รัฐศาสตร์ มช.-ม.พะเยา จัดประชันมุมมองกว่าจะเป็น.. จาก 7 ตัวแทนนักการเมืองรุ่นใหม่

คณะรัฐศาสตร์ มช. และม.พะเยา จัดงานเสวนา Becoming…กว่าจะเป็น ผ่านมุมมอง 7 ตัวแทนนักการเมืองรุ่นใหม่ จาก 7 พรรค 'ฟิล์ม รัฐภูมิ' หวังเปลี่ยนแปลงกฎหมายแทนการใช้กฎหมู่ 'อรุณี กาสยานนท์' มองบทบาทนักการเมืองสร้างโอกาสเข้าไปแก้ปัญหาได้มากกว่านักวิจัย-นักวิชากร ด้าน ' ธันวา ไกรฤกษ์' ยันพรรคพลังประชารัฐไม่ใช่พรรคทหาร ไม่ใช่พรรคสืบทอดเผด็จการ ฯลฯ

เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา จัดงานเสวนา Becoming…กว่าจะเป็น ที่บริเวณห้องประชุมอาคาร 50 ปีคณะรัฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีตัวแทนคนรุ่นใหม่จากพรรคการเมืองต่างๆ ได้แก่ รังสิมันต์ โรม ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่, พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์, ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส สมาชิกพรรคเพื่อไทย, เสมอกัน เที่ยงธรรม สมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา, อรุณี กาสยานนท์ รองโฆษกพรรคไทยรักษาชาติ, รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ สมาชิกพรรคพลังท้องถิ่นไท และธันวา ไกรฤกษ์ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เข้าร่วม รวมไปถึงนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง นักการเมืองท้องถิ่น และประชาชนที่สนใจมากกว่า 300 คน

การจัดกิจกรรมแบ่งออกเป็นสามช่วงคือ ช่วงแรก ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยา 2 คน พูดในหัวข้ออยากจะเป็น.... ช่วงที่สอง ตัวแทนนักการเมืองรุ่นใหม่ทั้ง 7 คน พูดในประเด็นกว่าจะเป็น..... และ ช่วงสุดท้ายเป็นการตอบคำถามจากผู้เข้าร่วมเสวนาและจากทางไลฟ์สดทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ School of politics and government CMU

ช่วงแรก ภาคภูมิ พันธวงค์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงความอยากจะเป็นนักเคลื่อนไหวของตนไว้อย่างน่าสนใจ โดยสะท้อนปัญหาที่ตนเองได้เจอคือ ค่านิยมการไม่ยอมรับความแตกต่างในเพศทางเลือกซึ่งในอดีตมีปัญหามาก แต่ตัวเองเป็นคนสู้ จนกระทั่งปัจจุบันรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นการต่อสู้ตามลำพังและก้าวผ่านการดูถูกจนรู้สึกว่าสังคมในปัจจุบันยอมรับเรื่องเพศทางเลือกมากขึ้น

กันตวิชญ์ เชื้อนาค นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า อยากเป็นปลัดรับราชการที่ไม่เอารัดเอาเปรียบประชาชน แสดงให้เห็นว่าสถาบันครอบครัวมีความสำคัญ โดยเฉพาะค่านิยม อาทิ คำอวยพรจากคนในครอบครัวว่า “โตขึ้นเป็นเจ้าคนนายคน” ซึ่งมีความหมายที่มีชนชั้น มองว่าข้าราชการคือข้ารับใช้ประชาชนไม่ใช่เจ้าคนนายคน

สำหรับในช่วงที่สองเป็นการขึ้นพูดของนักการเมืองทั้ง 7 คน กล่าวถึงแรงบันดาลใจ ประสบการณ์การทำงาน ประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา กว่าจะเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ในวันนี้

อรุณี กาสยานนท์ ในฐานะศิษย์เก่าปริญญา ตรี-โท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขาการเมืองการปกครอง กล่าวว่า กว่าจะก้าวสู่การเมือง ส่วนตัวเรียนทางด้านการเมือง เคยเป็นอาจารย์ทางรัฐศาสตร์ แม้ว่าเคยทำวิจัยในชุมชนแต่เห็นว่าค่อนข้างมีการจำกัดกรอบ และคิดว่าการเข้าสู่แวดวงทางการเมือง สามารถมีโอกาสเข้าไปแก้ปัญหาได้มากกว่า นอกจากนี้ยังถือเป็นการสร้างโอกาสให้ตนเองในบทบาทนักการเมือง

รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ กว่าจะเป็น ฟิล์ม รัฐภูมิในฐานะนักการเมือง ส่วนตัวมีการลงพื้นที่ ช่วยเหลือและให้กำลังใจประชาชน ได้เห็นถึงความแตกต่างทางชนชั้น คนรวยรวยมากคนจนจนมากเช่นกัน แต่ลำพังจากการทำจิตอาสาก็มองไม่เห็นช่องทางที่จะเข้ามาช่วยเหลือประชาชน จนกระทั่งมีโอกาสเข้ามาในแวดวงทางการเมือง มีความตั้งใจที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงกฎหมาย แทนการใช้กฎหมู่ในสังคมอย่างที่เป็นอยู่ และสนใจเรื่องการกระจายอำนาจซึ่งตนรู้สึกว่าสามารถสร้างสังคมให้ดีมากขึ้นได้

เสมอกัน เที่ยงธรรม หนึ่งเดียวใน 7 วิทยากรที่เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการดำรงตำแหน่งขณะนั้น จนเกิดแรงบันดาลใจในการเป็นนักการเมืองเพื่อจะได้เห็นคนรุ่นใหม่เข้ามาในสภามากขึ้น เพราะเชื่อว่าในปัจจุบันการเมืองภาคประชาชนมีมากขึ้น การครอบงำน้อยลงจากอดีต แม้ว่าจะเกิดปัญหาทางการเมือง การเมืองไทยเปลี่ยนไปแต่สิ่งที่ทุกคนควรคำนึงถึงคือ ส่วนรวมหรือประเทศชาติ การรับใช้ประชาชนมากกว่าข่มเหง

ช่วงสุดท้ายเป็นการตอบคำถามจากผู้เข้าร่วมเสวนาและจากทางไลฟ์สดทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ School of politics and government CMU  ประเด็นต่างๆ เช่น ความอาวุโสในสังคมไทย การรักษาพยาบาล การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี LGBT สวัสดิการรัฐ และนโยบายต่างๆ เป็นต้น

พริษฐ์ วัชรสินธุ ได้ตอบคำถามในประเด็นการแก้ปัญหาคนตกงาน ชี้ให้เห็นสัดส่วนของการศึกษาสายสามัญ และอาชีวะไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้นควรมีการส่งเสริมทักษะสู่สายงานและการเพิ่มแรงจูงใจ และทำให้การศึกษาเป็นการศึกษาตลอดชีวิต

สำหรับระบบการเข้าศึกษาแบบ TCAS หรือ Thai University Center Admission System ซึ่งเป็นระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยนั้น รังสิมันต์ โรม มองว่า มีปัญหา โจทย์อยู่ที่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งการพัฒนาครู การเพิ่มงบประมาณทางการศึกษา ในส่วนของมหาวิทยาลัยเองควรพัฒนาให้มีคุณภาพที่เท่าเทียมกัน ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ในประเด็นบำนาญข้าราชการนั้น ธันวา ไกรฤกษ์ มองว่าภาครัฐควรเป็นหลักประกันเรื่องการใช้ชีวิต หลังการเกษียณอายุราชการ ทั้งนี้ในประเด็นการลงทุนทางเศรษฐกิจจากต่างชาติ โดยเฉพาะจีน รัฐบาลต้องเข้าควบคุมและวางแผนการดำเนินงาน ซึ่งไทยเองมีหลายประเทศที่เข้ามาลงทุน ธันวา ยังย้ำจุดยืนอย่างชัดเจนว่า พรรคพลังประชารัฐไม่ใช่พรรคทหาร ไม่ใช่พรรคสืบทอดเผด็จการ

ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส กล่าวว่าทางด้านของพรรคเพื่อไทยต่อสู้กับเผด็จการมาตลอด ไม่ยอมให้ประเทศชาติล้าหลัง ถดถอย และพร้อมแก้ปัญหาทุกมิติให้ดีกว่าเดิม พรรคประสบความสำเร็จในการทำนโยบายโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้อง และพรรคปฏิเสธเผด็จการและนายกฯ ที่บริหารประเทศไม่เป็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท