สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 1-7 ม.ค. 2562

กนร.เห็นชอบขยายเวลาทำประวัติ 'คนประจำเรือ' ให้แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ที่กระทรวงแรงงาน โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ที่ประชุม กนร. มีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดังนี้ 1. มอบหมายกระทรวงมหาดไทย ออกประกาศให้ครอบคลุมคนต่างด้าวที่เข้าประเทศถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายหลังวันที่ 6 พ.ย. 2561 และ 2. ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการออกหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) จากเดิมที่ 31 ม.ค. 2562 ไปเป็น 31 มี.ค. 2562 3. ให้กระทรวงการต่างประเทศ มอบอำนาจการตรวจลงตรา (Non Immigrant L-A) ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ทั้งนี้ เป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเล และให้คนต่างด้าวที่เข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ภายหลังวันที่ 6 พ.ย. 2561 สามารถเข้าจัดทำทะเบียนประวัติ รับหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) รับการตรวจลงตราและประทับตราอนุญาตให้อยู่ในประเทศตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เพื่อให้จัดหาแรงงานต่างด้าวที่มีเอกสารถูกต้องมาทำงานในกิจการประมงทะเลได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับความคืบหน้าการจัดทำหนังสือ "คนประจำเรือ" ตามมาตรา 83 ที่ศูนย์ OSS ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 2561- 4 ม.ค. 2562 มีนายจ้าง 1,901 ราย แจ้งความต้องการแรงงานต่างด้าว 25,920 คน และมีแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนคนประจำเรือ ตั้งแต่วันที่ 3-4 ม.ค. จำนวน 1,813 คน เป็นเมียนมา 1,080 คน กัมพูชา 684 คน ลาว 49 คน โดยจังหวัดที่มาดำเนินการ 5 ลำดับแรก ได้แก่ ปัตตานี, ชุมพร, ตราด, ระยอง และสมุทรสงคราม

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 7/1/2561

ศาลสั่งคุมประพฤติข้าราชการเมาแล้วขับ 160 คน

กรมคุมประพฤติเผยสถิติเมาแล้วขับช่วง 7 วันอันตรายต้อนรับปีใหม่ เพิ่มกว่า 3,000 คดี ศาลสั่งคุมประพฤติข้าราชการเมาขับ 160 คน ผลสำรวจเมาขับซ้ำซาก 3 ปี พบ 153 คนเสี่ยงสูงพิษสุราเรื้อรังส่งเข้าบำบัดใน รพ. ขณะที่ 1 ราย ขัดเงื่อนไขออกนอกบ้านยามวิกาล

นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ พร้อม น.พ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงสถิติคดีเมาแล้วขับ ถูกจับคุมประพฤติ ช่วงวันอันตรายระว่างวันที่ 27 ธ.ค. 2561-2 ม.ค.2562 โดยเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วพบว่าในปีนี้มีตัวเลขคดีเพิ่มขึ้นกว่า 3,000 คดี และมีจำนวนผู้ที่กระทำความผิดซ้ำถึง 153 คน

นายประสาร กล่าวว่าสำหรับสถิติคดีเมาแล้วขับผู้กระทำความผิดที่เข้าสู่ระบบบังคับใช้กฎหมายและศาลมีคำสั่งส่งมาให้กรมคุมประพฤติดูแลภายใน 1 ปี โดยใช้อุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EM จำนวน 80 ราย และกำหนดเงื่อนไขห้ามออกจากเคหะสถานในช่วง 22.00-04.00 น. ในจำนวนนี้มีผู้ฝ่าฝืนคำสั่ง 1 ราย ซึ่งกรมคุมประพฤติได้รายงานให้ศาลรับทราบแล้ว และหลังจากครบ 7 วันอันตรายศาลยังมีคำสั่งให้ใช้กำไล EM กับบุคคลที่ถูกดำเนินคดีเมาแล้วขับอีก 26 ราย รวมมีผู้ที่ใช้กำไล EM ถูกควบคุมความประพฤติ 116 ราย เป็นผู้ชาย 110 ราย และผู้หญิง 6 ราย ในปีนี้มีคดีที่เข้าสู่ระบบจำนวน 9,453 คดี แยกเป็น คดีเมาแล้วขับเมา 8,706 คดี คดีเสพและขับ 701 คดี คดีขับรถประมาท 44 คดี และคดีขับรถซิ่ง 2 คดี ในจำนวนนี้ผู้กระทำความผิดเป็นผู้ชายร้อยละ 97.2 ผู้หญิงร้อยละ 2.77 สำหรับช่วงอายุของผู้ที่กระทำความผิดน้อยกว่า 20 ปี จำนวน 595 ราย, ระหว่างอายุ 21-30 ปี จำนวน 2,378 ราย, ระหว่างอายุ 31-40 ปี จำนวน 2,340 ราย, ระหว่างอายุ 41-50 ปี จำนวน 1,985 ราย, ระหว่างอายุ 51-60 ปี จำนวน 888 ราย, อายุมากกว่า 60 ปี จำนวน 213 ราย และไม่ระบุอายุ จำนวน 1,054 ราย

อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวอีกว่าสำหรับผู้กระทำความผิดมีอาชีพรับจ้าง จำนวน 3,436 ราย, อาชีพเกษตรกร จำนวน 823 ราย, อาชีพพนักงานบริษัท รัฐวิสาหกิจ จำนวน 772 ราย, อาชีพค้าขาย จำนวน 333 ราย, นักเรียน/ นักศึกษา จำนวน 200 ราย, ข้าราชการ จำนวน 160 ราย, อาชีพธุรกิจส่วนตัว จำนวน 131 ราย, พนักงานขับรถโดยสาร/บรรทุก จำนวน 98 ราย, ว่างงาน จำนวน 72 ราย,  อื่นๆ (ไม่ระบุ) จำนวน 3,428 ราย 

โดยกลุ่มข้าราชการที่กระทำความผิดจะต้องถูกคุมประพฤติระยะเวลา 1 ปี นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ถูกคุมประพฤติและผู้ที่ถูกศาลสั่งลงโทษจำคุก ซึ่งศาลสั่งให้กรมคุมประพฤติสืบเสาะประวัติเพิ่มเติม จำนวน 66 คดี และให้ทำงานบริการสังคม 15 วัน ขยายได้ไม่เกินครั้ง 30 วัน โดยพื้นที่ที่ผู้ถูกคุมประพฤติมากที่สุด แยกเป็น ภาคเหนือ 951 คดี จังหวัดเชียงรายมีผู้กระทำความผิดมากสุด จำนวน 331 คดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5,175 คดี  จังหวัดมหาสารคามมีผู้กระทำความผิดมากสุด จำนวน 565 คดี ภาคกลาง  1879 คดี  จังหวัดปทุมธานีมีผู้กระทำความผิดมากที่สุด จำนวน 188 คดี ภาคตะวันออก 1020 คดี จังหวัดที่ทำความผิดมากที่สุดคือฉะเชิงเทรา 207 คดี ภาคตะวันตก 219 คดี จังหวัดตากกระทำผิดมากที่สุด 67 คดี ภาคใต้ 335 คดี จังหวัดพัทลุงกระทำความผิดมากที่สุด  84 คดี ส่วนกทม. 567 คดี โดยศาลได้ระบุเงื่อนไขสำหรับผู้ที่กระทำความผิดจะต้องรายงานความประพฤติกับศาลปีละ 4 ครั้ง ทำงานบริการสังคม 24 ชม. ,พักการใช้ใบอนุญาตขับรถ ระยะเวลา 6 เดือน, ให้เข้ารับการอบรมความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย/ วินัยจราจร,ห้ามออกนอกสถานที่ โดยการติด EM บางรายต้องตรวจปัสสวะหาสารเสพติด และห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

จากการตรวจสอบในระบบคุมประพฤติพบว่ามีจำนวน 153 รายที่เคยถูกจับซ้ำในข้อหาเมาแล้วขับในช่วง 3 ปีท่านมา ซึ่งขณะนี้กรมคุมประพฤติได้ทำบันทึกข้อตกลงกับกระทรวงสาธารณะสุขเพื่อนำบุคคลเหล่านี้มาเข้ารับการคัดกรองตามแบบประเมินพฤติกรรมว่าเข้าข่ายมีความเสี่ยงสูงในการติดสุราหรือไม่ หากพบพฤติกรรมเสี่ยงจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูสภาพ ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงน้อยหรือติดสุราในระดับต่ำจะส่งไปทำงานบริการสังคม อบรมความรู้เกี่ยวกับกฎหมายจราจรและลดเลิกแอลกอฮอล์นายประสารกล่าว

ด้าน นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าในปีนี้ตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 463 ราย ซึ่ง 40 เปอร์เซ็นต์ของอุบัติเหตุเกิดจากเมาแล้วขับ โดยในปีนี้กรมควบคุมโรคได้ทำโครงการนำร่องร่วมกับกรมคุมประพฤติบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ดื่มแล้วขับที่กระทำผิดซ้ำ โดยจะส่งตัวบำบัดรักษาที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ส่วนผู้ติดสุราและมีปัญหาซับซ้อนจะส่งต่อไปที่โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ และกรณีผู้ที่เมาและมีอาการทางจิตรุนแรงจะส่งต่อไปสังกัด โรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต เพื่อบำบัดรักษาผู้ติดสุรารุนแรงเรื้องรังให้มีสุขภาพดีไม่กลับไปทำผิดซ้ำอีก ซึ่งมีตัวเลขผู้เข้ารับการบำบัด 4 รายเข้าโครงการ ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน จังหวัดพิจิตร จำนวน 1 ราย, โรงพยาบาลลำปาง จังหวัดลำปาง จำนวน 1 ราย, โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี จำนวน 2 ราย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 7/1/2561

จับอดีตคนงานไทยที่ไต้หวัน ขายยาไอซ์ให้แรงงานชาติเดียวกัน อ้างเสพแล้วขยันขึ้น

เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2562 สถานีวิทยุอาร์ทีไอของไต้หวัน รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ตำรวจนครเถาหยวนของไต้หวัน จับกุมอดีตคนงานไทยรายหนึ่ง ในข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย พร้อมยาไอซ์ 13.2 กรัม ถุงบรรจุ อุปกรณ์เสพและตราชั่งอิเล็กทรอนิกส์ หลังพบว่าจำหน่ายยาไอซ์ให้กับแรงงานไทยที่ไปทำงานในไต้หวัน เบื้องต้นปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่สุดท้ายจำนนต่อหลักฐาน การจับกุมดังกล่าว เป็นปฏิบัติการกวาดล้างอาชญากรรม ก่อนถึงวันที่ผู้ว่าการนครเถาหยวน เข้ารับตำแหน่งต่ออีกสมัยหนึ่ง

อดีตคนงานไทยรายนี้ เคยเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันมาก่อน แต่งงานกับหญิงไต้หวัน แล้วย้ายมาตั้งรกรากที่นครเถาหยวน อาศัยที่คุ้นเคยและรู้ช่องทาง ขายยาเสพติดให้กับแรงงานไทย รับสารภาพว่ารับยาไอซ์มาจากเอเยนต์ชาวไต้หวัน เพื่อนำไปขายให้แรงงานไทยในโรงงงาน โดยหลอกล่อให้แรงงานไทยเสพยาไอซ์ อ้างว่าเสพแล้วทำให้ขยัน ไม่ง่วงนอน มีเรี่ยวแรงทำงานหาเงิน แถมยังให้ทดลองเสพฟรีด้วย จึงควบคุมตัวดำเนินคดีในข้อหาเสพและขายยาเสพติดประเภทสอง ตามกฎหมายไต้หวัน และจะขยายผลตรวจสอบแก๊งค้ายาเสพติดที่ป้อนยาไอซ์มอมเมาแรงงานต่างชาติต่อไป

ตำรวจนครเถาหยวน ระบุว่า แรงงานไทย ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานหนักและเหน็ดเหนื่อย มักจะตกเป็นเป้าของแก๊งค้ายาเสพติดเข้ามาหลอก โดยอ้างว่า เสพยาไอซ์แล้วจะทำให้ไม่ง่วงนอน ทำงานติดต่อกันได้นานขึ้น แต่เมื่อติดยาไอซ์แล้ว ต้องเสียเงินจำนวนมากซื้อยาไอซ์ นอกจากทำให้เงินไม่พอใช้ ไม่มีเงินส่งกลับบ้านไปให้ครอบครัว ต้องติดหนี้สินอย่างหนักแล้ว ยังทำให้สุขภาพย่ำแย่ บางคนเสพหนักถึงขั้นประสาทหลอน กลายเป็นคนสติเพี้ยน ทำให้อนาคตของตัวเองและครอบครัวมืดมน จึงขอเตือนแรงงานไทยอย่าริลองเสพเป็นอันขาด

ขณะที่สำนักงานแรงงานไทยในกรุงไทเปของไต้หวัน ฝากเตือนแรงงานไทยต้องห่างไกลยาเสพติด โดยแนะวิธีป้องกันตนเอง คือ ไม่ทดลองเสพสิ่งที่รู้ว่ามีภัย เพราะอาจจะทำให้ติดได้ง่าย, เลือกคบเพื่อนที่ดี พยายามหลีกเลี่ยงเพื่อนที่ชอบชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย, รู้จักใช้วิจารณญาณในการแก้ปัญหา แต่ถ้าไม่สามารถแก้ไขเองได้ ก็ควรจะปรึกษากับเพื่อนฝูงหรือญาติมิตรที่ไว้ใจได้ และการสร้างทักษะชีวิต โดยเฉพาะการปฏิเสธเมื่อถูกเพื่อนชักชวนให้เสพยาเสพติด ต้องรู้จักปฏิเสธอย่างนุ่มนวล ชี้แจงผลเสียของยาเสพติดต่อการทำงานและอนาคต การรู้จักปฏิเสธอย่างจริงจังและจิตใจแน่วแน่จะทำให้เพื่อนเกรงใจไม่กล้าชวนอีก

ที่มา: Radio Taiwan International, 4/1/2562

จับสาวซุกยาบ้า-ไอซ์ใส่ห่อปลาหมึกส่ง 'เกาหลี-อิสราเอล'

พ.ต.อ.ขจร อบทอง ผกก.สส.1 บก.สส.ภาค 4 นำกำลังชุดสืบสวน เข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 232 หมู่ 5 ต.ทุ่งใหญ่ อ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี ก่อนจับกุมตัว น.ส.ศศิธร คำภูแสน อายุ 31 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดสมุทรปราการ ที่จ.927/2561 ลงวันที่ 22 พ.ย.2561 หลังหลบหนีการจับกุมคดียาเสพติด โดยลักลอบซุกซ่อนในหีบห่ออาหารทะเลแห้งส่งออกต่างประเทศ

พ.ต.อ.ขจร เปิดเผยว่า คดีนี้สืบเนื่องจาก ได้รับการประสานจาก พ.ต.อ.วิโรจน์ ตัดโส ผกก.สภ.ท่าอากาศสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ ว่าน.ส.ศศิธร ได้หลบหนีการจับกุมขณะลักลอบส่งสินค้าที่ซุกซ่อนยาเสพติดใส่ในหีบห่ออาหารทะเลแห้งเพื่อไปยังประเทศอิสราเอล โดยมีน้ำหนักยาเสพติดประมาณ 50 กรัม คาดว่าจะหลบหนีไปซ่อนตัวที่บ้านในจ.อุดรธานี พล.ต.ตไพโรจน์ กุจิรพันธ์ ผบก.สส.ภาค 4 จึงสั่งการให้นำกำลังติดตามจับกุม

จากการสอบสวน น.ส.ศศิธร ให้การรับสารภาพว่า มีเพื่อนผู้หญิงที่ไปทำงานประเทศเกาหลี ชักชวนให้ส่งยาเสพติดไปให้โดยจะได้ค่าตอบแทนสูงถึง 50 เท่า จึงทดลองส่งยาบ้า 30 เม็ดยัดใส่ปะปนไปกับอาหารเสริมชนิดเม็ด ผ่านทางไปรษณีย์ใน อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ปรากฎว่าส่งไปได้จึงส่งไปอีก 3 ครั้ง ต่อมามีเพื่อนอีกคนที่ทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอลต้องหายาไอซ์จำนวนมาก จึงส่งไปครั้งละ 50 กรัมตามที่เพื่อนกำหนดมา ซึ่งได้ส่งไปแล้ว 2 ครั้ง จนกระทั่งถูกตรวจค้นเจอที่สนามบิน

พ.ต.อ.ขจร กล่าวต่อว่า เบื้องต้นไม่ปักใจเชื่อว่าเพิ่งทำมา 5 ครั้ง เนื่องจากมีความผิดปกติโดยมีรถยนต์ในครอบครองถึง 3 คัน และกำลังปรับปรุงต่อเติมบ้านพักและมีรายได้จากกำไรการค้ายาเสพติดมากกว่า 1 ล้านบาท เบื้องต้นตรวจยึดรถยนต์ 3 คัน มูลค่ารวม 1,650,000 บาท พร้อมแจ้งข้อหานำตัวส่ง สภ.ท่าอากาศสุวรรณภูมิ ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ที่มา: ข่าวสด, 4/1/2562

กรมการจัดหางานรับสมัครหญิงไทยไปฝึกงานญี่ปุ่น 3 ปี โครงการ IM Japan สมัครฟรีตั้งแต่วันที่ 14 – 16 ม.ค. 2562

นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน แจ้งว่า กรมการจัดหางาน และองค์กรพัฒนาแรงงานระดับนานาชาติ ประเทศญี่ปุ่น (IM Japan) เปิดรับสมัครคัดเลือกผู้ฝึกงานเทคนิคคนไทยไปฝึกงานในประเทศญี่ปุ่นโดยผ่าน องค์กร IM Japan ปี 2562 ครั้งที่ 1 ตำแหน่งคนงานทั่วไป ระยะเวลาฝึกงาน 3 ปี โดย IM ประเทศญี่ปุ่นจะจ่ายค่าโดยสารเครื่องบินไป-กลับ (กรุงเทพฯ - โตเกียว - กรุงเทพฯ) และในเดือนแรกจะได้รับเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 80,000 เยน หรือประมาณ 23,189 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 4 มกราคม 2562) และ IM ประทศญี่ปุ่น จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าที่พัก ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ยกเว้นค่าอาหาร ค่าโทรศัพท์ และค่าใช้จ่ายส่วนตัวของผู้ฝึกงานเทคนิคต้องรับผิดชอบเอง เดือนที่ 2 ถึงเดือนที่ 36 ผู้ฝึกงานเทคนิคจะฝึกงานเทคนิคภายใต้สัญญาจ้างตามกฎหมายแรงงานของญี่ปุ่น และผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคจะต้องรับผิดชอบค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ และค่าประกันสังคม รวมทั้งค่าภาษีตามที่กฎหมายญี่ปุ่นกำหนด เมื่อฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่นครบ 3 ปี จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการฝึกงาน และจะได้รับเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพอีกจำนวน 600,000 เยน หรือประมาณ 173,918 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพ เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย

คุณสมบัติเป็นเพศหญิง อายุ 20 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 30 ปีบริบูรณ์ จบการศึกษาระดับ มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) หรือเทียบเท่าประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)  ไม่จำกัดสาขาวิชา ความสูงไม่ต่ำกว่า 150 เซนติเมตร สุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ ไม่มีรอยสักหรือความผิดปกติทางร่างกาย ไม่มีความประพฤติเสียหาย ไม่เคยเป็นผู้ไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคที่ประเทศญี่ปุ่นโดยใช้วีซ่า “Technical Intern” ไม่เคยทำงานในประเทศญี่ปุ่นโดยการแจ้งไปทำงานด้วยตนเองไม่เคยทำงานหรือเข้าเมืองหรือพำนักอาศัยโดยผิดกฎหมายทั้งในประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ ไม่เคยเป็นผู้ผ่านการคัดเลือกและถูกตัดสิทธิออกจากการฝึกอบรมก่อนเดินทางไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น สายตาปกติ และไม่บอดสี สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอาจเกิดขึ้นในช่วงระหว่างการฝึกอบรมในประเทศไทยและระหว่างการฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่นได้ หลักฐานที่ใช้ในการสมัคร ได้แก่ ใบสมัครสอบคัดเลือก รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวก และไม่สวมแว่นตาดำ ขนาด 1 นิ้ว จำนวน 3 รูป บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน หลักฐานการศึกษาพร้อมสำเนาอย่างละ 1 ฉบับ โดยเอกสารทุกฉบับต้องถ่ายสำเนาเป็นกระดาษขนาด เอ 4 และผู้สมัครลงลายมือชื่อรับรอบสำเนาทุกฉบับ ใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่าสุขภาพแข็งแรง สายตาปกติ ประวัติส่วนตัว และใบผ่านงาน (ถ้ามี)

นางเพชรรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สนใจติดต่อยื่นใบสมัครด้วยตนเองพร้อมหลักฐานได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ  อาคารสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ชั้น 10 ภายในกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี ดินแดง กรุงเทพมหานคร และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่สำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด ในวันและเวลาราชการ สามารถสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 14 – 16 มกราคม 2562 โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมหรือค่าสมัครใด ๆ ทั้งสิ้น และขอย้ำเตือนว่าอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้างว่าสามารถจัดส่งให้ไปทำงานได้ โดยหลอกให้จ่ายเงินค่าบริการเพราะอาจถูกหลอกเสียเงินฟรี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ โทร. 02 245 1021 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: กรมการจัดหางาน, 4/1/2562

มอบ สช.สำรวจอีกครั้งครูเอกชนอยากใช้สิทธิบัตรทองหรือไม่

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เรื่อง แนวทางบูรณาการการจัดการศึกษาในระดับพื้นที่ โดยมีผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ผู้บริหารโรงเรียนสังกัด สพฐ. และผู้บริหารโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ เข้าร่วม ว่า ที่ประชุมหารือแนวทางดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชน อย่างเช่น การรับเด็กอนุบาล 3 ขวบ หรืออนุบาล 1 ซึ่งเคลียร์ชัดเจนแล้ว ว่า สพฐ. จะเน้นรับอนุบาล 2 และ 3 ส่วนอนุบาล 1 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน รับก่อน หาก สพฐ. จะรับอนุบาล 1 เข้าเรียนจะต้องมีความพร้อม และต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังหารือเรื่องสวัสดิการต่างๆ โดยเฉพาะสิทธิค่ารักษาพยาบาลของครูโรงเรียนเอกชน ว่า สามารถเปลี่ยนไปใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพียงอย่างเดียวได้หรือไม่ โดยขณะนี้ครูโรงเรียนเอกชนที่ใช้สิทธิกองทุนสงเคราะห์ ได้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลปีละไม่เกิน 1 แสนบาท แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เจ็บป่วยถึงขั้นต้องใช้ครบ 1 แสนบาท มีเพียง 10% ที่เบิกเกิน ซึ่งในส่วนนี้อยู่ระหว่างการจัดทำระเบียบทดลองยืมเงินแล้วมาเบิกภายหลัง

เพราะหากจะไปใช้สิทธิบัตรทองทั้งหมด ทาง สปสช. และ คณะกรรมการกฤษฎีกา แจ้งมาว่า ต้องปรับไปใช้สิทธิบัตรทองทุกคน หากไปใช้สิทธิบัตรทองมีข้อดี คือ ไม่จำกัดวงเงิน แต่จะลำบากตรงเรื่องสถานพยาบาล เพราะต้องเป็นไปตามภูมิลำเนา เชื่อว่า ครูส่วนใหญ่คงไม่อยากไป ทั้งนี้ ขอให้ สช. ไปสำรวจความต้องการของครูโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศอีกครั้ง ซึ่งหากเลือกที่จะใช้สิทธิบัตรทอง อาจจะต้องสนับสนุนให้ สปสช. ปีละประมาณ 400 ล้านบาท

“ผมได้ให้นโยบายว่า การจัดการศึกษาจะต้องมีการกำกับดูแล โรงเรียนเอกชนอย่างเป็นมิตร เพราะถือว่า เอกชนมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาช่วยทำภารกิจดูแลเด็กทั่วประเทศกว่า 2 ล้านคน ถือเป็น 1 ใน 4 ของนักเรียนขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ ไม่ใช่เอาแต่ควบคุม จนกระทั่งเขาไม่สะดวกในการทำงาน ดังนั้น ขณะนี้จึงได้มีการประแก้ระเบียบสวัสดิการต่างๆ บ้างแล้ว เพื่อให้การทำงานคล่องตัว อย่างเช่น เรื่องการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูของโรงเรียนเอกชน โดยเฉพาะครูต่างชาติ หรือ ครูที่อาวุโส ซึ่งได้รับใบอนุญาตฯชั่วคราว ซึ่งต่ออายุมาแล้วจนครบ 6 ปี แต่กลับไม่มีใบอนุญาตฯ ทำให้โรงเรียนต้องสูญเสียครูดีๆ เพราะไม่ได้รับการต่อใบอนุญาตฯ เนื่องจากติดหลักเกณฑ์การประเมินของคุรุสภา ตรงนี้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา อยู่ระหว่างการปรับแก้หลักเกณฑ์ แต่ไม่ใช่การให้โดยอัตโนมัติ ต้องมีการประเมิน และโรงเรียนจะต้องเป็นผู้ร้องขอเข้ามา โดยให้คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ไปพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม เชื่อว่าจะมีทางออกที่ดี” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ยังหารือเรื่องการบรรจุครูโรงเรียนสังกัด สพฐ. ในตำแหน่งครูผู้ช่วยให้เร็ว เพื่อไม่กระทบกับโรงเรียนเอกชน และการขอปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวโรงเรียนเอกชน ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งมีแนวทางพิจารณา 2 ทางเลือก คือ เสนอปรับอุดหนุนรายหัว 100% ใช้งบประมาณ 9,500 ล้านบาท แนวทางนี้ อาจเป็นภาระงบประมาณในอนาคต ส่วนแนวทางที่ 2 ปรับเพิ่มในส่วนงบสมทบเงินเดือนครู อาจจะใช้เงินเพิ่ม ประมาณ 3,400 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่ถือเป็นข้อสรุป โดยจะต้องจัดทำรายละเอียด และเสนอให้คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 3/1/2562

ผู้ประกันตนประสบอุบัติเหตุปีใหม่ 1,161 ราย เสียชีวิต 56 ราย

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง สถิติจำนวนผู้ประกันตนที่ประสบอันตรายหรืออุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค.61 1 ม.ค. 62 ของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 พบว่าสถิติอุบัติเหตุทางถนน 6 วันสะสม (ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.61 1 ม.ค.62) มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้น 3,425 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 410 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,516 คน ทั้งนี้เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ประสบอันตรายหรืออุบัติเหตุที่ได้รับบาดเจ็บจำนวน 1,161 ราย และเสียชีวิต จำนวน 56 ราย โดยสำนักงานประกันสังคมได้ให้ความช่วยเหลือเป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าทำศพ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,124,346.73 บาท (ค่ารักษาพยาบาล 1,884,346.73 บาท ค่าทำศพ 2,240,000 บาท) สำหรับสาเหตุอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากขับขี่พาหนะโดยประมาท อย่างไรก็ตามในการขอรับสิทธิการรักษาพยาบาล ในกรณีผู้ประกันตนเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือประสบอุบัติเหตุ ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดได้ทันที สำนักงานประกันสังคมจะดูแลค่ารักษาพยาบาลให้ภายใน 72 ชั่วโมง ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนด ทั้งนี้ ให้ผู้ประกันตน หรือโรงพยาบาลที่ให้การรักษา และผู้ที่เกี่ยวข้องแจ้งโรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ทราบโดยเร็ว ตั้งแต่เข้ารับการรักษาเพื่อรับผิดชอบให้บริการทางการแพทย์ให้กับผู้ประกันตนต่อไป

เลขาธิการ สปส. กล่าวในตอนท้าย แสดงความห่วงใย ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ขอให้เดินทางด้วยความระมัดระวังอย่าประมาท พร้อมย้ำให้พกบัตรประชาชนติดตัวขณะเดินทางด้วย หากเกิดเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุสามารถเข้ารักษาพยาบาลได้ทันท่วงที ทั้งนี้ผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบรายชื่อโรงพยาบาล/สิทธิประกันสังคมได้ที่ สายด่วนประกันสังคม 1506 หรือหากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/ สาขา/ ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 ตลอด 24 ชั่วโมง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th

ที่มา: Nation TV, 3/1/2562

เผยผลตรวจแรงงานข้ามชาติปี 2561 ดำเนินคดี 4,262 คน ผลักดันส่งกลับประเทศต้นทาง 3,472 คน

นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีนโยบายในการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีคนต่างด้าวลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้บูรณาการ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกรมการปกครอง เข้าตรวจสอบในพื้นที่/กิจการกลุ่มเสี่ยงที่จะมีแรงงานต่างด้าวทำงานผิดกฎหมาย แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2561 - 2 ม.ค. 2562 ได้ออกตรวจสอบนายจ้างไปแล้วจำนวน 8,806 ราย/แห่ง ดำเนินคดี 692 ราย/แห่ง คิดเป็นมูลค่าค่าปรับ จำนวน 5,343,000 บาท ในข้อหารับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จำนวน 535 แห่ง/ราย และดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จำนวน 73 แห่ง/ราย ความผิดตาม พรก.การบริหารฯ และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ฯ จำนวน 84 แห่ง/ราย

ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าว จำนวน 149,315 คน จับกุมดำเนินคดี จำนวน 4,262 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา 2,914 คน รองลงมาเป็นกัมพูชา 583 คน ลาว 360 คน เวียดนาม 233 คน และอื่นๆ อีก 172 คน ตามลำดับ โดยดำเนินคดีในข้อหาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จำนวน 1,702 คน และดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จำนวน 1,650 คน พรก.การบริหารฯและ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ฯ จำนวน 910 คน ผลักดันส่งกลับประเทศต้นทาง จำนวน 3,472 คน ปรับไปแล้ว 10,165,500 บาท รวมค่าปรับทั้งนายจ้าง/สถานประกอบการและแรงงานต่างด้าวจำนวนทั้งสิ้น 15,508,500 บาท

สำหรับนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 10,000 - 100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ขณะเดียวกันแรงงานต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้จะมีโทษปรับ 5,000 - 50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว คนต่างด้าวจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า แรงงานต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานในประเทศไทย จะต้องเข้ามาในรูปแบบการนำเข้าตามระบบ MOU เท่านั้น ซึ่งดำเนินการได้ 2 กรณี คือ 1.นายจ้างเป็นผู้ดำเนินการเอง และ 2. นายจ้างมอบอำนาจให้ผู้รับอนุญาตดำเนินการ ทั้งนี้ ผู้ใดพบเห็นคนต่างด้าวลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสกับกรมการจัดหางานได้ เพื่อจะได้เร่งตรวจสอบ จับกุม และดำเนินคดีต่อไป ติดต่อสอบถามหรือยื่นคำร้องขอนำเข้าแรงงานได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 3/1/2562

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท