมองนี้

มันเป็นมุมมองที่ครอบคลุมมุมมองหนึ่ง  สำหรับทุกอย่างแล้วมันสามารถประเมินราคาในตลาดทางเศรษฐศาสตร์ได้เสมอ (การพัฒนาการยั่งยืนยังมีเศรษฐมิติเป็นเสาหลักหนึ่งในสามเลย) และมันสมเหตุสมผลและเป็นระบบแม้ในสภาวะของการเปลี่ยนแปลงการประเมินค่ายังตรวจสอบตัวเองได้เสมอจากตลาดเอง เช่นเดียวกับมุมมองแบบวิทยาศาสตร์ (Landscape as System) คือสามารถเจาะทะลุเข้าไปลึกซึ้งกว่าฉากภาพที่เห็นตรงหน้าและสามารถเห็นคุณสมบัติเชิงนามธรรม  มันต้องการความเชี่ยวชาญทางภูมิศาสตร์แบบที่มีผัสสะอันว่องไวของการประเมินภูมิทัศน์จากบริบททำเลที่ตั้งคุณภาพของชุมชนการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและโอกาส แม้จะ สนใจมิติเวลาอายุจากการคาดการณ์ถึงค่าเสียโอกาส,ความล้าสมัย,ความทันสมัย,แนวโน้มค่านิยมอย่างมากกว่าความสนใจทางประวัติศาสตร์ในตัวเอง

ทรัพย์สินสาธารณะ-โรงเรียน, หอสมุด, ถนน, สวนสาธารณะ, อ่างเก็บน้ำ, สถานีจัดการขยะ- ต่างอยู่ในระบบการประเมินในฐานะสิ่งแวดล้อมของที่ตั้ง เช่นเดียวกับลักษณะเด่นทางภูมิศาสตร์ ภูเขา ต้นไม้ หุบเขา ในฐานะวิวที่มีราคา-มุมมองจากที่ตั้งอสังหาริมทรัพย์นั้น ที่สำคัญคือผู้คนที่อาศัยอยู่ในย่านย่อมถูกประเมินไปด้วยที่ไหนที่คนรวยคนจนอยู่ที่ไหนที่เป็นที่ทำงานที่ใช้ชีวิตล้วนมีผลต่อการประเมินทรัพย์สิน

นี่เป็นมุมมองภูมิทัศน์ที่มองไปในอนาคต สำหรับราคาตลาดนั้นเปลี่ยนแปลงตามแนวโน้มในระยะสั้นในมุมของนักเก็งกำไรแต่ก็เป็นความสามารถของนักพัฒนาเช่นกันซึ่งในแง่นี้วิชาชีพภูมิสถาปนิกก็คือผู้ทำงานร่วมกับนักพัฒนา  ด้วยความที่ภูมิสถาปนิกต้องการออกแบบเพื่อแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น (landscape as problem) ก็อาจมองนักพัฒนาในแง่เห็นแก่ตัว นี่คือจุดที่ต้องระมัดระวังสัญชาติญาณส่วนตัว

สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา ภูมิทัศน์แห่งความมั่งคั่งนี้สะท้อนถึงหลักการความเชื่อมั่นในอุดมการณ์ทุนนิยมของประเทศนี้  มุมมองนี้สะท้อนถึงสังคมที่เชื่อมั่น ในการค้า (commercial), ความเปลี่ยนแปลง (dynamic), ปฏิบัติการ (pragmatic), และการคิดวิเคราะห์เชิงปริมาณ ในภูมิทัศน์และสะท้อนกลับกัน คล้ายกับสายตาของผู้นั่งบนยอดเขาที่มองเห็นอุดมการณ์ที่ซ่อนตัวสะท้อนอยู่

 

landscape as Ideology.

ไม่เฉพาะนักวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่มองทะลุภูมิทัศน์ที่เห็นได้ชัดเจนไปเห็นปัจจัยต่างๆ ที่ไหลเวียนในกระบวนการเชิงระบบ  กลุ่มนักปรัชญาทางสังคมวัฒนธรรมก็มองทะลุไปเห็นเบาะแสของสัญลักษณ์ที่สังคมปะทะสังสรรค์ให้คุณค่า, การสื่อสารความคิดของรัฐ เช่นกัน  คล้ายกับมุมมองภูมิทัศน์เชิงปัญหา (Landscape as Problem) ที่เห็นความขัดแย้งวุ่นวาย (disorder), ความยุ่งเหยิง (clutter), ความไม่ลงรอย (incongruity), ความแออัดเรื้อรังคับคั่ง(congestion), มลภาวะ(pollution), แผ่ขยายกินบริเวณอย่างไร้ระเบียบ (sprawl), การทิ้งร้าง (dereliction) ท่ามกลางประกายแห่งความมั่งคั่ง  นี่คือสิ่งที่จะเห็นในภูมิทัศน์อเมริกันที่ตีความจากค่านิยม อาทิ เสรีภาพ, อิสรภาพของปัจเจกชนและการแข่งขันเสรี, อรรถประโยชน์นิยม, อำนาจนิยม, ความทันสมัย, ความพัฒนา,การมองเห็นจากแว่นภูมิทัศน์ดั่งอุดมการณ์ (Landscape as Ideology)

แต่แม้ว่าจะไม่เห็นในฐานะของปัญหา (landscape as Problem) แต่ไม่ได้หมายความว่าการมองมุมนี้ไม่เห็นปัญหา เพียงแต่นี่เป็นการมองอย่างลึกลงไปขึ้นว่า ภูมิทัศน์สามารถแปลความเอาปรัชญาเบื้องหลังในสิ่งที่ปรากฏได้อย่างไร จากกรอบแว่นของผู้ทรงวิสัยทัศน์ เช่น จอห์น ล๊อคค์, อดัม สมิธ, ชาร์ล ดาร์วิน, โธมัส เจฟเฟอร์สัน, เฟรเดอริค แจ๊คสัน เทอเนอร์, จอห์น ดิวอี้.

มุมมองนี้มีมูลฐานที่ว่า หากต้องการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์อย่างมีนัยสำคัญเราจะต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิดพื้นฐานที่สร้างและค้ำยันรักษาภูมิทัศน์นั้น

และนี่เป็นมุมภูมิทัศน์ที่สะท้อนถึงแนวคิดพื้นฐานถึงระบบสังคม (ตย.ในบทความเรื่อง ความน่าดูถูกของ-beautification การจัดดอกไม้ประดับถนนหนทางการเป็นหน้ากากในวาระการเปลี่ยนแปลงที่ชวนเจ็บปวด)  หากการจะเห็น ภูมิทัศน์ดั่งอุดมการณ์ คือ การคิดถึงว่า “ภูมิทัศน์นั้นกำเนิดขึ้นได้อย่างไร” แต่ก็ยังมีอีกมุมมองหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์ตรงเช่นเดียวกัน เป็นมุมที่มีความเป็นเลิศจากการสะท้อนย้อนคิดและปรัชญาเป็นฐานเต็มไปด้วยรายละเอียดและข้อพิสูจน์ยืนยัน

นั่นคือ ภูมิทัศน์ดั่งประวัติศาสตร์ landscape as History.
 

landscape as History.

ผู้มองด้วยแว่นกลุ่มนี้เห็น บันทึกจารึกของปฏิบัติการระหว่างมนุษย์ชาติกับธรรมชาติ ณ พื้นที่เฉพาะแห่งหนึ่ง ในส่วนลึกมันนำจิตใจลงไปที่บันทึกการเขียนทางธรรมชาติวิทยาของประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ยุคแรกเช่นกันกับมุมมองแรก

อย่างไรก็ตามส่วนที่แตกต่างอยู่ที่หลักการจัดการระบบและข้อมูลอย่างเที่ยงตรงด้วยการลำดับเวลา (Chronology) ซึ่งเป็นนั่งร้านของการสร้างประวัติศาสตร์นิพนธ์ ดังที่ทุกสิ่งที่เห็นต้องถูกกำหนดอายุเพื่อตรวจหาความเป็นต้นกำเนิดหรือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ แต่การสกัดหาอายุก็เป็นงานทางเทคนิคที่ยุ่งยากหากแต่นักภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์ก็ทำงานด้วยวิธีการสำรวจเทียบเคียงทางวัฒนธรรม บนฐานที่ทราบของอุปกรณ์, วัสดุ, แนวนิยมออกแบบ, ลวดลาย, วัตถุประสงค์การใช้งาน, รวมถึงตำแหน่งแห่งที่ที่พบวัตถุหลักฐานนั้น ด้วยการจัดกลุ่มสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏด้วยอายุเป็นลำดับชั้นแล้วค่อยถักทอเข้าด้วยกัน (Ian McHarg ‘s Layering)

แต่ภูมิทัศน์ที่แลเห็นก็ไม่ใช่บันทึกประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์ ต้องอาศัยการตรวจสอบกำหนดและอนุมานอย่างระมัดระวังยากกว่าการมองธรรมดา นักประวัติศาสตร์คล้ายกับนักสืบที่สืบค้นหาหลักฐานในที่เกิดเหตุเพื่อหาชิ้นส่วนต่อภาพที่จะเป็นแบบแผนของอดีต เขาต้องเรียนรู้ว่าอะไรจะจารึกหลักฐานที่ลบไม่ได้ อาทิ แบบแผนการตัดถนน, แบบแผนนิยมของรูปด้าน และประโยชน์ใช้สอย  โฉมหน้าของแบบบ้านขนาดรูปทรงวัสดุการตกแต่งสวนการวางตำแหน่งบ้านเหล่านี้ช่วยบอกเล่าถึงบางอย่างของวิถีชีวิตของผู้คน  บ้านแต่ละหลังยังอาจสร้างด้วยช่างฝีมือที่ทิ้งแบบแผนสกุลช่าง และ บางทีดูเหมือนมีปัจจัยมากเหลือเกินที่จะอ่านภูมิทัศน์

อันที่จริงมุมมองนี้คล้ายกับมุมมองภูมิทัศน์แง่กระบวนการระบบ แต่ด้วยจุดเน้นหนักที่แตกต่างกันระหว่างทางวิทยาศาสตร์ที่มองหาแบบแผนร่วมกันของชั้นของสิ่งต่างๆ แล้ววางเป็นแบบแผนทั่วไปที่ช่วยทำนายเหตุการณ์ต่อไปได้  ในขณะที่นักประวัติศาสตร์มองหาผลลัพท์จากการสะสมข้อมูลเฉพาะเรื่องในกระบวนการทำงาน ที่วางอยู่บนเงื่อนไของค์ประกอบที่เฉพาะตำแหน่งแห่งที่(ของภูมิทัศน์) ระดับความเข้มข้นขึ้นอยู่กับนักประวัติศาสตร์ว่าจะตอบต่อวัตถุประสงค์ของเขาได้อย่างไร แต่นักประวัติศาสตร์ทุกคนมองชัดถึงนัยศรัทธาที่ว่าอดีตคือรากฐานที่สำคัญ มุมมองภาพหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่แพร่หลายแต่ก็มองข้ามได้ง่าย คือ ข้อเท็จจริงที่ทรงพลังที่ว่า

      “ทุกชีวิตต้องเกิดขึ้นและดำเนินไปท่ามกลางสิ่งต่างๆ ที่ถูกสร้างมาก่อนหน้าการเกิดทั้งสิ้น”
 

ทุกทุกภูมิทัศน์คือการประสมร่วมรวมสั่งสมเกินกว่าจะคาดได้ ตราประทับทุกระยะของบรรพชนในเส้นทางสำรวจ เช่น การแบ่งแปลงที่ดิน, เขตอำนาจตามกฎหมายทางรัฐศาสตร์, รูปแบบการตัดถนน, เหล่านี้ยังตราประทับอยู่แม้ในมหานครที่อัตราการเจริญเติบโตเปลี่ยนแปลงรวดเร็วที่สุด ภูมิทัศน์คือคลังข้อมูลขนาดใหญ่ของผู้คนและสังคมที่สร้างภูมิทัศน์นั้น แต่ข้อมูลก็ต้องถูกจัดวางถูกแปลความอย่างละเอียดอ่อนรอบคอบต่อบริบททางประวัติศาสตร์ ดังนั้นภูมิทัศน์คืองานแสดงของวิบากกรรมอันต่อเนื่องแม้ว่าการเชื่อมโยงระหว่างทัศนคติเฉพาะ,การตัดสินใจ,ปฏิบัติการและผลกรรมเฉพาะนั้นยากที่จะรับประกันได้ ในบางกรณีมุมมองทางประวัติศาสตร์ก็หมายถึงแค่การตอบสนองความอยากรู้อยากเห็น, การสะท้อนคิด, หรือ บทเรียน ในแง่นี้ ภูมิทัศน์สนองต่อความเป็นไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ยังมีระบบมุมมองที่อาจเติมเต็มทางการให้เหตุผลให้กับมุมมอง ภูมิทัศน์ดั่งประวัติศาสตร์ เป็นมุมที่การซ้อนเหลื่อมกันแม้ว่าจะแตกต่างกันในทัศนคติและความมุ่งหมาย นั่นคือ ภูมิทัศน์ดั่งสถานที่ landscape as Place.

landscape as Place.

(ในส่วนนี้ของบทความมินนิกไม่ได้กล่าวถึง คู่กำกวมระหว่างความหมายทางสังคมและความหมายทางปัจเจก แบบแรก (certain areas as places) สถานที่ขึ้นอยู่กับข้อตกลงทางสังคมเช่นชื่อเฉพาะตำแหน่งแห่งที่ความเฉพาะหรือเอกลักษณ์ที่มีรับรองทางกฎหมาย แบบหลัง (a personal sense of place) ที่ได้นำเสนอในบทนำ ในที่นี่เขาเน้นถึงมุมมองภูมิศาสตร์)

มันคือกรอบมองภาพที่ว่า ภูมิทัศน์คือตำแหน่งแห่งที่หนึ่ง, เป็นชิ้นตำแหน่งแห่งที่อันเฉพาะตัวที่แต่ละชิ้นต่อกันเป็นผืนภาพใหญ่ของผิวโลก  เป็นมุมมองที่ในระดับการเริ่มต้นด้วยความครอบคลุมและไม่นำประสบการณ์มาใช้ (อย่างระวังสัญญาคติ) (comprehensive and naïve) โดยยอมรับไว้ทั้งหมดและยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างในภูมิทัศน์ มันคือภูมิทัศน์ดั่งสภาวะแวดล้อมยอมรับทั้งหมดท่ามกลางที่เราอยู่ ดังนั้นมันจึงปลูกสร้างความรู้สึกสัมผัสที่ละเอียดอ่อน ลงไปถึง ผิวสัมผัส โทนสี และทั้งหมดที่อาจแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยมากในจักษุสัมผัส มากกว่านั้นสัมผัสสภาวะแวดล้อมด้วยทุกผัสสะทั้งหมดที่เรามี เสียง กลิ่น สัมผัสผิวกาย เพื่อให้รับรู้ได้ลึกซึ้งที่สุดต่อสถานที่แห่งหนึ่ง (ดู The Poetics of Space, (1958), Gaston Bachelard ครูของ หลุยส์ อัลธูแซร์ -ข้อมูลสำหรับสายสันชานนิยม) นี่คือมุมมองของผู้ที่แทรกตนเข้าไปในการวางนัยทั่วไปอย่างธรรมดาสามัญ เพื่อที่จะได้โอกาสสำเนียกรสชาติอันเฉพาะยิ่งของประดามีผัสสะที่ได้ประสบ 

 

นี่คือมุมมองที่บ่มเพาะด้วยงานเขียนเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่จริงจัง ผนวกเข้ากับการช่วยเหลือของความนิยมการถ่ายภาพวาดสเก็ตช์ภาพ ซึ่งทั้งเสนอโฉมหน้าและสร้างความประทับใจเพิ่มให้กับสถานที่  เกี่ยวดองอย่างใกล้ชิดอย่างสำคัญที่ปัจเจกบุคคลเสนอประสบการณ์กับสิ่งแวดล้อมของเขา (ศต.20-ปัจจุบัน) งานเขียนบรรยายถึงท้องที่หรือนวนิยายภูมิภาค ก็มีส่วนอย่างดีที่สุดที่จะกระตุ้นการประจักษ์ประสบการณ์ผัสสะที่คมชัดของปัจเจกบุคคลที่มีต่อสถานที่ 

 

กรอบมองนี้ก็เป็นกรอบเก่าแก่ และมีพื้นฐานจากนักภูมิศาสตร์ซึ่งสนามของพวกเขาในอดีตเคยเป็นผู้นิยามถึงการศึกษาลักษณะพิเศษของสถานที่ หมุดหมายสำคัญของภูมิศาสตร์คือแผนที่สำหรับนักภูมิศาสตร์แล้วสถานที่แห่งหนึ่งคือตำแหน่งที่หนึ่ง, สิ่งแวดล้อมแบบหนึ่ง, และองค์ประกอบศิลป์ด้วยมุมมองอากาศแบบหนึ่ง ซึ่งประการสุดท้ายแสดงออกด้วยแผนที่ได้ดียิ่ง แผนที่ในแง่ไดอะแกรมเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงการวางตำแหน่งทางพื้นที่อวกาศขององค์ประกอบในทำเลตำแหน่งแห่งที่หนึ่ง องค์ประกอบศิลป์ต้องมีรูปทรงเสมอและนักภูมิศาสตร์ก็จะมองรูปทรง ด้วยแบบแผนความสัมพันธ์รูปทรง เช่น การเกาะกลุ่ม การรวมเป็นศูนย์หนาแน่น การกระจัดกระจาย การเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ การผสมผสาน แต่ก็แน่นอนที่ผู้จะได้รับรสสัมผัสระดับนี้ได้ต้องมีความสามารถแปลความหมายและมีความเข้าใจในประวัติศาสตร์, อุดมการณ์, กระบวนการ, ประโยชน์ใช้สอย, พฤติกรรม ในบริบทใหญ่ของภูมิศาสตร์ และนักภูมิศาสตร์ก็คล้ายนักประวัติศาสตร์ที่ความสนใจมุ่งสู่ทั้งสองทิศทางคือสามัญการและความเฉพาะเจาะจง (generalization and particularity) ร่วมกัน

ทั้งสองยังมีความสนใจในความเฉพาะเจาะจงของตำแหน่งแห่งที่-ถิ่น (locality) แบ่งปันความเชื่อที่สำคัญมากร่วมกันนั้นคือ โลกนี้มีความรุ่มรวยอันยิ่งใหญ่น่ามหัศจรรย์อันหลากหลายของสถานที่  มันคือมุมมองที่แตกต่างกันไกลกับแบบที่นักท่องเที่ยวจำเจเสาะหาความตื่นตาตื่นใจ ผู้ศรัทธาแท้จริงนั้นคือผู้พร้อมประมวลความรู้ สำหรับทุกสถานที่ที่น่าสนใจ  

ที่จริงแล้วมันคือมุมมองที่ชี้แนะว่า ความรู้สึกต่อสถานที่ที่หมักบ่มเพาะปลูกจนดีแล้วคือมิติที่สำคัญที่สุดของความเป็นมนุษย์

หรือไปให้ไกลกว่านั้นเราอาจพบอุดมการณ์อันไร้ข้อกังขาว่า ปัจเจกบุคคลกับสถานที่ คือ รากฐานบุคลิกภาพอันละเอียดอ่อนและสำคัญยิ่งใหญ่ต่อชีวิตบนโลกในเหตุการณ์ส่วนตัวที่มนุษย์ทุกคนกำเนิดขึ้น  ปัญหาสำคัญทุกประการตั้งอยู่บนสถานที่ และ ต้องการการทำความเข้าใจเช่นนั้น  มุมมองที่ยืนยันว่าเราปัจเจกบุคคลใช้ชีวิตอย่างมีนัยสำคัญย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากมายมหาศาลกับสถานที่เฉพาะตำแหน่งแห่งที่ซึ่งได้ใช้ชีวิต จนอาจสรุปอย่างดูเป็นไปไม่ได้ว่าแต่ละคนไม่ใช่คนเดียวกันในสถานที่อันแตกต่างกัน (PHILOSOPHY FOR CHANGE ประเด็นคนหนึ่งคนไม่อาจดำน้ำในแม่น้ำเดียวกัน ของ Heraclitus) มุมมองนี้เปิดสู่ อายตนะผัสสะที่เรียกร้อง “ความรู้สึก” ต่อสถานที่ใกล้เคียงกับมุมมองของภูมิทัศน์ลำดับต่อไป

 

landscape as Aesthetic.

มันก็มีอยู่หลายระดับและความแตกต่างหลากหลายของมุมมองภูมิทัศน์ดั่งเช่นสุนทรียภาพนี้  แต่ต่างก็จะมีความสนใจใต้บังคับที่ร่วมกันอยู่ ในเรื่องของอัตตลักษณ์และประโยชน์ใช้สอยทางรูปโฉมที่แสดงถึงความหมกมุ่นต่อคุณภาพเชิงศิลปะ แต่คำ “คุณภาพเชิงศิลปะ (Artistic quality)” ก็จะนำไปสู่การถกเถียงไม่รู้จบสิ้นได้อีก  มันเป็นเรื่องที่รู้กันดีที่การวาดภาพภูมิทัศน์ (landscape painting) เป็นสกุลแขนงที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ศิลป์ตะวันตกสมัยใหม่ในต้นศตวรรษที่ 19 (และปรากฏในศิลปะตะวันออกในฐานะภาพสะท้อนปรัชญาเต๋า-เซ็นของจีนญี่ปุ่นมาก่อนในศตวรรษที่ 12)

(ดูเพิ่มเติมใน อี.เอช.กอมบริช, 2560:150-5; 492-7)

กรอบคิดหลักของมุมมองภูมิทัศน์ดั่งความงามของทิวทัศน์นั้นอาจน่าประหลาดใจที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานในวัฒนธรรมตะวันตกที่มีนัยยะสันโดษของผู้สังเกต  ภายในขอบเขตของสกุลภาพภูมิทัศน์เราจะพบตัวอย่างประเด็นที่อภิปรายถึงแนวคิด อาทิ พลังอันน่าเกรงขามของธรรมชาติ, ความกลมกลืนสอดคล้องของมนุษย์กับธรรมชาติ, หมุดหมายทางประวัติศาสตร์เหนืออาณาบริเวณ, ลักษณะเฉพาะตัวของสถานที่ เป็นต้น แต่ละหัวข้อเป็นการเลือกคัดสรรของศิลปิน  ทว่าความบริสุทธิ์ที่สุดของทัศนียภาพภูมิทัศน์ดั่งความงาม (landscape as Aesthetic) คือ มโนคติที่ครอบคลุมยิ่งไปกว่า คือ ภาษาพื้นฐานของศิลปะ อันได้แก่ สี พื้นผิว มวล เส้น องค์ประกอบ สมมาตร สมดุล แรงดึงดูดนำสายตา  จำนวนของการแบ่งชั้นจัดจำแนกเป็นจำนวนอนันต์ในมุมมองที่เป็นปัจเจกบุคคลที่สุดของมุมภูมิทัศน์

ภูมิทัศน์มุมนี้ก็เป็นการมองเจาะทะลุเช่นกัน  มันเสาะหาความหมายซ่อนเร้นซึ่งไม่ได้เห็นเด่นชัดในรูปทรงแบบแผนทั่วไป  มันวางอยู่บนความเชื่อศรัทธาที่ว่ามีบางสิ่งบางอย่างในภูมิทัศน์ที่เทียงเคียงได้กับ สารัตถะ, ความงาม, ความจริง

ภูมิทัศน์กลายมาเป็นผู้เก็บซ่อนความหมายอันลึกลับรหัสยนัยที่เราพยายามอย่างหนักที่จะฉวยไว้แต่ไม่สามารถเอื้อมถึง และ ศิลปินคือผู้มีความพยายามในการขุดเจาะค้นหาปัญญาญาณในความลึกลับด้วยวิธีการเฉพาะตัวแต่ก็พยายามนำเราไปกับเขาเพื่อบอกว่าเขาได้พบอะไร ในแง่นี้มุมมองนี้ของภูมิทัศน์พาไปไกลเหนือกว่าวิทยาศาสตร์อย่างสุดสุด การหยิบฉวยความหมายซึ่งเชื่อมโยงเราในฐานะปัจเจกวิญญาณและจิตเข้ากับโลกอันไร้เขตเป็นอนันต์และสุดพรรณนา

ภูมิทัศน์เช่นที่แสดงกรอบไว้ทั้งสิบประการไม่อาจรวมความเป็นไปได้หมดสิ้นทุกแง่มุม แต่มุมมองเหล่านี้แนะนำให้เห็นได้ถึงความสลับซับซ้อนหัวเรื่องนี้ การระบุประเภทเหล่านี้มีรากฐานจากการนิยามแปลความที่แตกต่างหลากหลายกันตามความคิด น่าจะช่วยให้การสื่อสารกันในเรื่องนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับใครก็ตามที่มองหาสารัตถะในภูมิทัศน์และเห็นภูมิทัศน์เป็นกระจกเงาส่องตน ก็บอกได้มากเกี่ยวกับคุณค่าที่เรายึดถือและในขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อคุณภาพของการดำรงอยู่ที่เราจะนำมาในอนาคต และมันยังมีความจำเป็นที่จะต้องสนทนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเกี่ยวกับแนวคิดต่างๆ และความน่าประทับใจ และความตระหนักถึงความสัมพันธ์ต่างๆ ของภูมิทัศน์ที่เราแบ่งปันออกไป

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ศรันย์ สมันตรัฐ อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

แปลเรียบเรียงจาก: The Beholding Eye: Ten Versions of the Same Scene
‘The Interpretation of Ordinary Landscapes’, Meinig & Jackson, (1979: 33-47)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท