Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ช่วงนี้ที่รร. กรุงเทพคริสเตียนได้หันมาทดลองให้ใส่ชุดไปรเวทได้ทุกวันอังคารเป็นเวลา 1 เทอม ทำให้สังคมหันมาวิพากษ์วิจาร์ณเรื่องของ "เครื่องแบบนักเรียน" กันอีกครั้ง และประเด็นนึงที่มักจะได้ยินคนพูดถึงบ่อยๆ ก็คือเครื่องแบบนักเรียนนั้นมีเอาไว้ในการ "ลดความเหลื่อมล้ำ" ระหว่างตัวนักเรียนเอง และบางคนก็เถียงกันว่ามันช่วยได้จริงหรือ ความเหลื่อมล้ำมันมีอยู่แล้วหรือไม่? เช่นนั้นให้นักเรียนเรียนรู้ไปเลยจะไม่ดีกว่ารึไง

แต่ผมว่ามันยังมีอีก "ความเหลื่อมล้ำ" นึง ที่เรามักจะไม่ค่อยพูดถึงกัน

ถ้าพูดกันถึงเรื่องของ "เครื่องแบบ" แล้ว "เครื่องแบบ" มีเอาไว้ทำไม? ประเด็นนึงก็คงจะเป็นเรื่องของ "การลดความเหลื่อมล้ำ" ระหว่างคนที่ใส่เครื่องแบบด้วยกัน คือถ้าทุกคนแต่งเหมือนกันหมด ก็ไม่มีใครได้เปรียบใคร เช่น พลทหารทุกนายแต่งตัวให้เหมือนกัน นักโทษทุกคน แอร์สายการบิน ฯลฯ

แต่หากเราพิจารณาดูให้ดีๆ แล้ว เราจะพบว่าหน้าที่สำคัญจริงๆ ของ "เครื่องแบบ" นั้นมีเอาไว้เพื่อ "เพิ่มความเหลื่อมล้ำ" ระหว่างคนที่ใส่ กับไม่ใส่เครื่องแบบต่างหาก

เราให้ตำรวจใส่เครื่องแบบ เพื่อที่เราจะได้แยกได้ชัดเจนว่าคนไหนเป็นตำรวจ คนไหนไม่ใช่ตำรวจ จะได้รู้ว่าควรจะเปิดประตูบ้านให้ใครเข้า พยาบาลมีเครื่องแบบ จะได้รู้ว่าควรจะต้องขอรับการรักษากับใคร นักโทษมีเครื่องแบบสีสันชัดเจน จะได้เห็นได้ชัดเจนเวลาที่นักโทษมีการหลบหนี บุคลากรที่ทำหน้าที่ให้บริการเกือบทุกชนิด มีเครื่องแบบในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพื่อแสดงตัวให้ชัดเจนต่อผู้ที่ต้องการให้รับบริการ

ดังนั้น ผลที่ชัดเจนของการมีเครื่องแบบนักเรียนที่เลี่ยงไม่ได้ ก็คือในการที่จะแสดงให้เห็นชัดเจนว่าใครเป็นนักเรียน ใครไม่ใช่นักเรียน ในบางบริบทของสังคม การจำแนกเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ เช่น สารวัตรนักเรียนสามารถตามจับนักเรียนที่หนีไปเดินห้างได้ง่ายขึ้น และการสร้าง "ความเหลื่อมล้ำ" ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดเสมอไป ขึ้นอยู่กับว่าบริบทของสังคมเป็นอย่างไรเสียมากกว่า

แต่ "ความเหลื่อมล้ำ" อย่างหนึ่ง ที่เครื่องแบบนำมาซึ่งเสียไม่ได้ และมักจะไม่มีใครพูดถึง ก็คือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างนักเรียนกับครู เมื่อนักเรียนมีการแต่งตัวที่แตกต่างจากครู โดยเฉพาะเมื่อนักเรียนมีข้อบังคับใช้เครื่องแบบ ในขณะที่ครูมีข้อบังคับที่หย่อนยานกว่ามาก ก็ทำให้เกิดความแตกต่าง และนอกจากนี้เนื่องจากครูมักจะเป็นผู้ที่ต้องบังคับใช้กฎของเครื่องแบบไปโดยปริยาย เครื่องแบบก็ยังนำมาซึ่งโครงสร้างระบบของอำนาจที่นักเรียนต้องอยู่ภายใต้ครูไปโดยเสียไม่ได้

ทั้งนี้ การมีความเหลื่อมล้ำระหว่างครูกับนักเรียน ไม่ได้เป็นเรื่องที่แย่เสมอไป ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมเช่นเดียวกัน เราอาจจะมองว่าความเหลื่อมล้ำก็นำมาเช่นกันในเรื่องของความนอบน้อม ความเคารพครูบาอาจารย์ผู้ให้การศึกษา

แต่สิ่งหนึ่งที่ความเหลื่อมล้ำนำมาเช่นกัน ก็คือการสูญเสียไปซึ่งความเท่าเทียม ทั้งในด้านการแสดงออก การออกความเห็น หรือแม้กระทั่งความสงสัย คำถามที่ค่อยๆ หายไป จนในที่สุดก็เลิกถามไปโดยปริยาย

จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ทำ workshop กับนักเรียนมาหลายกลุ่ม หลายวัย และหลายโรงเรียน สามารถบอกได้เลยว่า "ความเหลื่อมล้ำ" นี้เป็นอุปสรรคอย่างมากในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์และความกล้าแสดงออก ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้เป็น "ครู" ที่ให้คะแนนหรือตรวจการบ้านอย่างจริงๆ จังๆ แต่แค่ผมออกมายืนหน้าห้อง ถือไมค์ ในขณะที่นักเรียนทุกคนนั่งอยู่กับโต๊ะอย่างเรียบร้อย หันมาทางเดียวกัน ก็ทำให้นักเรียนเกิดความ "เกร็ง" และ "กลัว" ผมไปโดยทั้งๆ ที่ผมยังไม่ต้องทำอะไรแล้ว (หรือผมอาจจะน่ากลัวก็ได้นะ)

ผลที่ตามมาของความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้เรียนและผู้สอน ก็คือปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือที่ลดลง แล้วก็จบลงด้วยสถานการณ์คลาสสิคที่ว่า "เอ้า มีใครมีคำถามอะไรไหม?" ที่ตามมาด้วยความเงียบกริบ แม้กระทั่งการแอบตามไปถามหลังห้องเป็นการส่วนตัว ก็ยังตามมาด้วยความเงียบกริบ เพราะแม้ว่าออกจากห้องเรียนไปความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้เรียน-ผู้สอนก็ยังติดตามไปด้วย ในขณะที่ผมเคยให้สต๊าฟที่ทำงานด้วยกันไปแอบกระซิบถาม นักเรียนกลับกล้าที่จะมีปฏิสัมพันธ์ด้วยมากกว่า ทั้งๆ ที่เป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกัน และพูดจาก็ไม่ได้ต่างกันขนาดนั้น

เราจะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้เรียนและผู้สอนได้อย่างไร? เราอาจจะเริ่มจากภาษาพูดจาที่เป็นกันเองกับเด็ก เหมือนเป็นเพื่อนเล่น นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมการยิงมุขหยอดระหว่างการสอนไปด้วยจึงมักจะได้ผลที่ดีกว่า เพราะมันทำให้นักเรียนรู้สึกผ่อนคลาย และลดความเหลื่อมล้ำและความเกร็งไปโดยปริยาย

ในต่างประเทศที่เขามีวิชาวิเคราะห์หรือวิจารณ์ที่เน้นไปทางด้าน Discussion นั้น เขามักจะมีห้องเรียนในรูปแบบที่เป็นโต๊ะใหญ่เหมือนโต๊ะประชุม การนั่งล้อมกันเป็นวงกลมที่ไม่มีด้าน "หน้ากระดานดำ" นั้นทำให้ห้องเรียนขาดความเหลื่อมล้ำไปโดยปริยาย จากการทดลองของผมเอง ก็พบว่าการย้ายนักเรียนออกมาออกจากห้องเลคเชอร์มานั่งเป็นวงกลมนั้น มักจะได้ความร่วมมือในกิจกรรมที่ต้องการการออกความเห็นมากกว่าไป

ถามว่าเราจำเป็นจะต้องลดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้เรียน-ผู้สอนหรือไม่? เป็นไปได้ไหมว่าด้วยบริบทและวัฒนธรรมของประเทศเรา อาจจะยังคงต้องคงความเหลื่อมล้ำเหล่านี้เอาไว้? คำตอบก็คือเป็นไปได้ และคำตอบของการศึกษาไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว บ้านเราไม่จำเป็นจะต้องเหมือนบ้านเขา และประเทศที่เจริญแล้วบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ก็ยังคงมีความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้เรียน-ผู้สอน ที่สูงลิบลิ่ว ขนาดที่ว่าเคยไปสังเกตการณ์กิจกรรมที่นักเรียนเขามาร่วมกัน เขาถึงกับต้องขอให้อาจารย์ทุกคนที่ติดตามไปด้วยออกไปจากห้องทั้งหมด (รวมทั้งผู้ใหญ่ทุกคน) ซึ่งแตกต่างเป็นอย่างมากกับการศึกษาของชาติตะวันตก เช่น ฟินแลนด์ แต่การศึกษาของประเทศเขาก็พัฒนาไปในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่เหมือนกัน แล้วใครจะบอกได้ว่าแบบไหนคือแบบที่ดีกว่ากัน?

แต่... ถ้าหากว่าสิ่งที่เรากังวลเกี่ยวกับการศึกษาไทย คือการต้องการให้นักเรียนมีความคิดความอ่าน กล้าแสดงออก กล้าตั้งคำถาม มีความคิดเป็นของตัวเอง มีความเป็นปัจเจกบุคคลแล้วล่ะก็ สิ่งที่ว่ามาทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากในสภาพแวดล้อมที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้เรียน-ผู้สอนเป็นอย่างสูง อาจจะถึงเวลาที่เราต้องมาพิจารณาดูแล้วว่าเราให้ความสำคัญกับการสร้างกำแพงความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้เรียน-ผู้สอนมากเกินไปหรือไม่? และมันจะเป็นไปไม่ได้เลยหรือที่เราจะยังคงความ "เคารพนับถือ" ครูบาอาจารย์เอาไว้ โดยที่ลดกำแพงความเหลื่อมล้ำระหว่างครูกับนักเรียนลงมาเสียบ้าง ในรูปแบบของเราเอง

แน่นอนว่าเรื่องของความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้เรียน-ผู้สอนนั้นไม่สามารถทำได้โดยการเปลี่ยนแค่อย่างหรือสองอย่าง แต่เป็นเรื่องที่ยาก และต้องทำหลายๆ อย่างควบคู่กันไป และลำพังต่อให้เราลดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้เรียน-ผู้สอนได้จริง ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะแก้ปัญหาการศึกษาไทยได้ทั้งหมดเช่นกัน แต่ส่วนตัวแล้วผมเชื่อได้ว่าอย่างน้อยๆ ก็น่าจะเป็นก้าวที่สำคัญก้าวหนึ่งไปในสู่ทิศทางที่ดีกว่านี้ ที่จะทำให้เด็กไทยกล้าคิด กล้าถามกันมากกว่านี้

กลับมาเรื่องที่เครื่องแบบนักเรียน เราอาจจะสงสัยว่า กะอีแค่เครื่องแบบนักเรียนมันจะมีผลกับความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้เรียน-ผู้สอน และความกล้าถามของนักเรียนแค่ไหนกันเชียว ผมลองเสนอให้ทดลองดู โดยการเข้าไปสอนนักเรียนโดยที่ใส่ชุดสูทผูกเนคไทเต็มยศ กับใส่เสื้อธรรมดา แล้วดูว่านักเรียนจะ "มีความเป็นกันเอง" และกล้าถามผู้สอนที่ใส่ "เครื่องแบบ" ไหนมากกว่ากัน

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟสบุ๊ค มติพล ตั้งมติธรรม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net