ภาคประชาชนโวย เมื่อมติคุมค่ายา-เวชภัณฑ์-ค่ารักษา ทุนใหญ่ล็อบบี้ไม่ให้เข้าครม.

รมว.สธ. ชี้ ค่ารักษา รพ.เอกชน ต้องดูตามความเหมาะสม ไม่ใช่การบังคับ กก.แพทยสภา เผยค่ายา รพ.เอกชนบวกกำไร 200-300% ชี้แม้คุมค่ายา-เวชภัณฑ์-ค่ารักษา ค่าใช้จ่ายก็โป่งส่วนอื่น รพ.เอกชนเป็นทางเลือก หากบีบมากอาจทำให้เจ๊งได้ ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้มีทุนใหญ่จะล็อบบี้ไม่ให้คุมค่ายา ระบุ ค่าใช้จ่าย รพ.เอกชนแพงกว่ารัฐ 14 เท่า ต้องคุมยา-เวชภัณฑ์-ค่ารักษาเพราะคนไข้ฉุกเฉินเลือกรพ.รัฐไม่ได้ และค่าใช้จ่ายสุขภาพโดยรวมจะเพิ่มกระทบ3ระบบสุขภาพ แพทย์จะถูกดึงไปรพ.เอกชน

 

11 ม.ค. 2562 จากกรณีคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติเห็นชอบให้ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าควบคุมไปเมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา รายงานข่าวจากกรุงเทพธุรกิจเผยว่า ขณะนี้มีกลุ่มทุนใหญ่วิ่งล็อบบี้แกนนำของรัฐบาลเพื่อไม่ให้เสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และมีความเป็นไปได้ที่จะไม่มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว

 
จากซ้ายไปขวา ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข, สารี อ๋องสมหวัง, กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
 
 

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้มีทุนใหญ่จะล็อบบี้ไม่ให้คุมค่ายา ระบุ ค่าใช้จ่าย รพ.เอกชนแพงกว่ารัฐ 14 เท่า ต้องคุมยา-เวชภัณฑ์-ค่ารักษาเพราะคนไข้ฉุกเฉินเลือกรพ.รัฐไม่ได้ และค่าใช้จ่ายสุขภาพโดยรวมจะเพิ่ม กระทบ3ระบบสุขภาพ แพทย์จะถูกดึงไปรพ.เอกชน

 

วันนี้ (11 ม.ค. 2562) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊คเพื่อแสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าว โดยมีตัวแทนคือ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน

สารีกล่าวว่า วันนี้พวกตนมาร่วมประชุมกับ รมว. กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ซึ่งมีมติให้ค่ารักษาพยาบาลเป็นบริการที่ต้องควบคุม และจะมีมาตรการควบคุมราคายาและวัสดุที่ใช้ในสถานพยาบาล และมีคณะทำงานที่จะติดตามรายละเอียดในเรื่องนี้ หลังจากที่มีมติเรื่องนี้ก็มีทุนใหญ่ที่พยายามจะล็อบบี้ไม่ให้ทำเรื่องนี้สำเร็จ

“วันนี้พวกเรา 3 คนออกมายืนยันว่าการกำกับค่ารักษาพยาบาลมีความสำคัญ มีความจำเป็น ถ้าดูจากเรื่องร้องเรียน นี่คือเรื่องร้องเรียนอันดับสองของเรื่องร้องเรียนด้านบริการทางการแพทย์ ไม่ว่าเป็นเรื่องค่ารักษาพยาบาลแพง ถูกเก็บค่ารักษาพยาบาลทั้งที่ไม่ควรเก็บ คิดค่าบริการที่ไม่มีสิทธิคิด ผู้บริโภคหลายคนเดือดร้อนจากค่ารักษาพยาบาลแพง หลายคนไม่ได้ใช้บริการจากโรงพยาบาลรัฐเนื่องจากเป็นการใช้บริการกรณีฉุกเฉิน ดังนั้นเราอยากให้มีเพดานค่ารักษาพยาบาลและกำกับค่าวิชาชีพด้วย กำหนดเรื่องราคายา เช่น ให้โรงพยาบาลเอกชนคิดค่ายาได้เกินกว่าร้านขายยาไม่เกินกี่เท่า และเราขอให้กระทรวงพาณิชย์นำเรื่องนี้เข้าไปสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

เรื่องนี้ทุกคนต้องช่วยกันจับตาว่าจะเป็นมวยล้มต้มคนดูหรือไม่ คือรับปากแล้วไม่ทำ เพราะเรื่องค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชนแพงนี้กระทบกับทั้งระบบบัตรทอง ข้าราชการ และประกันสังคมแน่นอน เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลโดยรวมจะสูงขี้น และที่สำคัญแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจะถูกดึงไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนหมด โรงพยาบาลของรัฐจะเหลือแต่หมอจบใหม่ นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราคิดไปเอง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วด้วย” สารีกล่าว

สารียังชี้ว่า แม้กระทั่งอเมริกาซึ่งเป็นทุนนิยมอย่างเต็มตัวก็ยังไม่ยอมให้โรงพยาบาลเอกชนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญมาก อยากให้กระทรวงสาธารณสุขออกมาสนับสนุนเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่ออกมาเป็นอุปสรรคขัดขวาง

“ท่าน รมว. กระทรวงสาธารณสุขดูเหมือนจะไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ โดยบอกว่า การจะกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมนั้นต้องมีการคุยกัน ไม่ใช่ลักษณะของการบังคับให้เอกชนต้องทำตาม เพราะค่ารักษาหลายแห่งมีหลายอย่างประกอบกัน ต้นทุนต่างกัน ค่าใช้จ่ายต่างกัน ซึ่งทางเราไม่มีปัญหากับเรื่องพวกนี้เลย แต่เราเห็นว่าเบื้องต้นค่ารักษาพยาบาลต้องกำกับได้ มีเพดานที่ชัดเจน มีราคากลางที่ชัดเจน ที่ทำให้คนสามารถเข้าถึงโรงพยาบาลเอกชนได้ด้วย คำนึงถึงความฉุกเฉิน เร่งด่วน ที่บางครั้งอาจไม่สามารถไปถึงโรงพยาบาลรัฐได้”

กรรณิการ์เสริมว่า การอ้างว่าหุ้นตก 2 วัน เพราะการประกาศว่าให้ค่ายาค่ารักษาพยาบาลเป็นสินค้าควบคุม ทั้งที่จริงแล้วหุ้นโรงพยาบาลเอกชนบางเจ้าอยู่ในตลาด 16 บาท บางเจ้าเคยตกถึง 7 บาทก็มาแล้ว ฉะนั้นจึงไม่ใช่ประเด็น

กรรณิการ์ยังกล่าวว่า สมาคมโรงพยาบาลเอกชนมักอ้างว่านี่จะทำลายการแข่งขันของโรงพยาบาลเอกชนไทยในการแข่งขัน Medical Hub ซึ่งรัฐบาลสนับสนุน แต่ถ้าดูสิงคโปร์ธุรกิจ Medical Hub แข่งขันกับไทย รับดูแลคนไข้ต่างประเทศน้อยกว่าไทยแต่จำนวนเงินมากกว่า

“แต่ 4-5 ปีที่ผ่านมาสิงคโปร์เกิดปัญหาเรื่องค่าประกันสุขภาพสูงมาก ทำให้ทั้งโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลรัฐ เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข คุยกันและทำงานวิจัยออกมาชี้ให้เห็นว่าโรงพยาบาลเอกชนราคาค่าใช้จ่ายรวมสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ 2.5 เท่า ซึ่งถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับของไทยซึ่งอยู่ที่ประมาณ 14 เท่า แต่สิงคโปร์มองว่านี่เป็นเรื่องที่เดือดร้อนมาก ในงานวิจัยนี้ระบุว่าสาเหตุที่ค่ารักษาพยาบาลสูงเพราะ หนึ่งเก็บเงินเกินราคา สองให้บริการเกินจำเป็น และสามให้การบริการสุขภาพที่ไม่สมเหตุสมผล ตอนนี้เราจึงมีข้อตกลงร่วมกันให้ทำราคากลางของค่าบริการและค่ายาว่าควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ หากโรงพยาบาลไหนเก็บเกินก็อธิบายมาว่าเพราะอะไร เช่นค่าพรีเมี่ยม ค่าสเปเชี่ยลลิสต์ต่างๆ เพราะงานนี้ไม่ได้ล็อบบี้แค่กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ แต่รวมถึงรัฐบาล คสช. ด้วย” กรรณิการ์กล่าว

ขณะที่ภญ.ยุพดี เผยว่า วันนี้มีภาวะของการคุกคามเรื่องการควบคุมราคาบริการสุขภาพและราคายา เนื่องจากเปิดการประชุมวันนี้มีผู้แทนของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนพูดถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังกระแสข่าวว่าจะมีการควบคุมราคาบริการและราคายา ตนมองว่าดูเหมือนเสียงในห้องประชุมกังวลเรื่องของการดูแลภาคธุรกิจจนลืมความทุกข์ของผู้บริโภค ซึ่งตนคิดว่าทุกข์ของผู้ประกอบการคือเรื่องขาดทุนและกำไร ในขณะที่ผู้ป่วยคือการล้มละลายของครอบครัวและชีวิตของคนไข้ ถ้าให้เทียบคงเทียบกันไม่ได้

นอกจากนี้ข่าวที่ นพ.สมศักดิ์ โล่เลขา ออกมาพูดชัดเจนว่ามีการเพิ่มราคายา 200-300% เป็นหลักฐานชัดเจนว่ามีการบวกราคายาจริง คำถามต่อมาคือเท่าไหร่จะเพียงพอและเหมาะสมเป็นธรรมกับผู้บริโภค โดยวันนี้มีการเสนอจากฝั่งสมาคมโรงพบาบาลเอกชนให้นำประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ว่าด้วยการกำหนดให้มีการประกาศอัตราค่ารักษาพยาบาล ยา และเวชภัณฑ์ แต่เมื่ออ่านรายละเอียดประกาศฉบับนี้จะพบว่ามันคือเรื่องเดิมๆ แต่สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าคือราคาที่เป็นธรรมจริงหรือไม่

“กระทรวงสาธารณสุขเองไม่มีหน้าที่ควบคุมราคา การตัดสินใจอยู่ภายใต้คณะกรรมการ กกร. ในการกำหนดให้มีการแจ้งราคาต้นทุน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจ ภายในสัปดาห์หน้าหากกระทรวงพาณิชย์ไม่นำเรื่องเข้า ครม. ก็จะทำให้การเคลื่อนไหวเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคครั้งนี้ล้มเหลว” ภญ.ยุพดีกล่าว

 

รมว.สธ. ชี้ ค่ารักษา รพ.เอกชน ต้องดูตามความเหมาะสม ไม่ใช่การบังคับ

 

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเรื่องค่ารักษาพยาบาลแพงว่า ในภาครัฐนั้นเชื่อว่ามีการควบคุมที่ดีอยู่แล้ว ที่ไหนจะมีการเปิดคลินิกนอกเวลาจะต้องทำประชาพิจารณ์ และได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในพื้นที่ก่อนถึงจะทำได้ ส่วนโรงพยาบาลเอกชนก็ต้องมีการหารือกันระหว่างกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และกระทรวงพาณิชย์ ส่วนจะต้องกำหนดราคาหรือไม่นั้น ต้องดูตามความเหมาะสม

เมื่อถามถึงข้อเรียกร้องให้กำหนดค่ารักษาพยาบาลให้เป็นสินค้า ควบคุม ศ.นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า คิดว่าเรื่องนี้ต้องมีการคุยกัน แต่ไม่ใช่ลักษณะของการบังคับให้เอกชนต้องทำตาม เพราะค่ารักษาพยาบาลแต่ละแห่งมีหลายอย่างประกอบกัน แต่สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือ การประกาศค่าใช้จ่ายให้ประชาชนทราบเพื่อจะได้รู้งบประมาณและเตรียมพร้อมด้านการเงิน

 

กก.แพทยสภา เผยค่ายา รพ.เอกชนบวกกำไร 200-300% ชี้แม้คุมค่ายา-เวชภัณฑ์-ค่ารักษา ค่าใช้จ่ายก็โป่งส่วนอื่น รพ.เอกชนเป็นทางเลือก หากบีบมากอาจทำให้เจ๊งได้

 

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า ค่ายาของ รพ.เอกชน ปัจจุบันอาจจะมีการขายในราคาที่บวกกำไรขึ้นไปอย่างมาก อาจจะ 200-300% ส่วนหนึ่งเพราะมีค่าอย่างอื่นแฝง โดยมีค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่อาจจะไม่รู้ว่าจะนำไปไว้ในค่าอะไรของใบเสร็จ ก็เพิ่มไว้ในค่ายา เพราะฉะนั้น ส่วนตัวเห็นว่า รพ.เอกชนควรที่จะแสดงใบเสร็จแจกแจงรายละเอียดจริงๆ ตามค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้น ไม่ควรนำมาแฝงไว้ในค่ายาแทน เพราะจะทำให้เหมือนว่า คิดค่ายาที่แพงกว่า รพ.รัฐที่ปัจจุบันมีการบวกกำไรเพิ่มราว 10-20% ส่วน รพ.เอกชนอาจจะบวกกำไรเพิ่มมากขึ้นในส่วนของยาที่ราคาไม่แพง และบวกกำไรเพิ่มเล็กน้อยสำหรับยาที่มีราคาแพง เพื่อไม่ให้ยาราคาแพงอยู่แล้วแพงมากเกินไป แต่จะต้องนำปริมาณการใช้ยาชนิดนั้นและต้นทุนการซื้อยาของ รพ.แต่ละแห่งมาพิจารณาด้วย

“หากเห็นว่า ซื้อยาใน รพ.แพงก็สามารถขอให้แพทย์ออกใบสั่งยาไปซื้อจากข้างนอกที่ถูกกว่าได้ แต่ปัญหา คือ คนไทยส่วนใหญ่มีประกันสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาล ก็จะยอมรับยาจาก รพ. เพราะประกันจ่าย ไม่ขอใบเสร็จมาซื้อยาข้างนอก เพราะต้องจ่ายเอง อย่างไรก็ตาม หากดูค่ารักษาพยาบาลในต่างประเทศจะแพงกว่าไทยมาก ทำให้คนต่างชาติเดินทางมารักษาในไทยแต่ละปีค่อนข้างสูง และเชื่อว่าแม้จะคุมค่ายา เวชภัณฑ์ บริการทางการแพทย์ บริการรักษาพยาบาล ท้ายที่สุดค่าใช้จ่ายเมื่อเข้ารับการรักษาก็จะไปโป่งในส่วนอื่นอยู่ดี” ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนค่าธรรมเนียมแพทย์ แพทยสภามีการกำหนดโดยประกาศค่าธรรมเนียมแพทย์แต่ละสาขาเฉพาะทางที่มีความแตกต่างกัน ฉบับปัจจุบันใช้มาเป็น 10 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงค่าธรรมเนียมแพทย์ เนื่องจากบริบทแตกต่างจากในอดีตมาก และพบว่า ค่าเฉลี่ยค่าธรรมเนียมแพทย์ในปัจจุบันเท่ากับอัตราค่าธรรมเนียมสูงสุดของฉบับเดิม คาดว่าจะแล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ อัตราค่าธรรมเนียมแพทย์แต่ละสาขา แพทยสภาจะกำหนดขึ้นจากการหารือกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเป็นช่วงๆ ต่ำสุด-สูงสุด เพราะหากกำหนดอัตราเดียวทั้งหมดหรือเป็นเพดาน จะทำให้สถานพยาบาลที่มีขนาดเล็กคิดอัตราค่าธรรมเนียมแพทย์ในระดับสูงสุดเกรดเอทั้งสิ้น ซึ่งอัตราค่าธรรมเนียมแพทย์ของแพทยสภาจะครอบคลุมแพทย์ในรพ.เอกชนด้วย หากแพทย์ใน รพ.เอกชนมีการคิดค่าธรรรมเนียมแพทย์ในการตรวจรักษามากกว่าที่แพทยสภากำหนดไว้ ก็จะมีการพิจารณาในเรื่องของจริยธรรม จรรยาบรรณแพทย์ด้วย

"การที่จะเข้ามาควบคุมค่าต่างๆ ใน รพ.เอกชน จริงๆไม่ควรทำ แต่ถ้าไม่ทำก็จะทำให้ค่ารักษาอาจจะแพงขึ้นๆ ไปอีก หากจะดำเนินการก็ต้องดูข้อกำหนด ผลกระทบให้รอบด้านด้วย เพราะการรักษารพ.เอกชนเป็นทางเลือกของประชาชน ถ้ามองว่าแพงก็ไม่ต้องเข้าในรพ.เอกชนแห่งนั้น ไปแห่งอื่นแทน เป็นไปตามกลไกการค้าเสรี หากไปบีบ รพ.มากๆอาจจะทำให้เขาเจ๊งได้" ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท