Skip to main content
sharethis

คืบหน้ากรณีหญิงชาวซาอุดิอาระเบียที่ถูกกักตัวไว้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ หลังพยายามหลบหนีจากครอบครัวเธอไปยังออสเตรเลียโดยอ้างว่าถูกกดขี่ทารุณจากครอบครัว หากกลับไปจะถูกฆ่า โดยล่าสุด เที่ยวบินที่จะส่งเธอกลับได้ออกไปแล้วแต่เธอยังอยู่ในประเทศไทย ทนายความยื่นคำร้องศาลอาญาไทยพิจารณาการขังโดยมิชอบแต่ศาลไม่รับไต่สวน เหตุไม่มีหลักฐานเพียงพอ

ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด แอล-เคนูน

7 ม.ค. 2562 สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัล-คูนูน หญิงชาวซาอุดิอาระเบียวัย 18 ปี ถูกกักตัวที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ขณะพยายามหลบหนีจากครอบครัว โดยเดินทางด้วยเครื่องบินจากประเทศคูเวตไปยังปลายทางที่ประเทศออสเตรเลีย แอล-เคนูนกล่าวกับบีบีซีถึงเหตุผลการหลบหนีว่า เธอละทิ้งศาสนาอิสลาม และกลัวว่าหากถูกส่งกลับไปที่ประเทศต้นทาง จะถูกครอบครัวของเธอฆ่า

แอล-เคนูนยังกล่าวกับบีบีซีว่า เธอมีวีซ่าเข้าประเทศออสเตรเลีย และได้เริ่มหลบหนีขณะท่องเที่ยวกับครอบครัวที่คูเวต แต่เมื่อเดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อเปลี่ยนเครื่องต่อไปยังออสเตรเลียก็ถูกนักการทูตของซาอุฯ ยึดพาสปอร์ตไป ซึ่งเรื่องนี้ทางสถานทูตซาอุฯ ให้การปฏิเสธ และระบุว่าแอล-เคนูนถูกเจ้าหน้าที่สนามบินกักตัวเพราะว่าเธอละเมิดกฎหมายประเทศไทย

ต่อประเด็นนี้ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกล่าวกับบีบีซีเมื่อวานนี้ว่า แอล-เคนูนหลบหนีจากการแต่งงานมา และถูกจับกุมเอาไว้ที่ไทยเนื่องจากไม่มีวีซ่าและจะต้องถูกส่งกลับ ทั้งนี้ กระทรวงต่างประเทศไทยได้ระบุเอาไว้ว่าชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยเพื่อต่อเครื่องไปยังประเทศปลายทางอื่นภายในระยะเวลาอันสั้นนั้นไม่ต้องขอวีซ่า แต่จะต้องอยู่ในพื้นที่ที่กำหนด (ที่มา)

ล่าสุดในวันนี้ (7 ม.ค. 2562) ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการขององค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอทช์ ทวีตในทวิตเตอร์ว่า เที่ยวบิน KU 412 ของสายการบินคูเวตแอร์ไลน์ เครื่องที่ แอล-เคนูนจะต้องนั่งกลับไปตามแผนได้ขึ้นบินแล้วโดยไม่มีแอล-เคนูนอยู่บนเครื่อง โดยเธอยังถูกกักตัวอยู่ที่โรงแรมในสนามบิน การทำงานเพื่อส่งเธอไปยังปลายทางตามประสงค์จึงยังเป็นไปได้เพราะยังมีเวลา

ในวันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊คสำนักกฎหมาย NSP Legal Office ให้ข้อมูลว่า ทางสำนักกฎหมาย ร่วมกับสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้รับเรื่องร้องขอความช่วยเหลือจากฮิวแมนไรท์วอทช์ กรณีของแอล-เคนูน โดยทนายความได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ขอให้ศาลไต่สวนว่าเป็นการขังโดยวิธีการอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 90 หรือไม่ เนื่องจากมีบุคคลที่อ้างว่ามาจากสถานทูตแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทยพร้อมเจ้าหน้าที่สายการบินคูเวตแอร์ไลน์ ระงับการเดินทางและนำเธอเข้าไป พักอยู่ภายในห้องพักของโรงแร มแห่งหนึ่งภายในอาคารสนามบินบริเวณที่ผู้โดยสารพักระหว่างรอการเปลี่ยนเครื่องบิน และไม่ได้รับอนูญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรไทยจนถึงปัจจุบัน 

ศาลรับคำร้องและมีคำสั่งว่า “พิเคราะห์ตามคำร้องแล้วเห็นว่าตามที่ผู้ร้ องอ้างว่าบุคคลที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุดีอาระเบียและเจ้าหน้าที่สายการบินคูเวตนั้นเป็นบุคคลใดยังไม่แน่ชัดและตามคำร้องเป็นเพียงการกล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานเพียงพอให้ไต่สวน จึงให้ยกคำร้อง”  

แอล-เคนูน กล่าวกับบีบีซีว่า “ฉันแชร์เรื่องราวและภาพของฉันในโซเชียลมีเดียและพ่อฉันก็โมโหมากที่ฉันทำแบบนั้น…ฉันเรียนและทำงานในประเทศฉันไม่ได้ ฉันจึงอยากจะเป็นอิสระและเรียนและทำงานอย่างที่ฉันต้องการ”

ภายใต้ระบบชายผู้ปกครอง (Male Guardianship system) ของซาอุฯ ระบุว่าผู้หญิงทุกคนจะต้องมีผู้ปกครองที่เป็นเพศชายซึ่งเป็นได้ทั้งพ่อ พี่ชาย น้องชาย สามี หรือแม้แต่บุตรชาย เพศชายเหล่านี้จะมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ แทนตัวผู้หญิง และผู้หญิงจำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองในการทำพาสปอร์ต เดินทางออกนอกประเทศ ไปศึกษานอกประเทศหรือแม้แต่การแต่งงาน

ภาวะที่ผู้หญิงถูกผู้ชายกดขี่ในซาอุฯ เคยเกิดขึ้นในอดีตแล้ว เมื่อปี 2551 หญิงสาวชาวซาอุฯ ที่ไม่ปรากฏนาม ถูกพ่อของเธอฆ่า ด้วยสาเหตุว่าเธอเล่นแชทในเฟซบุ๊ค นักเทศน์ชาวซาอุฯ ชื่ออาลี อัล มาลิกีกล่าวกับสื่อเทเลกราฟว่า “เฟซบุ๊คเป็นประตูสู่กามารมย์ และชายหนุ่มกับหญิงสาวต่างก็ใช้เวลาบนโทรศัพท์มือถือมากกว่าใช้เวลาไปกับอาหาร”

ในปี 2560 ดีน่า อาลี เลสลูม หญิงชาวซาอุฯ ถูกกันตัวเอาไว้ที่สนามบินนานาชาตินินอย อากิโน ประเทศฟิลิปปินส์ขณะเดินทางไปยังออสเตรเลียเพื่อลี้ภัย หลังจากนั้นเธอถูกส่งตัวกลับไปที่ซาอุฯ จนถึงปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรม

ด้านจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีหลายตำแหน่ง รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ทวีตว่าคัดค้านการส่งตัวแอล-เคนูนกลับด้วยเหตุผลทางสิทธิมนุษยชน

 

 

ทางด้านเพจเฟซบุ๊ค  สุรเชษฐ์ หักพาล โพสต์พร้อมแชร์ข่าวของไทยรัฐกรณีการส่งตัวแอล-เคนูนกลับ โดยระบุว่า ประเทศไทยมีเหตุผลในการผลักดันกลับทางกฎหมาย ไม่ได้ผลักดันเธอกลับไปตายตามพาดหัว

“หากคนทั่วโลกที่มีปัญหา อยากหนีเข้ามาอยู่ในไทยอย่างผิดกฎหมาย จนล้นประเทศ ด้วยการอ้างเหตุผลเหมือนๆกัน แบบนี้ ท่านคิดว่าเจ้าหน้าที่ควรทำอย่างไรดี ควรช่วยเหลือทุกคนไหม” เป็นข้อความที่เขียนไว้ในโพสท์ดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net