พิพิธภัณฑ์เยอรมันแสดงประวัติศาสตร์ยาวนาน 33 ปีของเนื้อหา LGBTQ ในเกม

เนื้อหาเรื่องความหลากหลายทางเพศอยู่ในวิดีโอเกมมาเป็นเวลานานแล้ว สิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นในเรื่องนี้คือนิทรรศการล่าสุดในในพิพิธภัณฑ์ชวูเลส ที่กรุงเบอร์ลิน ชื่อ "เรนโบว์ อาร์เคด" ซึ่งเผยให้เห็นประวัติศาสตร์ของวิดีโอเกมที่มีการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQ+ มาตั้งแต่ยุคปี 2528 จนถึงปัจจุบัน

บทสนทนาระหว่างตัวละครในเกม Marvel Future Fight ในปี 2559 เป็นครั้งแรกของเกมในค่ายมาร์เวลที่พูดถึงความรักระหว่างเพศเดียวกัน แม้มีตัวละครที่มีลักษณะหลากหลายทางเพศมานานแล้ว (ที่มา: lgbtgamearchive.com)

ประวัติศาสตร์ที่เกือบจะตกหล่นของตัวละครข้ามเพศในเกมเก่าๆ ของค่ายเกมนินเทนโดมาจนถึงเกมแนวทดลองแบบเกย์ๆ ของโรเบิร์ต หยางในยุคปัจจุบันได้รับการวบรวมเอาไว้และกำลังจัดแสดงในนิทรรศการ "เรนโบว์ อาร์เคด" ที่พิพิธภัณฑ์ชวูเลส ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี มันได้แสดงให้เห็นว่าในวิดีโอเกมตั้งแต่ยุค 2528-2561 เต็มไปด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง

นิทรรศการนี้มาจากการร่วมจัดทำของเอเดรียน ชอว์ ผู้ช่วยศาตราจารย์ด้านสื่อในสหรัฐฯ ผู้ที่เป็นคนก่อตั้งเว็บล็อก "LGBTQ Video Game Archive" ที่เก็บรวบรวมประวัติศาสตร์ของเกม LGBTQ ภัณฑารักษ์ ญาน ชนอเรนเบิร์ก และนักข่าวเกมในเยอรมนี ซาราห์ รูดอล์ฟ

งานจัดแสดงนี้มีการนำเสนอแบ่งโซนต่างๆ ด้วยสีที่อยู่บนธงสีรุ้งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศ ทุกโซนล้วนแล้วแต่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของเกมตลอด 33 ปี ทั้งเกมกระแสหลักและเกมอินดี้ โดยมีการพูดถึงเกมที่สื่อเนื้อหาเชิง LGBTQ อย่างเปิดเผยเกมแรกของโลกชื่อ "Caper in the Castro" ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับนักสืบเลสเบียนที่ชื่อแทรกเกอร์ แมคไดค์ ทำการสืบสวนสอบสวนการหายตัวไปของ drag queen เพื่อนของเธอที่ชื่อเทสซี ลาเฟมม์ ผู้พัฒนาเกมนี้คือ CM Ralph ถึงแม้ว่าเกมดังกล่าวนี้จะมีการเผยแพร่มาเป็นเวลานานตั้งแต่ราว 30 ปีที่แล้ว แต่ก็เพิ่งมีคนค้นพบและชอว์เป็นผู้ดัดแปลงข้อมูลของเกมๆ นี้ให้สามารถเล่นได้อีกครั้ง

ในงานแสดงนี้ผู้เข้าชมสามารถเล่นเกมอินดี้บางเกมได้ เช่น เกม Queers in Love at the End of the World (เควียร์ในห้วงรัก ณ จุดจบของโลก) ซึ่งเป็นเกมแนวข้อความตัวอักษรที่ใช้เวลาเล่นเพียง 10 วินาที ผลงานของแอนนา แอนโธรพี หรือเกมที่มีการนำเสนอการเคลื่อนไหวแนวสต็อปโมชั่นและมีเนื้อหาละครเพลงผสมนักสืบเกี่ยวกับประเด็นเพศสภาพและเศรษฐกิจชื่อ Dominique Pamplemousse

แม้แต่ในโลกของเกมกระแสหลักบางเกมที่ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQ แสดงออกให้เห็นชัดก็ยังมีการเติมแต่งจากแฟนๆ ในรูปแบบต่างๆ หรือแม้กระทั่งถกเถียงกันเรื่องความเป็นได้ที่จะมีคนรักเพศเดียวกันอยู่ในเกมนั้นๆ ซึ่งนิทรรศการเรนโบว์ อาร์เคดก็บันทึกและนำเสนอการอภิปรายกันของแฟนๆ เกมในงานจัดแสดงครั้งนี้ด้วย

ตัวละครในเกม Fire Emblem: The Sacred Stones ที่ตอนจบเกมจะมีจุดจบหลายแบบ หนึ่งในนั้นคือตัวละครชายสองตัวได้แก่โจชัว (ซ้าย) และเกริค (ขวา) ได้อยู่ด้วยกัน ซึ่งแฟนๆ เกมตีความว่าเป็นการลงเอยแบบรักกัน (ที่มา: lgbtgamearchive.com)

นอกจากเก็บประวัติเรื่องเกมแล้ว เรนโบว์ อาร์เคดยังเผยแพร่เรื่องปัญหาที่กลุ่ม LGBTQ ต้องเผชิญจากการเหยียดและการกีดกันในพื้นที่ต่างๆ ของวงการเกมหรือจากคนที่ถูกเรียกกันว่า “โทรล” กระแสการต่อต้านความหลากหลายในเนื้อหาของเกมซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะเอาใจแต่ชายผู้รักเพศตรงข้ามเท่านั้น ทั้งนี้ยังมีเรื่องของการต่อสู้ของกลุ่ม LGBT ภายในเกมออนไลน์ชื่อดังอย่าง World of Warcraft (WoW) ซึ่งในปี 2549 ตัวเกมคัดค้านไม่ให้ผู้เล่นตั้งสมาคม LGBT ในเกมเพราะอ้างว่ากลัวสมาชิกถูกคุกคาม แต่ในที่สุดฝ่ายผู้พัฒนาเกมก็ยอมให้และ WoW ยังมีการจัดขบวนไพรด์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศมาจนถึงทุกวันนี้

จากอุปสรรคในอดีตมาจนถึงในยุคปัจจุบันที่ชุมชน LGBTQ เริ่มผสานกลุ่มคนเล่นเกมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางสังคมของพวกเขามากขึ้น ชนอเรนเบิร์ก หนึ่งในผู้จัดงานบอกว่างานจัดแสดงเรนโบว์ อาร์เคด เปรียบเสมือน "จดหมายรักที่เขียนถึงเกม"

"สำหรับเรื่องแย่ๆ ที่เคยเกิดขึ้นทั้งหมด ก็ยังมีคนวิดีโอเกมเพื่อเป็นยาใจให้ตัวเอง เพื่ออธิบายเกี่ยวกับตัวพวกเขาเอง" ชนอเรนเบิร์กกล่าว

ขณะที่ชอว์ ผู้จัดทำเว็บล็อกเกม LGBTQ มาตั้งแต่ปี 2559 ก็บอกว่าก่อนที่เธอจะจัดทำแหล่งรวมประวัติศาสตร์เช่นนี้ ผู้คนมีความเข้าใจประวัติศาสตร์เนื้อหา LGBTQ ในเกมน้อยมาก เนื้อหาที่มีความหลากหลายทางเพศในเกมที่ออกมาใหม่ ก็ถูกมองว่าเป็นการฉีกออกจากบรรทัดฐานสังคมอย่างรุนแรง ทั้งที่จริงๆ มีเรื่องแบบนี้อยู่ในวิดีโอเกมมานานแล้ว

เรียบเรียงจาก

Sex lives and video games: first exhibition of LGBTQ gaming history opens in Berlin, The Guardian, Jan. 4, 2019

LGBTQ Video Game Archive, Adrienne Shaw

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท