Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ผมขอเขียนบทความนี้นินทา "แม่บ้าน" สักหน่อย แม้ดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่เป็นเรื่องระบบคิดที่ส่งผลต่อประเทศชาติของไทยเป็นอย่างมากในอนาคตท่ามกลางการแข่งขันกับเพื่อนบ้าน

เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 ภริยาเอาข้อความที่แม่บ้านคนหนึ่งของผมเขียน LINE ส่งมาโดยมีใจความว่า ขณะนี้อยู่ที่บ้านเกิดซึ่งเดินทางมาในช่วงปีใหม่ แต่ที่บ้านมีเรื่องยุ่งๆ เลยยังไม่รู้จะได้กลับไปทำงานได้เมื่อไหร่!?! อันนี้คงเป็นศิลปะการลาออกขั้นเทพที่เขียนได้ดีแบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น น่านับถือจริงๆ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็แสดงถึงความไม่รับผิดชอบอยู่ในที เพราะนึกจะไปก็ไปซะงั้น

ก็เป็นไปได้ที่เธออาจมีความจำเป็นจริงๆ เช่น พ่อแม่ป่วย ครอบครัวมีปัญหาบางประการ ปัญหากับเพื่อนบ้าน หรือมีข้อพิพาทเรื่องทรัพย์สิน ฯลฯ ที่ล้วนอาจเป็นไปได้ทั้งสิ้น ซึ่งความจำเป็นนั้นอาจมีมากกว่ารายได้เดือนละ 15,000 บาท แม่บ้านผมจึงอาจยอมเสียรายได้ไป และผมก็คงรอเธอไม่ไหว เพราะต้องหาคนใหม่มาทำหน้าที่แทน เพราะเกรงใจแม่บ้านที่ยังทำงานอยู่ จะทำงานหนักเกินความจำเป็น เดี๋ยวพาลลาออกไปจะยิ่งยุ่งกันใหญ่

แต่การจะสร้างรายได้ในชนบทในค่าจ้างตามนี้ ก็อาจมีจำกัด แม้ค่าใช้จ่ายในต่างจังหวัดจะถูกกว่า บ้านก็ไม่ต้องเช่า แต่สามีที่ขับแท็กซี่อยู่ในกรุงเทพมหานครก็ยังต้องเช่าบ้านอยู่ดี การตัดสินใจทิ้งงานไป จึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะคุ้มนัก ยกเว้นแต่ได้งานอื่น เพียงแต่เขียน LINE มาให้ดูเป็นอื่น จะได้ไม่เสียน้ำใจกัน ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ แต่เมื่อเร็วๆ นี้ เธอก็เพิ่งลาออกมาจากที่ทำงานเก่า มาทำงานในตามรายได้อัตราใหม่ที่นี่

อย่างไรก็ตามสังคมไทยในชนบท ก็ยังพอจะมีอาหารการกินตามธรรมชาติอยู่บ้าง ทำให้คนไม่อดตาย ต่างจากในอาฟริกาและอีกหลายที่ ๆ ชนบทมีแต่ความแห้งแล้ง หรือต่างจากในอเมริกา คนชนบทไม่ได้มีที่นาหรือบ้านเป็นของตนเองเช่นคนไทยในต่างจังหวัด เศรษฐกิจในลักษณะนี้เรียกว่า Subsistence Economy หรือระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพที่ยังจับกบจัดกระปอม มีผักหญ้ากินได้ตามมีตามเกิด หมู่บ้านในชนบทของไทยจึงมีลักษณะเป็น "กึ่งรีสอร์ต" สำหรับคนจนๆ ที่มาทำมาหากินในเมืองแล้วกลับไป "ชาร์จแบต" เป็นครั้งคราวบ้าง

ประเด็นที่พึงพิจารณาก็คือ แม่บ้านของผมไปซะแล้ว และภริยาของผมก็คงต้องหาคนใหม่ และแน่นอนว่า มีเอเยนต์จัดหาแม่บ้านชาวพม่ามาทำงาน ซึ่งก็ยังแวะเวียนมาถามไถ่เป็นระยะ ๆ อันที่จริงขณะนี้เราก็มีแม่บ้านพม่าอยู่คนหนึ่งแล้ว เธอทำงานดี รายได้ยังมากกว่าแม่บ้านคนไทยของผมเสียอีก แม้เธอจะเด็กกว่า แต่อยู่มานาน 2 ปีแล้ว รายได้จึงได้มากกว่าแม่บ้านคนไทยแท้ๆ ที่เพิ่งเข้ามา

แม่บ้านพม่าของผมเป็นเด็กสาวแต่งงานแล้ว สามีก็ทำงานโรงงานอยู่อีกที่หนึ่งในย่านชานเมือง ช่วงวันหยุดจึงมาหากันที่บ้านของผม ทั้งสองคนต้องหาเงินเพื่อส่งกลับไปให้ครอบครัวของทั้งสองเดือนละนับหมื่นบาทต่อคน เพราะอยู่กับผม ก็ได้ที่พักฟรี อาหารหลายครั้งก็ฟรี เธอทำงานเต็มที่เพราะต้องส่งเงินไปหาแม่เป็นระยะ ๆ และบางครั้งครอบครัวของเธอก็นึกว่าเธอเป็น "ตู้เอทีเอ็ม" เคลื่อนที่ ขอเงินมาเป็นระยะๆ อีกต่างหาก

ระหว่างแม่บ้านพม่าที่สู้หลังชนฝาเพื่อครอบครัวที่รอคอยอยู่เบื้องหลังที่พม่า กับแม่บ้านคนไทยที่มีเศรษฐกิจยังชีพอยู่ในชนบทอันไพศาล ใจจึงสู้แตกต่างกัน อันที่จริงในชนบท มีหญิงวัยกลางคนหรือแม้แต่หญิงอายุเกิน 60 ปีที่ยังแข็งแรงอยู่พอทำงานได้มากมาย แต่คนเหล่านี้ไม่ได้มาทำงาน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนายจ้างยังไม่เปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านี้มาทำงานเท่าที่ควร มักจำกัดที่อายุ แต่อีกส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะชาย-หญิงวัยกลางคนเหล่านี้เต็มใจที่จะอยู่ไปเรื่อยๆ ในชนบทมากกว่าหรือไม่ บ้างก็อยู่บ้านเลี้ยงหลานไปตามมีตามเกิดกันไป

เราควรฝึกคนไทยเราให้เป็นลูกจ้างที่ดี ไม่ใช่หวังฝึกให้เป็นนายจ้างหรือจ้างตนเอง แบบที่เรามักฝึกคนแบบ "ลุงขาวไขอาชีพ" คือให้ไปทำกิจการ SMEs ของตนเอง แล้วก็เจ๊งไม่เป็นท่า รุ่นแล้วรุ่นเล่า เมื่อ 20 ปีก่อน ผมมีแม่บ้านอยู่คนหนึ่ง ใช้เวลาว่างไปเรียนตัดเย็บเสื้อผ้า พอได้วิชา ก็ลาออกไปเปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้าในต่างจังหวัด ปรากฏว่าเจ๊งไม่เป็นท่าเพราะมาระยะหลังนี้เขาเลิกตัดเสื้อผ้ากันแล้ว ซื้อสำเร็จรูปดีกว่า อีกคนก็ลาออกไปรวยทางลัดได้สามีฝรั่ง ทำร้านอาหารก็เจ๊งไป แม่บ้านคนหนึ่งไม่ค่อยมีใจทำงาน แต่เป็นคนทำกับข้าวเก่ง ภริยาของผมเลยช่วยให้ไปเปิดร้านอาหารในศูนย์อาหาร แต่โดยที่ขาดความเป็น "เถ้าแก่" ก็เจ๊งไปอีกเหมือนกัน

ผมไปที่ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ไต้หวัน เห็นคนจีนสูงวัยยังทำงานกวาดถนน เช็ดถูตามสนามบิน ฯลฯ อยู่มากมาย ทั้งที่ประเทศเหล่านี้มีค่าจ้างแรงงานที่สูงก็ตาม แต่ประเทศของเขาก็ยินดีที่จะใช้แรงงานในประเทศแทนที่จะใช้แรงงานต่างด้าว ยกเว้นงานใช้แรงงานหนักที่ต้องอาศัยคนต่างด้าวบ้าง แต่ในประเทศไทยของเรา ยังใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมนุษย์อาวุโสเหล่านี้ได้ไม่มากเท่าที่ควร ทำให้ประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านหลั่งไหลเข้ามาอยู่อาศัยในแผ่นดินไทยจนกระทั่งตู้เอทีเอ็มยังต้องมีภาษาพม่า

สำหรับคนไทยเอง ถ้าเราเป็นคนจน แต่ยังยึดติดกับการอยู่อาศัยแบบเศรษฐกิจแบบยังชีพอยู่กินไปวันๆ ก็คงจะขาดอนาคต คงเหลือแต่อนางอหงิกไป ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง ในระดับบนของประเทศ นายทุนขุนศึกใหญ่ๆ ก็ศิโรราบและสมคบกับนายทุนข้ามชาติปล้นแผ่นดินไทย ส่วนในระดับล่าง ประชาชนคนไทยธรรมดาหรือคนไทยที่ยากจนก็กลับสู้แรงงานต่างชาติไม่ได้เสียอีก

อนาคตของชาติไทยจะเป็นอย่างไร คิดแล้วหนาวครับ! 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net