Skip to main content
sharethis

‘เกียน’ ปักหลักบำนาญแห่งชาติใน รธน. ลดรายจ่ายภาครัฐที่ไม่จำเป็น แนะงบกลาโหมเพิ่มได้แต่ต้องหาเงินเอง ‘สามัญชน’ โยนคำถามขี้น 4-5 พันต่อเดือนได้ไหม ย้ำต้องล้มยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้รัฐสวัสดิการเดินหน้า ‘อนาคตใหม่’ ยันทำได้เลย 1,800 บ./เดือน ดัน พ.ร.บ. ไทยเท่าเทียม ‘เพื่อไทย’ เผยจะยกร่าง พ.ร.บ.บำนาญปชช. บอกอย่างต่ำ 3 พันต่อเดือน ‘ปชป.’ ชูนโยบายประกันรายได้ เงินบำนาญถ้วนหน้า พันบาทต่อเดือน ‘ประชาชาติ’ ตั้งสถาบันอิสระปฏิรูปงบประมาณ ปฏิรูปที่ดินและป่าไม้คนจนเข้าถึง มีบำนาญแห่งชาติ  ขณะที่ ‘ชาติไทยพัฒนา’ หนุนการออมรัฐเพิ่มส่วนต่าง ขยายฐานภาษี ปราบคอร์รัปชัน

 


จากซ้ายไปขวา เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์, ศิริกัญญา ตันสกุล, อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง, ลดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์, สมบัติ บุญงามอนงค์, อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี, สุภัทรา นาคะผิว และนิมิตร์ เทียนอุดม (ภาพจากเพจบำนาญแห่งชาติ)

 

10 ม.ค. 2562 เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการจัดงาน “เลือกตั้งครั้งนี้...รัฐสวัสดิการต้องมา” ในวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่าน ที่โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ กรุงเทพฯ  โดยชวนตัวแทน 7 พรรคการเมือง ได้แก่ อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา พรรคชาติไทยพัฒนา, เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ พรรคสามัญชน, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง พรรคประชาชาติ, ศิริกัญญา ตันสกุล พรรคอนาคตใหม่, อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคประชาธิปัตย์, ลดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์ พรรคเพื่อไทย และสมบัติ บุญงามอนงค์ พรรคเกียน แสดงวิสัยทัศน์ต่อเรื่องรัฐสวัสดิการ และมีผู้ดำเนินรายการคือ สุภัทรา นาคะผิว และนิมิตร์ เทียนอุดม

โดยคำถามที่ผู้ดำเนินรายการถามได้แก่ 1. แต่ละพรรคเชื่อหรือไม่ว่ารัฐสวัสดิการเป็นเครื่องมือหยุดหรือแก้ความจนเรื้อรัง, 2. แต่ละพรรคเห็นด้วยกับ ‘บำนาญแห่งชาติ’ หรือเงินบำนาญถ้วนหน้าสำหรับผู้สูงอายุ 3,000 บาทต่อเดือนโดยอิงตามเส้นความยากจนหรือไม่, 3. แต่ละพรรคเห็นด้วยกับการจัดสรรโครงสร้างงบประมาณใหม่ให้เกิดความเป็นธรรมเพื่อนำมาจัดรัฐสวัสดิการหรือไม่ อย่างไร และ 4. ยุทธศาสตร์ชาติและรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดแนวทางที่อาจเป็นอุปสรรคต่อรัฐสวัสดิการ แต่ละพรรคมีแนวทางการจัดการอย่างไร

 

เกียน: ปักหลักบำนาญแห่งชาติใน รธน. ลดรายจ่ายภาครัฐที่ไม่จำเป็น งบกลาโหมเพิ่มได้แต่ต้องหาเงินเอง

 

สมบัติ บุญงามอนงค์ จากพรรคเกียนกล่าวว่า รัฐสวัสดิการเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานในสังคมที่เราต้องไปให้ถึงให้ได้ คนยากจนทำงานหนักกว่าคนรวยแต่ยังจน แสดงว่ามีอุปสรรค ต้องหาให้เจอว่ามีนโยบายอะไรเป็นอุปสรรค จากนั้นต้องใส่โอกาสเพื่อให้เขาพัฒนาศักยภาพ เบื้องต้นคือปัจจัยพื้นฐาน การศึกษา การงาน ให้เขาพึ่งพาดูแลตัวเอง

เขากล่าวต่อว่า ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงความยากจน ต้องผ่านกระบวนการสะสมทุน วัฒนธรรมเศรษฐกิจเราตอนนี้คือเปลี่ยนคนชั้นกลางให้เป็นคนจน และเปลี่ยนคนรวยให้เป็นคนรวยยิ่งขึ้น ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนโครงสร้างวัฒนธรรมนี้

สมบัติมองว่า ต้องนำหลักการบำนาญแห่งชาตินี้ไปปักหลักไว้ในรัฐธรรมนูญก่อน แล้วดูเรื่องยุทธศาสตร์ และกฎหมาย แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดขึ้นคือการบริหารจัดการ โดยเฉพาะภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดจะจัดสรรงบประมาณอย่างไร แล้วไม่ทำให้กลไกอื่นที่จำเป็นเสียหาย เรื่องที่ท้าทายคือการเพิ่มศักยภาพการผลิตของคนในสังคม และหาว่าจะลดค่าใช้จ่ายของรัฐตรงไหนได้บ้างที่คิดว่าไม่มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น หลายปีก่อนมีคนตั้งคำถามว่าทำไมการถ่ายสำเนาบัตรประชาชนต้องถ่ายหน้าหลังด้วย และเสนอให้ถ่ายหน้าเดียวประหยัดงบไปได้ 1 บาทต่อ 1 คน เมื่อ 2 ปีที่แล้วนี้เองที่รัฐบาลเพิ่งประกาศว่าให้ถ่ายบัตรประชาชนหน้าเดียว ดังนั้นถ้าประชาชนคนไหนก็สามารถช่วยคิดได้ว่าจะใช้งบประมาณรัฐอย่างไรให้ประหยัดขึ้น

สมบัติยังกล่าวว่า ตนไม่มีปัญหาถ้ากระทรวงกลาโหมจะเพิ่มงบประมาณ แต่มีเงื่อนไขข้อเดียวคือถ้าเพิ่มงบประมาณ กระทรวงกลาโหมต้องหาเงินเองได้

“งบประมาณเรื่องความมั่นคง ปากท้องของประชาชนก็คือความมั่นคง ประชาชนยากจน อาชญากรรมก็ตามมา ดังนั้นเอางบกลาโหม เช่น หนึ่ง-งบทหารเกณฑ์ ซึ่งปีที่ผ่านมาเรามีจำนวนทหารเกณฑ์มากเป็นประวัติศาสตร์ ถามว่าเรารบกับใครไหม ไม่ สอง-งบประมาณการจัดซื้ออาวุธ ก็ต้องมี แต่ขอให้เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ ปกติเราซื้ออาวุธแล้วไปสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมในต่างประเทศ สร้างให้จีน รัสเซีย อเมริกามีรายได้มหาศาลจากการขายอาวุธ อีกเรื่องคือ ธนาคารต้นไม้ ทางกองทัพมีที่ดินจำนวนมาก หากไม่จัดสรรที่ตรงนั้นให้แก่คนยากไร้แล้ว ก็ควรไปปลูกต้นไม้ยืนต้นไว้ แล้วเอารายได้จากตรงนั้นเป็นงบซื้อรถถัง แล้วรถถังนั้นต้องผลิตในประเทศด้วย” สมบัติกล่าว

สำหรับยุทธศาสตร์ชาติ สมบัติมองว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันนั้นไม่สามารถทำตามสิ่งที่ร่างกันไว้เองได้ แต่อยากชวนมองว่ายุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับรัฐสวัสดิการจะต้องประกอบด้วยสามประการ คือ หนึ่ง-ต้องหารายได้เพิ่ม สอง-ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น สาม-ลงทุนในจุดที่เพิ่มประสิทธิภาพ แต่เช่นสวัสดิการด้านการศึกษาไม่ใช่รายจ่ายแต่คือการลงทุน คนมีการศึกษาจะมีการผลิตที่ก้าวหน้า และจ่ายดอกผลเป็นภาษีกลับมาให้รัฐ

 

สามัญชน: บำนาญแห่งชาติขึ้นได้ไหม 4-5 พันบ./เดือน? ต้องล้มยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้รัฐสวัสดิการเดินหน้า

 

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ จากพรรคสามัญชน เห็นด้วยกับบำนาญแห่งชาติที่ขั้นต้น 3,000 บาทต่อเดือน แต่ตนอยากตั้งคำถามต่อว่ามากกว่านี้ เป็น 4,000-5,000 บาท พอเป็นไปได้ไหม และตนเห็นด้วยกับพรรคเกียนว่าต้องนำหลักการของบำนาญแห่งชาตินี้ไปใส่ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนจริงๆ

สำหรับการจัดสรรโครงสร้างงบประมาณใหม่ เลิศศักดิ์กล่าวว่า ภาษีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่เราลดหย่อนให้กับนักลงทุน เราสูญเสียไปเป็น 1,000 ล้านบาท เครือข่ายวีแฟร์คำนวณว่า ถ้าทำบำนาญถ้วนหน้าต้องใช้งบประมาณ 4 ล้านล้านบาท ถ้ายกเลิกลดหย่อนภาษี BOI อย่างน้อยได้ 240,000 ล้านบาท ถ้าปรับลดงบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่นำไปซื้อเรือดำน้ำ เราได้เงินกลับมาอีก 2-3 แสนล้านบาท ง่ายๆ คือวีแฟร์ทำให้เห็นแล้วว่างบประมาณจะมาจากไหนได้บ้าง

ส่วนยุทธศาสตร์ชาติและรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการจัดรัฐสวัสดิการ เลิศศักดิ์ชี้ว่า ในยุทธศาสตร์ชาติไม่มีเรื่องรัฐสวัสดิการ ดังนั้นต้องล้มยุทธศาสตร์ชาติก่อน เพื่อทำให้รัฐสวัสดิการเดินหน้าต่อไปได้

  

อนาคตใหม่: บำนาญทำได้เลย 1,800 บ./เดือน ดัน พ.ร.บ.ไทยเท่าเทียม

 

ศิริกัญญา ตันสกุล จากพรรคอนาคตใหม่กล่าวว่า รัฐสวัสดิการจะช่วยยุติความยากจนเรื้อรังได้ ทุกสิทธิประโยชน์ต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน จากนั้นหากมีประชาชนที่มีความต้องการเฉพาะทางก็จะมีสิทธิประโยชน์เสริม ถ้ามีรัฐสวัสดิการที่มีลักษณะเป็นสิทธิ ไม่ต้องพิสูจน์ความจน จะสร้างหลักประกันที่มั่นคงด้านรายได้ สามารถวางแผนระยะยาวในชีวิตได้ ซึ่งอนาคตใหม่ก็มีแผนสิทธิประโยชน์แบบถ้วนหน้าครบวงจร เบื้องต้นที่จะเสนอเรื่องบำนาญ ถ้าทำได้ตอนนี้เลยอยู่ที่ 1,800 บาท

“ตอนเราออกแบบนโยบายรัฐสวัสดิการ เราก็วางแผนจะมี พ.ร.บ.ไทยเท่าเทียม เพื่อยืนยันสิทธิในสวัสดิการขั้นพื้นฐานของประชาชน จากที่ไปดูกฎหมายมา เรามีกฎหมายเกี่ยวกับบำนาญเยอะมาก มีทั้ง พ.ร.บ. การออมแห่งชาติ แล้วกำลังจะมีกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ที่จะบังคับให้เราออมเพิ่ม มีประกันสังคม แต่ไม่มี พ.ร.บ. ไหนยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานของบำนาญถ้วนหน้า ดังนั้นต้องมีกฎหมายที่จะยืนยันสิทธิอีกครั้ง รวมทั้งคณะกรรมการที่จะควบคุมนโยบาย” ศิริกัญญากล่าว

ขณะที่เรื่องของการปรับโครงสร้างงบประมาณ ศิริกัญญามองว่า นโยบายพรรคก็ได้มาจากภาคประชาชน การลดขนาดกองทัพเป็นไปได้ พรรคมีแผนเรียบร้อยว่าจะปรับลดกำลังพลแบบไหน ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของเงินเดือนให้สวัสดิการทหารชั้นผู้น้อยเพิ่มขึ้น และลดจำนวนนายพล จะได้เงินเพิ่มขึ้น 50,000 ล้านบาท หรือภาษี BOI ยกเลิกการลดหย่อนทันทีไม่ได้ เพราะเป็นสัญญาที่รัฐผูกพันกับเอกชน แต่ทยอยลดได้ประมาณปีละ 30,000 ล้าน นอกจากนี้งบประมาณกลางก็ปูดมาก และไม่มีทางรู้เลยว่าเขาใช้ทำอะไรบ้าง ถ้าดูตาม พ.ร.บ.การเงินการคลัง สามารถตัดได้อีกอย่างน้อย 40,000 ล้านบาทต่อปี มีความสิ้นเปลืองมีความซ้ำซ้อนของงบประมาณอยู่ ตั้งเป้าว่าหนึ่งปีลดให้ได้ 3 เปอร์เซ็นต์ ก็จะได้มาอีก 60,000 ล้านบาท

“ซึ่งเหล่านี้ทำได้ ขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญ” ศิริกัญญากล่าวย้ำ

ส่วนเรื่องยุทธศาสตร์ชาติที่อาจเป็นอุปสรรค ศิริกัญญากล่าวว่า มองเหมือนกับพรรคสามัญชนคือต้องยกเลิก ส่วนสิทธิสวัสดิการ ส่วนที่ทำได้เลย เช่น สิทธิการลาคลอด เงินเลี้ยงดูบุตร สวัสดิการแรงงานนอกระบบ และบำนาญถ้วนหน้า ใช้งบ 650,000 ล้านบาท ต้องหาเงินเพิ่มอีก 370,000 ล้านบาท และมีแนวทางการหางบอย่างไร ตรงส่วนนี้จะเป็นแพ็คเกจแรกที่จะนำเสนอหากเข้าไปอยู่ในสภา

 

เพื่อไทย: จะยกร่าง พ.ร.บ.บำนาญประชาชน อย่างต่ำ 3 พันต่อเดือน และเพิ่มรายได้ให้กับ ปชช.

 

ลดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์ จากพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า เราเชื่อว่าสวัสดิการที่รัฐจัดให้กับประชาชนจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีมีความสุขอย่างยั่งยืน พรรคเพื่อไทยมีรากเหง้าจากพรรคไทยรักไทย ซึ่งเราได้จัดสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับประชาชนมาแล้ว คือ กองทุนหมู่บ้านและชุมชน เริ่มต้นที่หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท และตอนหลังพรรคเพื่อไทยเพิ่มให้อีกเป็น 2 ล้านบาท ให้ประชาชนเข้าถึงรายได้ สามารถประกอบอาชีพ นำเงินไปใช้จ่ายส่วนตัวได้ โดยประชาชนเป็นกรรมการบริหารเอง เป็นหลักการกระจายโอกาส ให้ประชาชนได้บริหารจัดการเงินภาษีตัวเอง ในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วม

เช่นเดียวกับ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ ก็ให้ถ้วนหน้า เป็นการประกันสุขภาพแก่ประชาชน เมื่อประชาชนไม่มีภาระค่ารักษาพยาบาลก็จะมีเงินเหลือใช้จ่ายด้านอื่น หรือกองทุนเสมาซึ่งให้แก่เด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาส ดังนั้นเราเชื่อในเรื่องรัฐสวัสดิการและเราจะทำให้ดียิ่งขึ้น

ด้านกฎหมายบำนาญแห่งชาติ ลดาวัลย์กล่าวว่า ถ้าเราร่างกฎหมาย หลายฝ่ายช่วยกันดูอย่างรอบคอบว่าจะมีบำนาญถ้วนหน้า ก็ควรเป็นกฎหมายซึ่งเป็นหลักประกันที่มั่นคง ใครจะล้มกฎหมายก็ต้องใช้เสียงข้างมากตามระบอบประชาธิปไตย

“พรรคเพื่อไทยจะยกร่าง พ.ร.บ. บำนาญประชาชน ผลตอบแทนอย่างต่ำ 3,000 ต่อเดือน แล้วเราจะดูฉบับภาคประชาชนว่าจะปรับจูนให้เข้ากันอย่างไร” ลดาวัลย์กล่าว

ส่วนเรื่องการจัดสรรโครงสร้างงบประมาณใหม่ ลดาวัลย์กล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณเราจะดูความจำเป็นของแต่ละกระทรวง เราเชื่อมั่นว่าจะสามารถฟื้นเศรษฐกิจเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนได้ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การขาดรายได้จากนักลงทุนที่ขาดความเชื่อมั่นจะฟื้นฟูกลับมา เราเห็นทุกกลไกที่เงินจะไหลเข้ากระเป๋าคนยากจน กลไกที่ทำให้ SME เข้มแข็งขึ้น ผู้ส่งออกมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ถ้ารัฐสามารถสร้างกลไกที่ทุกคนเป็นผู้ผลิต ส่งเสริมเทคโนโลยีใหม่ๆ ในทุกภาคส่วน จะทำให้เกิดความมั่งคั่งขึ้นได้ และเม็ดเงินที่เกิดขึ้นแทบไม่ต้องขูดรีดภาษีจากประชาชน

 

ประชาธิปัตย์: นโยบายประกันรายได้ เงินบำนาญถ้วนหน้า พันบาทต่อเดือน เก็บภาษีตลาดหุ้น

 

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี จากพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่ร่วมร่าง พ.ร.บ. กองทุนการออมแห่งชาติ และตามเรื่องนี้มาตลอด ตอนนี้ประชาธิปัตย์ไม่ได้มองเพียงแค่เรื่องคนสูงอายุเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันมีเรื่องเอไอเข้ามามากขึ้น อีกหน่อยคนที่ตกงานจะเป็นคนรุ่นหลังอายุ 40 ปี ดังนั้นการตกงาน การมีบำนาญ จึงใกล้ตัวเราขึ้นมาทุกที

“ถ้าเราขีดเส้น universal basic income หากต่ำกว่านี้อยู่ได้แต่จะเป็นหนี้ เส้นนี้อยู่ที่ 120,000 บาทต่อปี หรือ 10,000 บาทต่อเดือน เราจะไม่เลือกวิธีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หากเงินเดือนไม่ถึง สิ่งที่รัฐจะให้คือส่วนต่างของรายได้ที่จะให้เพิ่มเข้าไป ซึ่งไม่เหมือนกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจเรียกว่าการประกันรายได้ กรณีเกษตรกรก็มีการประกันรายได้เหมือนกัน แต่เป็นการประกันรายได้พืชผลทางการเกษตร ยกตัวอย่างเช่น การประกันราคาข้าว ถ้าเราประกันที่ 10,000 บาท แล้วราคาตลาดอยู่ที่ 8,000 บาท ส่วนต่าง 2,000 บาทจะถูกโอนเข้าบัญชีเกษตรกรทันที ซึ่งเคยทำแล้วสมัยที่คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ทำตั้งแต่ ข้าว ข้าวโพด มัน ปาล์ม ยาง” อรรถวิชช์กล่าว

สำหรับเรื่องบำนาญแห่งชาตินั้นอรรถวิชช์เห็นด้วยว่ามีเป้าที่คล้ายกัน โดยนโยบายพรรคให้เพิ่มขึ้นเป็น 1,000 บาทถ้วนหน้า และมีเบี้ยผู้ยากไร้โอนตรงเข้าบัญชี 800 บาทต่อเดือน ซึ่งแตกต่างจากรัฐบาลขณะนี้ซึ่งให้เป็นลักษณะเป็นเครดิตในบัตรแล้วต้องนำไปซื้อของจากร้านธงฟ้า ทั้งนี้จะมีการคัดกรองจากคนที่มายื่นภาษี หากรายได้ไม่ถึง 120,000 ต่อปี ก็สามารถรับเงินจำนวนนี้คืนกลับไป

นอกจากนี้ความคิดน่าสนใจคือการบังคับให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งต้องเกิดขึ้นโดยนายจ้าง เพราะเขาต้องจ่ายสมทบ และรัฐก็สมทบ ส่วนแรงงานนอกระบบ มีกองทุนการออมแห่งชาติ แต่ยังไม่ได้ถูกยกระดับ เพราะหากอัดฉีดเม็ดเงินลงไปเพิ่มในกองทุน เราก็จะได้สวัสดิการส่วนต่างๆ เพิ่มรวมทั้งบำนาญ

สำหรับการปรับโครงสร้างงบประมาณ อรรถวิชช์เห็นว่าควรมีการปรับลดการลดหย่อนภาษี BOI เพิ่มการเก็บภาษีจากตลาดหุ้นหรือ Capital Gain Tax อีกอันที่น่าสนใจคือการเก็บภาษีจากบริษัทระดับโลกอย่างเฟซบุ๊ค กูเกิล ซึ่งได้เงินค่าโฆษณาโดยที่ไม่ต้องเสียภาษีเลย ไทยซึ่งเป็นประธานอาเซียนจะต้องผลักดันให้เก็บภาษีจากบริษัทเหล่านี้ให้ได้เช่นเดียวกับในยุโรป

“ยืนยันว่าถ้าไทยไม่เป็นประเทศรัฐสวัสดิการ เราเดินต่อลำบาก และต้องเป็นรัฐสวัสดิการแบบเพียงพอ” อรรถวิชช์กล่าว

ต่อความเห็นเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ อรรถวิชช์มองว่า ยุทธศาสตร์ชาติเขียนกว้างมาก ดังนั้นหากทำนโยบายใดแล้วขัดกับยุทธศาสตร์ชาติก็แก้ยุทธศาสตร์ชาติ เขายกตัวอย่างนโยบายเกี่ยวสวัสดิการของเด็กและเยาวชน เช่น เด็กอายุ 0-8 ปี ได้รับเงินเดือนละ 1,000 บาท เดือนแรก 5,000 บาท โอนเข้าบัญชีแม่ ในชั้นประถม-มัธยมต้น เด็กจะได้อาหารเช้าและอาหารกลางวันฟรี และในมหาวิทยาลัยเด็กจะได้คูปองเรียนฟรี สามารถเข้ามหาวิทยาลัยเอกชนได้

 

ประชาชาติ: ตั้งสถาบันอิสระปฏิรูปงบประมาณ-ที่ดิน-ป่าไม้ คนจนเข้าถึง มีบำนาญแห่งชาติ

 

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง จากพรรคประชาชาติกล่าวว่า ถ้าเราจะแก้ปัญหาความยากจน เราต้องมีระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชน ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพ มีความเสมอภาค มีศักดิ์ศรี มีความยุติธรรม ต้องมีความเท่าเทียม ต้องมีระบบเลือกตั้ง นี้คือการแก้ปัญหา ถ้าไม่มีตรงนี้งบประมาณประเทศก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำ เราต้องมีสถาบันอิสระที่ปฏิรูประบบงบประมาณ

“เราส่งเสริมระบบบำนาญแห่งชาติและสวัสดิการถ้วนหน้า เส้น 3,000 บาท เราเห็นด้วย แต่เรื่องแรกคือระบบการคลังต้องมีการแก้ไข” พ.ต.อ.ทวีกล่าว

พ.ต.อ.ทวีกล่าวต่อว่า นโยบายพรรคเราเขียนแล้วว่าต้องมีบำนาญแห่งชาติ แต่แค่เขียนกฎหมายอาจไม่พอ ตนเชื่อในการกระจายอำนาจ ดังนั้นต้องปฏิรูปที่ดินและป่าไม้ ต้องให้คนจนหรือคนไม่มีที่ทำกินต้องมีที่ทำกินอย่างมีคุณภาพ

ในส่วนการปรับโครงสร้างงบประมาณ พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีขณะนี้คือ 3 ล้านล้านบาท ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์เป็นรายจ่ายประจำ เป็นเงินเดือนข้าราชการ 1.06 ล้านล้านบาท ขณะที่ท้องถิ่น 7,800 แห่งได้ไป 3 แสนล้าน ดังนั้นนโยบายสำคัญถ้าเราไม่คืนอำนาจไปที่ประชาชนเราจะแก้ปัญหาไม่ได้ นโยบายเราคือต้องปฏิรูประบบการจัดเก็บงบประมาณให้สมดุล จัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ส่วนเรื่องยุทธศาสตร์ชาติและรัฐธรรมนูญที่อาจเป็นอุปสรรคต่อรัฐสวัสดิการ พ.ต.อ.ทวีมองว่า ต้องเข้าใจก่อนว่ารัฐสวัสดิการต้องถ้วนหน้า ไม่ใช่การสงเคราะห์ ดังนั้นพรรคจะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย

 

 

ชาติไทยพัฒนา: หนุนการออมรัฐเพิ่มส่วนต่าง ขยายฐานภาษี ปราบคอร์รัปชัน

 

อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา จากพรรคชาติไทยพัฒนากล่าวว่า พรรคมีนโยบายการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ผู้สูงอายุ คนพิการ คนด้อยโอกาส ให้ได้รับการศึกษาพัฒนาตน ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างภาคภูมิ มีเกียรติ สนับสนุนให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงแหล่งงาน บริการสาธารณะอย่างเป็นธรรม แต่ระบบสวัสดิการขึ้นอยู่กับการออม คนไทยมีการออมแค่ 7 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่ตัวเลขที่เหมาะสมคือ 19.7 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วมีการออมที่ 50.7 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ดังนั้นพรรคสนับสนุนเรื่องการออมแล้วนำมาเป็นสวัสดิการ ไทยมีผู้ยากไร้ 11.4 ล้านคน พรรคมีนโยบายจะสนับสนุนการออมแล้วรัฐเพิ่มส่วนต่างให้ และสนับสนุนพัฒนาทักษะ นอกจากนี้ในด้านสวัสดิการการเลี้ยงดูเด็กเพื่อส่งเสริมให้เกิดการมีบุตรในสังคมผู้สูงอายุซึ่งไทยเป็นอยู่ในขณะนี้ก็เป็นอีกด้านที่พรรคให้ความสำคัญ

ขณะที่บำนาญ 3,000 บาท อุดมศักดิ์มองว่าต้องคำนึงถึงงบประมาณและหนี้สาธารณะ

อุดมศักดิ์ชี้ว่าเห็นด้วยที่จะร่างกฎหมายบำนาญแห่งชาติ แต่ทำอย่างไรที่จะบูรณาการกฎหมายให้มีฐานข้อมูลที่ถูกต้องแบบเดียวกันเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ เพราะหลักประกันเรื่องสวัสดิการจะต้องมีความพอเพียงและมีประสิทธิภาพถึงจะยั่งยืน

ในส่วนการจัดสรรงบประมาณ อุดมศักดิ์มองว่าเรื่องระบบภาษี ไทยมีประชากร 67 ล้านคน แต่มีผู้เสียภาษีปีละประมาณ 4 ล้านคน ทำอย่างไรที่จะขยายฐานภาษี เพื่อให้ได้งบประมาณมาเป็นสวัสดิการประกันรายได้ การศึกษา สาธารณสุข ตอนนี้มีภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง สุดท้ายคือเรื่องคอร์รัปชัน มีคนประเมินว่าคอร์รัปชันนั้นทำให้รัฐเสียรายได้ถึง 1-2 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงต้องมีการปราบคอร์รัปชัน

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net