Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มาภาพ siampongsnews.blogspot.com/2019/01/blog-post_2.html

ไม่แปลกอะไรที่ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะกล่าวผ่านสื่อว่า “ขณะนี้ก็ใช้หลักธรรมปกครองประเทศ" เพราะเมื่ออำนาจเผด็จการปราศจาก “ความชอบธรรม” ตามระบอบประชาธิปไตย ก็ย่อมต้องแสวงหาความชอบธรรมจากแหล่งอื่น สำหรับสังคมไทยก็ไม่มีอะไรที่จะสนับสนุนความชอบธรรมของเผด็จการได้ดีเท่ากับพุทธศาสนาไทย

ที่จริงแล้วก็ไม่ใช่เฉพาะไทย ในประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือพุทธเถรวาท ไม่ว่าศรีลังกา พม่า ลาว กันพูชา พุทธศาสนายังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนอุดมการณ์ชาตินิยม และให้ความชอบธรรมทางการเมืองแก่อำนาจเผด็จการของชนชั้นปกครองด้วยวิธีการต่างๆ
 
ต่างจากญี่ปุ่นที่ “แยกศาสนาจากรัฐ” พุทธศาสนานิกายย่อยต่างๆ ทางสายมหายานกลับมีบทบาทที่ต่างออกไป เช่นเมื่อปลายปีที่แล้ว ประชาชนรวมทั้งกลุ่มชาวพุทธและชาวคริสต์กว่า 200 คน ได้เข้าชื่อฟ้องรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนในพิธีครองราชย์ของจักรพรรดิองค์ใหม่ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ด้วยเหตุผลว่าพิธีดังกล่าว “เป็นพิธีกรรมทางศาสนา ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญที่แยกกันต่างหากระหว่างศาสนาและรัฐ” (ดู http://www.newtv.co.th/ne)

แปลว่าในรัฐโลกวิสัย (secular state) ที่แยกศาสนาจากรัฐ หรือยกเลิกระบบศาสนจักรของรัฐ ปล่อยให้องค์กรศาสนาต่างๆ เป็นเอกชนทั้งหมด ย่อมเป็นไปได้ที่จะมี “เสรีภาพทางศาสนา” อย่างแท้จริง ซึ่งไม่ได้หมายเฉพาะเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาเท่านั้น หากยังหมายถึงเสรีภาพในการวิจารณ์ความเชื่อทางศาสนา ตรวจสอบองค์กรศาสนา ตรวจสอบอำนาจรัฐที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง รวมถึงการที่กลุ่มศาสนาต่างๆ มีเสรีภาพที่จะตรวจสอบอำนาจรัฐที่ขัดหลักการแยกศาสนาจากรัฐ และหลักการประชาธิปไตยด้วย
 
รัฐไทยไม่ได้แยกศาสนาจากรัฐ จึงไม่มีเสรีภาพทางศาสนาในความหมายดังกล่าว การไม่มีเสรีภาพทางศาสนาเต็มความหมาย ก็เหมือนกับการไม่มีเสรีภาพทางการเมืองเต็มความหมาย ซึ่งมีรากฐานที่มาอันเดียวกับคือ สถานะและอำนาจของชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไม่สอดคล้องกับหลักการโลกวิสัยและประชาธิปไตย

สิ่งที่เรียกว่า “ศาสนา” นั้น ไม่ใช่เป็นเพียง “คำสอน” ที่ชวนให้ทำความดี ปล่อยวาง ไม่ยึดติด ให้มีเมตตากรุณาเป็นต้นเท่านั้น หากเป็นเรื่องของ “อำนาจ” ที่ซับซ้อน เวลาเราดีเบตเกี่ยวกับคำทางโลกวิสัย เช่นคำว่าสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ฯลฯ เราไม่รู้สึกหวาดกลัวหรือใช้ความระวังอย่างเป็นพิเศษ ต่างจากการพูดถึง “พระเจ้า” หรือ “ธรรม” ที่เรารู้สึกได้ถึง “อำนาจ” ที่ทำให้หวาดกลัว และเตือนให้เราระวังคำพูดของตนเองอย่างเป็นพิเศษ เพราะถึงไม่กลัวอำนาจของพระเจ้าและธรรมโดยตรง ก็กลัวจะถูกมองจากคนอื่นๆ ว่า “ลบหลู่” สิ่งสูงส่งที่คนเคารพนับถือ

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะพระเจ้าคือผู้มีอำนาจสูงสุดในการพิพากษาให้วิญญาณของเราไปเสวยสุขในสวรรค์ชั่วนิรันดร์ หรือไปรับทุกข์ทรมานในนรกชั่วนิรันดร์ ขณะที่ในกรอบคิดเรื่องธรรมก็มี “กฎแห่งกรรม” ที่ควบคุมให้วิญาณของเราขึ้นสวรรค์หรือตกนรกได้ อำนาจของพระเจ้าและอำนาจของธรรมจึงเป็น “อำนาจลึกลับ” ตรวจสอบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ได้ และเพราะตรวจสอบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ได้ จึงทำให้เกิดความกลัว เนื่องจากเป็นอำนาจที่อยู่เหนือความสามารถที่เราจะคาดเดา หรือต่อรองได้

อำนาจในนามพระเจ้าหรือธรรมของชนชั้นปกครองในยุครัฐจารีต (tradition state) ก็เช่นกัน ย่อมเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จที่ตรวจสอบไม่ได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และมี “ความลึกลับ” จึงเป็นอำนาจที่ก่อให้เกิดทั้งความซาบซึ้งศรัทธาและความหวาดกลัวไปพร้อมๆ กัน เพราะเป็นทั้งอำนาจที่อาจให้คุณ คือให้ความคุ้มครอง ความร่มเย็นเป็นสุขทั้งในชาตินี้และชีวิตหลังความตายหรือชาติหน้า และเป็นอำนาจที่ให้โทษ หรือทำให้ชีวิตของคนที่ตั้งคำถาม ท้าทายอำนาจนั้น กลายเป็นชีวิตที่เลวทรามไร้ความหมาย หรืออาจถูกทำให้กลายเป็น “อากาศธาตุ” เมื่อใดก็ย่อมได้

ศาสนาสถาปนาอำนาจปกครองในนามพระเจ้าและธรรมให้เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จและลึกลับมายาวนานหลายพันปี อำนาจเช่นนี้ถูกยกเลิกไปในประเทศที่ผ่านประวัติศาสตร์ปฏิวัติประชาธิปไตยและแยกศาสนาจากรัฐ สำหรับประเทศที่เป็นรัฐศาสนา อำนาจดังกล่าวยังคงแข็งแกร่งและเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

ส่วนไทยที่ไม่แยกศาสนาจากรัฐ มีลักษณะเป็นรัฐกึ่งศาสนากึ่งโลกวิสัย พุทธศาสนาในฐานะศาสนาหลักของชาติยังคงทำหน้าที่ให้ความชอบธรรมกับอำนาจของชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทำให้อำนาจดังกล่าวทั้งเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จและลึกลับ เป็นที่มาของความซาบซึ้งและความหวาดกลัว ห่างไกลจากความเป็นวิทยาศาสตร์และความเป็นประชาธิปไตยที่ต้องการ “เสรีภาพ” ในการตรวจสอบความจริง ความมีเหตุผล และความถูกต้องชอบธรรม

คำพูดของประยุทธ์ที่ว่า “ขณะนี้ก็ใช้หลักธรรมปกครองประเทศ" สำหรับบางคนอาจมองว่า มันเป็นคำพูดที่ไร้ความหมายหรือตลกๆ เพราะเราชินกับกับการพูดที่ตรงข้ามกับการกระทำของเขามาเกือบจะ 5 ปี แล้ว แต่เกือบ 5 ปีที่ยาวนานสำหรับคนที่ไม่เชื่อ ก็อาจน้อยไปสำหรับคนที่เชื่อและอยากให้เขาอยู่ต่อ ทำไมคนยังเชื่อคำพูดเผด็จการ นี่ไม่ใช่เรื่องที่จะตอบได้ง่ายๆ เพราะขนาดพระที่แตกฉานพุทธศาสนาไทยเจ้าของวาทกรรม “ฆ่าเวลาบาปไม่น้อยกว่าฆ่าคน” ก็ยังไม่เคยรู้สึกหรือตระหนักว่า การที่พระสอนธรรมสนับสนุนเผด็จการต่างหาก ที่เป็นการทำ “บาปมหันต์” ต่อประชาชนในโลกสมัยใหม่ 

ทั้งนี้เพราะรัฐไทยได้ใช้สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา ระบบราชการสร้างความซาบซึ้งศรัทธาควบคู่กับความหวาดกลัวในสถานะและอำนาจของชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยม และความเชื่อในศีลธรรมศาสนาอย่างลึกซึ้งในระดับ “จิตใต้สำนึก” มายาวนาน มากกว่าที่จะสร้างจิตสำนึกในอุดมคติเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ดังนั้นการอ้างพุทธศาสนาให้ความชอบธรรมกับอำนาจของชนชั้นนำแม้อาจดูเหลวไหลในสายตาของฝ่ายก้าวหน้า แต่อาจไม่ใช่สิ่งที่ไร้ความหมายในในสายตามของคนส่วนใหญ่ที่ยังถูกครอบงำด้วยอิทธิพลความเชื่อทางศาสนา และบุญบารมีของอำนาจชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยม

อย่างไรก็ตาม แม้พุทธศาสนาจะเป็นต้นทุนของอำนาจชอบธรรมทางการเมืองของชนชั้นนำสยาม-ไทยมายาวนาน และดูเหมือนว่าจะเป็นต้นทุนที่ใช้ไม่มีวันหมด แต่หากมองในมิติที่ลึกและกว้าง ต้นทุนพุทธศาสนาก็ไม่ต่างจากต้นทุนด้านอื่นๆ คือเป็น “ต้นทุนที่ใช้สิ้นเปลือง” เหมือนๆ กัน

ความสิ้นเปลืองของการใช้ต้นทุนพุทธศาสนาให้ความชอบธรรมทางการเมือง ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ประชาชนฝ่ายที่เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย มีท่าทีปฏิเสธการอ้างพุทธศาสนาในทางการเมืองมากขึ้น ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น เกิดคำถามในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา ในประเด็น “แยกศาสนาจากรัฐ” มากขึ้น 

ในอีกด้านหนึ่ง ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับกลุ่มศาสนาอื่นๆ ก็เกิดความขัดแย้งกันเอง เช่นกรณีจัดการกับวัดพระธรรมกาย ถึงวาระที่ฝ่ายมหานิกายจะขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่พลิกโผมาเป็นฝ่ายธรรมยุติกนิกายได้ขึ้นตามเคย ท่ามกลางความขัดแย้งมากมายอย่างสัมพันธ์ไปกับความขัดแย้งของการเมืองทางโลก แม้ดูเหมือนความขัดแย้งนั้นจะจบลง “ด้วยความสงบเรียบร้อย” แต่มันก็ไม่ต่างจากความสงบเรียบร้อยของการเมืองทางโลกภายใต้เผด็จการทหาร คือเป็นความสงบเรียบร้อยที่อาจจะรอวันปะทุในอนาคต

และในอีกด้านหนึ่งคือ ยิ่งชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมควบคุมศาสนา และใช้ศาสนาสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจที่ขาดความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น ผลกระทบทางลบย่อมเกิดกับพุทธศาสนาเองโดยตรง ทั้งในแง่ที่ทำให้พุทธศาสนาอ่อนแอ ไม่มีประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อทุกข์ในบริบทโลกสมัยใหม่ของปัจเจกบุคคล ส่วนในทางสังคมและการเมือง ประชาชนที่ตื่นรู้ในเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตยก็จะพากันหันหลังให้พุทธศาสนาแบบรัฐที่เป็นอุปมรรคต่อการสร้างประชาธิปไตยมากขึ้น
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net