งานวิจัยเผยชาวอเมริกันที่แชร์ข่าวปลอมช่วงก่อนเลือกตั้ง 2559 อายุ 65 ปีขึ้นไป

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ 'ไซเอนซ์ แอดวานซ์' ล่าสุดระบุว่าบุคคลชาวอเมริกันที่มักจะชอบแชร์ 'ข่าวปลอม' บนหน้าโซเชียลมีเดียมักจะเป็นบุคคลที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ขึ้นไป นอกจากนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มที่สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไรก็ตามมีข้อวิจารณ์ว่ายังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจังว่าการแพร่ข่าวปลอมเหล่านี้ส่งผลต่อผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ จริงหรือไม่ หรือส่งผลต่อผู้รับสารได้มากแค่ไหน

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน และมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันมากกว่า 1,300 คนเกี่ยวกับข้อเขียนที่พวกเขาแชร์ลงในเฟสบุ๊ค พบว่ากลุ่มคนอายุมากกว่า 65 ปี ขึ้นไปเป็นกลุ่มประชากรที่แชร์ข้อเขียนที่เป็น 'ข่าวปลอม' มากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงอายุอื่น

จากงานศึกษาวิจัยดังกล่าวนี้ทำการสำรวจพฤติกรรมการแชร์ข่าวในช่วงก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2559 ผ่านทางเฟสบุ๊คระบุว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.5 แชร์ข้อมูลที่เป็นข่าวปลอมผ่านทางเฟสบุ๊ค โดยในกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้จำนวนมากเป็นผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันและไม่ฝักใฝ่พรรคใดมีสถิติแชร์ข่าวปลอมมากกว่าผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต แต่นักวิจัยในเรื่องนี้ก็เตือนว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนี้อาจจะเป็นเพราะข่าวปลอมจำนวนมากเป็นข่าวปลอมในทำนองสนับสนุนทรัมป์ก็ได้

เมื่อพิจารณาแต่เฉพาะผู้ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไม่ฝักใฝ่พรรคใดก็พบว่าผู้ที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไปจะแชร์ข่าวปลอมมากกว่ากลุ่มที่อายุน้อยกว่าถึงเกือบ 7 เท่า นักวิจัยตั้งสมมุติฐานว่าน่าจะเป็นเพราะการขาดความเข้าใจรู้เท่าทันทางดิจิทัล

เควิน คอร์บ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจำลองแบบทางคอมพิวเตอร์ผู้ไม่ได้มีส่วนใดๆ กับงานวิจัยนี้กล่าวว่างานวิจัยนี้น่าจะมีการอธิบายต่อถึงสาเหตุที่ว่าทำไมช่วงอายุถึงเป็นปัจจัยสำคัญ นอกจากนี้ยังมีคำถามสำคัญที่ว่าการแพร่กระจายของข่าวปลอมเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความคิดเห็นของผู้คนทั่วไปได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้นแล้วจึงอาจจะยังสรุปไม่ได้ว่าการแชร์ข่าวปลอมเหล่านี้ส่งผลต่อผลลัพธ์ของการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2559 เนื่องจากว่าการเลือกตั้งในครั้งนั้นเหวี่ยงมาเข้าทางทรัมป์เพราะคะแนนโหวตที่ห่างกันไม่มากนักใน 3 รัฐ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เจาะจงมาก

ซึ่งแอนดรูว เกสส์ หนึ่งในผู้วิจัยเห็นด้วยว่าการวิจัยในเรื่องการแพร่ข้อมูลเท็จหรือข่าวปลอมและผลกระทบของมันยังมีน้อยเกินไป รวมถึงข้อมูลผิดๆ ที่มาจากนักการเมืองหรือสื่อกระแสหลักเองด้วย ซึ่งความกังวลต่อผลกระทบจากการแพร่ข้อมูลเท็จในเชิงใส่ร้ายป้ายสีนั้นเป็นเรื่องที่ชอบธรรมเพราะมันได้ตั้งประเด็นคำถามสำคัญต่อประชาธิปไตย

เรียบเรียงจาก

OVER-65S SPREAD THE MOST FAKE NEWS DURING 2016 ELECTION: STUDY, News Week, 09-01-2019
https://www.newsweek.com/fake-news-facebook-twitter-social-media-2016-election-donald-trump-1285523

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท