Skip to main content
sharethis

เมื่อค่ำวานนี้ ทางการไทยและสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) นำตัวหญิงซาอุฯ ที่หนีจากครอบครัวแล้วมาถูกกักตัวขณะรอต่อเครื่องในไทยเข้าประเทศแล้ว หลังกักตัวในโรงแรมมาสองวัน สื่ออังกฤษรายงานข้อมูลจากเพื่อนเก่าของเธอว่า วีซ่าท่องเที่ยวออสเตรเลียที่เธอมีถูกยกเลิก ด้านหน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่ออกมาชี้แจง

ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด แอล-คูนูน

8 ม.ค. 2562 ข่าวสดอิงลิชรายงานกรณีราฮาฟ โมฮัมเหม็ด แอล-คูนูน หญิงอายุ 18 ปี ชาวซาอุดิอาระเบียที่หลบหนีจากครอบครัวเพื่อไปยังออสเตรเลีย แต่ถูกควบคุมตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิขณะรอเปลี่ยนเครื่องเมื่อ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา

องค์กรสิทธิ-กฎหมาย แถลงขอไทยไม่ส่งหญิงซาอุฯ กลับ ล่าสุด UNHCR ถึงตัวแล้ว

กักตัวหญิงซาอุฯ วันที่สอง ถูกคุมตัวที่ไทยขณะพยายามลี้ภัยไปออสเตรเลีย

ล่าสุดในช่วงค่ำเมื่อวานนี้ (7 ม.ค.) หลังเจ้าหน้าที่จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees - UNHCR) เข้าพบและสัมภาษณ์แอล-คูนูน ทางการไทย โดย UNHCR ได้รับเรื่องของเธอเอาไว้และจะส่งตัวเธอไปประเทศอื่นต่อไป รวมถึงอนุญาตให้เธอเข้าประเทศระหว่างรอทำเรื่องส่งตัวไปประเทศอื่น โดยเจ้าหน้าที่ UNHCR ได้นำหญิงชาวซาอุฯ ออกจากสนามบินสุวรรณภูมิแล้วโดยไม่ได้ถูกทางการไทยควบคุมตัวแต่อย่างใด

ในขณะที่ไทยรัฐรายงานว่า พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทยกล่าวว่าไทยจะดูแลแอล-คูนูน อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เพราะตอนนี้เธออยู่ใต้อธิปไตยของไทย ไม่มีใคร หรือสถานทูตใดจะบังคับให้เธอไปที่ไหนได้ โดยเขาจะไปแจ้งนักการทูตซาอุฯ กรณีการตัดสินใจของไทยครั้งนี้ในวันนี้ ด้านแอล-คูนูนทวีตผ่านทวิตเตอร์ว่าพ่อของเธอมาถึงประเทศไทยแล้ว ทำให้เธอกังวลและหวาดกลัวมาก

ล่าสุดเมื่อเที่ยงวันนี้ ไทยพีบีเอสรายงานว่าสุรเชษฐ์ได้เตรียมเข้าพบกับอุปทูตซาอุฯ แล้ว และทางสถานเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทยก็มีแถลงการณ์ออกมาว่า ทางสถานทูตฯ ปฏิเสธประเด็นที่มีการเผยแพร่ในสื่อโซเชียลมีเดียว่าทางสถานทูตฯ ยึดพาสปอร์ตของแอล-คูนูน โดยระบุว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากตามที่ทางการไทยได้ชี้แจงว่า น.ส.ราฮาฟ ถูกกักตัวนั้น เนื่องจากไม่สามารถแสดงเอกสารสำคัญที่สามารถตรวจสอบได้ โดยสถานทูตฯ ขอยืนยันว่าซาอุฯ ไม่ได้ขอให้นำตัวเธอกลับประเทศ สถานทูตฯ ขอเรียนว่ากรณีนี้เป็นเรื่องภายในครอบครัว แต่สถานทูตฯ ยินดีให้ความดูแลและห่วงใยต่อเรื่องดังกล่าว

แถลงการณ์สถานทูตฯ (ที่มา: Facebook/ Sa-nguan Khumrungroj)

ในประเด็นที่แอล-คูนูนอ้างว่าเธอได้รับวีซ่าเข้าออสเตรเลียแล้วนั้น เดอะการ์เดียนรายงานว่าวีซ่าดังกล่าวถูกยกเลิกแล้ว นูราห์ อัลฮาร์บี เพื่อนเก่าของแอล-คูนูนที่เพิ่งย้ายจากซาอุฯ ไปยังออสเตรเลียกล่าวกับเดอะการ์เดียนว่าออสเตรเลียได้ยกเลิกวีซ่าดังกล่าวซึ่งเป็นวีซ่าท่องเที่ยว โดยเธอได้สอบถามไปแล้วแต่ไม่ได้คำตอบ โดยกระทรวงการตรวจคนเข้าเมือง สัญชาติ และกิจการพหุวัฒนธรรมของออสเตรเลียยังไม่ได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าว

ด้านเอเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำออสเตรเลีย ออกมาร้องขอให้รัฐบาลออสเตรเลียออกมาชี้แจงเรื่องสถานะวีซ่าของแอล-คูนูน  โดยระบุว่าหากวีซ่าถูกยกเลิกจริงก็เป็นเรื่องน่ากังวลมาก เพราะแอล-คูนูนจะไม่มีความปลอดภัยอย่างแท้จริงหากยังไม่เดินทางถึงประเทศที่สาม โดยรัฐบาลออสเตรเลียมีข้อบังคับในทางจริยธรรมในการช่วยเหลือเธอ

ทั้งนี้ เมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา รัฐบาลออสเตรเลียได้ออกมาแถลงว่าได้พยายามพูดคุยกับรัฐบาลไทยและ UNHCR ให้แอล-คูนูนได้รับอนุญาตให้เข้าถึงการลี้ภัย

แอล-คูนูนเดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิวันที่ 5 ม.ค. 2562 ระหว่างการเดินทางจากคูเวตไปออสเตรเลีย ราฮาฟบอกว่า เธอหลบหนีมาจากการปฏิบัติมิชอบ การทุบตี และการขู่ฆ่าจากครอบครัวของตนเอง เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ราฮาฟบอกว่า เจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุฯ ได้ยึดหนังสือเดินทางของเธอเอาไว้ ส่วนหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของไทยบอกว่า ถูกขัดขวางไม่ให้เดินทางต่อไปยังออสเตรเลีย และได้มีการติดต่อกับ “สถานเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบียเพื่อประสานงาน” ในเรื่องนี้

ภายใต้ระบบชายผู้ปกครอง (Male Guardianship system) ของซาอุฯ ระบุว่าผู้หญิงทุกคนจะต้องมีผู้ปกครองที่เป็นเพศชายซึ่งเป็นได้ทั้งพ่อ พี่ชาย น้องชาย สามี หรือแม้แต่บุตรชาย เพศชายเหล่านี้จะมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ แทนตัวผู้หญิง และผู้หญิงจำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองในการทำพาสปอร์ต เดินทางออกนอกประเทศ ไปศึกษานอกประเทศหรือแม้แต่การแต่งงาน

ภาวะที่ผู้หญิงถูกผู้ชายกดขี่ในซาอุฯ เคยเกิดขึ้นในอดีตแล้ว เมื่อปี 2551 หญิงสาวชาวซาอุฯ ที่ไม่ปรากฏนาม ถูกพ่อของเธอฆ่า ด้วยสาเหตุว่าเธอเล่นแชทในเฟซบุ๊ค นักเทศน์ชาวซาอุฯ ชื่ออาลี อัล มาลิกีกล่าวกับสื่อเทเลกราฟว่า “เฟซบุ๊คเป็นประตูสู่กามารมย์ และชายหนุ่มกับหญิงสาวต่างก็ใช้เวลาบนโทรศัพท์มือถือมากกว่าใช้เวลาไปกับอาหาร”

ในปี 2560 ดีน่า อาลี เลสลูม หญิงชาวซาอุฯ ถูกกันตัวเอาไว้ที่สนามบินนานาชาตินินอย อากิโน ประเทศฟิลิปปินส์ขณะเดินทางไปยังออสเตรเลียเพื่อลี้ภัย หลังจากนั้นเธอถูกส่งตัวกลับไปที่ซาอุฯ จนถึงปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรม

ไทยไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาผู้ลี้ภัย ประเทศไทยจึงไม่ใช่ประเทศที่รองรับการลี้ภัย แม้ว่าจะมีหลักการระหว่างประเทศที่เป็นจารีตเรื่องการไม่ส่งตัวบุคคลกลับไปเผชิญอันตราย ณ ที่ที่จากมา (Non-refoulement) แต่ที่ผ่านมา การปฏิบัติตัวของรัฐไทยก็มีลักษณะที่ไม่เป็นคุณต่อผู้ลี้ภัย ยกตัวอย่างเช่นกรณีของฮาคิม อัล อาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน ผู้ลี้ภัยไปอยู่ออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2557 ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากรัฐบาลปลายทางให้อาศัยในออสเตรเลียได้ไม่จำกัดเวลา หลังเขาถูกทางการบาห์เรนจับกุมตัวและทรมานในปี 2555 เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวเคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล หลังจากนั้นเขาก็ออกมาพูดเรื่องการถูกทรมานอย่างเปิดเผย แต่เขาถูกจับโดยหมายแดงขององค์การตำรวจนานาชาติหรือ INTERPOL หลังเดินทางจากนครเมลเบิร์น ออสเตรเลียมายังสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา และเมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมานั้นถูกศาลอาญาสั่งฝากขังเป็นเวลา 60 วัน หรือกรณีที่ทางการไทยส่งตัวรัฐ ร็อท โมนี ประธานสหพันธ์สหภาพแรงงานก่อสร้างกัมพูชา (CCTUF) กลับประเทศกัมพูชา หลังถูกกักตัวไว้ที่สถานกักตัวคนต่างด้าวซอยสวนพลู กทม. เมื่อ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา 

เมื่อเดือน ส.ค. 2561 ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี สนธิกำลังร่วมกับทหาร ตำรวจ ตม. ปิดล้อมจับกุมชาวกัมพูชา เวียดนาม 168 ราย โดยนึกว่าเป็นเครือข่ายค้ามนุษย์-แรงงานข้ามชาติลักลอบทำงาน อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ถูกควบคุมตัวกลุ่มนี้ที่แท้เป็นผู้ลี้ภัยชนกลุ่มน้อยหนีการเลือกปฏิบัติในเวียดนาม-กัมพูชา กว่า 154 รายถือบัตรผู้ลี้ภัยของ UNHCR และอยู่ระหว่างทำเรื่องขอลี้ภัยไปประเทศที่สาม ในจำนวนนั้นเป็นเด็ก 60 คน

นอกจากนั้นยังมีกรณีที่ทางการไทยจับกุม แซม โสกา นักเคลื่อนไหวแรงงานแล้วส่งตัวกลับกัมพูชา โดยเธอถูกศาลกัมพูชาพิพากษาลับหลังว่ามีความผิดข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน และปลุกปั่นยุยงเพื่อสร้างความแตกแยก มีโทษจำคุก 2 ปี จากกรณีที่มีวิดีโอของเธอขว้างรองเท้าใส่ป้ายที่มีภาพของ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี และเฮง สัมริน ประธานสภา 

บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่าการส่งตัว แซม โสกา กลับประเทศ เป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ของไทย และเป็นความร่วมมือระหว่างตำรวจทั้งสองประเทศ และเชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการพิจารณาเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบแล้วว่าการส่งตัว แซม โสกา กลับไปกัมพูชา จะไม่เป็นภัยต่อบุคคลดังกล่าว

ย้อนไปไกลกว่านั้น ทางการไทยได้ส่งตัวชาวอุยกูร์ หรือชาวเติร์ก ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมซึ่งอยู่ทางตกวันตกเฉียงเหนือของจีน จำนวน 97 คน ซึ่งประกอบด้วยเด็กและผู้หญิง กลับไปยังประเทศจีน ทางเครื่องบินทางท่าอากาศยานดอนเมืองเมื่อเดือน ก.ค. 2558 พฤติการณ์เช่นว่าสร้างความกังวลต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) อย่างยิ่ง รวมถึงทำให้ชาวอุยกูร์ในตุรกีบุกสถานกงสุลไทยประจำกรุงอังการา ประเทศตุรกีเนื่องจากไม่พอใจกับการตัดสินใจเช่นนั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net