ถอดบทเรียนพลังพลเมืองอาสาสร้างสังคมสุขภาวะ กรณี 13 หมูป่า - ปาบึกขึ้นบก

มหกรรมชุมชนสุขภาวะถกพลังพลเมืองอาสา สร้างสังคมสุขภาวะ ถอดบทเรียนพลเมืองอาสากรณี 13 หมูป่า รวมทั้ง คุยหลังปาบึกขึ้นบก จะรับมือ ‘ปาบึก’ ให้ดีที่สุดได้อย่างไร 

 

เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา ในงานมหกรรมชุมชนสุขภาวะ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2561 ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 7-9 ม.ค. 2562 ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี(อาคารบี) มีการเสวนาหัวข้อ “พลังพลเมืองอาสา สร้างสังคมสุขภาวะ” โดยทีมพลเมืองอาสากรณี 13 หมูป่า ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์และถอดบทเรียนอาสาสมัครครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของสังคมไทย

นรินทร ณ บางช้าง ศิลปินชื่อดัง ในฐานะทีมผู้สนับสนุนอุปกรณ์ดำน้ำและอุปกรณ์ช่วยชีวิตแก่ทีมนักดำน้ำ กล่าวว่า ตนเองทำหน้าที่ประสานงานและเป็นหน่วยสนับสนุนอุปกรณ์ดำน้ำที่ทันสมัย  ในช่วง 3-4 วันแรกทีมงานได้ทำหน้าที่ฝึกสอนการใช้อุปกรณ์ การวางเชือกให้หน่วยซีล นอกจากนี้ยังประกาศขอรับบริจาคอุปกรณ์ผ่านทางโซเชียลมีเดีย แม้ต้องการเป็นจำนวนมากเพียงไหน ปรากฏว่าก็สามารถหาได้ คนไทยทุกเพศทุกวัยต่างแสดงความต้องการช่วยเหลือในทุกหนทางที่พวกเขาทำได้ 

“ในช่วงเวลานั้นผู้คนคิดถึงแต่คนอื่น ไม่ใช่แค่น้อง 13 หมูป่า แต่คิดถึงคนที่ไปช่วย 13 หมูป่าอีกทีหนึ่งด้วยว่าต้องการการสนับสนุนอะไร" เธอกล่าวและยกตัวอย่างความประทับใจว่า เจ้าของรีสอร์ทที่ทีมงานพักกัน 14 วันนั้นไม่คิดค่าที่พัก ซ้ำยังบริการซักผ้าให้ เด็กหนุ่มคนหนึ่งไม่มีกำลังทรัพย์ แต่อาสาขับรถหกล้อขนอุปกรณ์ขึ้นมาให้ที่เชียงราย การเดินทางของทีมอาสาสมัครหลายทีมก็มีสายการบินให้การสนับสนุน ฯลฯ

อย่างไรก็ดี การทำงานนี้มีความเสี่ยงสูงมาก เป็นเหตุให้การให้ความช่วยเหลือแต่ละวันจะมีการถอดบทเรียนว่ามีอุปสรรคหรือความเสี่ยงอะไรบ้าง โดยนรินทรเน้นย้ำว่า ภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยจำเป็นต้องมีการวางคนให้เหมาะกับงาน รวมถึงต้องประเมินตนเองให้ดี เพื่อไม่ให้การเข้าไปช่วยกลายเป็นอุปสรรคต่อคนอื่น

เอกชัย เฮ้งเจริญสุข ทีมท่อสูบน้ำพญานาค จ.นครปฐม เล่าว่า เจ้าของท่อพญานาคทั้ง 5 ท่อไม่รู้จักกันมาก่อน อาศัยติดต่อกันผ่านทางโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กแล้วก็มุ่งหน้ามาเชียงรายโดยไม่มีเงินติดตัวด้วยซ้ำ ระหว่างทางยังได้รับการอนุเคราะห์น้ำมันรถและเครื่องดื่มจากปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ช่วยอำนวยความสะดวกขับรถนำหน้ารถให้ ทั้งยังมีผู้นำรถยกจากภาคกลางมาช่วยยกท่อด้วย

“วิกฤตครั้งนี้เหมือนเป็นโอกาสหนึ่งให้คนไทยแสดงพลัง” เอกชัย กล่าว

อ่าสาน คนขยัน ทีมเก็บรังนกเกาะลิบง จ.ตรัง กล่าวว่า ที่ตัดสินใจเดินทางไปที่นั่นเพราะคิดว่าทักษะของตนเองน่าจะมีประโยชน์ แม้จะมีอุปกรณ์เพียงเชือก ไฟฉาย และเท้าเปล่าเท่านั้น การทำหน้าที่ของทีมนี้ต้องโรยตัวลงมาจากด้านบนภูเขาซึ่งไม่ใช่ทางตรงอย่างเดียว และต้องมีทีมที่ช่วยดูแลความปลอดภัยจากด้านบนด้วย เนื่องจากมีสภาพเป็นหน้าผา หากมีหินขนาดเพียงกำมือร่วงลงมาด้วยความสูงก็อาจทำให้คนที่ปีนอยู่ด้านล่างเสียชีวิตได้ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ได้เห็นถึงน้ำใจของทั้งคนไทยและคนต่างชาติที่ช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ โดยไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติหรือศาสนา

ทั้งนี้ ในช่วงบ่าย ยังมีการเสวนาหัวข้อ “ปาบึกขึ้นบก จะรับมือ ‘ปาบึก’ ให้ดีที่สุดได้อย่างไร” โดยภาคประชาชนในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัดที่เพิ่งประสบกับภัยพิบัติพายุโซนร้อนปาบึกเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนประการณ์การรับมือ การฟื้นฟูเยียวยา และนำเสนอทางออกเพื่อพัฒนาการรับมือกับภัยพิบัติให้ดียิ่งขึ้น

ละม้าย มานะการ เครือข่ายทรัพยากรชายแดนใต้ ตัวแทนจากพื้นที่จังหวัดปัตตานี วิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พื้นที่จังหวัดปัตตานีรับมือกับพายุปาบึกได้ดี เป็นเพราะผู้ว่าราชการจังหวัด ประชาชน และภาคประชาสังคม เคยมีประสบการณ์ในการรับมือกับพายุหมุนหรือสตอร์ม เสิร์จ มาแล้วในปี 2553 ทำให้มีการสั่งให้อำเภออพยพผู้คนโดยเร็ว มีการจัดกลุ่มเฝ้าระวังภัยพิบัติร่วมวางแผนและแจ้งข่าวสาร และชาวบ้านเตรียมพร้อมสิ่งต่างๆ ในการดูแลตนเองอย่างดี โดยไม่รอหรือร้องขอจากหน่วยงานราชการเพียงอย่างเดียว  หน่วยทหารก็ช่วยอพยพคนได้เยอะ ในส่วนสถาบันวิชาการในพื้นที่คือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก็ร่วมระดมทรัพยากรจากเครือข่าย จัดหาเสบียงให้เพียงพอและจัดสรรอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้การจัดสรรอย่างเป็นธรรมเป็นหัวใจสำคัญมากในสถานการณ์ภัยพิบัติ 

อานนท์ มีศรี สมาคมสื่อชุมชนภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า จากการเฝ้าติดตามทำข่าวสถานการณ์ในพื้นที่พบว่า การอพยพทำได้รวดเร็ว ชาวบ้านให้ความร่วมมือทำให้มีความสูญเสียเกิดขึ้นเพียง 4 ชีวิต แต่อาจต้องมีการประเมินความปลอดภัยที่ละเอียดกว่านี้เพราะโรงยิมของปากพนังที่เป็นศูนย์รองรับผู้อพยพเป็นพันคน สุดท้ายก็โดนพายุพัดหลังคาปลิวไปเกือบหมด รวมถึงระบุด้วยว่า ประเด็นสำคัญหลังจากพายุผ่านพ้นคือการฟื้นฟูสิ่งที่เสียหาย ภาคประชาสังคมจำเป็นต้องรวบรวมความเสียหาย รวบรวมข้อมูลให้เป็นระบบและนำเสนอต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ไมตรี จงไกรจักร์ จากจังหวัดพังงา กล่าวว่า การรับมือต่อภัยพิบัติครั้งนี้ภาคประชาชนได้เตรียมพร้อมกับเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว การส่งต่อข้อมูลก็ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ มีข่าวลวงปรากฏน้อยมาก อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญนับจากนี้คือ การฟื้นฟูและเยียวยา สองคำนี้มีความหมายต่างกัน ที่ผ่านมารัฐคิดว่าตนมีหน้าที่เพียงเยียวยาผ่านการจ่ายเงินชดเชย ส่วนการฟื้นฟูนั้นเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องช่วยเหลือตัวเอง ดังนั้น เครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศยังต้องรวมพลังในการช่วยฟื้นฟูผู้ประสบภัย  โดยสิ่งเร่งด่วนที่ต้องทำคือ ให้ความรู้และช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เข้าถึงและได้รับการเยียวยาจากภาครัฐได้อย่างครบถ้วน

โดยภายในงานวันเดียวกันนี้ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ยังได้นำประกาศเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นร่วมกันของ 41 องค์กรภาคีในระดับชาติที่สนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง-ชุมชนสุขภาวะและศูนย์ประสานภาคีการพัฒนาจังหวัด 82 พื้นที่ เร่งสานพลังการทำงานตามหลักการและแนวทางของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง แผนยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติว่าด้วยระบบสุขภาวะชุมชน เพื่อบรรลุเป้าหมายทำให้องค์กรชุมชนทั่วประเทศมีศักยภาพเข้มเข็ง สามารถจัดการตนเองได้และมีคุณภาพอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท