Skip to main content
sharethis

 

  • ชายแดนเป็นพื้นที่ที่มีความเลื่อนไหลไปตามระยะเวลา อำนาจ สังคม บริบทแวดล้อมและความเคลื่อนไหวของผู้คนที่เกี่ยวข้องผ่านอำนาจ การต่อสู้ต่อรอง กิจกรรมต่างๆ ในวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน และการซ้อนทับกันของกฎกติกาต่างๆ ที่ผู้อยู่ในพื้นที่ต้องเรียนรู้
  • คนทำงานขายบริการทางเพศ (Sex Worker) ต้องเรียนรู้กฎและทักษะทางวัฒนธรรมในพื้นที่เพื่อใช้ทำมาหากินและสร้างอำนาจต่อรอง
  • เมื่อการงานและอัตลักษณ์บางด้านขัดแย้งกัน พวกเธอจำเป็นต้องยึดเอาบางสิ่งไว้เพื่อคงอัตลักษณ์ ปกป้อง เป็นการบอกกับตนเองว่าฉันเป็นใคร

ลืมตาอีกที รถตู้ก็มาถึงจุดแวะพักในอำเภอธารโต จังหวัดยะลา เสียแล้ว รอบด้านมีแต่ภูเขาและสีเขียวของต้นไม้ หลังจากผู้โดยสารแต่ละคนกลับเข้าประจำตำแหน่งเดิม รถตู้เคลื่อนอีกครั้งฝ่าความคดเคี้ยวของถนนผ่านแนวเขาสันกาลาคีรี ระหว่างทาง เหลือบมองฟ้า เมฆอุ้มฝนจนหนักแปล้ ท้องเมฆแทบจะสัมผัสยอดไม้

ผมกำลังมุ่งหน้าไปเบตง ดินแดนใต้สุดของประเทศไทย เมืองในหุบเขา อากาศเย็นสบาย และชุ่มด้วยละอองฝนเกือบตลอดเวลา

ตั้งแต่ปี 2547 เคยเกิดเหตุการณ์ลอบวางระเบิด 2 ครั้ง ในแง่ปริมาณถือว่าน้อยกว่าพื้นที่อีกชนิดเทียบกันไม่ได้ ความโกลาหลจะกลับคืนสู่ความปกติโดยใช้เวลาไม่เนิ่นนาน ประหนึ่งเบตงแยกขาดจากความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ คนที่นี่เชื่อว่าเป็นเพราะเบตงมีทางเข้า-ออกทางเดียว การเข้ามาก่อเหตุในพื้นที่จึงเท่ากับพาตนเองมาติดกับดัก

อย่างไรก็ตาม ความเป็นเมืองชายแดนของเบตง นับรวมปัตตานี ยะลา นราธิวาสเข้าไปด้วย ได้ทำให้อาณาบริเวณนี้มีบุคลิกเฉพาะในแบบที่ชายแดนอื่นๆ ไม่มี

ตัวเมืองเบตง

‘ชายแดน’ เป็นมากกว่าเส้นสมมติ

สำหรับคนภายนอก พื้นที่สามจังหวัดคือพื้นที่ชายแดน และพื้นที่ชายแดนในความคิดคำนึงสามัญก็คือพื้นที่ที่อยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน การมองเช่นนี้คงไม่ผิด แต่ถ้ามองให้มากกว่าลักษณะทางกายภาพและการขีดลมเป็นพรมแดน ชายแดนเป็นมากกว่านั้น

โสภี อุ่นทะยา จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พูดถึงชายแดนในวารสารสังคมลุ่มน้ำโขงปีที่ 10 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2557 ในบทความเรื่อง ‘วาทกรรมชายแดน’ ไว้ว่า

“ชายแดนเป็นพื้นที่ที่เราไม่เพียงแต่เห็นอำนาจและข้อจำกัดของรัฐชาติ แต่เรายังเห็นความสัมพันธ์ ความขัดแย้ง และการอำนวยความสะดวกในฐานะที่อาณาบริเวณนี้หลากล้นไปด้วยปฏิบัติการทางวัฒนธรรมของผู้คนจำนวนมากที่มีประวัติของการย้ายถิ่น พลัดถิ่น ข้ามรัฐชาติ อาณาบริเวณชายแดนเป็นพื้นที่ในระหว่าง ซึ่งมิติทางวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ ชายแดนไม่ใช่เส้นที่ขีดไว้อย่างตายตัวเพื่อให้คน สิ่งของ หรือความคิด ข้ามไปข้ามมา แต่ชายแดนไม่ว่าจะเป็นชายแดนของอะไรก็ตาม ถูกขยับ ถูกลบ และถูกขีดใหม่อยู่เสมอๆ ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของกลุ่มคนในแต่ละสถานที่และเวลา พื้นที่ชายแดนจึงมีความหมายที่หลากหลายและแบ่งออกเป็นหลายลักษณะ แต่ละลักษณะไม่ได้แบ่งแยกอย่างชัดเจน มีการทับซ้อนกันอยู่ ความหมายของพื้นที่ชายแดนจึงเลื่อนไหลไปตามระยะเวลา อำนาจ สังคม บริบทแวดล้อมและความเคลื่อนไหวของผู้คนที่เกี่ยวข้องผ่านอำนาจ การต่อสู้ต่อรอง กิจกรรมต่างๆ ในวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน”

ด้วยลักษณะดังกล่าว แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง อาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายว่า

“ลักษณะเด่นของชายแดน มันเป็นพื้นที่ระหว่างรัฐ ทำให้มีกฎหมายบังคับใช้ที่ซ้อนทับกัน มันจึงมีการละเมิดเยอะมาก ชายแดนจึงเป็นพื้นที่สีเทา มีกฎมาก แต่ก็มีการละเมิดกฎมากเช่นกัน ทั้งสามจังหวัดชายแดนใต้ก็มีลักษณะแบบนี้คือการละเมิดกฎต่างๆ ความเป็นชายแดนจึงมีการตัดข้ามระหว่างความเคร่งครัดกับไม่เคร่งครัด”

การซ้อนทับของกฎต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนนำไปสู่อะไร อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า ความซ้อนทับนำไปสู่การมีอัตลักษณ์ที่หลากหลายและเลื่อนไหลมากขึ้นของผู้คน ขณะที่คุณอยู่ฟากนี้ คุณอาจระบุตัวตนเป็นคนฟากนี้ แต่พออยู่อีกฟากหนึ่ง คุณก็อาจระบุตัวเองอีกแบบหนึ่ง เนื่องจากมันเกี่ยวพันกับความเป็นรัฐทั้งสองรัฐ ทว่า พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับมีลักษณะพิเศษกว่าชายแดนด้านอื่น

“มันแตกต่าง เพราะแม้จะมีการกำหนดเขตแดนที่ชัดเจนตั้งแต่ปี 2452 แต่ในความรับรู้ของผู้คนยังไม่นิ่ง” อนุสรณ์ กล่าว “ถ้าในขั้วที่ไกลที่สุด กลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนเป็นชาติมลายูที่เกิดเมื่อ 4-5 ทศวรรษที่แล้ว แม้ปัจจุบันจะไม่เข้มข้นเท่า แต่มันก็ยังเป็นแรงบันดาลใจของการเคลื่อนไหวอีกหลายกลุ่ม ในแง่หนึ่งเส้นเขตแดนตรงนี้ยังไม่ได้รับการยอมรับ เพราะมันเกิดขึ้นภายใต้ข้อตกลงของสยามกับอังกฤษ ณ ตอนนั้น โดยคนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นแต่อย่างใด ขณะที่เขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ค่อนข้างชัดเจนแน่นอน และคนก็ให้การยอมรับ”

ขณะเดียวกัน ความเป็นชายแดนก็ได้มอบทักษะทางวัฒนธรรมแก่ผู้คนเพื่อช่วยให้มีชีวิตอยู่รอดท่ามกลางกฎกติกาที่ซ้อนทับ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือทักษะทางภาษาของอีกฟากแผ่นดิน ซึ่งช่วยหยิบยื่นโอกาสและเครือข่ายได้มากกว่าคนที่ไม่รู้ภาษา

เรียนรู้กฎและทักษะทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง

สิ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเขตเทศบาลเมืองเบตงขนาด 78 ตารางกิโลเมตรคืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พูดให้เฉพาะเจาะจงกว่านั้น-อุตสาหกรรมทางเพศ (Sex Industry) ซึ่งผู้หญิงที่เดินทางมาทำงานค้าบริการทางเพศ (Sex Worker) ในพื้นที่เบตงและยะลาเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องหาวิธีสร้างพลังต่อรอง ทักษะทางวัฒนธรรม และเรียนรู้กฎกติกาต่างๆ ที่ซ้อนทับกันเพื่อความอยู่รอด

ตัวเมืองเบตง

งานศึกษาเรื่อง ‘การสถาปนาอำนาจของหญิงขายบริการทางเพศในเมืองเบตง จังหวัดยะลา’ ของสุรางค์ อาจณรงค์ ในวารสารพัฒนาสังคม ปีที่ 20 ฉบับที่ 2 พ.ศ.2561 ประมาณการณ์ว่ามีหญิงขายบริการทางเพศไม่ต่ำกว่า 3,000-5,000 คน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คือชาวมาเลเซีย (หมายถึงคนเชื้อสายมาเลย์ จีน และอินเดีย) 466,913 คน เป็นตัวเลขชาวต่างประเทศที่มาในปี 2557 สร้างรายได้ถึง 2,130.74 ล้านบาท ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยมีเพียง 122,740 คน และสร้างรายได้ 388.95 ล้านบาท

ตัวเลขการสำรวจในเขตเทศบาลเมืองเบตงของโรงพยาบาลเบตงปี 2561 ระบุว่ามีจำนวนแหล่งบริการทางเพศ 72 แห่ง พนักงานในแหล่งบริการเป็นชาย 85 คน มีเพียง 1 คนที่ให้บริการทางเพศ ส่วนผู้หญิงมี 593 คน ในจำนวนนี้ 194 คนให้บริการทางเพศ

ผมเชื่อว่าไม่มีตัวเลขใดแม่นยำ เพราะการค้าประเวณียังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ข้อเท็จจริงเดียวที่เชื่อถือได้คือมีการขายบริการทางเพศ หากแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ น่าจะแบ่งได้ 2 ลักษณะ ลักษณะแรกคือชนิดที่ผู้ขายบริการไม่สามารถต่อรองได้ (ก็ไม่เชิงนัก ตรงนี้ยังมีรายละเอียดที่จะพูดถึงต่อไป) ลักษณะต่อมาเป็นการขายบริการทางเพศที่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ขาย คือพนักงานบริการสามารถเลือกได้ว่าจะไปกับแขกคนไหน เช่น แขกคนนั้นอาจจะพูดจาสุภาพ จ่ายหนัก หรือตรงสเปก และอื่นๆ

ลักษณะแรกเรียกว่า บ้านบุ๊ค เป็นภาษาสุภาพของคำว่า ซ่อง

เนย (นามสมมติ) อดีตของเธอเชี่ยวกรากบนถนนสายนี้เล่าให้ผมฟัง เมื่อเป็นซ่อง พนักงานบริการจึงเป็นได้แค่สินค้าและไม่บริการลูกค้าคนไทย ส่วนแบบที่สองมักแฝงตัวในรูปของผับ บาร์ คาราโอเกะ กระทั่งร้านนวด แขกสามารถพาผู้หญิงออกจากร้านได้ถ้าการเจรจาบรรลุผล แน่นอนว่าพวกเธอต้องหักค่าตัวให้กับทางร้านตามที่ตกลง

อย่างไรก็ตามข้อค้นพบในงานศึกษาเรื่อง ‘การสถาปนาอำนาจของหญิงขายบริการทางเพศในเมืองเบตง จังหวัดยะลา’ ก็บอกเราว่า พนักงานบริการใช่จะไร้อำนาจต่อรองโดยสิ้นเชิง พวกเธอสานความสัมพันธ์กับคนกลุ่มอื่นๆ ในบ้านบุ๊คเพื่อใช้ความสัมพันธ์นี้เพิ่มอำนาจต่อรอง หรือคนที่หน้าตาสะสวยและมีแขกประจำ เจ้าของบ้านบุ๊คก็ออกลูกเกรงใจและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ทำให้เธอสามารถเลือกลูกค้าที่เธอพอใจได้ รวมไปถึงการกำหนดอัตราค่าบริการและรูปแบบการให้บริการ

ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ สุรางค์ให้คำตอบไว้ว่า เพราะเศรษฐกิจของเบตงขึ้นกับผู้หญิงเหล่านี้ พวกเธอคือลมหายใจของเบตง มันได้สร้างธุรกิจต่อเนื่องอีกมากมาย โรงแรม ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ บริการรถเช่า ฯลฯ อีกด้าน พวกเธอยัง ‘ครอบครองทรัพยากรเชิงอำนาจ’ หมายถึงการสร้างจุดแข็งและจุดขายให้ตัวเอง อย่างการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยว การเสริมสวย การเพิ่มทักษะการให้บริการ และการมีเครือข่ายหรือเพื่อนร่วมงานกระจายอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ หมายความว่าถ้าพวกเธอไม่พอใจ พวกเธอก็มีที่ให้ไปเสมอ

อยู่กับกฎของเบตง

“พอมาที่เบตง เถ้าแก่ถามว่าเอาเท่าไหร่ พูดภาษาอะไรได้บ้าง เราบอกอังกฤษ ญี่ปุ่น จีนฮกเกี้ยน หนูขอสามหมื่นได้ไหม เบิกล่วงหน้าส่งไปให้แม่ โดยมากแล้วซ่องที่เบตงไม่รับคนไทย เป็นกฎ และห้ามคบคนไทยด้วย แต่ถ้าเป็นคาราโอเกะรับได้

“มันลงทะเบียนไม่เหมือนกัน ซ่องจะเสียเงินเยอะกว่า คาราโอเกะถูกกว่า คาราโอเกะเขาเสียค่าภาษีเหล้าเบียร์เปิดร้าน แต่ซ่องต้องเอาเด็กไปโรงพักลงทะเบียน แล้วถ้าจะออกจากวงการนี้ไป 6 เดือนถึงกลับมาใหม่ได้ ถ้าไม่งั้นคุณก็ต้องเสียค่าน้ำชา มันเป็นกฎของเบตง เบตงถ้าไม่ติดชายแดนไม่มีอะไรเลย อะไรก็แพง ทุกอย่างแพงกว่าที่อื่น ไข่ดาวบางร้านจานละร้อย หอยแครงจานละสามร้อย” เป็นประสบการณ์ของเนยบนเส้นทางอาชีพนี้


ถนนแกรนด์วิว

ชีวิตเธอเคยเดินบนถนนสายแกรนด์วิวมาตั้งแต่ 15 ปีก่อนเมื่อเธอมาถึงเบตงใหม่ๆ แกรนด์วิวที่คนเบตงและนักเที่ยวรู้ดีว่าถ้าต้องการใครสักคนกลับไปนอนด้วยต้องมาถนนสายนี้ มันเป็นถนนสายสั้นๆ ลดเลี้ยวด้วยซอกซอย เต็มไปด้วยผับ บาร์ คาราโอเกะ และบ้านบุ๊ค แสงไฟนีออนสารพัดสีทำงานอย่างหักโหม สาดส่องและขับเน้นผิวเนื้อและใบหน้าของเหล่าผีเสื้อให้ดูคมชัดสะดุดตา บรรดาหญิงสาวบนแกรนด์วิวอาจมีความฝันที่ยาวไกลกว่าถนนสายนี้ เพียงแต่มันยังมาไม่ถึง

“กฎของเบตง ต้องจ่ายค่าน้ำชาให้ร้านถึงออกไปได้ ถ้าไม่จ่ายค่าน้ำชาออกไปแล้วกลับเข้าเบตงไม่ได้ ค่าน้ำชาต้องดูว่าคุณขายดีไหม ถ้าคุณขายดีก็เรียกคุณแพง เราประมาณว่าอ้อล้อ ค่าไถ่เราสามหมื่น เราให้ร้านเรียกห้าหมื่น สองหมื่นเราเอาเอง แต่ที่หนักสุดคือร้าน.....เด็กที่หนีไป ตามจับมาแล้วก็ขัง” เนยเล่าเสริมถึงช่วงหนึ่งในชีวิตที่ชายชาวมาเลย์คนหนึ่งต้องการไถ่ตัวเธอออกมา

วันนี้ ถึงเธอจะถอยห่างจากวงการ แต่เครือข่ายของเธอยังกว้างขวาง หากน้องคนไหนต้องการงาน เธอก็พอจัดการให้ได้

นอกจากพนักงานบริการทางเพศต้องอยู่กับกฎอันหลากหลายของพื้นที่ชายแดนแล้ว ปัจจัยอีกตัวหนึ่งที่เข้ามากระทบอาชีพคือเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โชคยังเป็นของพวกเธอที่เบตงไม่ใช่พื้นที่เป้าหมายของผู้ก่อการ ทั้งจำนวนเหตุการณ์ก็มีน้อยครั้ง แต่ทั้งสองครั้งที่เกิดเหตุระเบิดก็ส่งผลให้การท่องเที่ยวซบเซาลงประมาณ 1 สัปดาห์ พนักงานบริการทางเพศที่ไม่มีแขกคอยส่งเสียหรือแขกประจำก็ขัดสนไปตามสภาพ ทว่า เพียงไม่นานแกรนด์วิวก็กลับครื้นเครงดังที่เคยเป็น

อยู่กับกฎของ ‘โม’

ขยับออกจากเบตงสู่เขตเมืองยะลา ผมได้พูดคุยกับ ‘โม’ คำนี้ไม่ใช่ชื่อคน แต่ย่อมาจากคำว่า ‘โมเดลลิ่ง’ เพื่อความคล่องปาก โมรายนี้เล่าว่างานที่เธอทำคือการหาเด็กสำหรับงานอีเว้นต์ เอ็มซี พริตตี้ ขายบัตรคอนเสิร์ต จนถึงการนั่งดริ๊งค์กับแขก และหยุดแค่ตรงนี้ ถ้าเด็กคนไหนจะไปกับแขกที่พูดคุยถูกคอนั่นเป็นส่วนที่เธอไม่เกี่ยวข้องและไม่มีการหักส่วนต่างใดๆ

ในฐานะโมที่ต้องดูแลเด็กในสังกัดหลายสิบชีวิต ผมถามว่าถ้าเด็กไปกับลูกค้าแล้วลูกค้าไม่พอใจจะจัดการอย่างไร

“พูดยากมาก แต่กรณีนี้เราบอกแล้วว่าเราไม่รับรู้นะ ถ้าเกิดอะไรขึ้นให้รีบโทรหา เพราะบางคนเป็นเด็กเดินสาย ไม่ใช่คนพื้นที่ เด็กบางคนกล้าบอก บางคนไม่กล้า กล้าบอกก็ดีไป เราดูแลให้ได้ ต่อให้ไม่ได้ค่านายหน้าก็ดูแล เพราะอย่างน้อยเขามาในสายงานเรา ไม่จบแค่งานนี้งานเดียว เราทำงานก็ไม่อยากให้เสียชื่อ ถ้าเด็กอยากไปใช่มั้ย อยู่ที่ไหน มีอะไรโทรหาได้ตลอด เปิดเสียงไว้ ไปกับคนไหนชี้มา ถ้าไม่บอกสถานที่ จะมารับเอง เราจะไม่ให้ไป สแกนงานให้ทุกอย่าง”

หยุดเรื่องบริการพิเศษไว้เท่านี้ กลับไปสู่หน้างานปกติของเด็กในสังกัด งานอีเว้นต์ทั่วไปไม่มีอะไรซับซ้อน ผิดกับงานนั่งดริ๊งค์ ชงเหล้า สำหรับมนุษย์เงินเดือน รายได้มีเวลารับแน่นอน แต่งานนั่งดริ๊งค์ไม่ได้คิดเป็นเดือน คิดเป็น ‘แทร็ก’ เช่น ร้านเอบีซีต้องการเด็กนั่งดริ๊งค์ 4 คน สเปกแบบนี้ๆ โมมีหน้าที่จัดหาให้ โดยระยะเวลาการทำงานถูกคิดเป็นแทร็ก มีตั้งแต่ 10-15 วัน ภายในระยะเวลานี้เด็กแต่ละคนต้องทำยอดดริ๊งค์ให้ได้ตามเป้าที่ร้านกำหนด เมื่อครบแทร็กจึงจ่ายเงินและหักสัดส่วนตามที่ตกลงกัน

“เราจะตกลงกับเจ้าของงานก่อนว่า เด็กเราได้แค่นี้ เอ็นเตอร์เทน ชงเหล้า ไม่มี ‘การจบนอน’ ทำงานเวลานี้ถึงเท่านี้ นอกเหนือจากนี้ถ้าเด็กอยากกลับ ต้องให้กลับ แต่ขอต่อเวลาแล้วให้เงินเพิ่ม เด็กโอเค เราก็โอเค เพราะเราจะไม่รับงานมั่ว จะรับงานกับคนที่เรารู้สึกโอเค” โมรายนี้อธิบาย

ฟังดูเหมือนอาชีพโมค่อนข้างสบาย ส่งเด็กไปหน้างานและรอหักค่าหัวคิว ในความเป็นจริงไม่ง่ายดาย โมมีหน้าที่ต้องประสานงานกับเจ้าของงานหรือผับบาร์ คุยรายละเอียดงานให้ชัดเจน ติดต่อเด็ก ส่งไปให้ตรงเวลา ทำงานให้ได้ตามเป้า หากเกิดเรื่องราวขึ้น โมต้องเป็นตัวชนก่อนเสมอ ไม่ว่าจะไปด้วยตัวเองหรือทางโทรศัพท์ เพื่อเคลียร์ปัญหา

 “ถ้าในผับ เกิดลูกค้าไม่พอใจ เราก็เข้าไปชนเอง แล้วกันเด็กคนนั้นออกมา คุย หาเด็กไปแทน แต่ส่วนมากถ้าเป็นที่ยะลาเราจะรู้ว่าลูกค้าชอบประมาณไหน ก็จะเลือกเด็กลงถูก ถ้าเรื่องเกิดจังหวัดอื่น เราจะโทรคุยกับทางร้านก่อน จะยังไม่คุยกับเด็ก เพราะถ้าเด็กแอลกอฮอล์เข้าปากเราจะคุยกันวันรุ่งขึ้น แต่ร้านต้องจัดการให้เรื่องนี้เงียบก่อน ผิด-ถูก เราจะจัดการต่อเอง ถ้าเด็กผิด เราขอโทษ แต่ถ้าเด็กไม่ผิด เราไม่ยอม”

โมรายนี้สารภาพว่า การทำงานในโซนสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นอะไรที่ ‘โคตรเหนื่อย’ เพราะต้องเจอกับลูกค้าที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งบางคนก็ ‘กร่าง’ โดยเฉพาะยามที่ดีกรีในเลือดเข้มข้นมากๆ ถ้าเจอเหตุการณ์ทำนองนี้ โมจะบอกให้เด็กในสังกัดถอยออกมา แต่โมยังมีข้อได้เปรียบที่ว่าการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐทำให้เป็นเป้าของการตกเป็นข่าวได้ง่ายกว่า

“ทีมเราจะสอนให้รักกัน ทำกิจกรรมร่วมกันเยอะ เดินงานร่วมกันบ่อยๆ แล้วเขาจะอยู่ด้วยตัวเขาเองได้ ถ้ามีเรื่องกันปุ๊บ จะตัดแทร็กและแบนงาน ยังสอนเด็กตลอดว่ารีบโกยซะถ้ายังโกยได้ และถ้ามีหนทางที่ดีกว่านี้ก็รีบออกไปซะ เก็บเงิน สร้างตัวเอง ไม่ง้อใคร ช่วยเหลือพ่อแม่ ให้ไปเรียนทำเล็บ ทำผม มีที่ไปก็ไป ไม่ต้องกลับมาทำธุรกิจแบบนี้แล้ว”

ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ ทั้งยังมีความเคร่งครัดในแบบของตน อย่างไรก็ตาม โมรายนี้เล่าว่าเด็กในสังกัดของเธอมีผู้หญิงมุสลิมทำงานด้วยจำนวนมาก

“บางทีก็อยากรู้เหมือนกันว่าทำได้ยังไง ไหนบอกว่าเคร่งมากไง คนเคร่งเขาไม่กินเหล้า ต้องคลุมผ้า”

อยู่กับกฎของศาสนา

เล่าอย่างรวบรัด กี้ (นามสมมติ) เรียนไม่จบ ม.1 เธอยอมรับว่าเกเร หนีออกจากบ้านตั้งแต่วัยรุ่น เดินทางขายของตามตลาดนัด ทางบ้านตามตัวเธอจนพบ อุ้มเธอกลับบ้านเกิดที่นราธิวาส จับเธอโกนผม ล่ามโซ่ไว้ไม่ให้ออกไปไหน 1 อาทิตย์เป็นเวลาที่เธอใช้เลื่อยที่ได้มาตัดพันธนาการนี้ออก หนีออกจากบ้านอีกครั้ง จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้กลับบ้านเกิดอีกเลย ครั้งหนึ่งเธอและเพื่อนถูกขบวนการค้ามนุษย์หลอกไปขายบริการที่สิงคโปร์ โชคดีที่หนีกลับมาได้ เธอมาอยู่เบตงตั้งแต่ปี 2547 พร้อมกับแฟนคนแรก เมื่อถึงเวลาที่รักจืดจางร้างลา ไม่มีเงินกินข้าว เธอจึงหันเหเข้าสู่เส้นทางนี้

กี้ถอดผ้าคลุมหรือฮิญาบตั้งแต่หนีออกจากบ้าน

สำหรับผู้หญิงมุสลิม การถอดฮิญาบเป็นบาปใหญ่ มิพักต้องกล่าวถึงการทำงานขายบริการทางเพศที่รุนแรงถึงขั้นตกศาสนา มองในมิตินี้ กี้ไม่ใช่มุสลิมอีกต่อไป แต่...

“ก็ยังถือว่าตัวเองเป็นมุสลิม แต่ไม่ทำละหมาด ไม่คลุมฮิญาบ รู้สึกเฉยๆ ที่กินเหล้า สูบบุหรี่ แต่ไม่กินหมู อย่างอื่นกินได้หมด แต่ไม่กินหมู ถ้าไม่รู้ก็กิน แต่ถ้ากินไปแล้วมารู้ทีหลังก็หยุดกินเลย แต่อร่อยเหมือนกัน” กี้เล่าและยิ้มให้อารมณ์ขันของตนเอง

ผมซักถามถึงหลักปฏิบัติและความเชื่อของศาสนาอิสลามกับกี้ เธอเชื่อในวันพิพากษา แต่ไม่กลัว เพราะยังไม่เคยเห็น เช่นเดียวกับบาป น้องของเธอเคยถามว่าอยู่แบบนี้ไม่กลัวบาปเหรอ คำตอบคือไม่กลัว เพราะไม่เคยเห็นสิ่งที่เรียกว่าบาป

“ถ้าถึงวันพิพากษา กี้จะตอบพระเจ้าว่ายังไง”

“ตอบไม่ได้ เราไม่ได้เรียนหนังสือภาษาอิสลาม พระเจ้าพูดภาษามลายู ภาษาอาหรับ แต่เราไม่เคยเรียน แล้วก็ยังไม่รู้จะพูดอะไร ไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย”

“กลัวตกนรกหรือเปล่า”

“ก็กลัวตกนรกอยู่ ยังเชื่อในอัลเลาะห์ ตอนอยู่นราฯ ก็ถือศีลอด แต่พอมาอยู่เบตงไม่ได้ทำแล้ว เพราะตัวเราสกปรก ไม่สะอาด เพราะเรากินเหล้า สูบบุหรี่ ตอนท้องเราก็ไม่ได้แต่งงาน ซะกาต (การให้ทาน) ก็ไม่เคย”

คงมองดูแปลกถ้าผู้หญิงมุสลิมทำงานนั่งดริ๊งค์พร้อมกับคลุมฮิญาบไปด้วย แต่ถ้ามองให้ลึกกว่านั้น การถอดฮิญาบเป็นมากกว่าการถอดเครื่องแต่งกาย หากมันหมายถึงการถอดอัตลักษณ์ความเป็นมุสลิมออกไปด้วย ผู้หญิงที่เลือกเส้นทางนี้ประนีประนอมกับตนเองและศาสนาโดยการถอดฮิญาบออกเมื่ออยู่ที่ทำงาน และคลุมฮิญาบเวลาอยู่บ้านหรือเมื่อต้องกลับบ้าน

เราอาจมองได้ 2 ทาง หนึ่ง-พวกเธอถอดอัตลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นมุสลิมออกจากร่างกาย และสอง-การถอดอัตลักษณ์นั้น พวกเธอกำลังปกป้องศาสนาของตนในวิถีทางที่พอทำได้

ผมมีโอกาสได้ฟังทัศนะของ ลัดดา นิเงาะ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาศักยภาพและรณรงค์ มูลนิธิโอโซน นอกจากนี้ เธอยังเป็นมุสลิม และทำงานกับผู้ใช้ยาเสพติด เธอบอกว่าความยากของการทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เมื่อนำเรื่องศาสนาเป็นตัวตั้งคือ

“มันมีคนหลายเซ็ต เซ็ตแรกคือคนที่เราเจอแล้วเหนื่อย อะไรก็ผิด อะไรก็บาป กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มกลางๆ ก็ลองทำดู ถ้าดีก็มาว่ากัน อันไหนศาสนาไม่ให้ทำก็เบรกไว้ กลุ่มที่ 3 ซึ่งตอนนี้เราเชื่อว่าเราเป็นกลุ่มนี้คือ เอาเข้าจริงๆ ศาสนาพูดแบบนี้จริงๆ เหรอ เวลาบอกว่าใครผิด ใครบาป ไม่ใช่เรานะ ถึงที่สุดพระเจ้าอาจเป็นคนตัดสิน แต่เราถอยออกมาดูอีกนิดหนึ่งว่าศาสนาบอกว่าอะไร

“ไม่มีหรอกข้อไหนที่บอกว่าเป็นพนักงานบริการบาป เป็นผู้ใช้ยาบาป ถอยกลับไปก่อน ศาสนาบอกว่าแค่คุณไม่ปกปิดอวัยวะที่ไม่บังควรให้คนอื่นเห็น แค่นี้เอง ยังไม่ต้องไปถึงการขายบริการหรอก แค่นี้ศาสนาก็ไม่ประสงค์แล้ว ถ้าคุณทำ คุณต้องไปตอบพระเจ้าว่าคุณทำเพราะอะไร มันขึ้นอยู่กับว่าจะเอาศาสนามาใช้แบบไหน การแจกถุงยางก็เท่ากับยื่นขาเข้าไปในนรกแล้วข้างหนึ่ง ต้องไม่ให้ศาสนาตกเป็นจำเลยของเรื่องอะไรก็แล้วแต่ แล้วบอกว่าศาสนาไม่ให้ทำ ศาสนาบอกว่าไม่ดี เดี๋ยวก่อน ถอยไปดูก่อน”

กี้ยังหาคำอธิบายต่อเบื้องหน้าพระเจ้าไม่พบ แต่เธอย้ำกับตัวเองว่าเธอยังคงเป็นมุสลิม

ยึดเหนี่ยวกับบรรทัดฐานอื่นๆ

การปรับตัว เจรจา ต่อรอง แลกเปลี่ยน กับกฎกติกามากมายที่รายล้อมชีวิต ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เราทุกคนกระทำสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา เพียงแต่คนบางกลุ่ม บางอาชีพ ต้องใช้แรงพยายามมากกว่า อยู่กับกฎกติกาที่มากกว่า หยุมหยิมกว่า และต้องมองหาสิ่งอื่นๆ มาค้ำยันตัวตนด้านใดด้านหนึ่งไว้ไม่ให้พังครืน

แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง เจ้าของงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ‘ชีวิตมุสลิมใน “รังยาเสพติด”: ความปกติที่ต้องต่อรองในชุมชนแห่งหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย’ กล่าวว่า ในสังคมมีบรรทัดฐานหลายแบบ แต่ผู้คนมักมองเห็นบรรทัดฐานใหญ่ๆ กฎหมาย กฎศาสนา หรือกฎด้านสุขภาพทางการแพทย์ แต่คนใช้ยาเวลาอยู่ในชุมชนก็มีบรรทัดฐานอื่นๆ อีกมากที่จะหยิบมาใช้เพื่อให้ตนดำรงอยู่ในชุมชนได้อย่างปกติ เช่นเดียวกันกับพนักงานบริการทางเพศ เธออธิบายและตั้งคำถามไปพร้อมกันว่า

“จากงานวิจัย บรรทัดฐานที่พูดถึงคือการพยายามอยู่ให้เป็นปกติสุข ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย กฎศาสนา หรือสุขภาวะ แต่มันยังมีบรรทัดฐานอื่นๆ ที่ทำให้เราอยู่กันอย่างปกติสุขได้ คนที่เป็นเซ็กส์ เวิร์คเกอร์ล่ะทำอย่างไร การไม่กินหมู มันเป็นอัตลักษณ์ที่เป็นมุสลิมมากๆ ทำทุกอย่าง แต่ไม่กินหมู มันเป็นการย้ำเตือนด้วยหรือเปล่าว่าตัวเองยังคงมีความเป็นมุสลิม เพราะอาหารเป็นตัวบอกว่าเราเป็นใคร เช้าจรดเย็นต้องกินอาหาร เราต้องนึกตลอดเวลาว่าอะไรกินได้หรือไม่ได้ เนื้อหมูเป็นการบอกว่าคุณเป็นใคร แม้จะเป็นเซ็กส์ เวิร์คเกอร์ ก็มีสัญลักษณ์บางอย่างที่เขายังคงบอกตัวเองว่าเขาเป็นใคร

“สถานะเซ็กส์ เวิร์คเกอร์คือการตกศาสนา ถ้าเขายังรู้สึกว่าเป็นมุสลิม เขาจะดูแลสำนึกถึงความเป็นมุสลิมในตัวอย่างไร”

ถึงที่สุดแล้ว สัญชาติญาณดึกดำบรรพ์บอกให้มนุษย์ต้องทำทุกอย่างเพื่อมีชีวิตรอด มันอาจยากเมื่อต้องอยู่ภายใต้กติกามากมาย เราต่างรู้เส้นแบ่งของตัวเองดีว่าตรงไหนที่เราจะไม่ก้าวข้าม ตรงไหนที่พอจะขยับเส้นได้ และตรงไหนที่จะก้าวข้ามไปอย่างไม่แยแส มันก็แค่การเดินทางของชีวิตที่กฎหมาย สุขภาพ จารีต ชุมชน สังคม ที่เราแต่ละคนต้องขีดเส้นเอาเอง แม้กระทั่งเมื่อเราอยู่ต่อเบื้องหน้าพระเจ้า

 

ขอขอบคุณ คุณวัยโชติ กาญจนาภักดิ์ กลุ่มใต้ม่านหมอก ชมรมฟ้าสีรุ้ง ที่มีส่วนร่วมช่วยเหลือด้านการประสานงานในงานเขียนชิ้นนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net