เดินดูนางเลิ้งเมื่อวัฒนธรรมถูกใช้รองรับการพัฒนา สู่คำถามสิทธิในเมืองที่เท่าเทียม

 

ชุมชนนางเลิ้งรับมือความเปลี่ยนแปลงด้วยคนและวัฒนธรรมหลากหลาย หวังสื่อสาร น่าเสียดายถ้ามรดกเหล่านั้นจะหายไปกับการพัฒนาเมืองเมื่อรถไฟใต้ดินสถานีหลานหลวงเข้ามาพาดผ่าน ภาพชุมชนใช้ทุนทางวัฒนธรรมรองรับการพัฒนานั้นมีหลายที่ทั่วไทย นำไปสู่คำถามว่าใครมีสิทธิใช้ชีวิตในเมืองได้บ้าง

ทางเข้าตลาดนางเลิ้ง

10 ม.ค. 2562 สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา สถาบัน สื่อ เด็ก และเยาวชน (สสย.) และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจัดกิจกรรม Reunion Storytellers  ในธีมว่า Behide Nanglueng เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2561 โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้มีโอกาสพบปะผู้คนในย่านนาเลิ้งทั้งฝั่งตลาดนางเลิ้งและชุมชนวัดแค เรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนจากคำบอกเล่าของชาวนางเลิ้งเอง รวมถึงเรียนรู้องค์ความรู้ของวัฒนธรรมชุมชน นอกจากนี้ ภายใต้การเรียนรู้ต่างๆ ผู้เข้าร่วมยังได้รับรู้ถึงปัญหาที่ชุมชนกำลังประสบผ่านการพูดคุยถามไถ่ ปัญหาหนึ่งที่ถูกสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนคือ ปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย

คำถามคาใจ ทำไมมีการพัฒนาแล้วคนอยู่ไม่ได้

สุวัน แววพลอยงาม ผู้นำชุมชนนางเลิ้งซึ่งรับหน้าที่เป็นวิทยากรในส่วนของการเรียนรู้ชุมชนวัดแค ได้กล่าวถึงประเด็นพื้นที่รอบวัดสุนทรธรรมทานหรือวัดแค ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทั้งทางจิตใจและทางสังคมของชุมชน กลายเป็นพื้นที่พัฒนารถไฟฟ้าว่า เธอไม่ได้รู้สึกว่าการพัฒนาที่มาถึงจะกระทบต่อจิตใจของเธอแต่อย่างใด เพราะเห็นความเจ็บปวดของพื้นที่อื่นมาแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือต้องกันมาตั้งรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นมากกว่า “บ้านเมืองนี้เหมือนโดนตั้งกฎเกณฑ์เอาไว้แล้ว เหมือนมีการเขียนอักขระเอาไว้แล้ว เพียงแต่ว่าเราจะสู้อักขระนั้นได้ยังไง”

บรรยากาศตลาดนางเลิ้ง ยังคงมีการเปิดขายของขึ้นชื่อแม้จะไม่เฟื่องฟูเหมือนในอดีต ในภาพคือร้านขายไส้กรอกปลาแนม อาหารขึ้นชื่อของตลาดนางเลิ้ง

ปูมหลังปัญหาที่ชุมชนนางเลิ้งกำลังเผชิญคือพื้นที่ของชุมชนกลายเป็นเขตที่จะมีการพัฒนาพื้นที่ตามแผนการสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีส้ม โดยโครงการได้วางแผนสร้างเส้นทางรถไฟตามแนวตะวันออกไปสู่ตะวันตก เริ่มต้นจากสถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย แล้วสิ้นสุดที่เขตมีนบุรี ซึ่งสถานีหลานหลวงอันเป็นสถานีหนึ่งบนเส้นทางรถไฟในโครงการ ก็เป็นพื้นที่ซึ่งชุมชนนางเลิ้งตั้งอยู่ (ที่มา: TCIJ)

คนนางเลิ้งจะได้อยู่ในพื้นที่ต่อไปหรือไม่คือปัญหาสำคัญที่สุวันสะท้อน “ทำไมทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านเมืองนี้ เวลามีการพัฒนา คนถึงตายหมดเลย เอาคนไปหมดเลย” เธอกล่าวถึงการที่ผู้อยู่อาศัยต่อสู้กับการพัฒนาต่างๆ อย่างการพัฒนาคลองหรือการพัฒนาด้วยการไล่รื้อ ไม่มีกรณีที่ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ชนะเลย “มันแพ้ ชาวบ้านมันแพ้หมดเลย” สุวันและชาวนางเลิ้งจึงพยายามตั้งรับมาเป็นเวลานานแล้ว ในส่วนของเครื่องมือที่ช่วยในการต่อสู้นั้น เธอกล่าวว่ากฎหมายไม่ได้ช่วยอะไรเธอเลย อย่างไรก็ตาม เธอยังเชื่อในวิธีการสันติ ยุทธศาสตร์ของชุมชนนางเลิ้งสำหรับรับมือการพัฒนาคือการพูดจาดีๆ และขอการมีส่วนร่วม ให้มีเกิดการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ส่วนในอนาคตที่จะต่อสู้กันต่อไปคงจะต้องต่อสู้เดิมพันด้วยชีวิต

สำหรับมุมมองในการพัฒนา สุวันมองว่าสิ่งที่พัฒนาก็ต้องพัฒนาต่อไป เธอไม่เห็นด้วยกับการสร้างคอนโดมิเนียมขึ้นมาอย่างโดดๆ โดยไม่ได้มีการพัฒนาพื้นที่รอบข้างอย่างสลัม การพัฒนาควรเป็นไปในรูปแบบของการอยู่ด้วยกัน สร้างประวัติศาสตร์พื้นที่ที่มันควรอยู่ ไม่ใช่มาสร้างในตอนที่ไม่มีหลักฐานเชิงรูปธรรมเหลืออยู่แล้วอย่างกรณีชุมชนป้อมมหากาฬ “อย่างป้อมมหากาฬเห็นแล้วมันแสลงใจ มันไม่เหลืออะไรแล้ว จะเล่าเรื่องอะไรมันก็ไม่เหลืออะไรแล้ว” ในแง่ของการปรับผังเมืองเพื่อการพัฒนานั้น สุวันกล่าวว่าชาวบ้านคงสู้เรื่องผังเมืองซึ่งพื้นที่ของชุมชนกลายเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ไปแล้วไม่ได้  แต่ชุมชนนางเลิ้งยังมีคนอยู่ สิ่งที่ทำได้คือผลักดันทรัพยากรคนกันต่อไป สร้างกิจกรรมกันต่อไป ที่นี่ใช้ความเฮฮาต่อสู้กับภาครัฐ” สุวันกล่าวทิ้งท้ายถึงรูปแบบการเคลื่อนไหวเชิงวัฒนธรรมของชุมชน

เสียงความกลัวที่เบาที่สุดในบ้านเก่าหลังเล็ก ในวันที่สถานีรถใต้ดินจะโผล่หน้าบ้าน

สุวันพาผู้ร่วมกิจกรรมไปเรียนรู้วัฒนธรรมของชุมชนนางเลิ้ง ทั้งการทำขนมเรไรซึ่งเป็นของขึ้นชื่อประจำชุมชน บ้านศิลปะของกัญญา ทิพยโอสถ ซึ่งเปิดสอนศิลปะการแสดงที่เรียกว่าละครชาตรี โดยในปัจจุบันกัญญาได้ปรับรูปแบบการแสดงให้ง่ายขึ้นพร้อมใช้คำศัพท์ใหม่ในการเรียกอย่างคำว่าละครรำ เพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงได้และไม่รู้สึกว่าศิลปะรูปแบบนี้เป็นสิ่งที่ฝึกฝนยากเกินไป สำหรับกิจกรรมที่บ้านศิลปะ ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสฟังประวัติความเป็นมาของละครชาตรีบ้านครูกัญญาที่สืบมาจากละครชาตรีที่เคยแสดงในเขตวังจนกระทั่งออกมาทำการแสดงข้างนอก ปรับตัวเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับบริบทในช่วงเวลาต่างๆ ปัจจุบันมีการเปิดสอนให้คนทั่วไป ซึ่งระยะเวลาก็หลากหลายไปตามจุดมุ่งหมาย มีตั้งแต่เป็นอาทิตย์ไปจนถึงยาวเป็นเดือน

อีกแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในย่านนางเลิ้งคือบ้านนราศิลป์ เจ้าของบ้านคือพินิจ สุทธิเนตร เป็นบ้านที่สถานีหลานหลวงจะผุดขึ้นมาบนพื้นที่หน้าบ้านของเขาเอง พินิจเล่าถึงประวัติว่าบ้านนราศิลป์เป็นแหล่งตัดชุดและทำเครื่องประดับเกี่ยวกับนาฎศิลป์มาเป็นเวลานานนับแต่สมัยรัชกาลที่หก สำหรับผลงานร่วมสมัยของบ้านนราศิลป์ก็จะเห็นได้จากชุดโขนในภาพยนตร์โขนเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ชุดหนุมานหรือชุดโขนอื่นที่ฉายในภาพยนตร์ของไชโยฟิล์ม ชุดที่ตัดให้กับช่องสี่บางขุนพรหม ปัจจุบันบ้านนราศิลป์เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการแสดงโขน ละครร้อง และละครวิทยุ นอกจากนี้ยังมีเอกสารให้ความรู้เกี่ยวกับโขนและเครื่องแต่งกายโขนจัดแสดงไว้ในบ้าน

ต่อการพัฒนาว่าด้วยโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินที่จะเข้ามา พินิจกล่าวว่าเขากลัวจนเลิกกลัวไปแล้ว เพราะการพัฒนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความเจริญในบ้านเมือง เป็นโครงการที่มีการวางแผนกันมาเป็นเวลานานแล้ว เพียงแต่ผู้ที่รู้ก่อนไม่ใช่ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นเป้าการพัฒนา หากแต่เป็นกลุ่มทุน ซึ่งทำให้คนในพื้นที่มีเวลารับมือน้อย กรณีตัวอย่างจากที่อื่นคือเมื่อมีการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินก็จะมีกลุ่มทุนคอนโดมิเนียมเข้าไปเลือกซื้อ ชาวบ้านที่เตรียมรับมือไม่ทันก็โดนบังคับขายไป  ถ้าการพัฒนานี้มีผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่นางเลิ้ง สิ่งที่น่าเสียดายคือตรอกวัฒนธรรมที่อยู่มานานแห่งนี้อาจจะหายไปด้วยการปรับปรุงภูมิทัศน์ที่จะเกิดขึ้นต่อจากการสร้างสถานีรถไฟฟ้า “เราไม่ต้องกลัวหรอกว่าของเราโดนหรือไม่โดน สนามม้านางเลิ้งก็โดนแล้ว บ้านเราบ้านเล็กๆ ไม่มีผลหรอกครับ เสียงไม่ดัง” พินิจกล่าว

ในแง่ที่นางเลิ้งเป็นสถานที่เก่าแก่ พินิจยังมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะนำมาเป็นข้อต่อรอง ย่านเยาวราชเป็นย่านที่เก่าแก่ก็ยังต้องยอมให้กับการพัฒนา หรือกรณีชุมชนบริเวณสามยอดซึ่งมีความเก่าแก่ แต่ละที่ซึ่งการพัฒนาตัดผ่านก็เก่าแก่ทั้งนั้น ถ้าจะพูดถึงการสร้างบรรยากาศความดั้งเดิมหรือเรื่องราวของสถานที่ด้วยการสร้างสิ่งใหม่ที่ลอกเลียนของเดิมบางส่วน พินิจก็เห็นว่าไม่สามารถทดแทนกันได้เพราะไม่ได้มีรากเหง้าจริง เขายกตัวอย่างบทเรียนของสถานีสามยอดที่ไม่อาจรักษาความดั้งเดิมของโครงสร้างสถาปัตยกรรมเอาไว้ได้ “แต่เอาจริงๆ มันก็มีวิธีการทำโดยไม่กระทบชุมชน อย่างเช่นการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินก็เหลือตึกเก่าเอาไว้ เจาะสร้างเพียงแต่ส่วนภายในชั้นใต้ดิน ซึ่งทำให้สามารถรักษางานสถาปัตยกรรมเอาไว้ได้ด้วย” พินิจเสนอทางออกคร่าวๆ

ชุมชนใช้ทุนทางวัฒนธรรมรองรับการพัฒนา สู่คำถามใหญ่กว่า “เมืองเป็นของใครบ้าง”

รากเหง้า วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ไม่ได้บ่งบอกแค่ว่าคนกลุ่มหนึ่งเป็นใคร แต่ยังเป็นเหมือนไดอารี่ที่จดจารหมุดหมายว่าคนกลุ่มนั้นๆ ดำรงรากฐานอยู่บนสถานที่หนึ่งมานานเท่าไหร่ ต้นทุนทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์จึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือค้ำยันความชอบธรรมในการอยู่อาศัยในพื้นที่ เพราะด้วยสถานะทางกฎหมายที่ผู้คนในพื้นที่เป็นเพียงผู้เช่าเจ้าของที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นที่วัด หรือที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ในกรณีนางเลิ้ง) ความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยจึงคลอนแคลน เหลือเพียงวัฒนธรรมที่พอจะสร้างความสำคัญให้ผู้คนในการยึดโยงกับพื้นที่ของพวกเขาต่อไปได้ นำมาซึ่งการสื่อสารผ่านกิจกรรมและการเล่าเรื่องราวของสถานที่ บุคคล วิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ความเป็นมาในฉบับชุมชนเพื่อสื่อสารว่าถ้าอัตลักษณ์และองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมจะหายไปด้วยการพัฒนาก็ถือว่าน่าเสียดาย อย่างน้อยก็ควรอนุรักษ์มันไว้ด้วยการให้ชุมชนอยู่เคียงคู่กับการพัฒนาที่กำลังจะมาถึง  

ร้านขนมเทียนแม่อรุณ บุญเดช ร้านขนมขึ้นชื่อย่านนางเลิ้ง ขณะให้ความรู้เกี่ยวกับส่วนประกอบสำคัญของขนมอย่างหญ้าชิวคัก

ไม่เพียงแต่นางเลิ้ง ภาวะที่ชุมชนนำต้นทุนทางวัฒนธรรมมาใช้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ที่ ต.คลองกระแชง อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรีมีย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งเป็นการรวมตัวกันขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในพื้นที่ของชุมชนโดยสามชุมชนอันได้แก่ ชุมชนคลองกระแชง ชุมชนตลาดริมน้ำ และชุมชนวัดเกาะ ความโดดเด่นอย่างแรกที่ทำให้พื้นที่มีความน่าสนใจคือความเก่าแก่ซึ่งแสดงผ่าน วัด ศาลเจ้า โรงเจ สถาปัตยกรรมเก่าแก่ ห้างร้านและการค้าขายแบบเก่า สินค้าอย่างอาหารโบราณของชุมชน และศิลปะการแสดง นอกจากบรรยากาศเมืองเก่าที่เป็นความพิเศษของชุมชน ย่านดังกล่าวยังผสานความเป็นสมัยใหม่อย่างสตรีทอาร์ทเข้าไปในฟังก์ชั่นการรองรับนักท่องเที่ยว (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ)

ชุมชนเจริญไชย กรุงเทพมหานคร คล้ายคลึงกับกรณีของชุมชนนางเลิ้ง ผู้คนในชุมชนเจริญไชยรู้สึกไม่มั่นคงจากการสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินบริเวณชุมชนซึ่งต้องมีการรื้อสิ่งก่อสร้างเดิมในชุมชน ทำให้มูลค่าที่ดินดีดตัวสูงขึ้น ผนวกกับเจ้าของที่ดิน (มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์) ยกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่หลังการก่อสร้างเริ่มต้นเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว ความไม่มั่นคงทางที่อยู่อาศัยในฐานะผู้เช่าที่อยู่มาหลายชั่วอายุคนนำไปสู่การรวมตัวของคนในชุมชน มีการจัดตั้งคณะกรรมการทำงานอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนเจริญไชยเพื่อขับเคลื่อนให้ชุมชนเป็นศูนย์ข้อมูลและแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชนจีนในเยาวราช ผลงานสำคัญที่จะเห็นได้คือบ้านเก่าเล่าเรื่อง พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงวัฒนธรรมชาวจีนในชุมชน นอกจากนี้คณะกรรมการของชุมชนแห่งนี้ยังมีการเคลื่อนไหวเพื่อรักษาเทศกาลและสถาปัตยกรรมของชุมชนด้วย (ที่มา: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)

ชุมชนป้อมมหากาฬชุมชนที่ตั้งอยู่ติดกับสถานที่ทางประวัติศาสตร์อย่างป้อมมหากาฬที่อยู่บริเวณสะพานผ่านฟ้า ริมคลองโอ่งอ่าง ถัดจากพระบรมมหาราชวังไม่ไกลนัก หลังมีคำสั่งไล่รื้อพื้นที่และชุมชนเพื่อทำสวนสาธารณะตั้งแต่ปี 2535 ภายใต้โครงการตามแผนแม่บทอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ในอดีต หลังจากนั้นชุมชนพยายามแสวงหาแนวทางเพื่อดำรงอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวต่อได้ ตัวอย่างสำคัญคือแนวคิดพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ซึ่งเป็นการให้คนในชุมชนได้อยู่ร่วมกันสถานที่ทางประวัติศาสตร์ต่อไป

แม้จะมีแสดงความคิดเห็นจากนักวิชาการ การติดต่อกับองค์กรต่างๆ การแสดงจุดยืนกับภาครัฐ หรือแม้แต่ความพยายามที่จะย้ำว่าบรรยากาศทางประวัติศาสตร์ควรมีผู้คนอยู่ด้วย แต่ในท้ายที่สุดชุมชนแห่งนี้ก็ถูกย้ายออกไปเมื่อราวๆ ปลายปี 2561 จบเส้นทาง 26 ปีของการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิในถิ่นที่อยู่

ธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬกราบขอบคุณสำหรับทุกความช่วยเหลือที่ชุมชนได้รับในงานปิดตัวชุมชนเมื่อเดือน เม.ย. 2561

ชุมชนป้อมมหากาฬจัดงานอำลา ยุติมหากาพย์ 25 ปี 

รื้อไล่ไม่ใช่ทางออกเดียว: คุยกับนักมานุษยวิทยา ม.ฮาร์วาร์ดเรื่องชุมชนป้อมมหากาฬ

รากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชุมชนคือเครื่องมือต่อรองของคนที่รับผลกระทบจากการพัฒนาและการขยายตัวของเมืองสมัยใหม่ที่รุดหน้าไปในทิศทางเดียวกับเส้นเวลา แต่อีกหนึ่งคำถามที่สำคัญและมีผลกว้างขวางกว่าคือ หากทุนทางวัฒนธรรมของคน หรือชุมชนหนึ่งๆ ไม่มี หรือมีไม่พอ พวกเขาจะยังมีสิทธิที่จะอยู่ในพื้นที่ต่อไปได้หรือไม่ จะอยู่อย่างไร มันนำไปสู่คำถามใหญ่ว่า แท้ที่จริงแล้วเมืองเป็นของใคร ชนชั้นไหนบ้าง การเข้าถึงสิทธิในการอยู่อาศัยอย่างเหมาะสม และคุณภาพชีวิตที่ดีในป่าคอนกรีตจะต้องจ่ายด้วยราคาเท่าไหร่ ใครบ้างถูกเซ่นสังเวยในนามของการพัฒนาเมือง

 

 

กาญจนพงศ์ รินสินธุ์ เป็นนักศึกษาหลักสูตรอาเซียนศึกษา จากสำนักศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปัจจุบันกำลังฝึกงานที่ประชาไท

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท