Skip to main content
sharethis

เครือข่ายขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้า 109 องค์กร ทวงถามความคืบหน้านโยบายจากรัฐบาล ชี้ยกเลิกการให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งทำให้เด็กตกหล่น มาเป็นนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0 - 6 ปีแบบถ้วนหน้า หยุดตีตราเด็กยากจน 

ที่มาภาพ เฟสบุ๊ค Nongmai Vijan

10 ม.ค.2562 วันนี้ ช่วงสายที่ผ่านมา เพจ 'RSU Wisdom TV อาร์เอสยู วิสดอม ทีวี' รายงานว่า หน้าศูนย์ บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้า 109 องค์กร ร่วมกับ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต เดินทางมายื่นหนังสือทวงถามนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0 - 6 ปี แบบถ้วนหน้าจากรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวประชาไทสอบถามไปยัง ปารวี ไพบูลย์ยิ่ง ผู้ประสานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้า ซึ่งให้ข้อมูลว่า ผู้รับมอบหนังสือได้รับปากว่าจะนำหนังสือไปยื่นให้นายกฯ โดยทางเครือข่ายทวงถามเรื่องขยายให้เงินเด็กเล็ก 0-6 ปี และต้องเป็นแบบถ้วนหน้าไม่ใช่ให้เฉพาะคนยากจน

นอกจากนี้ยังสอบถามไปยัง สุนี ไชยรส ผู้แทนคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า กรณีที่หากรัฐบาลชุดนี้ยังไม่อาจทำตามข้อเรียกร้อง โดย สุนี กล่าวว่า หากรัฐบาลชุดนี้ไม่ทำ เราก็จะเน้นไปที่นโยบายพรรคการเมือง ที่ตอนนี้มีอย่างน้อย 10 พรรคที่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ โดยเราเคยจัดงานแถลงเชิญพรรคการเมือง 10 พรรคมาเข้าร่วมไปก่อนหน้านี้

สุนี ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้แถลงว่าจะให้ 0-6 ปีเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ให้ นอกจากนี้ก็มีมติคณะกรรมการเด็กและเยาวชนแห่งชาติ สนับสนุนเรื่องการถ้วนหน้าไปตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นผล

“เราเคลื่อนมาหลายรอบแล้ว เรามีความชอบธรรมจะทวงถาม มีงานวิจัยและมีการเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนมาตลอด จึงเป็นเรื่องที่ทางรัฐบาลควรที่จะตัดสินใจได้” ผู้แทนคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า กล่าว

ทั้งนี้ข้อมูลจากเพจ เด็กเท่ากัน ชี้ว่า สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับ Economic and Policy Research Institute (EPRI) ออกแบบและดำเนินการ ประเมินผลกระทบและประเมินการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของโครงการ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยใช้รูปแบบการประเมิน แบบผสมผสานทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ และมีมหาวิทยาลัย ขอนแก่น ทำหน้าที่ในภาคสนาม ภายใต้การสนับสนุนของ องค์การ ยูนิเซฟและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ประเมินผลกระทบโครงการอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กเล็กดังกล่าว ในช่วง เมษายน 2559 จนถึง มีนาคม 2561

โดยการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 5,700 ครัวเรือน ในพื้นที่ 9 จังหวัด และแบ่งการสัมภาษณ์หญิงคนเดิม เป็นสองช่วง คือ ช่วงที่กำลังตั้งครรภ์ และหลังคลอดในช่วงที่บุตรมีอายุ ระหว่าง 9-14 เดือน บางส่วนได้รับเงินอุดหนุนแล้ว บางส่วนไม่ได้รับ ทั้งนี้ยังมีการศึกษาเชิงคุณภาพ ด้วยวิธีการสนทนากลุ่มย่อยกับหญิง ตั้งครรภ์ หญิงที่มีบุตร ทั้งที่ได้รับเงินและไม่ได้รับเงินอุดหนุน เจ้าหน้าที่รัฐ อาสาสมัคร และผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ 4 จังหวัด นอกจากนั้นคณะผู้วิจัย ยังได้ประเมินการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของโครงการเงินอุดหนุนเด็กเล็ก อีกด้วย

โดยผลการศึกษาพบว่า 


ข้อดี คือ (1) เด็กแรกเกิดที่ได้รับเงินอุดหนุนฯ มีผลลัพธ์ทาง โภชนาการที่ดีกว่า เสี่ยงน้อยกว่าที่จะประสบปัญหาภาวะเตี้ย แม่ให้นม บุตรได้มากขึ้น หรือหาซื้อนมหรืออาหารเสริมได้เพียงพอ (2) แม่และลูก เข้าถึงบริการดูแลหลังคลอดได้มากกว่า และ (3) ยังพบว่า แม่ของเด็กที่ ได้รับเงินอุดหนุนมีอำนาจในการควบคุมรายได้ตัวเอง และมีสิทธิในการ ตัดสินใจในเรื่องเกี่ยวกับการดูแลเด็กมากกว่า

ข้อด้อย คือ มีจำนวนเด็กจนและเกือบจนที่ตกหล่นไม่ได้รับ สิทธิประโยชน์จากโครงการเงินอุดหนุนฯ นี้ พบว่า ร้อยละ 30 ของ เด็กยากจนในกลุ่มตัวอย่างการศึกษา 5700 ครัวเรือน “ไม่ได้รับ เงินอุดหนุน” การตกหล่นทำให้เด็กเหล่านี้ขาดโอกาสที่จะมีภาวะ โภชนาการที่ดี ขาดการเข้าถึงบริการของรัฐที่พึงได้ ท้ายสุดมีความเสี่ยง ที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพต่ำกว่าเด็กที่มีโอกาสมากกว่า เป็นการซ้ำเติมชะตากรรมของเด็กเล็กในครอบครัวเหล่านี้ไม่จบสิ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net