คุยกับศิลปิน ‘ประเทศเล็กที่สมบูรณ์’ นิทรรศการอีสานในมุมมองรัฐไทยผ่านแบบเรียน

 

ประชาไทชวนคุยกับ ‘ประทีป สุธาทองไทย’ ศิลปินเจ้าของผลงานนิทรรศการ ‘ประเทศเล็กที่สมบูรณ์’ มองอีสานผ่านหนังสือที่เป็นตัวแทนของชุดความรู้ที่ถูกจัดการโดยรัฐ ผ่านแบบเรียนเมื่อ 60 ปีที่แล้ว

 

  • ผลงานในรูปแบบของงานจิตรกรรมและงานวีดีโอ จากการสืบค้นต้นตอปัญหาเรื่องภาพจำของความเป็นอีสานผ่านการเขียนประวัติศาสตร์ รวมถึงหนังสือตีพิมพ์ตั้งแต่สมัยยุคสงครามเย็น
  • นิทรรศการเสนอแบบเรียนเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ฉายภาพอีสานในมุมมองของรัฐที่มีอำนาจจัดการ เลือก คัดสรรความรู้ นำไปใช้จัดการศึกษาผ่าน ‘แบบเรียน’ แก่คนทั้งประเทศ เพื่อโฆษณาอุดมการณ์ชาตินิยม รวมทั้งภูมิภาคนิยม
  • ขณะที่ศิลปินมองว่าปัจจุบันวิถีชีวิตชนบทแบบเดิมไม่มีแล้ว ไม่มีชาวนาแบบในหนังสือพระยาอนุมานราชธน ระยะห่างของความเจริญทุกวันนี้ไม่มีแล้ว ฉะนั้นอีสานทุกวันนี้มีทุกอย่างเข้าถึงแบบเดียวกับที่กรุงเทพฯ มีแล้ว

 

‘ประเทศเล็กที่สมบูรณ์’ คือนิทรรศการเดี่ยวครั้งที่สามของ ประทีป สุธาทองไทย ที่จัด ณ 100 ต้นสน แกลลอรี่ ซอย ต้นสน กรุงเทพฯ โดยประทีปนําเสนอผลงานชุดใหม่ในรูปแบบของงานจิตรกรรมและงานวีดีโอ ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการสืบค้นต้นตอปัญหาเรื่องภาพจำของอีสาน ทั้งการสร้างความเป็นอีสานผ่านการเขียนประวัติศาสตร์ รวมถึงหนังสือตีพิมพ์ที่มีส่วนในการหล่อหลอมภาพจําของอีสานมาตั้งแต่สมัยยุคสงครามเย็น ประทีปจึงเลือกที่จะนําภาพปกหนังสือในสภาพที่เลือนรางราวกับถูกทอดทิ้งเหล่านี้มาทําเป็นงานจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ เพื่อเสนอการหมดอายุไขของความรู้ และการสิ้นประโยชน์ในหน้าที่ของหนังสือที่เคยเป็นอุบายของการสนับสนุนวาทกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเพื่อโฆษณาอุดมการณ์ชาตินิยม ภูมิภาคนิยม ฯลฯ

นอกจากเป็นศิลปินแล้วประทีปยังพ่วงตำแหน่งอาจารย์ประจําภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และแม้เขาเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด แต่ได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่มหาสารคามตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน  

ประชาไท สัมภาษณ์ ประทีป สุธาทองไทย ต่อมุมมองของเขาที่มีต่ออีสานและการนำเสนอรูปแบบนิทรรศการนี้ ที่เขาอธิบายว่างานนี้เน้น “ความรู้เกี่ยวกับอีสานที่ถูกจัดการตามมุมมองของรัฐ เพราะต้องมีอำนาจถึงจะจัดการความรู้ได้”  

 

 

จากการที่คุณเป็นคนกรุงเทพฯ แล้วย้ายไปอยู่อีสานถึง 12 ปี ภาพของอีสานในมุมมองของคุณเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง?

 

เราเคยเป็นคนเมืองทั่วๆ ไป ที่รู้จักอีสานผ่านสื่ออื่นมากกว่าการไปเห็นเอง วันที่รู้ว่าต้องไปอยู่อีสาน กลับบ้านยังต้องเปิดแผนที่ว่ามันอยู่ตรงไหน ไกลแค่ไหน ไปอยู่ตั้งหลายปีกว่าจะรู้ว่าอันไหนอีสานเหนือ อีสานใต้ อีสานเป็นภาคที่ใหญ่มาก เราไปด้วยภาพจำบางอย่าง ออกไปในทางโรแมนติก สิ่งที่เป็นมโนภาพตอนแรกคือความเป็นชนบท ความไม่เจริญ เพราะคนเรียนศิลปะจะมีการมองภาพระหว่างเมืองกับชนบทที่ค่อนข้างเป็นขาวดำ

แต่พออยู่ไปสักพักก็เริ่มเห็นเรื่องอื่นที่เป็นจริงขึ้น ว่าการมองภาพขาวดำแบบนั้นไม่ใช่ภาพจริงๆ เหมือนเราวาดรูปชนบทเราก็จะไม่วาดเสาไฟฟ้า เราจะไม่วาดอะไรที่แปลกปลอม แต่อยู่ไปเรื่อยๆ เรารู้สึกว่าเราจะมัวแต่มองแล้วลบภาพที่เราไม่ต้องการออกไปไม่ได้แล้ว สิ่งที่มีอยู่จริงเป็นยังไง เรามองมากขึ้น

วิถีชีวิตชนบทแบบเดิมไม่มีแล้ว ไม่มีชาวนาแบบในหนังสือพระยาอนุมานราชธนแล้ว ระยะห่างของความเจริญทุกวันนี้ไม่มีแล้ว ฉะนั้นถ้าจะมองอีสานในความเป็นจริงทุกวันนี้ มันมีทุกอย่าง มันเข้าถึงแบบเดียวกับที่กรุงเทพฯ มีแล้ว อีกส่วนเป็นคนชอบอ่านงานประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา เราเลยมีนิสัยการมองในฐานะคนกำลังศึกษาคน พื้นที่ ประวัติศาสตร์ เป็นข้อมูลที่ค่อยๆ เก็บมา

เราสอนประวัติศาสตร์ศิลปะด้วย ซึ่งเป็นปัญหาช่วงแรก เพราะประวัติศาสตร์ศิลปะไทยไม่มีอีสาน เป็นประวัติศาสตร์เมืองหลวง ซึ่งอีสานถูกนับว่าเป็นขอม เป็นเขมรไป การนับว่าเป็นศิลปะไทยจึงอยู่แค่ภาคกลางและภาคเหนือเท่านั้น อีสานไม่ใช่เมืองหลวง เพราะไปอิงกับลาว กับเขมร กับกรุงเทพฯ โดยที่ตัวเองอยู่ตรงกลางที่คอยซึมซับเอาวัฒนธรรมรอบๆ มาปรับใช้ตลอดเวลา ซึ่งส่วนนี้ก็เป็นสีสัน เพราะสะท้อนการปรับตัวตลอดเวลา ไม่มีแบบแผนของตัวเอง อย่างภาคเหนือซึ่งยังมีวัฒนธรรมหลวง ก็จะมีแบบแผนชัด

มาถึงยุคที่เราสนใจคืออีสานยุคทันสมัย ยุคสงครามเย็น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นอีสานที่ไม่ไกลจากปัจจุบัน เห็นร่องรอยที่ตกค้างจนถึงทุกวันนี้ในหลายด้าน เช่นความรู้ในการสร้างภาพจำให้กับคนว่าอีสานเป็นอย่างไร ซึ่งความรู้ในที่นี้คือหนังสือ ซึ่งจะเป็นหนังสือที่อยู่ในยุค พ.ศ. 2500-2520 เพราะเป็นยุคที่รัฐผลิตและจัดการความรู้ผ่านการเขียนหนังสือและตำรา อุตสาหกรรมหนังสือเกิดในยุคนั้นเยอะ

 
 

จากที่ศึกษาหนังสือเกี่ยวกับอีสาน สังเกตเห็นมุมมองต่ออีสานเป็นอย่างไร?

 

ด้านที่เราศึกษามานานคือเชิงชาติพันธุ์ ในอีสานมีคนหลายเชื้อชาติ มองผ่านวิถีชีวิต วัฒนธรรม ใหม่กว่านั้นมองในเชิงการจัดการคน คือในยุคสงครามเย็น มองแบบอเมริกันพยายามจะมาควบคุมอีสาน ทำอย่างไรให้รู้จักนิสัยใจคอเพื่อจัดการไม่ให้คนอีสานเอียงไปทางคอมมิวนิสต์ รัฐพยายามให้นักมานุษยวิทยาลงไปเก็บข้อมูลตามพื้นที่ ตามหมู่บ้าน หนังสือ ‘แผนที่สร้างชาติ’ ของเก่งกิจ ก็จะพูดถึงเรื่องนี้

ฝรั่งที่ไปปรากฏตัวที่นั่น ช่วงนั้น ไม่ขอพูดแบบฟันธง แต่เขาก็ถูกมองว่าเป็นสีสัน เป็นของแปลก และที่สำคัญฝรั่งมีเงิน ถ้าเป็นหมู่บ้านที่มีความใกล้ชิดรัฐก็จะมองฝรั่งดี หมู่บ้านเอียงไปทางคอมมิวนิสต์ก็จะมองฝรั่งไม่ค่อยดี

 

 

หนังสือ ‘ไม่มีเสียงหัวเราะจากอีสาน’ ของ ‘นายรำ’ นักข่าวของสำนักพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งเลือกมาเป็นหนึ่งในปกที่วาด และเนื้อหาให้ภาพความเป็นอยู่ที่ลำบากยากแค้นของคนอีสาน ตรงนี้ก็มีส่วนในการสร้างภาพจำของภาคอีสาน แต่ขณะเดียวกันมันก็คือความจริงในสมัยนั้นเช่นกัน ไม่ใช่เหรอ?

 

เพราะเป็นนักข่าวจากสยามรัฐ ซึ่งตอนนั้นมี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็น บ.ก. และคึกฤทธิ์ก็ต้องการจะดิสเครดิตรัฐบาลในสมัยนั้นคือจอมพล ป.  โดยการบอกว่ารัฐบาลไม่เหลียวแลคนอีสาน ซึ่งจริงๆ มันก็เป็นแบบนั้น รัฐไม่เหลียวแลอีสานเป็นมาจนถึงยุคทักษิณ คนอีสานจึงรู้สึกรักมาก เพราะไม่เคยมีใครมาให้ความสำคัญเขาเท่านี้ ทักษิณจึงสำคัญกับอีสาน ซึ่งก่อนหน้านั้นทักษิณเองก็ทำวิจัยว่าถ้าจะเอาฐานเสียงจะต้องใช้เงินทำแคมเปญแบบไหนกับคนกลุ่มไหน และคนอีสานคือกลุ่มประชากรที่เป็นฐานเสียงจำนวนมาก

 

ทำไมถึงเลือกแต่ละเล่มมา?

 

หนังสือส่วนหนึ่งมาจากห้องสมุด เราถ่ายรูปเก็บไว้ พอจะเอามาเขียนก็เลือกว่าจะเขียนเล่มไหนก่อน จะมีเล่มที่เกี่ยวข้องกับยุคสมัยที่เราสนใจ เช่นเรื่อง ‘สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลผู้พิชิต’ ก็เกี่ยวกับสฤษดิ์ซึ่งเราสนใจศึกษา หรือ ‘ประเทศเล็กที่สมบูรณ์’ ก็เป็นแบบเรียนที่เริ่มใช้ในยุคนั้น (ประมาณ พ.ศ. 2500 เป็นต้นไป) และโดยตัวชื่อและเนื้อหามันเอง ทำให้เราเห็นว่าแบบเรียนในยุคนั้นสร้างภาพให้กับคนที่ใช้แบบเรียนนั้นรู้จักและจำอะไรได้ เนื้อหาก็จะว่าด้วยเรื่องทรัพย์ในดินสินในน้ำ เรื่องชีวิตชนบท เรื่องความเจริญของการตัดถนนเข้าไปในชนบท เพื่อให้เห็นข้อดีของการพัฒนาชนบทจากการที่รัฐบาลทำให้ ชื่อมันเองก็น่าสนใจที่เรานิยามตัวเองว่าเป็นประเทศเล็กแต่สมบูรณ์ เพราะเราอยู่ท่ามกลางพี่ๆ ที่เป็นประเทศใหญ่ ในโลกฝั่งเสรี โลกทุนนิยม และสฤษดิ์เองก็ชิดเชื้อกับอเมริกา แต่ก่อนหน้านั้นช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเราอยากเป็นมหาอำนาจ จอมพลป. คิดว่าเราจะเป็นมหาอำนาจได้ถ้าญี่ปุ่นชนะสงครามโลก

 
 

จนเอามาตั้งเป็นชื่อนิทรรศการ?

 

คิดว่าชื่อมันพูดอะไรได้เยอะ ความหมายของมันเอง เนื้อหาที่จะเอามาพูดต่อ สามารถครอบคุลมเนื้อหาส่วนอื่นของนิทรรศการได้ด้วย เรื่องความรู้ การสร้างภาพ

 

เหมือนเป็นการเสียดสี?

 

มันดูตลกร้าย กับสิ่งที่เราเผชิญอยู่ทุกวันนี้ มันเป็นอุดมคติมาก แบบเรียนนี้ 60 ปีแล้ว วันนี้เอาชื่อมาพูดใหม่ฟังดูตลกไหม ถ้าเราบอกว่าชื่อนี้มันเป็นภาพฝันในอนาคต แล้วตกลงตอนนี้มันเป็นไหม ตกลงเราได้เป็นประเทศเล็กที่สมบูรณ์ไหม ทุกวันนี้เรานิยามประเทศเราเป็นยังไง แต่เมื่อ 60 ปีที่แล้วเรานิยามประเทศเราเป็นแบบนี้ผ่านแบบเรียน แล้วแบบเรียนนี้ใช้อยู่ 20 ปี ซึ่งถือว่านานนะ

20 ปีก่อน สมัยชาติชาย (พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) เป็นนายก ก่อนยุคฟองสบู่ เรายังเป็น NIC (Newly Industrialized Country: ประเทศอุตสาหกรรมใหม่) เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ แล้วเราก็โดนประเทศอื่นแซงไปเรื่อยๆ

หรืออย่างหนังสือปรีดี ไม่ได้เกี่ยวกับอีสานโดยตรง แต่ในงานนี้คือรวมงานที่เชื่อมอีสานไว้กับส่วนกลาง มีแง่มุมนิดๆ ที่เชื่อมกับส่วนกลาง หรือเกี่ยวกับบุคคลสำคัญที่เป็นภาพจำ และอย่างกรณีนี้คือเราชอบสภาพปก บางเล่มก็เลือกจากปก มองในเชิงความงาม จากภาพ จากสี จากความผุพัง อย่างเล่ม ‘เหตุการณ์ปัจจุบันของโลก’ กับสภาพปกที่ผุพัง มันขัดแย้งกันมาก

หรือ ‘เจ้าชายของประชาชน’ เป็นแบบเรียน คือเป็นช่วงที่ท่านเพิ่งกลับจากเมืองนอก เริ่มต้องรับภาระ ดังนั้นจึงต้องพูดถึงพระราชกรณียกิจให้คนได้รู้จัก เพราะตอนนั้นคนยังไม่รู้ว่าหน้าตาของเจ้าชายของประเทศเป็นยังไง

 

 

ทำไมถึงต้องเป็นการวาด?

 

การไปห้องสมุดแล้วเห็นปกหนังสือหลายๆ เล่ม สภาพปกกระตุ้นให้เราอยากกลับมาวาดรูป เพราะเราหยุดวาดรูปไปเป็น 10 ปี ช่วงก่อนหน้านี้ก็ทำเป็นงานภาพถ่ายมาตลอด แต่เราเรียนเพ้นท์มา พอเราเห็นว่าปกหลายๆ ปกสวยและอยากวาด เหมือนเราอยากวาดวัตถุสิ่งของที่เรามีความชอบและหลงใหลมัน

ถ้าเป็นการเอาหนังสือมาถ่าย เราคิดว่าคงพูดอะไรได้ไม่มากเท่า การถ่ายรูปมันหนีจากการเป็นตัวแทนของหนังสือไม่ได้ คือการสื่อตรงถึงหนังสือเล่มนั้นๆ เลย ในขณะที่การค่อยๆ วาดมันทำให้กลายเป็นวัตถุทางสายตา ไม่ต้องคำนึงถึงเนื้อหาข้างใน มันสามารถมองเป็นรูปรูปหนึ่ง มากกว่าการเป็นหลักฐานของหนังสือ และการวาดมันคือการเลือกที่จะเน้นและเลือกที่จะลบบางอย่างจากของจริงได้

 

เวลาในการเขียน?

 

5-6 เดือน

 

แล้วทำไมเลือกจะมีวิดีโอเข้ามาในงานด้วย?

 

หนังสืออาจมองว่าเป็นเรื่องของการจัดการความรู้เป็นลายลักษณ์ แต่ในความจริงมันมีสิ่งที่เป็นความรู้ที่น่าสนใจสำหรับเราที่อาจไม่ได้ถูกนับว่าเป็นความรู้ เป็นความรู้ที่คนทั่วไปไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ แต่มันมีความสำคัญกับชาวบ้านและมันมีอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน เราเลยอยากนำสิ่งเหล่านี้มาทำเป็นวิดีโอ เช่น การสนตะพาย และมันอาจเชื่อมโยงกับที่ว่า จริงๆ แล้วเรารับรู้เรื่องราวของอีสานผ่านจากสื่ออื่นๆ มากกว่าประสบการณ์จริง และสิ่งที่ปรากฏในวิดีโออาจจะตรงข้ามกับที่เรารู้ว่าก่อนก็ได้ เช่น อีสานแห้งแล้ง คนไม่มีจะกิน มันก็ไม่ใช่แบบนั้น ในวิดีโอก็จะเห็นว่าอีสานมีงานรื่นเริง มีงานเลี้ยง

 

จะสื่อว่าขณะที่คนมีภาพจำว่าอีสานแห้งแล้ง ถูกทอดทิ้งจากส่วนกลาง แต่จริงๆ อีสานก็มีความสมบูรณ์ของตัวเอง?

 

ไม่ได้ตั้งใจให้นิทรรศการแบ่งแบบขาวดำขนาดนั้น ไม่ได้ให้ภาพในเชิงข้อสรุป แต่อยากสะกิดให้คิดมากกว่าว่าภาพจำหรือความรู้ที่เคยรู้กันมามันถูกสร้างขึ้น ถูกจัดการเพื่อให้รับรู้แบบนั้น ถ้าดูในหลายๆ เล่มก็จะได้ภาพของอีสานในหลายรูปแบบ เล่มหนึ่งก็เป็นอีสานยุคที่ถูกจัดการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็ไม่ใช่มิติของอีสานแห้งแล้ง แต่เป็นอีสานที่รุ่มรวยทางวัฒนธรรม อีสานถูกสร้างภาพเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย แต่ละเล่มมีมิติอีสานในแบบต่างๆ

 

 

ความเป็นอีสานเข้ามาสู่คนกรุงฯ ด้วย เพลงอีสานกลายเป็นเพลงฮิตได้ มองปรากฎการณ์นี้อย่างไร?

 

เราสังเกตมาหลายปี มันค่อยๆ มา ด้วยสื่อหลายๆ อย่าง เช่น ยูทูบ คนรุ่นใหม่สามารถนำเสนอตัวเองได้ เขากล้าขึ้น และไม่ต้องใช้ต้นทุนมาก คนเข้าช่องทางนี้เยอะ ถ้ามันโดนขึ้นมา คืนเดียวเปลี่ยนโลก มีเด็กรุ่นใหม่ที่ทำอย่างนี้เยอะ อีกอย่างคืออีสานมีความพิเศษด้านดนตรี ฐานเข้มแข็งมาก อาจเป็นเพราะคนอีสานไปทุกที่ เพลงอีสานจึงได้เปิดทุกที่ ศักยภาพในการแพร่กระจายจึงไปได้เยอะกว่า ถ้าเชิงเนื้อหา ผลงานที่เป็นสื่อบันเทิง เสพง่าย จากคนไม่สนใจ แต่ไปที่ไหนก็ได้ยิน ก็ยิ่งรู้จัก ดังนั้นถ้าทำอะไรขายคนอีสานได้ รวย สปอนเซอร์ก็เข้าเยอะ

หรือเอาเข้าจริงๆ แล้วอาจเป็นเพราะคนอีสานอยู่ทุกที่ มากกว่าที่จะเป็นการรุกคืบของวัฒนธรรมอีสานเข้าสู่เมืองกรุง ขณะเดียวกันคนกรุงก็สนใจทุกอย่างที่เป็นกระแส หนัง ‘ไทบ้านเดอะซีรีส์’ ไม่ได้คิดให้คนภาคอื่นดู เหมือนหมอลำ ไม่ได้ร้องให้คนภาคอื่นฟัง แต่คนดูหลักของเขาทำให้เขาอยู่ได้อยู่แล้ว ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในภาคอีสานแข่งขันสูงมาก เพราะคนอีสานเยอะ คนกินเหล้าก็เยอะ

 

ฉะนั้นอีสานในปัจจุบันก็อาจไม่ใช่อีสานที่ถูกลืมอีกต่อไปแล้ว?

 

อาจจะคนละมิติกัน อย่างในงานเรามันคืออีสานที่ถูกลืมในมิติของการพัฒนา การได้รับการดูแลจากรัฐ รัฐลืม ไม่ใช่คนทั่วไปลืม แต่มิติแบบเมื่อกี้คืออีสานที่ถูกรับรู้จากคนทั่วไป ดูจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากขึ้น จากสิ่งที่ถูกใส่ทัศนคติว่าอีสานเป็นคนจน ชาวบ้าน คนใช้ ตอนนี้มันถูกมองใหม่

งานเราเน้นอีสานในมุมมองของรัฐ หรือความรู้เกี่ยวกับอีสานที่ถูกจัดการตามมุมมองของรัฐ เพราะต้องมีอำนาจถึงจะจัดการความรู้ได้ และความรู้ที่ถูกเลือก คัดสรร สรุปแล้วนำไปใช้จัดการศึกษาแก่คนทั้งประเทศ ก็ต้องเป็นความรู้ที่รัฐจัดการ แบบเรียนจึงเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลกับคนมาก

คนที่เคยใช้แบบเรียน ‘ประเทศเล็กที่สมบูรณ์’ ทำให้คนจำอะไรบางอย่างได้เป็นจำนวนกี่คนใน 20 ปี อย่างเราไม่เคยได้ใช้ เราก็จะได้รับรู้มันในอีกแบบหนึ่ง แล้วเราต้องมาดูแบบเรียนรุ่นต่อๆ มา ถ้ายังไม่ปรับ แสดงว่ามุมมองนั้นก็ยังอยู่ในคนอีกรุ่นหนึ่ง

 

 

อย่าง ‘สฤษดิ์’ ในมุมมองของคนอีสานเป็นอย่างไร เพราะสฤษดิ์เองก็มีส่วนในการเข้ามาพัฒนาอีสาน?

 

คนที่รักสฤษดิ์ต้องเป็นคนที่ทัน ก็คือคนที่แก่แล้วตอนนี้ แต่คนรุ่นใหม่ไม่รู้จัก เป็นความรู้สึกแบบกระอักกระอ่วนในการเชิดชูสฤษดิ์ เพราะประวัติศาสตร์การปกครองติดป้ายว่าเป็นเผด็จการ แต่ถ้ามองมุมพื้นที่ ท้องถิ่น สฤษดิ์คือคนมาพัฒนาขอนแก่น

อีสานยุคสฤษดิ์เป็นพื้นที่ว่างเปล่ามหาศาลที่เหมาะสมจะพัฒนาการเพาะปลูกเป็นการทำเกษตรเชิงอุตสาหกรรม ถ้ามองแบบนั้น โครงสร้างสังคมอีสานในยุคนั้นพังเพราะการปลูกพืชเชิงอุตสาหกรรมสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม และทำให้คนอพยพไปขายแรงงาน สังคมแบบเก่าก็พัง เป็นการพัฒนาในเชิงวัตถุ เป็นการหาประโยชน์จากพื้นที่โดยไม่คำนึงถึงคนที่อยู่ตรงนั้น เหมือนการทำเหมืองในปัจจุบัน ไม่ได้มองว่าสร้างผลกระทบกับคนตรงนั้นอย่างไรบ้าง

ในยุคนั้นถูกพัฒนาเพื่อการจัดการคอมมิวนิสต์ด้วย เพราะอีสานเป็นเหมือนที่คั่นหน้าด่าน ลาวเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว ถ้าไม่อยากให้อีสานเป็นคอมมิวนิสต์ก็ต้องพัฒนาพื้นที่ รัฐไทยก็ต้องเอาใจคนอีสาน

 

สำหรับ นิทรรศการ ‘ประเทศเล็กที่สมบูรณ์’ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. 2561 ถึง 5 พ.ค. 2562 นี้ แกลลอรี่เปิดทำการทุกวันพฤหัสบดี-วันอาทิตย์ เวลา 11:00-19:00 น. ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ info@100tonsongallery.com หรือ โทร.02-010-5813

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท