Skip to main content
sharethis

กรรมาธิการยุโรปแถลง ปลดไทยออกจากกลุ่มตักเตือนให้มีการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (IUU) โดยระบุว่าหลังได้รับการตักเตือน ทางการไทยได้มีมาตรการแก้ไขสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ รองนายกฯ ระบุ จะให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ว่าด้วยการทำงานภาคประมงในเดือน ม.ค. นี้ เปิดสถิติ ใช้ ม.44 แก้ปัญหาประมงทั้งหมด 9 ครั้ง

http://ที่มาภาพประกอบ เว็บไซต์ https://shiptoshorerights.org/

9 ม.ค. 2562 คณะกรรมาธิการยุโรป (The European Commission) ได้ออกแถลงการณ์ ลงวันที่ 8 ม.ค. 2562 ว่าได้ปลดสถานะใบเหลืองของภาคประมงไทย ที่เคยให้ไว้เมื่อเดือน เม.ย. 2558 เพื่อแสดงการยอมรับต่อความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ของไทย

แถลงการณ์ระบุว่า คณะกรรมาธิการได้รับรู้ว่าประเทศไทยได้มีมาตรการออกมารองรับกับปัญหาในประเด็นการประมงทั้งในด้านกฎหมายและระบบการจัดการที่แต่เดิมไทยมีไม่เพียงพอ

เคอเมนู เวลลา ( Mr.Karmenu Vella) กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมงกล่าวในแถลงการณ์ว่า “ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมสร้างความเสียหายต่อปริมาณปลาในระดับโลก แต่ก็ยังทำร้ายผู้คนที่ใช้ชีวิตจากทะเล โดยเฉพาะคนที่เปราะบางต่อความยากจนอยู่แล้ว” ทั้งยังยินดีที่ไทยเป็นคู่ความร่วมมือในการต่อสู้กับปัญหาประมงเช่นว่า

หลังจากไทยได้ใบเหลือง รัฐบาลไทยได้แก้ไขกฎหมายประมงให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยเครื่องมือทางทะเล และยังได้ปฏิบัติตามข้อบังคับและสร้างคำนิยามที่ชัดเจนทั้งในเรื่องธง ท่าเรือ รัฐชายฝั่ง รัฐเจ้าของตลาด รวมถึงการทำให้มีระบอบป้องปราม ไปจนถึงการสร้างกลไกการควบคุมเรือประมง เพิ่มระบบการติดตาม ควบคุมและสอดส่อง ซึ่งรวมถึงการติดตามกิจกรรมการประมงจากระยะไกลและการตรวจตราที่ท่าเรือ ซึ่งด้วยมาตรการที่มีขึ้นมาเหล่านี้ถือว่าทางการไทยได้มีนโยบายที่จำเป็นในการป้องกัน ป้องปรามและกำจัดการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมแล้ว

เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศของไทยรายงานว่า พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย ได้เดินทางไปร่วมงานแถลงข่าวกับเคอเมนู เวลลา ณ สำนักงานใหญ่สหภาพยุโรป กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม เมื่อ 8 ม.ค. ที่ผ่านมาโดยระบุว่า ไทยไม่ได้ให้ความสำคัญแต่เรื่องการประมงอย่างยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการประมงอย่างมีจริยธรรม โดยจะควบคุมดูแลแรงงานภาคประมงให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามมาตรฐานของอนุสัญญาองค์การระหว่างประเทศ (International Labour Organization – ILO) และหลักการของสหประชาติว่าด้วยเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยไทยจะแสดงบทบาทนำในการเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ให้สัตยาบันพิธีสารภายใต้อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ในช่วงปลายเดือน ม.ค. นี้

เอกสารของกรมประมงระบุว่าองค์การอาหารแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้กำหนดแผนปฏิบัติการระหว่างประเทศเรื่อง IUU มาตั้งแต่ปี 2544 ด้วยความตั้งใจให้เกิดการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ IUU เป็นแผนปฏิบัติการให้ทุกประเทศนำไปปรับใช้บนพื้นฐานความสมัครใจ โดยคณะกรรมาธิการยุโรปมีความตั้งใจต่อสู้กับ IUU มานาน และได้ออกระเบียบเพื่อป้องกัน IUU ในปี 2551 เพื่อต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายกับประเทศสมาชิกในอียูและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก และไทยเองก็เป็นผู้ส่งออกสินค้าประมงไปยังอียู จึงต้องทำการรับรองสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงให้เป็นไปตามระเบียบดังกล่าว

ดูความรู้รอบเรือ เมื่อรัฐเล็งทุ่ม 3 พันล้านบาทซื้อเรือประมงไปทำปะการังเทียม

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) รวบรวมสถิติว่ามีการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ตามอำนาจมาตรา 44 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายและแรงงานข้ามชาติดังนี้

  1. คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 10/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย(ศปมผ.) ทำหน้าที่กำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทําประมงผิดกฎหมาย โดยมีกองทัพเรือ และศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เป็นกำลังหลักในการปฏิบัติการทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO) จัดทําสมุดบันทึกการทําการประมง ตามรูปแบบ ระยะเวลา ให้ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (VMS) ไม่ให้เจ้าของเรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำการ เช่น ครอบครองเครื่องมือการทำการประมงที่ไม่ได้รับอนุญาต การนำเรือประมงที่มีเครื่องมือการทำการประมงที่ไม่ตรงกับอาชญาบัตรหรือไม่ได้รับอาชญาบัตรในการทำการประมงออกไปทำการประมง การนำเรือประมงที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกำหนดออกทำการประมง เป็นต้น ควบคุมเรือประมง เรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็นในการออกไปยังน่านน้ำต่างประเทศ ทะเลหลวง ควบคุมการขนถ่าย เก็บรักษาสัตว์น้ำเข้ามาในราชอาณาจักร กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 - 30 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามแต่ข้อหาที่ฝ่าฝืน
  2. คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 24/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ให้งดจดทะเบียนเรือไทยจนกว่า ศปมผ. จะกำหนดให้จดทะเบียนได้ และควบคุมการใช้เครื่องมือทำประมงที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ ห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือทําการประมง เช่น เครื่องมืออวนรุนที่ใช้ประกอบกับเรือยนต์, เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีขนาดช่องตาเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทําการประมงในเวลากลางคืนและ เครื่องมืออวนลากที่มีช่องตาอวนก้นถุงเล็กกว่า 5 เซนติเมตร เป็นต้น
  3. คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 42/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ 2 เพื่อปรับความแม่นยำในระบบรายชื่อทะเบียนเรือ
  4. คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 17/2559 เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดํารงตําแหน่ง สั่งให้วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง ย้ายไปอยู่สำนักนายกรัฐมนตรีและให้อดิศร พร้อมเทพ พ้นจากตําแหน่ง รองอธิบดีกรมประมง ดํารงตําแหน่ง อธิบดีกรมประมงแทน
  5. คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 18/2559 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 10/2558
  6. คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 69/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการดําเนินคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายการประมง ไม่ให้นับเวลาที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ
  7. คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ 3 เพื่อคุมจำนวนเรือประมง ควบคุมการขนถ่ายคนประจำเรือ ให้เรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาตทำประมงแจ้งตำแหน่งจุดจอดเรือต่อ ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค
  8. คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2560 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ 4 เพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายได้ทันท่วงที
  9. คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 8/2561 เรื่อง ยกเลิกบทบัญญัติบางประการในคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติว่าด้วย การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net