Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล- กสม. -สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ต่างออกแถลงการณ์ให้ทางการไทยอย่าส่งตัวหญิงชาวซาอุฯ ที่ถูกกักตัวในไทยขณะรอต่อเครื่องเพื่อหนีภัยคุกคามจากครอบครัวไปยังออสเตรเลีย ระบุ ขอให้มีการตรวจสอบการควบคุมตัว ไม่ส่งคนกลับไปเผชิญความเสี่ยง ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างประเทศระบุ ข้าหลวงผู้ลี้ภัย UN ได้เข้าพบตัวผู้ถูกกักขังแล้ว 'บิ๊กโจ๊ก' แถลง ถ้ากลับไปแล้วเสียชีวิตก็จะไม่ส่งกลับ

ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด แอล-คูนูน

7 ม.ค. องค์กรสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์กรณีที่ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด แอล-คูนูน หญิงอายุ 18 ปี ชาวซาอุดิอาระเบียที่ถูกกักตัวอยู่ในโรงแรมที่สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิประเทศไทยและเสี่ยงถูกส่งตัวกลับ ใจความว่า 

กักตัวหญิงซาอุฯ วันที่สอง ถูกคุมตัวที่ไทยขณะพยายามลี้ภัยไปออสเตรเลีย

ต่อกรณีรายงานข่าวว่า ราฮาฟ โมฮาเหม็ด แอล-คูนูน 18 ปี หญิงชาวซาอุฯ เสี่ยงต่อการถูกส่งตัวกลับ จากบริเวณที่พักผู้โดยสารรอการเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ (ประเทศไทย) ซามาห์ ฮาดิด ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ตะวันออกกลาง มีความเห็นดังนี้

“ราฮาฟเสี่ยงจะได้รับอันตรายอย่างใหญ่หลวง หากทางการไทยส่งตัวเธอกลับไปซาอุดิอาระเบียผ่านคูเวต เป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งกับรายงานที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่ซาอุฯ ได้ยึดหนังสือเดินทางของเธอช่วงที่เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ นอกจากนั้นการยึดหนังสือเดินทางโดยพลการยังละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการเดินทางอีกด้วย

“เธอได้แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความกลัวด้านความปลอดภัยของตนเอง หากเธอต้องเดินทางกลับไปหาครอบครัวอาจทำให้เธอถูกดำเนินคดีอาญาในซาอุดิอาระเบีย เนื่องจากขัดขืนกฎหมายที่บังคับให้ผู้หญิงต้องอยู่ใต้การกำกับดูแลของญาติที่เป็นผู้ชาย (male guardianship) โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees) ได้ร้องขอที่จะเข้าพบราฮาฟ ทางการไทยยังไม่ยินยอมตามคำขอ ทางการไทยต้องดำเนินการตามคำขอโดยทันที และประกันให้มีการเคารพต่อสิทธิที่จะแสวงหาที่ลี้ภัย

“ทางการไทยจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อห้าม ไม่ให้ส่งตัวบุคคลไปยังสถานที่ใดๆ ที่มีความเสี่ยงอย่างแท้จริง ว่าจะถูกปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ราฮาฟมีสิทธิเข้าถึงหลักประกันที่เป็นธรรมและเป็นผล เพื่อคัดค้านการส่งตัวกลับไปประเทศตนเอง และเข้าถึงการคุ้มครองระหว่างประเทศ”

ในส่วนข้อมูลพื้นฐานนั้น แอมเนสตี้ฯ ระบุว่า แอล-คูนูนเดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิวันที่ 5 ม.ค. 2562 ระหว่างการเดินทางจากคูเวตไปออสเตรเลีย ราฮาฟบอกว่า เธอหลบหนีมาจากการปฏิบัติมิชอบ การทุบตี และการขู่ฆ่าจากครอบครัวของตนเอง เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ราฮาฟบอกว่า เจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุฯ ได้ยึดหนังสือเดินทางของเธอเอาไว้ ส่วนหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของไทยบอกว่า ถูกขัดขวางไม่ให้เดินทางต่อไปยังออสเตรเลีย และได้มีการติดต่อกับ “สถานเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบียเพื่อประสานงาน” ในเรื่องนี้ ปัจจุบันเธอถูกกักตัวที่โรงแรมในสนามบิน และมีการทวิตสดเพื่อรายงานความคืบหน้าสถานการณ์ของตนเอง

ด้านสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มีข้อเรียกร้องต่อกรณีของแอล-คูนูนสองข้อ ดังนี้

1. ขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะศาล ได้ดำเนินการตรวจสอบการควบคุมตัวนางสาวราฮาฟ โมฮาเหม็ด แอล-คูนูน และให้ปล่อยตัวโดยทันที 

2. รัฐบาลไทยต้องไม่ดำเนินการหรือสนับสนุนการส่งกลับนางสาวราฮาฟ โมฮาเหม็ด แอล-คูนูนไปเผชิญอันตรายยังประเทศต้นทาง และปล่อยให้เดินทางไปยังประเทศออสเตรเลียได้ตามเจตนารมณ์

ด้านอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกแถลงการณ์สืบเนื่องกรณีนี้เช่นกัน โดยระบุว่า

“กรณีนี้ได้รับความสนใจจากนักสิทธิมนุษยชน และองค์การระหว่างประเทศอย่างมากเนื่องจากยังไม่ชัดเจนว่าหญิงสาวคนนี้ซึ่งถือว่าเป็นเยาวชนขอลี้ภัยด้วยเหตุผลใด และการส่งตัวกลับจะทำให้เธอได้รับอันตรายหรือไม่ รัฐบาลไทยควรต้องเคารพหลักการไม่ผลักดันบุคคลสู่อันตราย ตามบทที่ 3 ข้อ 3 วรรคหนึ่ง ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ซึ่งเน้นย้ำว่า ‘รัฐภาคีต้องไม่ขับไล่ ส่งกลับ (ผลักดันกลับออกไป) หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อันตรายที่จะถูกทรมาน’

“รัฐบาลไทยควรหารือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เพื่อคุ้มครองในเบื้องต้นและหาข้อเท็จจริง ทั้งนี้ต้องมีหลักประกันว่า นางสาวราฮาฟ โมฮัมเหม็ด เอ็ม อัลคูนัน (Rahaf Mohammed M Alqunun) จะไม่ได้รับอันตรายหากต้องส่งตัวเธอกลับประเทศต้นทาง” นางอังคณากล่าว

ล่าสุดในวันนี้ โซฟี แมคนีล ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเอบีซีได้ทวีตในทวิตเตอร์ของเธอเมื่อราว 17.00 น. ว่า เจ้าหน้าที่สหประชาชาติได้เดินทางไปถึงโรงแรมที่แอล-คูนูนถูกกักขังแล้ว และได้เข้าไปสัมภาษณ์เธอ 

 

หลัง 16.00 น. ของวันนี้ ข่าวสดอิงลิชรายงานว่า พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแถลงว่าจะไม่มีการส่งตัวอัล-คูนูนกลับโดยฝืนเจตจำนงของเธอ และถ้าการส่งตัวเธอกลับไปจะทำให้เธอต้องเสียชีวิต ก็จะไม่มีการส่งตัวกลับ สุรเชษฐ์ยังกล่าวอีกด้วยว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงนอกจากความปลอดภัยของแอล-คูนูน ก็คือความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุฯ ที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์เต็มรูปแบบมาตั้งแต่ปี 2532

ช่วงกลางวันในวันเดียวกัน ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการขององค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอทช์ ทวีตในทวิตเตอร์ว่า เที่ยวบิน KU 412 ของสายการบินคูเวตแอร์ไลน์ เครื่องที่ แอล-คูนูนจะต้องนั่งกลับไปตามแผนได้ขึ้นบินแล้วโดยไม่มีแอล-คูนูนอยู่บนเครื่อง โดยเธอยังถูกกักตัวอยู่ที่โรงแรมในสนามบิน การทำงานเพื่อส่งเธอไปยังปลายทางตามประสงค์จึงยังเป็นไปได้เพราะยังมีเวลา

ในวันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊คสำนักกฎหมาย NSP Legal Office ให้ข้อมูลว่า ทางสำนักกฎหมาย ร่วมกับสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้รับเรื่องร้องขอความช่วยเหลือจากฮิวแมนไรท์วอทช์ กรณีของแอล-คูนูน โดยทนายความได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ขอให้ศาลไต่สวนว่าเป็นการขังโดยวิธีการอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 90 หรือไม่ เนื่องจากมีบุคคลที่อ้างว่ามาจากสถานทูตแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทยพร้อมเจ้าหน้าที่สายการบินคูเวตแอร์ไลน์ ระงับการเดินทางและนำเธอเข้าไปพักอยู่ภายในห้องพักของโรงแรมแห่งหนึ่งภายในอาคารสนามบินบริเวณที่ผู้โดยสารพักระหว่างรอการเปลี่ยนเครื่องบิน และไม่ได้รับอนูญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรไทยจนถึงปัจจุบัน

ศาลรับคำร้องและมีคำสั่งว่า “พิเคราะห์ตามคำร้องแล้วเห็นว่าตามที่ผู้ร้องอ้างว่าบุคคลที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุดีอาระเบียและเจ้าหน้าที่สายการบินคูเวตนั้นเป็นบุคคลใดยังไม่แน่ชัดและตามคำร้องเป็นเพียงการกล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานเพียงพอให้ไต่สวน จึงให้ยกคำร้อง”

ไทยไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาผู้ลี้ภัย ประเทศไทยจึงไม่ใช่ประเทศที่รองรับการลี้ภัย แม้ว่าจะมีหลักการระหว่างประเทศที่เป็นจารีตเรื่องการไม่ส่งตัวบุคคลกลับไปเผชิญอันตราย ณ ที่ที่จากมา (Non-refoulement) แต่ที่ผ่านมา การปฏิบัติตัวของรัฐไทยก็มีลักษณะที่ไม่เป็นคุณต่อผู้ลี้ภัย ยกตัวอย่างเช่นกรณีของฮาคิม อัล อาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน ผู้ลี้ภัยไปอยู่ออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2557 ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากรัฐบาลปลายทางให้อาศัยในออสเตรเลียได้ไม่จำกัดเวลา หลังเขาถูกทางการบาห์เรนจับกุมตัวและทรมานในปี 2555 เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวเคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล หลังจากนั้นเขาก็ออกมาพูดเรื่องการถูกทรมานอย่างเปิดเผย แต่เขาถูกจับโดยหมายแดงขององค์การตำรวจนานาชาติหรือ INTERPOL หลังเดินทางจากนครเมลเบิร์น ออสเตรเลียมายังสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา และเมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมานั้นถูกศาลอาญาสั่งฝากขังเป็นเวลา 60 วัน หรือกรณีที่ทางการไทยส่งตัวรัฐ ร็อท โมนี ประธานสหพันธ์สหภาพแรงงานก่อสร้างกัมพูชา (CCTUF) กลับประเทศกัมพูชา หลังถูกกักตัวไว้ที่สถานกักตัวคนต่างด้าวซอยสวนพลู กทม. เมื่อ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา 

เมื่อเดือน ส.ค. 2561 ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี สนธิกำลังร่วมกับทหาร ตำรวจ ตม. ปิดล้อมจับกุมชาวกัมพูชา เวียดนาม 168 ราย โดยนึกว่าเป็นเครือข่ายค้ามนุษย์-แรงงานข้ามชาติลักลอบทำงาน อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ถูกควบคุมตัวกลุ่มนี้ที่แท้เป็นผู้ลี้ภัยชนกลุ่มน้อยหนีการเลือกปฏิบัติในเวียดนาม-กัมพูชา กว่า 154 รายถือบัตรผู้ลี้ภัยของ UNHCR และอยู่ระหว่างทำเรื่องขอลี้ภัยไปประเทศที่สาม ในจำนวนนั้นเป็นเด็ก 60 คน

นอกจากนั้นยังมีกรณีที่ทางการไทยจับกุม แซม โสกา นักเคลื่อนไหวแรงงานแล้วส่งตัวกลับกัมพูชา โดยเธอถูกศาลกัมพูชาพิพากษาลับหลังว่ามีความผิดข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน และปลุกปั่นยุยงเพื่อสร้างความแตกแยก มีโทษจำคุก 2 ปี จากกรณีที่มีวิดีโอของเธอขว้างรองเท้าใส่ป้ายที่มีภาพของ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี และเฮง สัมริน ประธานสภา 

บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่าการส่งตัว แซม โสกา กลับประเทศ เป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ของไทย และเป็นความร่วมมือระหว่างตำรวจทั้งสองประเทศ และเชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการพิจารณาเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบแล้วว่าการส่งตัว แซม โสกา กลับไปกัมพูชา จะไม่เป็นภัยต่อบุคคลดังกล่าว

ย้อนไปไกลกว่านั้น ทางการไทยได้ส่งตัวชาวอุยกูร์ หรือชาวเติร์ก ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมซึ่งอยู่ทางตกวันตกเฉียงเหนือของจีน จำนวน 97 คน ซึ่งประกอบด้วยเด็กและผู้หญิง กลับไปยังประเทศจีน ทางเครื่องบินทางท่าอากาศยานดอนเมืองเมื่อเดือน ก.ค. 2558 พฤติการณ์เช่นว่าสร้างความกังวลต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) อย่างยิ่ง รวมถึงทำให้ชาวอุยกูร์ในตุรกีบุกสถานกงสุลไทยประจำกรุงอังการา ประเทศตุรกีเนื่องจากไม่พอใจกับการตัดสินใจเช่นนั้น

ไทยส่งนักกิจกรรมกัมพูชากลับไปดำเนินคดีแล้ว นักสิทธิฯ ชี้ ยุค คสช. มีบ่อย-เยอะ

ฝากขังแข้งบาห์เรนลี้ภัย 60 วัน ไม่ให้ประกันตัว กต. ระบุ ถูกส่งกลับต้นทางได้

จนท.บางใหญ่จับผู้แสวงหาที่ลี้ภัยกัมพูชา-เวียดนาม 168 ราย แม้ส่วนมากถือบัตร UNHCR

ส่งตัว 'แซม โสกา' กลับกัมพูชา สะท้อนสถานะผู้ลี้ภัยที่อ่อนแอและความสัมพันธ์รัฐที่ชื่นมื่น

ชาวอุยกูร์บุกสถานกงสุลไทยในตุรกี หลังมีข่าวทางการไทยส่งตัวอุยกูร์กลับจีน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net