ตำรวจมาเลเซียใช้กฎหมายยุยงปลุกปั่นจับสามคนหมิ่นสุลต่านผู้เพิ่งสละราชสมบัติ

ที่มาเลเซีย มีผู้ถูกจับกุมสามรายด้วยข้อหาหมิ่นสุลต่านสูงสุดด้วยกฎหมายการปลุกปั่นซึ่งถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่ปิดกั้นคนมาเลเซียจากการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวยังคงใช้งานตามปกติและรอพิจารณาจากรัฐสภาว่าจะแก้ไขหรือไม่ โดยที่ไม่ได้มีกำหนดการชัดเจน

ธงชาติมาเลเซีย (ที่มา: Maxpixel.net)

9 ม.ค. 2562 เว็บไซต์ข่าวมาเลย์เมล์รายงานว่ามีผู้ถูกจับกุมสามรายในความผิดจากการโพสต์ที่ส่อไปในทางดูหมิ่นสุลต่านมุฮัมหมัดที่ห้าแห่งกลันตันซึ่งเพิ่งจะสละราชสมบัติไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

ผู้ถูกจับกุมเป็นชายหนึ่งคน หญิงสองคน ผู้ชายคืออีริก เหลี่ยวชีหลิ่ง อายุ 46 ปี ใช้ชื่อเฟสบุ๊คว่า Eric Liew ส่วนผู้หญิงอีกสองคนคืออัซฮัม อัคตาร์ อับดุลเลาะห์ อายุ 27 ปี ใช้ชื่อทวีตเตอร์ว่า @azhamakhtar และนูร์ อาเลีย อัสตามาน อายุ 26 ปี ใช้ชื่อทวีตเตอร์ว่า @aliaastaman

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตุน สฺรี โมฮาหมัด ฟูซิ ฮารุนกล่าวว่าผู้ต้องหาทั้งสามรายกำลังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนภายใต้มาตรา 4(1) ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การยุยงปลุกปั่น และยังได้กล่าวแนะนำว่าควรรอบคอบก่อนที่จะแสดงความคิดเห็นบนโลกโซเชียลและเตือนให้ระมัดระวังการกระทำที่จะเป็นการปลุกปั่น

“ทุกคนได้รับการชี้แนะในเรื่องการโพสต์ใดๆ ก็ตามเกี่ยวกับการสละราชสมบัติของยัง ดี เปอร์ตวน อากง (พระราชาธิบดี) ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาพลักษณ์แง่ลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศได้” เขากล่าว

จำนวนผู้ที่ถูกไต่สวนจากความผิดในการโพสต์สิ่งที่ถูกมองว่าเป็นการปลุกปั่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในบางกรณีก็ถูกลงโทษโดยนายจ้างเอง เคยมีกรณีที่ดาโต๊ะ โมฮัมหมัด ตัมริน อับดุล ฆาฟาร์ ผู้เป็นลูกชายของตุน อับดุล ฆาฟาร์ บาบา อดีตรองนายกรัฐมนตรี ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนที่ยะโฮร์กว่าสามชั่วโมงจากการเขียนบล็อกของเขา ส่วนเมื่อวานนี้ บริษัทเตอนาฆา นาซิโอนาลได้ลงโทษลูกจ้างที่แสดงความคิดเห็นบนพื้นที่สาธารณะซึ่งส่อว่าเป็นการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์

สุลต่านมูฮัมหมัดเป็นผู้ปกครองมาเลเซียคนแรกที่ลงจากตำแหน่งราชาธิบดีหลังครองตำแหน่งได้เพียงสองปีกว่าจากระยะเวลาทั้งหมดห้าปี

สื่อนอกวิเคราะห์ประมุขมาเลเซียสละราชสมบัติไม่กระทบเสถียรภาพรัฐบาล

ส่วน พ.ร.บ. ยุยงปลุกปั่นปี 2491 มีบทลงโทษจำคุกสามปี และห้าปีสำหรับผู้กระทำผิดซ้ำ เป็นการคาดโทษที่คลุมเครือต่อผู้ใช้คำพูดซึ่งถูกมองว่าปลุกปั่นหรือมีแนวโน้มที่จะปลุกปั่นสร้างความบาดหมางต่อรัฐบาลหรือฝ่ายตุลาการรวมถึงตั้งคำถามต่อสิทธิ อภิสิทธิ์ และอำนาจอธิปไตยที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2557 สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้รายงานข่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนได้เรียกร้องให้มาเลเซียยกเลิกพ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่า พ.ร.บ. การปลุกปั่นปี 2491 ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขัดขวางไม่ให้ชาวมาเลเซียแสดงออกหรือถกเถียงอย่างเป็นอิสระและเปิดเผย ขัดขวางชาวมาเลเซียจากความหลากหลายทางความคิดเรื่องการเมือง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2561 มหาธีร์ โมฮัมหมัดได้ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวว่ายังไม่มีกำหนดระยะเวลาชัดเจนในเรื่องการยกเลิก พ.ร.บ การปลุกปั่นปี 2491 เขากล่าวว่าการยกเลิกกฎหมายจำเป็นต้องให้เวลาสำหรับที่รัฐสภาในการพิจารณากฎหมาย ซึ่งอันที่จริงการแก้กฎหมายบางข้อก็เป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของแนวร่วมปากาตัน ฮาราปัน แนวร่วมของมหาธีร์ผู้ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในปัจจุบัน

แปลและเรียบเรียงจาก

Eric Liew, two others arrested for sedition over posts on former Agong, Malaymail, Jan. 9, 2019

Malaysia Sedition Act threatens freedom of expression by criminalising dissent, OHCHR

Sedition Act will continue to be applied for now, says Dr M, The Star, Oct. 9, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท